AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

10 สิ่งที่กุมารแพทย์อยากบอกกับคุณแม่ของผู้ป่วยเด็กน้อย

ลูกไม่สบาย หรือเมื่อลูกมีอาการงอแงผิดปกติ ย่อมทำให้พ่อแม่เกิดความกังวลใจ แต่อย่างไรก็ตามการหาสาเหตุจากอาการร้องงอแง ไม่สบายตัวของลูกน้อย เป็นสิ่งที่สำคัญ

ซึ่งสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายสาเหตุ เช่น อาการไม่สบายตัว อาการป่วย อาการหิว พ่อแม่ควรหาสาเหตุของอาการที่เป็นไปได้และแก้ไขเบื้องต้น เช่น การเปลี่ยนผ้าอ้อมถ้าคิดว่าสาเหตุเกิดจากความเปียกชื้นของผ้าอ้อม การให้รับประทานนมถ้าคิดว่าเกิดจากความหิว แต่ในกรณีที่ลูกยังมีอาการไม่ดีขึ้น ควรคิดถึงสาเหตุจากความเจ็บป่วย

10 สิ่งที่กุมารแพทย์อยากบอกกับคุณแม่ เมื่อลูกไม่สบาย

ในกรณีที่เกิดจากความเจ็บป่วย พ่อแม่ต้องเฝ้าสังเกตอาการที่ผิดปกติของลูกน้อยซึ่งบางครั้งต้องอาศัยการสังเกตอย่างมาก รวมทั้งประสบการณ์ของผู้เลี้ยงดูด้วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังพูดหรือบอกอาการไม่ได้ พ่อแม่ควรรู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นซึ่งเป็นการดูแลรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ดังนั้นแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกไม่สบาย ลองไปดูสิ่งที่กุมารแพทย์อยากบอกกับคุณพ่อคุณแม่ เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย หรือมีไข้ของลูกน้อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้ เพื่อที่จะได้รับมือ และรักษาอาการเจ็บป่วยของลูกน้อยในเบื้องต้นได้ทันท่วงทีและตรงกับอาการนั้นๆ

ซึ่งเรื่องราวนี้เป็นบทความจากสมาชิกเว็บไซต์พันทิป ชื่อคุณ Jagger moving ซึ่งได้มาโพสต์กระทู้ไว้ (คลิกอ่านกระทู้) ให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่าน และทราบถึงสิ่งที่กุมารแพทย์อยากจะบอกเกี่ยวกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเด็กน้อย เพื่อให้ได้เรียนรู้และลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับลูกๆ ลงบ้าง

10 สิ่งที่กุมารแพทย์อยากบอกกับคุณพ่อคุณแม่ของคนไข้เด็กน้อย

1. ลูกคอแดง

ไม่ได้หมายความว่าต้องได้ยาแก้อักเสบ (อาการคอแดงอาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสก็ได้ยิ่งในเด็กเล็กด้วยแล้วเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าเสียอีก)

โดยอาการคอแดง ที่ไม่ต้องทานยาแก้อักเสบ เป็นอาการแบบไม่มีพยาธิสภาพหรือการติดเชื้อ ในที่นี้หมายถึง เยื่อบุในผนังคอที่แดงจากภาวะไข้ทั่วไปโดยที่ไม่ได้จำเป็นต้องมีคออักเสบ เช่น เวลาไข้สูง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็คงคิดเหมือนกันว่าแดงไปหมดทั้งตัว ซึ่งนั้นก็เป็นความจริง แต่ในบางครั้งระยะเริ่มแรกการติดเชื้อเราอาจแยกได้ไม่ชัดเจน และโดยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเด็กมักเป็นการติดเชื้อไวรัสเสียส่วนใหญ่ ทำให้อาจแยกออกได้ยาก หรือบางครั้งกินอาหารที่มีสี ๆ ก็อาจทำให้แดงได้เหมือนกัน แต่คุณหมอจะดูออก ซึ่งอาการกลุ่มนี้มักไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ1

2. ลูกมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส

ไม่ได้หมายความว่าต้องได้ยาลดไข้สูง (ยาลดไข้สูงที่เรียกกันนั้นแท้จริงคือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งในอาการไข้บางโรค การได้ยาลดไข้ไปบางครั้งอาจทำให้ตัวโรคแย่ลง เช่น ไข้เลือดออก เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดทำงานได้ไม่ดี) ดังนั้น ยาลดไข้ พาราเซลตามอล จึงเหมาะกับเด็กมากที่สุดแล้ว

เอ็นเสด (NSAID) เป็นตัวย่อของ กลุ่มยาแก้ปวด ยาลดไข้ และยาต้านการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ คือ Non-steroidal anti -inflammatory drug หรือ Non-steroidal anti -inflammatory drugs นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติต้านการทำงานของเกล็ดเลือด ดังนั้นจึงส่งผลให้เลือดแข็งตัวได้ช้า ลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือด ดังนั้น นอกจากทางการแพทย์จะใช้ยาในกลุ่มนี้ รักษาอาการปวด ลดไข้ และรักษาการอักเสบของเนื้อเยื่อที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (เช่น ในโรคข้อต่างๆ) แพทย์ยังใช้ยากลุ่มนี้เพื่อต้านการแข็งตัวของเลือดในการป้องกันและรักษา โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

โดยทั่วไป ยาเอ็นเสด มักใช้รักษา โรคข้ออักเสบต่างๆ โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์ ปวดศีรษะไมเกรน และ อาการปวดกระดูกจากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก เป็นต้น อีกทั้ง ยาเอ็นเสด เป็นยาอันตราย ไม่ควรซื้อกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และ/หรือ เภสัชกรก่อน2

⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : วิธีการเช็ดตัวลดไข้ ด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาว

 

อ่านต่อ >> “สิ่งที่กุมารแพทย์อยากบอกกับคุณพ่อคุณแม่ของคนไข้เด็กน้อย” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

3. การใช้แปะแผ่นลดอุณหภูมิกับลูก

แผ่นแปะที่หัวช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้น้อยมาก (หรืออาจจะเรียกว่าเกือบไม่ได้เลย ทางที่ดีควรมีผ้าหมาดหลายผืนจุ่มน้ำอุณหภูมิห้องแล้วเช็ดตัวหลายๆ ครั้งแบบที่พยาบาล ที่ รพ.ทำ เมื่อผ้าร้อนแล้วก็เปลี่ยนผ้าอีกผืนทำแบบนี้หลายๆ ครั้ง ทำให้อุณหภูมิของเด็กลดได้มากกว่าการใช้แผ่นแปะหลายเท่านัก)

ทั้งนี้หากต้องการลดไข้ หรือลดอุณหภูมิความร้อนให้ลูกน้อย คุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเช็ดตัว ซึ่งเป็นวิธีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ โดยอาศัยหลักของการนำความร้อนออกจากร่างกายด้วยน้ำ เป็นวิธีที่ทำได้สะดวก มีอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ใกล้ตัว และสามารถให้ผลลัพธ์ในการช่วยลดไข้ได้ดี โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีสัดส่วนของพื้นที่ผิวกาย มากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ซึ่งจะได้ผลในการลดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างรวดเร็ว แต่ผลในการเช็ดตัวจะอยู่ได้ไม่นาน ท่านผู้ดูแลต้องให้ยาลดไข้แก่เด็กร่วมด้วย ซึ่งชนิดและขนาดของยาที่ให้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก และต้องไม่รับประทานยาลดไข้นานติดต่อกันเกิน 5 วันโดยไม่ทราบสาเหตุของไข้ และใน 1 วันควรรับประทานยาลดไข้ห่างกัน 4-6 ชั่วโมง โดยใน 1 วันไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 ครั้ง

ทั้งนี้ การเช็ดตัวลดไข้ จะมีประโยชน์มากหากท่านไม่ต้องการให้เด็กรับประทานยาติดต่อ กันหลายครั้งมาก นอกจากนั้น ยาลดไข้จะใช้เวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาที ท่านสามารถทำการเช็ดตัวลดไข้ให้บุตรหลานของท่าน ทันทีก่อนยาออกฤทธิ์ เมื่อบุตรหลานของท่านมีไข้ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ที่มีประวัติชักเมื่อมีไข้สูง (ไข้ชัก) วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้เบื้องต้นได้ดีทีเดียว3

⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : การเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกอย่างถูกวิธี

4. เมื่อลูกมีอาการไอ

ยาแก้ไอที่ดีที่สุดของเด็กในทางการแพทย์ คือ การพักผ่อน น้ำอุ่น น้ำผึ้งผสมมะนาว

ทั้งนี้อาการไอส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ  โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  ที่มักพบได้บ่อยคือ โรคหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เด็กมีไข้ น้ำมูกไหล  มีอาการคันและระคายคอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไอ  อาการไอแบ่งได้  3  ประเภท คือ   1. ไอแห้ง ๆ   2. ไอแบบระคายคอ  และ  3. ไอแบบมีเสมหะ  ซึ่งอาจเกิดจากการที่เด็กมีน้ำมูกแล้วสูดลงคอจนเกิดอาการไอ

ซึ่งถ้าเป็นการไอจากการที่มีน้ำมูกมาก การล้างจมูกหรือหยอดจมูกด้วยน้ำเกลือ ร่วมกับการให้ยาลดน้ำมูกที่เหมาะสมจะทำให้อาการดีขึ้น  ส่วนการไอที่เกิดจากหวัด จะดีขึ้นเมื่อโรคหวัดทุเลาลงค่ะ  ที่น่าเป็นห่วงคือ อาการไอตลอดทั้งวันแม้กระทั่งตอนนอน   สันนิษฐานว่าเป็นโพรงจมูกอักเสบหรือที่เรียกกันว่าไซนัสอักเสบ ถ้าหากไอเฉพาะเวลากลางคืน อาจเกิดจากภาวะหอบจากโรคหืด หรือเป็นโรคภูมิแพ้  ควรพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป4

⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : ยาแก้ไอ สําหรับทารก เลือกแบบไหน อย่างไรให้ลูกดี?

5. การอาเจียนหลังไอ

ไม่ได้หมายความว่าเด็กต้องได้ยาแก้อาเจียน แต่เป็นอาการระคายเคืองที่คอของเด็กเป็นผลทำให้อาเจียน จึงต้องแก้ที่อาการระคายเคืองนี้ต่างหาก

ทั้งนี้การอาเจียน เป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบร่วมในโรคต่างๆ มากมาย อาทิเช่น โรคของทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ลำไส้อุดตัน โรคของระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำคั่งในสมอง โรคของระบบเมตาบอลิซึ่มบางอย่าง หรืออาจเกิดจากรับประทานยาบางอย่างก็ได้ อาจเกิดได้โดยไม่มีโรคทางกายใดๆ กรณีเช่นนี้ก็พบได้บ่อย โดยเฉพาะในทารก หรือเด็กเล็กที่ดื่มนมมากไป แล้วไม่ได้อุ้มเด็กพาดบ่าให้เรอมากพอ หรือคุณแม่อาจจะให้นมไม่ถูกวิธี เช่นให้นอนดูดนม แทนที่จะอุ้มให้ดูดนม เป็นต้น

การสังเกตอาการอาเจียนของลูกน้อย

6. ลูกมีน้ำมูกสีเขียว

น้ำมูกเขียว ไม่ได้หมายถึงการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออาการหวัดที่เป็นมากขึ้นของเด็ก แต่หลายๆ ครั้งมันแค่หมายถึงอาการหวัดของเด็กใกล้หายแล้วต่างหาก โดยเฉพาะหากมีน้ำมูกเขียวตอนไข้ลดลง หรือเด็กสดชื่นขึ้นแล้ว

⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : สีของน้ำมูก สามารถบอกสุขภาพของลูกได้

อ่านต่อ >> “สิ่งที่กุมารแพทย์อยากบอกกับคุณพ่อคุณแม่ของคนไข้เด็กน้อย” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

7. อย่าโกรธคุณพยาบาลเลยที่ต้องเจาะเลือดเด็กหลายครั้ง

เพราะเส้นเลือดเด็กเล็กมากๆๆๆ จริงๆ ทุกรพ.พยายามจะให้คุณพยาบาลที่เจาะเลือดเก่งที่สุดของเวรนั้นเป็นคนเจาะเลือดลูกของคุณอยู่แล้ว

การตรวจเลือด ถือเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการวินิจฉัยโรคของแพทย์เนื่องจากเลือดเป็นตัวกลางสำคัญในการนำพาน้ำ สารอาหาร เชื้อโรค สารพิษ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ในการรับ และนำพาสารต่างๆที่ร่างกายปล่อยออกมาไว้ด้วย โดยสารเหล่านี้อาจเข้าสู่ร่างกายด้วยการดื่มกิน การหายใจ การแทรกซึมผ่านแผล ผ่านผิวหนัง และเข้าสู่ระบบกระแสโลหิต ดังนั้น การตรวจเลือดจึงเป็นวิธีที่สามารถตรวจหาสารปนเปื้อนที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วที่สุด ซึ่งการเจาะเลือด ก็เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อให้ได้เซลล์และของเหลวนอกเซลล์เพื่อนำมาวิเคราะห์ ซึ่งการเจาะเลือดมีอยู่ 3 ประเภทคือ

8. เวลาลูกป่วยแม้ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน อย่ารีบไปโรงเรียน

หลังจากหาหมอแล้วก็ควรให้อยู่ที่บ้านก่อนดีที่สุดอย่ารีบไปโรงเรียนเลย ไม่อย่างนั้นคุณจะทำให้เด็กอีกเป็น 10 คนป่วยด้วย และพ่อแม่อีก 20 คนต้องเดือดร้อน

โดยอาการป่วยที่ควรให้ลูกหยุดเรียน คือ หากลูกมีไข้ 38 องศา หรือมากกว่าควรหยุดพักอยู่บ้าน เพราะไข้ขนาดนี้ไม่เพียงจะแพร่เชื้อให้เพื่อน ๆ ได้ง่าย แต่เจ้าตัวน้อยยังป่วยเกินกว่าจะมีสมาธิในการเรียน ควรให้ลูกหยุดพักจนกว่าจะหายไข้ โดยลูกจะกลับไปเรียนได้ควรมั่นใจว่าลูกไม่มีไข้ต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง รวมไปถึงหากเป็นหวัดพร้อมกับมีอาการไอ งอแง และเซื่องซึม หรือเป็นหวัด มีไข้ และหายใจไม่ออก ก็ควรให้ลูกควรหยุดพักอยู่บ้านจะดีกว่า

9. อย่าเครียดหรือกังวลกับการเป็นหวัดบ่อยๆ ของลูกมากเกินไป

เพราะมันก็เป็นเพียงการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กอย่างหนึ่ง (ได้รับวัคซีนโดยไม่ต้องเสียตังค์)

โดยทั่วไปแล้วอาการหวัดสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1-5 วัน หรืออย่างมากมักไม่เกิน 1 อาทิตย์ โดยไม่ต้องรักษาหรือเพียงแต่รักษาตามอาการ อย่างไรก็ตามในบางครั้งหวัดก็อาจจะก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น ทำให้เกิดหูส่วนกลางอักเสบและหูน้ำหนวก  เนื่องจากเชื้อหวัดลามจากจมูกขึ้นไปทางท่อซึ่งต่อระหว่างจมูกกับหูชั้นกลาง ทำให้เกิดอาการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะทำให้เกิดอาการแก้วหูทะลุเป็นหูน้ำหนวกตามมาภายหลัง และถ้าหากเชื้อหวัดลามไปถึงโพรงอากาศรอบจมูก ก็ทำให้เยื่อบุของโพรงอากาศหรือไซนัสอักเสบได้ นอกจากนี้ถ้าหากเชื้อหวัดไหลลามไปตามระบบทางเดินหายใจส่วนล่างอาจทำให้เกิดอาการกล่องเสียงอักเสบหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ ดังนั้นถึงแม้โรคหวัดจะเป็นโรคที่พบบ่อย รักษาง่าย สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ควรจะประมาทเสียทีเดียว ควรจะเฝ้าดูอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้รีบพาลูกไปพบแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป5

10. ไม่ต้องขวนขวายหาหมอเด็กที่เก่งที่สุดเพื่อรักษาอาการหวัดเล็กๆน้อยๆ ของลูก

เพราะ หมอที่เก่งและมีเวลามากที่สุดคือตัวท่านเอง ให้ลูกพักผ่อนมากๆ หมั่นเช็ดตัวลดไข้ ทำอาหารอร่อยๆให้ พร้อมให้กำลังใจ ไม่นานลูกท่านก็จะดีขึ้นเองอาจจะไม่ต้องใช้ยาใดๆเลยก็ได้

ทั้งนี้อาการป่วยส่วนมากของลูกน้อยที่เกิดขึ้น เป็นอาการที่พ่อแม่สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม อาจต้องอาศัยการสังเกตและประสบการณ์ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถพูดหรือบอกอาการชัดเจนได้  ในกรณีที่ลูกน้อยป่วยรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นจากการดูแลเบื้องต้นที่บ้านควรนำมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจากคุณ : Jagger moving topicstock.pantip.com

1อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์ กุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

2ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ haamor.com

3 วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้ (Tepid sponging) รัชนี ชัยประเดิมศักดิ์ อาจารย์พยาบาล สาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น haamor.com

4 อาการไอในเด็ก จาก ศ.พญ.นวลอนงค์  วิศิษฏสุนทร  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

5www.truelife.com