AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่แชร์แม่! ลูก “นอนกรน อันตราย” อย่านิ่งเฉย

ลูก นอนกรน อันตราย!! … แม่เตือนแม่ ให้คอยสังเกตลูกให้ดี!

 

 

คุณแม่คิดว่าการ นอนกรน อันตราย หรือไม่อย่างไร? บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาปกติ หรืออาจจะเป็นเรื่องตลก … แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ลูกนอนกรน ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ หากลูกกรนหนัก จนถึงขั้นหยุดหายใจ!

พบกับเรื่องราวของคุณแม่ Mai Sarakwan ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของลูกสาว ที่มีอาการกรนจนหน้าเขียว พร้อมกับทำความรู้จักกับการนอนกรน … บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก

คุณแม่เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ลุกสาวของคุณแม่อายุได้สองขวบกว่าละค่ะ น้องมีโรคประจำตัวมาตั้งแต่กำเนิดนั่นคือ โรคหัวใจ โดยคุณแม่เล่าต่อว่า คุณแม่มาทราบว่าน้องเป็นน้องมีอายุได้หนึ่งเดือนกว่า ๆ การที่ลูกสาวเข้าโรงพยาบาลในครั้งนี้ เป็นเพราะ มีปริมาณน้ำเกินในร่างกาย จนส่งผลทำให้น้ำท่วมปอด

น้ำที่ว่านี้ก็คือ เลือดนั่นเองค่ะ ด้วยปริมาณที่มากทำให้เลือดไปเลี้ยงปอดมากเกินไปจนปอดชื้น ทำให้น้องหายใจไม่สะดวก  อาการที่น้องแสดงออกให้คุณแม่เห็นก็คือ ใบหน้าเขียว กรนจนมีในบางครั้งลูกสาวของคุณแม่ถึงขั้นหยุดหายใจ!

อาการดังกล่าว ถือเป็นอาการที่เข้าขั้นรุนแรง เพราะลูกสาวของคุณแม่ อาจจะมีภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเฉียบพลันได้เลย

สิ่งที่คุณแม่อยากฝากถึงทุก ๆ ครอบครัวก็คือ “หากลูกไม่ได้มีโรคประจำตัวใด ๆ เหมือนกับลูกสาวของคุณแม่ อยากให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองทุกคนคอยสังเกตลูกหลานของตัวเองให้ดีว่า เวลานอนหลับ ลูกมีการนอนกรน ที่มีลักษณะผิดปกติหรือไม่ ถ้าหากว่ามีอย่ารอช้า ให้รีบพาลูกไปเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดทันที มิเช่นนั้น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

ทีมงาน Amarin Baby and Kids ขอขอบพระคุณคุณแม่มากนะคะ ที่อนุญาตให้นำเรื่องราวของน้องมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวอื่น ทีมงานขอขอบคุณอีกครั้งจากใจจริงเลยละค่ะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้องจัะกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงในเร็ววันนะคะ

นอกเหนือจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านคะ ทีมงานอยากจะขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการ นอนกรน อันตราย ที่ไม่อยากให้ทุกครอบครัวมองข้าม เนื้อหาจะมีอะไรบ้าง และจำน่ากลัวขนาดไหน ไปหาคำตอบนั้นกันเลยค่ะ

อาการกรน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เกิดจาก การสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เวลาเรานอนแล้วสูดหายใจเข้า ทางเดินหายใจส่วนบนจะแคบลงและมีการสั่นมาก จึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น ยิ่งทางเดินหายใจตีบแคบมากเท่าไรเรายิ่งต้องสูดหายใจแรงขึ้น ส่งผลทำให้เสียงกรนก็จะยิ่งดังขึ้นตามไปด้วยนั่นเองค่ะ

นอนกรน อันตราย มากน้อยเพียงใด?

เวลาที่ ลูกนอนกรน เราอาจคิดว่าลูกนอนหลับสบาย แต่การกรนที่ผิดปกติ สามารถส่งผลเสียจนถึงขั้นทำให้ลูกหยุดหายใจขณะนอนหลับได้เลยทีเดียวค่ะ มีการศึกษาพบว่าเด็กไทยในวัยเรียนนอนกรนร้อยละ 6 แต่มีการกรนที่มีปัญหาอยู่ร้อยละ 0.5-1ถ้าลูกเราอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาคงไม่ดีแน่

สาเหตุของการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบนในเด็ก

  1. ต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ทั้งสองต่อมนี้มีหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคเมื่อทำงานจะมีขนาดใหญ่ขึ้น หากเด็กเป็นหวัดหรือเป็นโรคติดเชื้อบ่อย ๆ ลูกก็จะมีโอกาสนอนกรนมากขึ้น เมื่อสองต่อมนี้โตขึ้นจะเป็นเหมือนก้อนหินมาบังทางผ่านของอากาศ ทางเดินหายใจแคบลง เด็กจึงกรน
  2. ความอ้วนเป็นสาเหตุที่ปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเด็กมีน้ำหนักตัวมาก ไขมันจะพอกที่ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณด้านหลังทางเดินหายใจส่วนบนทั้งหมด ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง เด็กที่อ้วนจึงนอนกรนมากกว่าเด็กที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติส่วนสาเหตุอื่น ๆ อาจเกิดจากโครงหน้าผิดรูป เช่น คางร่นไปด้านหลัง กระดูกใบหน้าค่อนข้างเล็ก ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ในกรณีแบบนี้พบได้น้อย

นอนกรนแบบไหนที่ถือว่า “ผิดปกติ”

หากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากจะทำให้เด็กหายใจไม่พอ เกิดภาวะหายใจลำบาก นอนหายใจสะดุด เช่น หากนอนหงายแล้วเด็กนอนกรน เมื่อหายใจไม่ได้เขาก็ต้องเปลี่ยนท่าไปมา หากเราสังเกตได้ว่าเมื่อลูกนอนกรน เดี๋ยวนอนตะแคงซ้าย เดี๋ยวนอนตะแคงขวา นอนหลับไม่สบาย ก็แปลว่าอาจมีปัญหา ถ้ามีปัญหามากขึ้น เด็กจะหยุดหายใจ

ร่างกายเราหากยิ่งหลับลึก กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะยิ่งหย่อนตัวลง ถ้าหย่อนลงจนปิดกั้นทางเดินหายใจทั้งหมด เขาจะหายใจไม่ออก นอนอยู่ดีๆ จะสะดุ้งเฮือกขึ้นมา เพราะเมื่อเราหายใจไม่ออกเราจะรู้สึกตัวตื่น ลักษณะนี้จะเรียกว่า “หายใจเฮือก” คือ นอนแล้วอยู่ ๆ หายใจสะดุด ทารกนอนกรนอยู่แล้วเสียงเงียบไปเพราะหายใจไม่เข้า พอเงียบไปสักระยะหนึ่ง เขาจะเริ่มรู้สึกตัวตื่นแล้วหายใจเฮือกขึ้นมา ถ้าแบบนี้คือแปลว่าผิดปกติ แต่หาก ลูกนอนกรนปกติแบบที่ไม่มีอันตรายอะไร เขาจะกรนเบา ๆ แต่หลับสบายดีตลอดทั้งคืน

ถ้าไม่รักษา จะส่งผลเสียในระยะยาวอย่างไร

  1. เรียนได้ไม่ดี ทำให้ลูกไม่ชอบเรียน ซึ่งจะมีผลกับเขาในอนาคตแน่นอนและเพราะได้ออกซิเจนไม่เพียงพอจึงส่งผลต่อสมอง ทั้งด้านความจำ สติปัญญา การตัดสินใจสมองไม่ค่อยแล่น คิดและตัดสินใจช้า แต่พัฒนาการอื่นอาจไม่ช้า
  2. เสี่ยงเป็นความดันสูงหรือหัวใจวายมากกว่าปกติ เมื่อเด็กนอนกรนแล้วหายใจเข้าไปไม่พอ จะทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำเพราะการหายใจของเราคือการสูดเอาออกซิเจนเข้าไปในเลือด เมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำจะทำให้อวัยวะภายในได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หัวใจและปอดจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปั๊มเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ได้รับออกซิเจนในปริมาณเท่าเดิม ฉะนั้นในอนาคต เด็กจะมีโอกาสความดันสูง หรือหัวใจวายมากกว่าปกติ เพราะหัวใจและปอดทำงานหนักเป็นระยะเวลาหลายปีทั้งตอนตื่นและตอนหลับ

ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นแล้วพบว่า ลูกหลานของเรา นอนกรน อันตราย แบบนี้ อย่ารอช้านะคะ รีบไปปรึกษาคุณหมอโดยทันที

ขอบคุณที่มา: นพ. นราธิป สมบูรณ์กุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช สาขาศรีนครินทร์

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids