นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิตามินซีเป็นวิตามินละลายน้ำและเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายในกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจนในเนื้อเยื่อของกระดูกฟัน เหงือก และหลอดเลือด ซึ่งในร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เองจำเป็นต้องได้รับวิตามีนซีจากสารอาหาร และวิตามินซีนั้นมีอยู่มากในอาหารจำพวกผักสดและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งโดยปกติร่างกายควรได้รับวิตามินซีอย่างน้อยวันละ 50-100 มิลลิกรัม
กรณีเด็กที่เลือกกิน กินอาหารยาก กินข้าวน้อย ไม่กินผักผลไม้ที่มีวิตามินซี ก็อาจทำให้เกิดภาวะเด็กขาดวิตามินซี ซึ่งจะส่งผลพัฒนาการของเด็กให้มีอาการดังต่อไปนี้ได้เช่นกัน
- ทำให้เด็กดูซีด
- บวมฉุ
- เลือดออกง่าย อาจเป็นจ้ำๆ ตามแขนขา รอบตา
- มีเลือดออกตามไรฟัน
- ไม่ค่อยมีแรง
- หงุดหงิดง่าย
- ร้องกวน
- ผิวหนังแห้ง ผมบาง ปวดขา เข่า ไม่ค่อยขยับ เวลานั่งจะงอข้อสะโพกข้อเข่า เป็นต้น
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก จะต้องฝึกให้เด็กกินอาหารที่หลากหลายมีประโยชน์เหมาะสมตามวัยและครบทั้ง 5 หมู่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักคิดว่านมเป็นตัวแทนอาหารอื่น ๆ หากเด็กกินนมมาก ๆ จะช่วยให้เด็กมีรูปร่างสูงใหญ่ บางครอบครัวจึงเลือกซื้อนมกล่องเก็บตุนเพื่อให้ลูกได้หยิบกินได้สะดวก จนลืมคิดถึงอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ ส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอขาดภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้นั่นเอง
นายแพทย์สมจิตร ศรีอุดมขจร แพทย์ประจำศูนย์คลินิกสมองและระบบประสาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคขาดวิตามินซีมีสถิติเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยเด็กส่วนมากมักมีประวัติการกินนมวัวและกินนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง เป็นประจำโดยไม่ทานอาหารอื่นร่วมด้วย
สำหรับผักผลไม้ที่พบว่ามีวิตามินซีสูงนั้นได้แก่ มะเขือเทศ กะหล่ำ พริกหวาน ส้ม มะนาว ฝรั่ง สับปะรด มะม่วง มะละกอ เพื่อให้ลูกได้รับปริมาณวิตามินซีที่เหมาะสม ในระยะ 6 เดือนแรก ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องกินน้ำหรืออาหารอื่น หลังอายุ 6 เดือน ต้องเริ่มฝึกให้เด็กทานอาหารอื่นครบ 5 หมู่ ตามวัยควบคู่กับนมแม่