AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า กินไม่ครบ 3 มื้อ เสี่ยงกระเพาะอักเสบ

แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า กินอาหารไม่ครบมื้ออย่างนี้จะเป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่?

ระวัง แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า นอนตื่นสาย กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ เสี่ยงเป็นโรคร้ายเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารแน่นอน!

ในคุณแม่ท้อง ที่ตั้งครรภ์ไปด้วยและต้องทำงานไปด้วย บางคนก็ต้องทำงานเป็นกะ จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า …หากตื่นสายมาก และกว่าจะได้กินข้าวมื้อแรกก็เที่ยงไปแล้ว ทำให้ในแต่ละวัน แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ  คือได้แค่ 2 มื้อ เที่ยงกับเย็น แต่บางวันหิวตอนดึกๆ ก็มีเสบียงไว้กินเป็นพวกขนมปังกับนมบ้าง ถ้าเป็นเช่นนี้การกินอาหารไม่ครบมื้ออย่างนี้จะเป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่?

หมอตอบ แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า กินไม่ครบ 3 มื้อ เสี่ยงกระเพาะอักเสบ

สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ นาวาตรี พญ. ณัฐยา รัชตะวรรณ สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้ให้คำอธิบายว่า…การที่ แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า หรือ รับประทานอาหารแค่ 2 มื้อต่อวันแบบนี้ จะทำให้คุณแม่มีอาการโรคกระเพาะอักเสบหรือภาวะกรดไหลย้อนได้

อาการ ก็คือ คุณแม่จะรู้สึกจุกๆ แสบๆ ใต้ลิ้นปี่ บางครั้งทำให้เกิดอาการไอ หรือ แสบคอ แย่ยิ่งไปกว่านั้นปริมาณสารอาหารที่เป็นประโยชน์จะถูกส่งถึงลูกในท้องได้น้อยลง เมื่อเป็นแบบนี้การตุนเสบียงไว้ตอนดึกๆ จำพวกไข่ เนื้อสัตว์ หรืออาจเสริมร่วมกับขนมปัง และนม ก็จะเป็นการดี

ทั้งนี้หากคุณแม่สงสัยว่า… ภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์นั้นจะเป็นอันตรายกับเจ้าตัวน้อยหรือไม่ ขอบอกไว้ตรงนี้ค่ะว่าไม่แน่นอน เพราะว่าบริเวณมดลูกกับบริเวณกระเพาะอาหารนั้นคนละส่วนกัน แต่แม้ว่าลูกน้อยจะปลอดภัยแล้ว คุณแม่ก็อย่าชะล่าใจว่าไม่เป็นไร เพราะภาวะกรดไหลย้อนนี้หากปล่อยให้เป็นในระยะยาว จะทำให้โรคเรื้อรังและรุนเเรง และกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ในอนาคต

อ่านต่อ “ถ้าแม่ท้องไม่กินข้าวเช้า ลูกในท้องจะเป็นไรไหม” คลิกหน้า 2

อันตรายต่อลูก แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า

ทั้งนี้หาก แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า หรือ อดอาหารในระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วงแรก ๆ จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ เพราะระยะประมาณ 2 – 3 เดือน ช่วงนี้เป็นช่วงที่เจ้าตัวน้อยกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และในอีก 5 เดือนหลัง สารอาหารต่างๆ ที่รับเข้าไปจะไปช่วยเพิ่มขนาดอวัยวะของทารกที่กำลังสร้าง รวมไปถึงมีผลต่อสุขภาพร่างกายของคุณแม่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น มดลูก และการเตรียมน้ำนมสำหรับลูกน้อย หากแม่ท้องขาดสารอาหาร หรือ กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ ก็อาจทำให้ลูกในท้องมีสติปัญญาต่ำลง และเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมด้วย

คนท้องอดข้าว ขาดสารอาหาร

ซึ่งอันตรายต่อลูกน้อย หาก แม่ท้องไม่กินข้าวเช้า หรือ การอดอาหารของแม่ท้องนี้ก็มีงานวิจัยปรากฏในวารสารวิชาการฉบับล่าสุดของ National Academy of Sciences …โดยนักวิจัยได้เปรียบเทียบแม่ลิงบาบูนสองกลุ่ม ที่อยู่ในศูนย์วิจัยลิงของมูลนิธิตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อการวิจัยชีวแพทย์ (Southwest Foundation for Biomedical Research)

โดยกลุ่มหนึ่งได้รับอนุญาตให้กินมากเท่าที่พวกมันต้องการ ในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ขณะที่อีกกลุ่มถูกจำกัดอาหารให้เหลือเพียงน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นอาหารที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ช่วงแรก ๆ กิน โดยเฉพาะผู้ซึ่งมีอาการแพ้ท้อง

ซึ่งในกลุ่มแม่ลิงบาบูนที่ถูกจำกัดอาหารในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ นักวิจัยพบว่า… ทารกในครรภ์จะได้รับอันตรายจากการเชื่อมต่อของเซลล์และการแบ่งเซลล์ และมีการเจริญเติบโตของส่วนต่าง ๆ ลดลงด้วย และยังพบอีกว่า การได้รับสารอาหารที่จำกัด จะส่งผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท และยีนนับร้อย ๆ ที่ควบคุมเซลล์สำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาด้านต่าง ๆ

ด้าน ดร.ปีเตอร์ นาธานนีลซ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด มหาวิทยาลัยเท็กซัส ยังได้กล่าวอีกว่า “การค้นพบในงานวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกเป็นระยะวิกฤตที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองกำลังสร้างเซลล์ประสาทและเซลล์ค้ำจุน (เซลล์ที่ช่วยเหลือการทำงานของเซลล์ประสาท)”

และถึงแม้ว่าการวิจัยครั้งนี้จะวิจัยในสัตว์ แต่ ดร.ปีเตอร์ก็เชื่อว่าผลวิจัยอ้างอิงกับมนุษย์ได้ โดยมีการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า การขาดสารอาหารของหญิงมีครรภ์ เช่นเดียวกับที่ได้ทดลองกับลิงบาบูน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของทารกอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ในด้านของไทยเรา พญ. อรพร ดำรงวงศ์ศิริ กุมารแพทย์ด้านโภชนาการเด็ก คณะกรรมการโครงการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถาบันผลิตแพทย์ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้ความกระจ่างและความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการกินอาหารของคุณแม่ตั้งครรภ์ไว้ 5 ข้อสำคัญ ดังนี้…

อ่านต่อ “ข้อสำคัญเรื่องการกินอาหาร ที่คุณแม่ท้องต้องรู้” คลิกหน้า 3

5 ข้อสำคัญเรื่องการกินอาหารของแม่ท้อง

1. อย่ากินอาหารตามใจตัวเอง

แม่ท้องควรกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรกินอาหารตามใจตัวเองตลอดเวลา แต่ต้องใส่ใจเรื่องโภชนาการด้วย เพราะการกินมากเกินไปหรือกินน้อยเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้

2. กินอาหารมากกว่าปกติ ทุกไตรมาส

ในระยะการตั้งครรภ์แบ่งเป็นไตรมาส ช่วงแรก 0-3 เดือน คุณแม่อาจจะประสบปัญหาการแพ้ท้อง ก็ควรกินอาหารอ่อนและย่อยง่าย เพื่อให้ตัวคุณแม่ได้รับสารอาหารได้เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาทั้งสามช่วงไตรมาส คือ 0-3 เดือน, 3-6 เดือน และ 6-9 เดือน แนะนำให้คุณแม่กินอาหารมากกว่าเดิมวันละ 500 แคลอรี และควรกินอาหารประเภทโปรตีนเพิ่มขึ้นจากปกติ ประมาณ 15-25 กรัม หลักการง่ายๆ คือ แม่ควรเพิ่มข้าว 1 ทัพพีต่อมื้อ และเนื้อสัตว์ 2-3 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ โดยเพิ่มขึ้นจากการกินปกติ และเสริมอาหารระหว่างมื้อเป็นมื้อย่อยๆ ในช่วงสายหรือบ่ายเพิ่มขึ้น

การกินอาหารของแม่ท้อง

3. สารอาหารสำคัญที่แม่ควรได้รับ

แม่ควรได้รับสารอาหารหลักครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุ แต่ในช่วงตั้งครรภ์แม่จะมีความต้องการแร่ธาตุบางชนิดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และโฟลิก ซึ่งเมื่อไปฝากครรภ์จะได้ยาเม็ดวิตามินรวมจากคุณหมอ ซึ่งจะรวมแร่ธาตุและวิตามินเหล่านี้เอาไว้ คุณแม่จำเป็นต้องใส่ใจกับการกินวิตามินเสริมตัวนี้ด้วย เพื่อทำให้ร่างกายเราสมบูรณ์แข็งแรง และตัวคุณแม่ก็จะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน

4. ระวังอาหารต้องห้ามสำหรับคนท้อง

ควรระวังอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค และไม่สะอาด เพราะจะทำให้แม่มีอาการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น อาหารสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงต่อเชื้อพยาธิ ถ้าได้รับเชื้อมาแล้วอาจไม่มีอาการ แต่อาจส่งผลถึงสารอาหารและโภชนาการในร่างกายของคุณแม่ท้องเองอย่างเงียบๆ และส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้

อีกทั้งคุณแม่ท้องบางคนก็มีความเชื่อที่ต้องกินอาหารบางชนิดมากๆ  แต่สิ่งที่คุณหมอทุกคนแนะนำ คือ กินอาหารให้หลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ ก็ควรกินทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ผักผลไม้หลากหลายชนิด เพื่อที่จะทำให้ได้รับสารอาหารที่เฉลี่ยแล้วแต่ละวันครบถ้วน

5. เมนูอาหาร สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

เมนูอาหารคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรกินจะเป็นเมนูสุขภาพทั่วไป หรือเมนูปลาต่างๆ โดยเฉพาะปลาทะเลจะเสริมกรดไขมัน DHA และไอโอดีนได้ด้วย

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องระลึกอยู่เสมอว่าลูกในท้องของคุณต้องการสารอาหารที่มีคุณค่า และพลังงานอาหารทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้นคุณค่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ ในการเลือกชนิดของอาหารกินในแต่ละมื้อ อาหารที่ทรงคุณค่าคืออาหารที่อุดมด้วยสารอาหาร ที่ทารกในครรภ์ต้องการและไม่ทำให้น้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มมากเกินไป ไม่ว่าคุณแม่จะต้องการให้น้ำหนักเพิ่มมากหรือเพิ่มน้อยอย่างไร คุณแม่สามารถทำได้ด้วยการกำหนดชนิดและประเภทอาหารที่จะกิน

โดยอาศัยหลักการไม่ยากคือ กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ อาจมีอาหารว่างที่เป็นประโยชน์ 2 มื้อ และควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือ เนื้อสัตว์ ข้าวแป้ง ไขมัน ผักและผลไม้ ก็จะทำให้คุณแม่มีสุขภาพของครรภ์ที่สมบูรณ์ และเมื่อครบกำหนดคลอด คุณแม่ที่กินอาหารได้ครบถ้วน มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลูกน้อยที่เกิดมาก็จะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นเดียวกัน

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :


ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.thaihealth.or.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids