AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ไตรมาส 3 กระตุ้นพัฒนาการ เตรียมลูกน้อยสู่โลกกว้าง

คุณหมอจิตรนพินแนะนำให้คุณแม่ทำกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการแบบเดียวกับไตรมาส 2 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 3 แตกต่างกันเพียงแค่เพิ่มเติมกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการบางอย่างตามการเจริญเติบโตของลูกน้อย และปรับลดสารอาหารบางอย่างที่อาจทำให้คุณแม่เกิดความเสี่ยงเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดค่ะ

สารอาหารต้องปรับ เพื่อลูกน้อยปลอดภัย

“อาหาร 5 หมู่ยังคงเป็นอาหารหลักที่คุณแม่ขาดไม่ได้ แต่อาหารเสริมอย่างโอเมกา 3 และดีเอชเอ หมอแนะนำให้เลิกทานหลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ค่ะ เพราะเซลล์ประสาทและสมองพัฒนามาพอสมควรแล้ว การรับดีเอชเอเข้าไปอีกจะมีสารตั้งต้นบางอย่างที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดภาวะคล้ายๆ กับเลือดออกง่ายหรือเลือดแข็งตัวช้า เพื่อความปลอดภัยในไตรมาส 3 ซึ่งเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หมอก็จะแนะนำให้หยุดกิน แล้วไปกระตุ้นพัฒนาการด้านอื่นๆ เสริมแทนค่ะ”

ไอโอดีนเสริมความฉลาด

คุณหมอจิตรนพินแนะนำว่าไอโอดีนเป็นอีกสารอาหารที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก แต่เพราะคนไทยไม่ค่อยขาด คุณหมอจึงไม่ค่อยแนะนำให้กินเสริม การขาดไอโอดีนส่งผลต่อโรคไทรอยด์ซึ่งเป็นโรคที่มีผลต่อความฉลาดของเด็ก เด็กที่พร่องไอโอดีนหรือไทรอยด์เมื่อคลอดออกมาแล้วจะกระตุ้นอย่างไรก็เรียนรู้ได้ยาก เนื่องจากสมองผิดปกติตั้งแต่แรกค่ะ

“กระตุ้นเซลล์ประสาทตา” ทำได้ง่ายมาก!

“ลูกน้อยในไตรมาสนี้ลืมตาได้แล้ว แต่ก็มองไม่เห็นอะไรเพราะในน้ำคร่ำเป็นที่มืด แต่ว่าเซลล์ประสาทตามีความไวต่อการรับแสงเพิ่มขึ้นแล้ว กิจกรรมที่หมอแนะนำให้ทำหลักๆ เพื่อกระตุ้นเซลล์ประสาทจอตา คือการเอาไฟฉายส่องท้อง โดยส่องบริเวณใบหน้าของเด็ก (ด้านตรงข้ามกับฝั่งที่ลูกเตะท้องคุณแม่) ห่างจากท้องประมาณ 1 ฟุต แม้ความเข้มของไฟฉายไม่เยอะพอจะทะลุเข้าไปในท้อง แต่เราต้องการเพียงความแตกต่างของแสงเพื่อใช้กระตุ้นเซลล์ประสาทตาเท่านั้น ส่งผลให้เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาจะสามารถกระตุ้นการรับแสงและสีได้ง่ายขึ้นค่ะ แม้จะยังไม่มีการรับรองว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่มีอันตรายอะไรแน่นอนค่ะ”

“คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าหมอแนะนำให้กระตุ้นเซลล์ประสาททำไม นั่นเพราะการมีเซลล์ประสาทและเส้นใยประสาทจำนวนมากมีผลให้ลูกน้อยเรียนรู้หรือมีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมให้ลูกน้อยในท้องจึงเป็นการเตรียมต้นทุน เพื่อให้สามารถต่อยอดด้วยการส่งเสริมพัฒนาการหลังคลอดได้รวดเร็วขึ้นค่ะ”

ทำความเข้าใจประโยชน์ของการนวดกับพัฒนาการของลูกน้อย

“การนวดเฉพาะจุด เช่น คอ บ่า ไหล่ ขา และหัว ช่วยคลายความปวดเมื่อยของคุณแม่ได้ค่ะ แต่ไม่เกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการเท่าไร เพียงแต่ทำให้แม่อารมณ์ดีและสบายตัวเท่านั้น หมอไม่แนะนำการนวดที่ต้องออกแรงกดบริเวณท้อง นวดกดจุด และนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยนะคะ เพราะมีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกน้อยได้ และก่อนนวดคุณแม่อย่าลืมปรึกษาคุณหมอเพื่อความปลอดภัยก่อนด้วยนะคะ”

Tip

พลังของคุณพ่อสุดยอดเสมอ

คุณหมอฝากแนะนำเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้ทุกไตรมาสของคุณแม่เป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข เพียงให้คุณพ่อมีส่วนร่วมทุกไตรมาสและทุกกิจกรรมการกระตุ้นพัฒนาการค่ะ “กิจกรรมต่างๆ ที่มีคุณพ่อร่วมด้วยมักจะประสบความสำเร็จดี เพราะคุณแม่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังทำให้คุณแม่อารมณ์ดีและรู้สึกอุ่นใจที่คุณพ่อยังคงให้ความรักความใส่ใจ ซึ่งอารมณ์ของคุณแม่ก็จะส่งผลที่ดีต่อลูกในครรภ์ด้วยค่ะ”

 

อ่านเพิ่มเติม ไตรมาส 1 | ไตรมาส 2

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ. จิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ : Shutterstock