AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ท้องมือใหม่ ดูแลตัวเองได้เหมือนมืออาชีพ

คู่มือดูแลตัวเองสำหรับแม่ท้องมือใหม่

แม่ท้องมือใหม่ ย่อมกังวลกับท้องแรก  จะดูแลสุขภาพอย่างไร  อยากสวยอยากเฟิร์มในช่วงตั้งครรภ์แต่ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง  และอีกสารพัดเรื่องกังวลสำหรับแม่ท้องมือใหม่  พญ. เมสิตา สุขสมานวงศ์  สูตินรีแพทย์  ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์  จึงมีคำตอบคลายข้อสงสัย  พร้อมแนะวิธีดูแลตัวเองและลูกน้อยให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดช่วงตั้งครรภ์ค่ะ

เตรียมตัวก่อน ยิ่งเร็วยิ่งดี

เรื่องสุขภาพโดยรวมควรเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์  เทียบกันแล้วคนที่เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์  ย่อมดีกว่าคนที่ตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว  วิธีเตรียมตัวก็ง่ายๆ  เพียงดูแลให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ  ออกกำลังกายบ้าง  ทานอาหารที่มีประโยชน์  มีพิเศษคือควรกินโฟเลตบำรุงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์  เพื่อป้องกันความพิการบางอย่างให้ลูกน้อย  ควรตรวจสุขภาพว่าเรามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง  และดูว่าเรามีภูมิคุ้มกันหรือได้รับวัคซีนต่างๆ เพียงพอหรือยัง  ถ้าตรวจทุกอย่างเรียบร้อยและไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างสบายใจ  ส่วนคนที่มีโรคประจำตัวก็ไม่ได้หมายความว่าตั้งครรภ์ไม่ได้นะคะ  เพียงแต่ต้องควบคุมโรคให้ดีก่อน  ก็จะทำให้การตั้งครรภ์มีความปลอดภัยมากขึ้นค่ะ

อาหารที่แม่ท้องต้องกิน

จริงๆ แล้วแม่ท้องต้องการปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 300 กิโลแคลอรีต่อวันเท่านั้น  ไม่ได้ต้องการเยอะมากอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ  แม่มักจะคิดว่ากินอะไรให้ลูกโต  กินอะไรให้ลูกแข็งแรง  กินอะไรให้ลูกฉลาด  จริงๆ แล้วทางการแพทย์ไม่ได้บอกว่าต้องกินอะไรกันแน่  เพียงแค่กินอาหารที่มีประโยชน์  ครบทั้ง 5 หมู่  และกินให้หลากหลายก็เพียงพอแล้วค่ะ  เช่น  วันนี้กินปลา  วันพรุ่งนี้กินอกไก่  วันต่อไปกินหมู  ลูกก็จะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลายตามไปด้วย

น้ำมะพร้าว : กินแล้วแท้ง VS กินแล้วลูกผิวสวย

คุณแม่ส่วนหนึ่งเชื่อว่าน้ำมะพร้าวทำให้แท้งง่าย  อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าน้ำมะพร้าวทำให้ลูกผิวสวยและไม่มีไขติดตัวตอนคลอด  แท้จริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิดหมดค่ะ  เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีในน้ำมะพร้าวไม่ได้มีส่วนในเรื่องของการแท้ง  เพียงแต่คุณแม่ตั้งครรภ์มีฮอร์โมนตัวนี้มากพออยู่แล้ว  จึงไม่มีความจำเป็นต้องกินเพิ่ม  และไขที่ติดตัวทารกตอนเกิด  จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่คลอด  ยิ่งคลอดในช่วงอายุครรภ์น้อยยิ่งมีไขเยอะ  เพราะฉะนั้นหากคุณแม่อยากกินน้ำมะพร้าวก็กินได้ค่ะ  แต่ไม่ควรกินเยอะ  เพราะน้ำมะพร้าวมีน้ำตาลสูง  กินมากก็อาจทำให้น้ำตาลขึ้นและเป็นเบาหวานหรืออ้วนได้ค่ะ

แม่ท้องทำน้ำหนักรับขวัญลูกน้อย

หมอแนะนำให้คุณแม่ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์  หากคุณแม่มีน้ำหนักตามมาตรฐานปกติขณะตั้งครรภ์ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มโดยรวมคือ  12-18 กิโลกรัม  แต่หากคุณแม่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานอยู่แล้ว  แนะนำว่าในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มเพียง 7-11 กิโลกรัมเท่านั้น  แต่หากคุณแม่ผอมมาก  ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรเพิ่มน้ำหนักมากกว่า 18 กิโลกรัมค่ะ  โดยหมอไม่แนะนำให้ลดน้ำหนักหรืออดอาหารในระหว่างการตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด  เพียงแค่ควบคุมปริมาณน้ำหนักที่จะเพิ่มจากเดิมด้วยการเลือกกินให้สมดุลเท่านั้นค่ะ

ในไตรมาสแรกน้ำหนักคุณแม่จะยังไม่เพิ่มเท่าไร  แต่เมื่อถึงไตรมาสที่ 2-3  น้ำหนักของคุณแม่ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะเป็นช่วงที่ลูกเริ่มเจริญเติบโต  เพราะฉะนั้นหากคุณแม่กังวลว่าท้องแล้วแต่ในช่วงไตรมาสแรกน้ำหนักไม่ขึ้นเลย  แบบนี้จะเป็นอะไรไหม  ก็ขอให้สบายใจว่าไม่ได้เป็นอะไรค่ะ  และโดยทั่วไปหมอจะตรวจขนาดมดลูกด้วยการคลำและวัดด้วยมือเป็นระยะอยู่แล้ว  เพื่อดูว่าขนาดมดลูกและอายุครรภ์สอดคล้องไปด้วยกันหรือไม่  สมมุติว่าดูแล้วขนาดและอายุครรภ์มันไม่ได้ไปด้วยกัน  หมอจึงจะอัลตราซาวด์  หาสาเหตุ  และหาวิธีแก้ไขให้ค่ะ

อ่านต่อ “ยาสำคัญ บำรุงแม่และลูกน้อย” คลิกหน้า 2

ยาสำคัญ บำรุงแม่และลูกน้อย

ยาบำรุงสำหรับแม่ท้องมีวางขายอยู่มากมายหลายขนาน  แต่ยาที่มีประโยชน์กับแม่ท้องจริงๆ และหมอแนะนำให้คุณแม่รับประทาน  มีเพียงยาบางชนิดเท่านั้นเองค่ะ

หมอแนะนำให้กิน 0.4 มิลลิกรัมต่อวันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 1 เดือน  ไปจนถึง 3 เดือนหลังตั้งครรภ์  ยาตัวนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพิการบางอย่างได้  เช่น  ปากแหว่งเพดานโหว่  หรือท่อประสาทสันหลังไม่ปิด  อีกทั้งยังเป็นยาที่ช่วยบำรุงระบบประสาทของลูกด้วยค่ะ

มีผลการวิจัยทางการแพทย์รองรับว่าสำคัญกับแม่ท้องอย่างมาก  เนื่องจากลูกดึงธาตุเหล็กของคุณแม่ไปใช้ตลอดเวลา  และในร่างกายแม่ท้องจะมีปริมาณน้ำเลือดเพิ่มมากขึ้น  ขณะที่เม็ดเลือดยังเท่าเดิม  ทำให้คุณแม่เกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก  ยาเสริมธาตุเหล็กจึงไปช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้คุณแม่  แต่ปัญหาอยู่ที่การกินธาตุเหล็กอาจไปเพิ่มอาการคลื่นไส้อาเจียนในช่วงไตรมาสที่ 1  หมอจึงแนะนำให้กินธาตุเหล็กในไตรมาสที่ 2 ขึ้นไปจนหลังคลอด  คุณแม่จะได้สามารถเสียเลือดในระหว่างคลอดได้โดยที่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนค่ะ  นอกจากนี้ธาตุเหล็กอาจส่งผลข้างเคียงได้บ้าง  เช่น  ทำให้คลื่นไส้  ถ่ายดำ  หรือท้องผูก  แต่ก็มีความสำคัญและแม่ท้องจำเป็นต้องกินค่ะ

แม่ท้องต้องการแคลเซียมประมาณ 1000 มิลลิกรัมต่อวัน  หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมจากอาหารที่กินอยู่เพียงพอ  หมอจะไม่แนะนำให้กินเสริมอีกค่ะ  อาหารที่มีแคลเซียมสูงนอกจากนม ยังมีผักใบเขียว  กุ้งหรือปลาตัวเล็ก  เต้าหู้  ถั่วเหลือง  เนื้อสัตว์  ไข่ไก่  กะปิ  ฯลฯ  คุณแม่บางคนเข้าใจว่าแคลเซียมมาจากนมอย่างเดียว  ก็จะพยายามกินนมเยอะๆ  ทำให้ร่างกายได้รับอาหารประเภทนมมากเกินไป  ส่งผลให้เด็กแพ้นมวัวกันมากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน  เพราะฉะนั้นเลือกกินอาหารที่มีแคลเซียมให้หลากหลายและกินสลับกันไปดีกว่าค่ะ

ซื้อยาบำรุงกินเอง ต้องระวังอันตราย

วิตามินบางอย่างหากได้รับมากๆ อาจมีผลเสียได้  โดยเฉพาะยาเสริมวิตามินรวมและน้ำมันตับปลาซึ่งอาจจะมีปริมาณของวิตามินบางชนิดที่มากเกินความจำเป็น และร่างกายไม่ต้องการ โดยเฉพาะวิตามินเอในยารักษาสิวแบบกิน  หากคุณแม่ใช้ยาทาแต้มผิวเพียงเล็กน้อยหมอก็ยังอนุโลมให้ใช้ได้  แต่ยากินรักษาสิวหรือโรแอคคิวเทนซึ่งสะกัดจากวิตามินเอเข้มข้น  อันนี้หมอขอห้ามเด็ดขาดทั้งในแม่ท้องและแม่ที่กำลังวางแผนจะมีลูก  เพราะมีรายงานชัดเจนว่ามีแนวโน้มทำให้เด็กพิการถึง 26 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติค่ะ

ลูกน้อยในช่วงไตรมาสแรกกำลังพัฒนาโครงสร้างร่างกายอย่างต่เนื่อง  คุณแม่จึงควรระวังสิ่งที่อาจมากระตุ้นหรือทำให้การพัฒนาโครงสร้างผิดปกติ  เช่น การใช้ยา  อาหารเสริม  หรือวิตามินอื่นๆ ที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์  เพราะแม้จะเป็นยาบำรุงหรือยารักษาโรคก็มีอยู่หลายกลุ่ม  บางกลุ่มปลอดภัย มีผลกระทบต่ำไปจนถึงมีผลกระทบสูง  และอันตรายมาก  หากคุณแม่อยากกินยานอกเหนือจากที่หมอแนะนำ  หรือเจ็บป่วยแล้วมีความจำเป็นต้องกินยารักษาโรค  แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วไปก็ควรปรึกษาหมอก่อนนะคะ

แม่ท้องอยากสวย & เฟิร์ม

หมอไม่แนะนำการทำเลเซอร์หรือการฉีดสารต่างๆ เพื่อความงามสำหรับแม่ท้อง  เพราะยังไม่มีงานวิจัยรับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็กจริง  แต่ครีมหรือโลชั่นทาผิวที่มีมาตรฐานรับรองยังใช้ได้ค่ะ  ส่วนการออกกำลังกาย  สำหรับคุณแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรง  ไม่มีภาวะเสี่ยง ไม่มีโรคประจำตัว ยังทำได้ตามปกติ  เพียงแต่ไม่ควรหักโหมเท่าตอนก่อนตั้งครรภ์และหลีกเลี่ยงท่าออกกำลังกายที่เกี่ยวกับข้อต่อ  เพราะข้อกระดูกของแม่ท้องจะหลวมกว่าปกติ  และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการปะทะ  การชน  การล้ม  และการกดทับบริเวณหน้าท้อง  การออกกำลังกายที่หมอแนะนำคือ  การว่ายน้ำ  เพราะน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนักให้ไม่เกิดการบาดเจ็บต่อหน้าท้องและข้อต่อต่างๆ  โยคะก็ทำได้นะคะ  แต่ต้องหลีกเลี่ยงท่านอนคว่ำนอนหงายต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการทับท้องและทับเส้นเลือด  ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เวียนหัวและความดันตกได้ค่ะ

หมอฝากถึงแม่ท้องมือใหม่

หมอไม่อยากให้คุณแม่กังวลมากจนเกินไป  เพราะกระบวนการตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมชาติ  คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร  ซึ่งหากคุณแม่ดูแลตัวเองดีแล้ว  แต่ยังมีปัญหาแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ นั่นอาจเป็นสิ่งที่คุณแม่ควบคุมไม่ได้  เพราะการแท้งมีหลายปัจจัย  ทั้งเกิดจากตัวเด็กเองที่มีปัญหา  ซึ่งหากเด็กไม่มีความสมบูรณ์  เขาก็จะแท้งไปเองเป็นกลไกตามธรรมชาติ  คุณแม่เพียงแค่ทำใจให้สบาย  ใช้ชีวิตตามปกติ  ไม่เครียด  กินอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย  กินยาตามแพทย์สั่ง  เพียงเท่านี้ก็ถือว่าคุณแม่ทำได้ดีที่สุดแล้วค่ะ

ที่มา: นิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับ มกราคม 2559

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารฯ

ภาพ: Shutterstock

Save

Save

Save

Save

Save