มีคุณแม่ที่ท้องส่วนใหญ่หลายคนมักจะกังวลเรื่อง น้ำหนักของลูกในครรภ์ เพราะกลัวว่าเมื่อคลอดออกมาลูกจะตัวเล็ก หรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จึงสรรหาวิธีทางที่จะ เพิ่มน้ำหนักให้ลูกในท้อง โดยการทานอาหารเพื่อเข้าไปเพิ่มน้ำหนักให้ลูกเพื่อคลอดออกมาจะได้มีน้ำหนักตามเกณฑ์
การ เพิ่มน้ำหนักให้ลูกในท้อง
โดยปกติเด็กทารกช่วงแรกเกิด มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2.8-3.2 กิโลกรัม สำหรับคุณแม่ที่คลอดตามกำหนด แต่ก็มีคุณแม่บางคนที่คลอดลูกตามกำหนดแต่น้ำหนักตัวทารกแรกเกิดน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ทารกในครรภ์บางคนถึงแม้จะมีขนาดเล็กก็จริง แต่ร่างกายกลับสมบูรณ์แข็งแรง เนื่องด้วยสุขภาพของคุณแม่ และการเลือกกินอาหาร ในความเป็นจริง ขนาดของทารกในครรภ์ ไม่จำเป็นต้องตัวใหญ่มากนัก เพราะจะลำบากในตอนคลอด แต่ควรดูเรื่องสุขภาพของคุณแม่ และการเต้นของหัวใจลูกเป็นสำคัญ เด็กทารกที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์เมื่อครบกำหนดคลอดคือ 2500-3500 กรัม ค่ะ
ซึ่งถ้าลูกตัวเล็กแต่แข็งแรงก็ดีไป แต่ก็มีคุณแม่หลายคนที่อยากเห็นลูกน้อยแรกเกิดของตัวเองทั้งแข็งแรงและจ้ำม่ำ อุดมสมบูรณ์ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้การเพิ่มน้ำหนักลูกในท้อง นั้นเริ่มต้นที่เพิ่มตัวคุณแม่ก่อนนะคะ ควรทานอาหารให้ครบห้าหมู่ตามหลักโภชนาการและเน้นอาหาร ที่มีโปรตีน และดื่มนม เสริมด้วย
เหตุที่ทารกในครรภ์น้ำหนักน้อย
หากน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์ประมาณ 2 กิโลกรัมกว่า ซึ่งอาจดูจะน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้สาเหตุของการเจริญเติบโตช้าของทารกอาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม เช่น
- คุณพ่อคุณแม่ตัวเล็ก ทารกก็จะตัวเล็กด้วย
- ทารกมีความผิดปกติทางโครโมโซม
- มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- คุณแม่มีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เป็นต้น
- คุณแม่มีโรคหรือความผิดปกติในขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคธัยรอยด์หรือเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคที่พบจะส่งผลต่อความผิดปกติของเนื้อรก ทำให้เนื้อรกมีตะกอนแคลเซียมมาเกาะจำนวนมาก ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดที่บริเวณเนื้อรกผิดปกติ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกมีขนาดเล็กกว่าปกติได้
- แม่มีอายุน้อย หรือยังเป็นวัยรุ่นอยู่ก็จะทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวน้อยได้
- แม่สูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้สารเสพติด
- ท้องลูกแฝด (เพราะอยู่กันเบียดๆ ไม่ใช่เพราะแย่งอาหารกัน)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จะรู้ได้อย่างไรว่า ทารกในครรภ์น้ำหนักเท่าไหร่
การที่คุณแม่ท้องจะสามารถทราบขนาดและน้ำหนักของลูกน้อยในท้องได้นั้น จะวัดขนาดจากการอัลตร้าซาวด์แล้วคุณหมอสามารถประเมินขนาดทารกได้จากสิ่งเหล่านี้ค่ะ
- ขนาดของหน้าท้องที่นูน หรือ ยื่นออกไปด้านหน้าหรือด้านข้าง
- น้ำหนักตัวของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น
- น้ำคร่ำมากหรือน้อย
- ตั้งครรภ์แฝดหรือไม่
- ทารกลอยต่ำหรือสูง
คุณแม่บางคนที่มีหน้าท้องใหญ่อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน และถ้าคุณหมอประเมินจากวิธีต่าง ๆ แล้ว และพบว่าทารกมีขนาดน้อยกว่าเกณฑ์ คุณหมอจะแนะนำเรื่องโภชนาการให้คุณแม่เลือกนำไปปฏิบัติเพื่อให้น้ำหนักของลูกมีน้ำหนักที่พอดี ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ซึ่งถ้าหาก ทารกในครรภ์มีน้ำหนักน้อย จะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดมากค่ะ
อ่านต่อ >> “วิธีเพิ่มน้ำหนักให้ลูกในท้อง” คลิกหน้า 2
วิธีเพิ่มน้ำหนักให้ลูกในท้อง เพื่อไม่ให้ลูกตัวเล็กเมื่อคลอดออกมา
สิ่งสำคัญในการเพิ่มน้ำหนักให้ลูกในท้อง คือเรื่องโภชนาการอาหาร คุณแม่ท้องควรเน้น สารอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เน้น อาหารที่เพิ่มพลังงานเพียงแต่อย่างเดียว
- ให้กินอาหารเท่าที่จำเป็น เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ รวมทั้งคุณแม่ให้นมลูกที่มีสภาวะทางโภชนาการปกติอยู่แต่เดิม ต้องการแคลอรี่เพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี่/วัน หากถ้าใครมีสภาวะโภชนาล้นเกิน หรือ นน.เกินอยู่แล้ว ไม่ต้องกินเพิ่ม ให้กินเท่ากับตอนที่ยังไม่ตั้งครรภ์ คือ 2,000 กิโลแคลอรี่/วันก็เพียงพอค่ะ
- ควรทานอาหารที่หลากหลาย เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ โดยเน้นโปรตีน แต่ให้หลากหลายและมาจากธรรมชาติ เช่น ปลา ไก่ หมู ไม่ใช่ทานอาหารอย่างเดียวปริมาณมาก เช่น ไข่ 10 ฟองต่อวัน นมวันละ 2 ลิตร ซึ่งอาจทำให้ลูกน้อยคลอดออกมาจะเสี่ยงต่อแพ้ไข่ แพ้นม ได้
- ต้องหมั่นคอยดูแลรักษาโรคประจำตัวของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อนไม่พอ มีความเครียด ความกังวล ก็ทำให้ลูกตัวเล็กได้เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่
- คุณแม่ท้องควรออกกำลังกายด้วย ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสม สามารถทำได้ และพบว่าอาจช่วยให้สุขภาพลูกแข็งแรงด้วย
ที่สำคัญคุณแม่ท้องตรวจติดตามร่างกายกับคุณหมอที่ดูแลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทารกที่ตัวเล็ก คุณหมออาจนัดตรวจติดตามถี่กว่าปกติ เพื่อตรวจสุขภาพทารกอย่างละเอียด
อีกทั้งยังมีเทคนิคเพิ่มเติม กับวิธีการเพิ่มน้ำหนักลูกในครรภ์ ตามคำแนะนำทั่วไปของคุณหมอ คือ ควรทานทุกสองชั่วโมง ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป เช่น ทานกล้วยหอม 1 ลูก ตามด้วย แอปเปิล หรือแดงหนึ่งลูก แล้วก็ตามด้วยนมหนึ่งแก้ว และอีกสองชั่วโมงต่อมาก็ให้ทาน นมถั่วเหลืองกับขนมปังทาตับบด ทานสลับกันไป พอถึงช่วงเย็น ก็ทานอาหารปกติ แต่ขอให้ครบห้าหมู่ก็เพียงพอ แค่นี้น้ำหนักของลูกในท้องก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ใช่ว่าคุณแม่ทั้งหลายจะมัวกินเพลินจนลูกน้อยในครรภ์มีน้ำหนักเยอะเกินไปนะคะ นั่นจะส่งผลเสียให้ตัวคุณแม่เองด้วยเวลาคลอด และจะทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวเกินพิกัดที่กำหนด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Good to know… ทั้งนี้ นักวิจัยเนเธอร์แลนด์เผยความเครียดจากงานในช่วงเริ่มต้นการตั้งครรภ์ มีผลทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
โดยการวิจัยในครั้งนี้ได้ทำการศึกษาว่าที่คุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 1 – 3 เดือน) จำนวน 8,266 ราย เกี่ยวกับภาระงานที่ได้รับมอบหมายในช่วง 1 – 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และมีการสอบถามเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานว่ามีความเร่งรีบ หรือเป็นงานที่ต้องการความถูกต้องแม่นยำสูงหรือไม่
ผลการศึกษาระบุว่า ผู้หญิงที่มีเวลาทำงานตั้งแต่ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป และเป็นงานที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบสูง จะส่งผลให้มารดาเกิดความเครียด และส่งผลต่อน้ำหนักของทารกในครรภ์ให้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
“จากผลการศึกษา หากสามารถลดความเครียดในการทำงาน และลดชั่วโมงการทำงานในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้มากกว่า”
ดังนั้นวิธีดูแลที่ถูกต้องสำหรับคุณแม่ท้องที่ตรวจเจอปัญหาลูกในครรภ์ตัวเล็ก คือ การพักเยอะๆ การนอนเยอะๆ เพื่อให้มีเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงทารกมากขึ้น ถ้าแม่ทำงานเยอะ ออกแรงเยอะ เลือดก็ต้องไปเลี้ยงส่วนอื่นๆของร่างกายคุณแม่ ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงลูกลดลง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนกลางคืนอย่างน้อย 8 ชม. กลางวัน 1-2 ชม.
ส่วนการรักษาด้านอื่นๆ ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเล็ก เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกกินเหล้า เลิกสารเสพติด ใช้แอสไพรินแก้ไขปัญหาเรื่องความผิดปกติด้านการแข็งตัวของเลือด ส่วนโรคประจำตัวของคุณแม่ก็ต้องให้คุณหมออายุรกรรมช่วยดูแลควบคู่กันไป ถ้าเป็นการติดเชื้อหรือโครโมโซมผิดปกติ ก็มักจะทำอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากการนอนพักผ่อนให้เต็มที่ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ช่วย เพิ่มน้ำหนักให้ลูกในท้อง หนักตามเกณฑ์ และออกมาแข็งแรงสมบูรณ์ ได้แล้วล่ะค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- ไขข้อสงสัย! ทารกแรกเกิดควรมีน้ำหนักเท่าไหร่?
- คำนวณส่วนสูง และดัชนีมวลกาย เพื่อลูกน้อยเติบโตสมวัย
- อาหารเพิ่มน้ำหนัก สำหรับลูกน้อยตัวเล็ก
ขอขอบคุณบทความจาก : คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ , www.breastfeedingthai.com