เมื่อก่อนก็อ้ำหาย อ้ำหาย อยู่ๆ ก็กลายเป็นเด็กไม่ยอมกินข้าว ขึ้นมาซะงั้น! ลูกไม่กินข้าว เป็นปัญหาที่มักจะเกิดกับเด็กในวัย 1 ปีขึ้นไป โดยเมื่อเด็กอายุครบ 1 ปี จะเริ่มเรียนรู้การปฏิเสธหรือคายอาหาร เนื่องจากมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย สามารถหาและหยิบอาหารต่าง ๆ มากินได้เอง ซึ่งจะทำให้ลูกมีอิสระที่จะเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการและปฏิเสธสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการได้ โดยทั่วไปอาการนี้จะเกิดขึ้นไม่นานและจะหายเองได้ แต่หากลูกยังคงปฏิเสธอาหารอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณที่จะทำให้เป็นโรคเบื่ออาหารในอนาคตได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรมองพฤติกรรม ลูกไม่กินข้าว นี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถหายเองได้ มาร่วมกันหาวิธีแก้ไขกับทีมงาน Amarin Baby & Kids กันค่ะ
ลูกไม่กินข้าว ผิดที่คนกินหรือคนป้อน?
ทำไม ลูกไม่กินข้าว?
- ไม่ชอบลองของแปลกใหม่ การกินข้าวยังคงเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เด็กวัยเตาะแตะเพิ่งเคยพบเจอ ในเด็กบางคน อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้รสสัมผัส รูปสัมผัส ของอาหารชนิดใหม่ บางคนที่ชอบลองสิ่งใหม่ๆ ก็จะสามารถทานอาหารชนิดใหม่ได้เลย แต่ในเด็กบางคน จะยังต้องการทำความรู้จักกับอาหารชนิดใหม่จนแน่ใจเสียก่อนถึงจะยอมทาน
- ห่วงเล่นมากกว่า เด็กในวัยนี้จะเริ่มเดินกันได้แล้ว การมีอิสระในการเคลื่อนไหวไปในที่ต่างๆ ตามที่ต้องการ ทำให้ได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา จึงตื่นเต้นในสิ่งอื่นๆ มากกว่าอาหาร
- การเลือกกิน เมื่อเด็กในวัยนี้เริ่มมีความคิดที่จะเลือกสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองต้องการแล้ว รวมถึงปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการได้แล้วด้วย อาหารก็เช่นกัน เด็กจะเลือกสิ่งที่ตัวเองอยากจะกิน และคายสิ่งที่ตัวเองไม่อยากกินได้
ในช่วงวัยนี้ เด็กควรได้รับสารอาหารแตกต่างออกไปจากขวบปีแรก เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะเคลื่อนไหวตลอดเวลา การที่เด็กคุ้นชินกับพฤติกรรมการปฏิเสธอาหารด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้นนั้น อาจส่งผลให้เป็นโรคเบื่ออาหาร หรือ โรคกลัวอาหาร ในอนาคตได้ในที่สุด
สัญญาณของเด็กที่อาจจะเป็นโรคเบื่ออาหาร หรือ กลัวอาหาร
- กินข้าวได้น้อย กินไปไม่กี่คำก็บอกว่าอิ่ม
- น้ำหนักไม่ขึ้น
- ทานแต่อาหารเดิมๆ ซ้ำๆ จะขาดสารอาหารชนิดอื่นๆ ที่่จำเป็นสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ
- ตื่นตัวตลอดเวลา ไม่ยอมกิน และ ไม่ยอมนอน
- ไม่เคยรู้สึกหิว
- ชอบที่จะเล่นหรือพูด หรือทำสิ่งอื่นๆ มากกว่าทานข้าว
หากลูกเริ่มมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะรีบปรับพฤติกรรมและมุมมองในการกินข้าวของลูกโดยด่วนเลยค่ะ
เคล็ด(ไม่)ลับ ทำอย่างไรให้ลูกยอมกินข้าว
เด็กทุกคนจะมีสัญชาติญาณมาแต่กำเนิดในการรับรู้ว่าอาหารชนิดใดที่ร่างกายต้องการเพื่อที่จะเจริญเติบโต และเด็กทุกคนก็ยังสามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการจะกินเองได้อีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ จัดหาอาหารที่มีประโยชน์มาให้ สร้างบรรยากาศการกินอาหารที่ดี เพื่อให้ลูกมีความสุขในการทานอาหารที่ตัวเองเลือก ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอบอกต่อเคล็ดลับที่จะทำให้ลูกกลับมาสนใจอาหาร ดังนี้ค่ะ
- จัดตารางเวลาในการทานอาหารให้อยู่ในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อให้ลูกรู้ว่าจะต้องทานข้าวเช้า อาหารว่าง ข้าวเที่ยง อาหารว่าง และข้าวเย็น ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อร่างกายรู้แล้วว่าจะกินอาหารในเวลาไหนบ้าง ร่างกายจะสั่งให้รู้สึกหิวในเวลานั้น แต่วิธีนี้ควรจะระวังไม่ให้ทานอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ และไม่ควรให้ทานขนมระหว่างมื้อ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
- จัดเตรียมอาหารให้ดูหลากหลาย โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อให้ลูกได้สนุกกับการลองทานอาหารหน้าตาแปลกใหม่ตลอดเวลา โดยพยายามไม่เน้นย้ำให้ลูกลองทานอาหารใหม่ ควรให้ลูกได้สนุกที่จะได้ลองทานอาหารใหม่ๆ ด้วยตัวเอง
- ควรให้เริ่มทานในปริมาณที่น้อยก่อน เมื่อต้องการให้ลูกทานอาหารชนิดใหม่ อย่าบังคับให้ลูกทานอาหารชนิดใหม่ในจำนวนที่มากจนหมด เพราะลูกอาจจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทานอาหารได้
- ให้ลูกทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ปริมาณอาหารที่พอเหมาะสำหรับเด็กวัยเตาะแตะคือ 1/4 ของปริมาณอาหารสำหรับผู้ใหญ่ หรือ ปริมาณเท่ากับ 1 เต็มฝ่ามือของลูก
- ทำความเข้าใจกับอาหารที่ลูกไม่ทาน ว่าลูกอาจจะไม่ชอบ ด้วยเหตุผลง่ายๆ เลยคือ ไม่ชอบหน้าตาของอาหาร สี กลิ่น หรือรสชาติ ซึ่งนี้อาจเป็นความไม่ชอบส่วนตัวที่ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่าทำไมถึงไม่ชอบ หากเกิดจากเหตุผลนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหยุดบังคับให้ลูกทานอาหารชนิดนั้น เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกกับอาหารในเชิงลบได้
- หาตัวช่วยมาเสริมให้อาหารมื้อโปรดของหนูๆ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน เช่น หากลูกชอบทานมักกะโรนีครีมซอส ให้ใส่หัวหอมผัดลงไป หรือหากลูกชอบทานซีเรียลให้ใส่ผลไม้หรือถั่วเข้าไปด้วย เป็นต้น
- สร้างบรรยากาศการทานอาหารให้ดี การทานอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว พูดคุยกันเพียงเล็กน้อยระหว่างทาน สามารถสร้างบรรยาการการทานอาหารที่ดีได้ รวมถึงการงดดูโทรทัศน์ มือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ระหว่างทานอาหาร นี่จะทำให้ลูกมีความสนใจในอาหารที่จะทานอย่างเดียวเท่านั้น และยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการทานอาหารที่ดีให้กับลูกได้อีกด้วย
- อย่าพยายามบังคับให้ลูกทานอาหาร ควรจะให้ลูกเรียนรู้ที่จะรู้สึกหิวจนอยากทานอาหารเอง การบังคับหรือกดดันให้ลูกทานอาหาร หรือลงโทษหากลูกไม่ยอมทานอาหาร อาจทำให้ลูกรู้สึกเกลียดการทานอาหารได้
- งดการติดสินบน เช่น หากลูกทานหมดจะซื้อของเล่นให้ หากลูกทานหมดจะให้ดูการ์ตูน เป็นต้น เพราะวัตถุประสงค์หลักในการทานอาหาร คือ เพื่อตอบสนองความหิวของร่างกาย แต่หากเมื่อไรก็ตาม ลูกได้เรียนรู้ว่า หากไม่ยอมกินข้าว แม่จะเสนอของเล่นหรือการ์ตูนให้ ถึงจะกินเพื่อต้องการของเล่น ไม่ใช่เพราะหิว
- ทำอาหารให้ดูน่าทาน โดยอาจลองตกแต่งจานให้มีสีสัน หรือมีรูปร่างที่ลูกชอบ หรือให้ลูกได้ลองหยิบจับอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง ก็จะทำให้อาหารมื้อนั้นเป็นเรื่องน่าสนุกไปเลยล่ะค่ะ
- ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร โดยอาจจะเริ่มจากการถามความเห็นลูกว่าอาหารมื้อนี้ ลูกอยากทานผักหรือผลไม้ชนิดใดเป็นพิเศษ หรือพาลูกไปเลือกซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารด้วยกัน หรือให้ลูกช่วยทำเมนูง่ายๆ เมื่อลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกหรือทำสิ่งที่ตัวเองต้องการทาน ลูกจะภูมิใจและชอบทานอาหารได้ในที่สุด
- เชื่อมสะพานให้อาหาร คือการทำอาหารชนิดต่างกันให้มีหน้าตา สีสันคล้ายกันกับของที่ลูกชอบทาน เมื่อเอามาวางใกล้ๆ กันแล้ว ลูกจะรู้สึกคุ้นและยอมทานอาหารชนิดใหม่ จนทานอาหารได้หลากหลายขึ้น
ปัญหา ลูกไม่กินข้าว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวลูกเอง ก็ส่งผลกระทบต่อกำลังใจในการทำอาหารของคุณแม่ด้วย แต่ก็ไม่อยากให้คุณแม่ท้อจนไม่อยากทำอาหารให้ลูกทานไป หากคุณแม่พยายามทำอาหารต่อไปและทำตามเคล็ดลับตามที่กล่าวไว้ เมื่อลูกยอมทาน จะทำให้คุณแม่มีกำลังใจขึ้นมาอีกเป็นกองเลยล่ะค่ะ ว่าแล้วก็คลิกไปดูเมนูลูกน้อยจากทีมงาน Amarin Baby & Kids กันดีกว่าค่ะ
เมนูแก้ปัญหา ลูกไม่กินข้าว
เผยสูตร “ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่” เมนูแก้ปัญหา เด็กไม่กินข้าว
เผยสูตร “ข้าวหน้าหมูซ่อนผัก” เมนูเพิ่มธาตุเหล็ก ให้ลูกรัก
แจก 6 สูตรเมนู “อาหารเช้า” ดีต่อสมองให้ลูกน้อยพร้อมเรียนรู้ (มีคลิป)
แจกสูตรอร่อย “มักกะโรนีอบชีส” เมนูเส้น แก้ลูกเบื่อข้าว
รวม 6 สูตรเด็ด “เมนูไข่” ทำง่าย เน้นบำรุงสมองลูกน้อยโดยเฉพาะ! (มีคลิป)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่