AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกกินยาก กินแต่อาหารซ้ำซาก เสี่ยงโรค Neophobia

ลูกกินยาก เป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยในเด็กวัยที่เริ่มห่วงเล่นมากกว่ากินแล้ว และเมื่อลูกเริ่มกินยาก เลือกกิน คุณพ่อคุณแม่ก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการทำแต่อาหารที่ลูกชอบกิน เพราะจะมั่นใจได้ว่ามื้อนี้ลูกต้องยอมกิน และกินหมดแน่ๆ และมักจะทำแต่อาหารเมนูนั้นซ้ำๆ จนลูกไม่ได้กินเมนูอื่นๆ เลย แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะ ว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ อาจเป็นการทำให้ลูกเสี่ยงเป็นโรค Neophobia ได้โดยไม่รู้ตัว

ลูกกินยาก กินแต่อาหารซ้ำซาก เสี่ยงโรค Neophobia

โรค Neophobia คืออะไร?

Food Neophobia คือโรคที่เด็กปฏิเสธที่จะลองกินอาหารที่แปลกใหม่ หรือกลัวที่จะลองอาหารชนิดใหม่ๆ โดยทั่วไปจะพบได้ในเด็กอายุ 2-6 ขวบ และหากไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจจะเป็นโรคนี้จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งโรค Food Neophobia นั้นแตกต่างจาก เด็กเลือกทาน เด็กที่เลือกทานจะเพียงแค่ปฏิเสธอาหารที่ตัวเองไม่ชอบกิน แต่ถ้าจะให้ลองกินก็จะกินได้ สำหรับเด็กที่เป็นโรค Food Neophobia เมื่อต้องกินอาหารชนิดใหม่ จะแสดงอาการกลัวออกมาจนเห็นได้ชัด เช่น เมื่ออาหารชนิดใหม่แตะลิ้น ก็จะรู้สึกไม่อยากที่จะกลืน และเมื่อพยายายกลืนเข้าไป ก็อาจจะอ้วกออกมา ส่วนมากอาหารใหม่ๆ ที่เด็กไม่ชอบลองกิน มักจะเป็นอาหารที่มีผักหรือผลไม้เป็นส่วนประกอบ

อะไรเป็นสาเหตุของ ลูกกินยาก กินแต่อาหารซ้ำซาก?

  1. สาเหตุทางพันธุกรรม
  2. พฤติกรรมการเลียนแบบ เมื่อลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่เลี่ยงที่จะทานอาหารบางอย่าง เช่นไม่ยอมทานผัก จะทำให้ลูกมีแนวโน้มที่จะไม่ชอบทานผักชนิดนั้นด้วยเช่นกัน
  3. เกิดจากการบังคับ โดยเฉพาะในเด็กวัยเตาะแตะที่ยังพูดปฏิเสธไม่เป็น หากถูกบังคับ คะยั้นคะยอ หรือพยายามยัด หรือ ป้อนทีเผลอ ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้ลูกกลัวอาหารชนิดนั้นๆ ได้ เพราะลูกจะจำได้ว่า อาหารชนิดนี้ทำให้ตัวเองเจ็บ เป็นต้น
  4. ความไวต่อการรับรสขมมากกว่าเด็กทั่วไป ในเด็กบางคนมีประสาทการตอบสนองการรับรสได้มากกว่าปกติ ทำให้ต่อมรับรสขมทำงานได้รวดเร็วและผิดปกติ หรือในบางกรณี การไวต่อการรับรสขมก็อาจจะเป็นเพราะเคยติดเชื้อในช่องหูส่วนกลาง
  5. มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับอาหารบางประเภท เช่น เคยทานอาหารชนิดนี้แล้วอ้วก ลูกก็จะจำฝังใจได้ว่าถ้าทานอีกก็จะอ้วกอีก เป็นต้น
  6. การห้ามไม่ให้ลูกได้ลองกินอาหารเอง เพราะกลัวลูกจะทำเลอะ หรือ เล่นอาหาร การที่ลูกถูกห้ามไม่ให้ลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ก็อาจจะทำให้ลูกฝังใจว่าไม่ควรลองทานอาหารใหม่ เพราะอาจจะถูกห้ามเช่นกัน

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกกินแต่อาหารซ้ำๆ และวิธีแก้ปัญหา

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกกินแต่อาหารซ้ำๆ

ปัญหา ลูกกินยาก หรือเลือกกินแต่อาหารซ้ำ มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อโตขึ้นก็จะหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขอะไร จริงอยู่ที่เด็กบางคนเมื่อโตขึ้นก็จะเลิกพฤติกรรมนี้ไปได้เอง แต่สำหรับเด็กบางคนพฤติกรรมนี้ อาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ ในอนาคตได้ ดังนี้

  1. การที่ลูกทานอาหารแบบเดิม ก็จะทำให้ลูกขาดสารอาหาร เพราะอาหารแต่ละชนิด ก็ให้คุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง ร่างกายคนเรามีความจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่หลากหลาย หากขาดสารอาหารส่วนใดส่วนหนึ่งไป ก็จะเกิดความไม่สมดุลของระบบการทำงานของร่างกายได้ และจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้
  2. อาจทำให้เกิดโรคอ้วน แต่ขาดสารอาหารได้ หากอาหารที่ลูกชอบกินซ้ำๆ นั้นเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่นมีแต่ไขมัน หรือมีรสหวานมาก ก็จะทำให้ลูกอ้วน แต่สุขภาพกลับไม่แข็งแรง
  3. ปลูกฝังนิสัยการหลีกเลี่ยงสังคม เพราะพฤติกรรมการกลัวอาหาร เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติสำหรับวัยผู้ใหญ่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะต้องทานอาหารที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ จะทำให้เกิดความไม่สบายใจ และรู้สึกแปลกแยก จนทำให้หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมได้

แก้ปัญหาลูกกินอาหารซ้ำๆ ได้อย่างไร?

  1. วางอาหารชนิดใหม่ไว้ข้างๆ อาหารที่ลูกชอบกินซ้ำ โดยลูกอาจจะไม่กินอาหารชนิดใหม่ในวันแรกๆ ก็อย่าเพ่ิ่งหมดหวัง ให้วางอาหารชนิดใหม่ไว้ข้างๆ ในวันต่อๆ ไป (ประมาณ 10-15 วัน) จนลูกเริ่มสนใจในอาหารชนิดใหม่นั้น
  2. ทำอาหารชนิดใหม่ให้คล้ายกับอาการที่ลูกชอบกิน ย้ำว่าให้คล้ายกันนะคะ อาจจะสีคล้ายกัน หรือ มีรสชาติคล้ายกัน เพื่อให้ลูกมองว่าอาหารชนิดใหม่นั้นดูไม่ได้แตกต่างไปจากอาหารที่ตัวเองชอบเท่าไรนัก
  3. ไม่บังคับ กดดัน ข่มขู่ ติดสินบน และคะยั้นคะยอให้ลูกลองอาหารชนิดใหม่นั้น เพราะอาจทำให้ลูกเกิดอาการต่อต้านได้ ให้ลูกเกิดความอยากลองกินด้วยตัวเอง
  4. ทุกคนในครอบครัวควรทำให้เป็นตัวอย่าง ด้วยการกินอาหารหลากหลายชนิด และอาหารชนิดใหม่นั้น เมื่อลูกเห็นว่าเป็นเรื่องปกติในการกินอาหารที่หลากหลาย ก็จะเลียนแบบ
  5. ชมลูกเมื่อลูกเริ่มลองกินอาหารใหม่ หรือสามารถให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ ลูกได้ (รางวัลที่ไม่ใช่อาหารหรือขนม) เพื่อให้ลูกรู้ว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง
  6. ไม่ต้องรอจนกว่าลูกจะกินอาหารชนิดใหม่ถึงจะเก็บจาน ปกติแล้วเวลาที่ใช้ในการกินอาหารในแต่ละมื้อคือ 30-35 นาที เมื่อหมดเวลาแล้ว ลูกไม่ทานอาหารชนิดใหม่ ให้เก็บจานได้เลย ไม่ควรต่อว่า หรือแสดงอาการเสียใจที่ลูกไม่ทาน
  7. ไม่ซ่อนอาหารชนิดใหม่ในอาหารที่ลูกชอบทานเด็ดขาด เพราะหมายถึงความเชื่อใจ และความจริงใจ ได้ถูกทำลายลง จนทำให้ลูกเกิดการต่อต้านได้
  8. สร้างบรรยากาศที่ดีในการรับประทานอาหาร อาจจะตกแต่งอาหารให้ดูน่าทาน และงดการดูโทรทัศน์ การ์ตูน มือถือ ระหว่างรับประทานอาหาร
  9. ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกหรือทำอาหารชนิดใหม่ จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจ เช่น ให้ลูกปลูกผักบุ้ง เมื่อผักบุ้งโตจนนำมาทานได้แล้ว ให้ลูกตัดแล้วนำมาทำอาหารให้ลูกลองทาน เป็นต้น
  10. ในกรณีที่คาดว่าเป็นผลจากการรับรสผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

 

การแก้ปัญหา ลูกกินยาก กินอาหารซ้ำๆ นั้นอาจจะต้องใช้ความพยายามและความอดทน ในการทำอาหารเมนูใหม่ๆ ทุกวัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกท้อหรือผิดหวัง เมื่อลูกไม่ยอมลองทานอาหารใหม่ๆ ขอให้อดทนนะคะ เพราะรางวัลจากความพยายามในครั้งนี้ คือลูกจะมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดี และไม่ต่อต้านการกินอาหารอีกต่อไป เห็นไหมล่ะคะว่ารางวัลนี้น่าชื่นใจแค่ไหน ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้ทุกบ้านแก้ปัญหานี้ได้ไวๆ ค่ะ

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่

ลูกไม่กินข้าว ผิดที่คนกินหรือคนป้อน?

7 วิธีแก้ปัญหา ลูกไม่กินข้าว และป้อนอาหารลูกเล็กอย่างไรให้ปลอดภัย ?

ปัญหาลูก เลือกกิน ต้องแก้ไขอย่างไร?

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : en.wikipedia.org

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids