10 เช็กลิสต์ 12 วินัยป้องกันลูกเป็น โรคขาดสารอาหาร!! - Amarin Baby & Kids
โรคขาดสารอาหาร

10 เช็กลิสต์ 12 วินัยป้องกันลูกเป็น โรคขาดสารอาหาร!!

event
โรคขาดสารอาหาร
โรคขาดสารอาหาร

โรคขาดสารอาหาร ฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัวกับเมืองที่อุดมสมบูรณ์แบบไทยเรา แต่รู้ไหมหากลูกเลือกกิน กินไม่มีประโยชน์ส่งผลให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต พัฒนาการถดถอยได้

10 เช็กลิสต์ 12 วินัยป้องกันลูกเป็น โรคขาดสารอาหาร!!

เชื่อไหมว่า การกินในเด็ก ก่อให้เกิดปัญหาแก่ลูกได้เหมือนกัน จากผลการสำรวจพบว่า ในเด็กปกติมีปัญหาเกี่ยวกับการกินประมาณร้อยละ 20-50 และมีมากขึ้นร้อยละ 70-89 ในเด็กที่มีพัฒนาการบกพร่อง แม่ที่มีลูกวัย  1- 3 ปี   รายงานว่าลูกมีปัญหาการกินร้อยละ 35.3  ส่วนวัย 3 – 5 ปี มีปัญหาร้อยละ 40.6 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่าปัญหาการกินของเด็กช่วงอายุ 4  ปี มีถึงร้อยละ 42 ( จากการศึกษาของ พญ.วรุณา  กลกิจโกวินท์) ดังนั้นจากสถิติดังกล่าว พ่อแม่จึงไม่ควรวางใจเห็น ปัญหาการกินเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อย เพราะคนเราจะพัฒนาเติบโตขึ้นมาได้ดีหรือไม่นั้น ส่วนสำคัญส่วนแรกเลยนั่นคือ โภชนาการ หรือการกินอาหาร เรื่องทั่ว ๆ ไปที่เราทำกันเป็นประจำทุกวันนั่นเอง

ปัญหาการกิน เป็นอย่างไร

ปัญหาการกิน ได้แก่ ปัญหาเด็กกินยาก ไม่ยอมกินข้าว เบื่ออาหาร กินช้า อมข้าว ฯลฯ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมไทย อันเนื่องจากความไม่เข้าใจในพัฒนาการและธรรมชาติการกินของเด็ก ในปัจจุบันพบปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความเครียดต่อทั้งผู้ปกครองและเด็กอย่างมาก และหากผู้ปกครองแก้ไขปัญหาไม่ถูกต้อง ปัญหานี้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก หรือปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาได้ หรือหากเราปล่อยปละละเลยคิดเสียว่ายังไงลูกก็โตขึ้นมาได้ ก็อาจทำให้เขากลายเป็นเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร เป็นโรคขาดสารอาหารได้ ดังนั้นจึงควรมีการป้องกันที่ดีและรีบแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เบื้องต้น

เด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต ก็ควรที่จะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน  โดยเฉพาะโปรตีน(Protein) และพลังงานสารอาหาร (Energy) ที่ใช้ในการเจริญเติบโตและเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ดังนั้นเรื่องอาหารจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะ “ขาดสารอาหาร” ตามมาได้

เด็กไม่ยอมกิน โรคขาดสารอาหาร
เด็กไม่ยอมกิน โรคขาดสารอาหาร

ภาวะ “ขาดสารอาหาร” คืออะไร

ภาวะขาดสารอาหาร หมายถึง ภาวะที่ร่างกายขาดสารที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้เติบโตและแข็งแรง และสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย เมื่อเด็กเกิดภาวะขาดสารอาหารก็จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโต เนื่องจากร่างกายจะไม่สามารถดึงดูดสารอาหารที่สำคัญไปใช้ได้ โดยมักพบในทารกและเด็กวัยก่อนเรียน ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการสารอาหาร และร่างกายกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้เด็กมีน้ำหนักน้อย ตัวเล็กกว่าปกติ ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร หรือเกิดการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และนอกจากจะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมอง สติปัญญา และการเรียนรู้อีกด้วย

เช็กลิสต์! 10 สัญญาณเตือน! ว่าลูกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารหรือไม่

1. มีอาการซึมเศร้า ไม่ร่าเริง
2. น้ำหนักน้อยกว่าปกติ
3. รู้สึกกระสับกระส่าย ไฮเปอร์อยู่ตลอดเวลา
4. มีอาการตาเหลือง
5. มีภาวะพูดช้า
6. ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
7. ผิวหนังแห้ง
8. มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นผมบาง ผมขาดง่าย ไม่เเข็งแรง
9. รู้สึกเบื่ออาหาร
10. ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาลึก แก้มตอบ

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูกน้อยตามเช็กลิสต์ดังกล่าวแล้วเกิดความกังวลว่าลูกเข้าข่ายเป็นโรคขาดสารอาหารหรือไม่ ก็สามารถพาไปพบคุณหมอตรวจเพื่อความสบายใจ หรือไปตรวจเพื่อที่จะรู้ปัญหาได้ก่อน จะได้แก้ได้ทันก่อนลูกเป็นโรคขาดสารอาหาร

จะเป็นอย่างไรถ้าเป็นโรคขาดสารอาหาร

การวินิจฉัยโรคขาดสารอาหาร

เมื่อไปพบคุณหมอ ก็อาจทำการซักประวัติ สอบถามเกี่ยวกับอาการป่วย และประเมินภาวะโภชนาการโดยสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน และนิสัยการรับประทานอาหาร ตรวจวัดน้ำหนักตัวตามเกณฑ์หรือไม่ในเด็ก นอกจากนี้ คุณหมออาจสอบถามด้วยว่าผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือมีเลือดปนในอุจจาระหรือไม่ จากนั้นอาจให้ตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของระดับสารเคมีในเลือด และตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ซึ่งช่วยตรวจหาภาวะโลหิตจางด้วยเช่นกัน

การรักษาโรคขาดสารอาหาร

การรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของผู้ป่วย สารอาหารที่ร่างกายขาด และความรุนแรงของโรค ซึ่งการรักษาโดยทั่วไปอาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
    คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ให้แคลอรี่จำนวนมากแก่ร่างกาย ซึ่งหากมีอาการรุนแรงก็อาจให้ผู้ป่วยเข้าพบนักโภชนาการด้วย เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
  • การรับประทานอาหารเสริม
    ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานอาหารเสริมร่วมกับวิตามินอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารเสริมที่รับประทานเข้าไปก่อนหน้าได้ ซึ่งระยะเวลาและปริมาณในการรับประทานอาหารเสริมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย
  • การให้สารอาหารผ่านทางสายยาง
    อาจต้องให้ผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางเพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดไป โดยวิธีนี้อาจใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร ซึ่งอาจทำได้โดยสอดสายยางผ่านจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร หรือสอดสายยางผ่านผิวหนังบริเวณกระเพาะอาหารเข้าไปยังกระเพาะอาหารโดยตรง นอกจากนี้ อาจให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำได้เช่นกัน
  • การดูแลพิเศษ
    ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสารอาหารจากโรคบางชนิดอาจมีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายร่วมด้วย ซึ่งต้องการการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการรับประทานอาหารโดยสังเกตจากกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย โดยผู้เชี่ยวชาญจะคอยแนะนำแนวทางแก้ปัญหาให้ รวมทั้งแนะนำวิธีออกกำลังกายแก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการกลืนอาหาร และสอนให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร โดยคนใกล้ชิดอาจช่วยซื้ออาหาร ส่งอาหาร หรือทำอาหารให้ผู้ป่วยด้วย
  • การรักษาอาการหรือโรคต้นเหตุ
    หากโรคขาดสารอาหารเกิดจากการเจ็บป่วยใด ๆ แพทย์จะรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงวางแผนรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย

หลังได้รับการรักษา แพทย์อาจตรวจพิเศษเพิ่มเติมให้ผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อดูว่าการรักษาได้ผลหรือไม่ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ป่วยหายขาดจากโรคขาดสารอาหารแล้ว

ภาวะแทรกซ้อนของโรคขาดสารอาหาร

หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจเกิดความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง แผลหายช้า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันบกพร่องและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ คุณภาพชีวิตต่ำ สุขภาพแย่ลงกว่าเดิม มีปัญหาด้านการใช้ชีวิตในสังคม มีสภาพจิตใจไม่ปกติ กระบวนการทางความคิดมีประสิทธิภาพลดลง หรือต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติที่เข้าข่ายโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง

เห็นได้ว่าเมื่อเป็นโรคขาดสารอาหารแล้ว จะทำให้ร่างกาย และจิตใจต้องถดถอยไม่ใช่น้อย ดังนั้นเราจึงควรทำการป้องกันการเกิดโรคนี้เสียก่อนจะสายจะดีกว่าไหม เพราะโรคขาดสารอาหารนั้นป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการใส่ใจดูแลโภชนาการให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามหลักโภชนาการเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่อย่างเรา ๆ ที่จะต้องดูแลลูกน้อยให้เขาเติบโตมาอย่างสมบูรณ์

สิ่งที่จะช่วยให้พ่อแม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะขาดสารอาหารกับลูกได้ดีที่สุด ในภาวะที่เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ประเทศที่อดอยากแร้นแค้น นั่นคือ การไม่ตามใจลูกเวลารับประทานอาหาร หรือควรฝึกวินัยในการกินให้แก่ลูกเสียตั้งแต่ยังเด็ก ก็จะเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ มิให้เขาเป็นเด็กที่เลือกกิน กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ เพราะถึงแม้จะอิ่มแต่ร่างกายกลับได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

วินัยดีป้องกัน โรคขาดสารอาหาร
วินัยดีป้องกัน โรคขาดสารอาหาร

12 วินัยฝึกลูกแก้ปัญหาการกิน ห่างไกลโรคขาดสารอาหาร

การฝึกหัดให้เด็กมีสุขนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่แรก โดยฝึกฝนให้เด็กมีระเบียบวินัย ให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยและรับผิดชอบในการกินอาหารของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อตนเองในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป Finney (1986) ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการฝึกระเบียบวินัยการกิน ซึ่งสามารถแนะนำตั้งแต่เด็กอายุ 15-18 เดือน ดังนี้

  1. จัดเวลาอาหารให้สมาชิกทุกคนในบ้านนั่งร่วมโต๊ะพร้อมกัน ไม่เปิดโทรทัศน์ระหว่างมื้ออาหาร
  2. กำหนดเวลาการกินอาหารไม่ให้นานเกินไป ไม่ควรเกิน 30 นาที
  3. กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับมื้ออาหารให้ปฏิบัติ เช่น นั่งอยู่บนเก้าอี้จนอิ่ม ใช้ช้อนตักอาหาร ห้ามบ้วนอาหาร เป็นต้น
  4. บอกให้ทราบกฎเกณฑ์ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลทุกครั้งที่เริ่มมื้ออาหาร จนกว่าจะสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสม่ำเสมอ
  5. ควรตักอาหารให้ในปริมาณพอที่ลูกจะกินได้หมด แล้วค่อยตักเติมใหม่หลังจากกินหมดหากต้องการเพิ่ม แต่อย่าบังคับให้ต้องกินให้หมดจาน เพื่อไม่สร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการกิน
  6. สร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหาร ให้ลูกมีส่วนร่วมในการสนทนาระหว่างรับประทานอาหารด้วย เวลาอาหารควรเป็นเวลาที่พูดแต่เรื่องดี ๆ พูดชื่นชมแต่ต้องระวังที่จะไม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือตำหนิลูกในขณะกินอาหาร
  7. ชื่นชมลูกบ้างหากเขาปฏิบัติได้ตามกฎที่ตั้งไว้
  8. เมื่อลูกไม่ปฏิบัติตามกฎ เตือนให้แก้ไข แต่ถ้ายังคงฝืนกฎเป็นครั้งที่3 อาจใช้วิธี Time out แยกให้ลูกไปอยู่ตามลำพังโดยไม่ให้ความสนใจเป็นเวลาชั่วขณะ
  9. เมื่อหมดเวลาที่กำหนด ให้เก็บโต๊ะอาหารโดยไม่ต้องสนใจว่าลูกจะกินหมดแล้วหรือไม่ ไม่ต้องพูดอะไรอื่นอีกนอกจากบอกว่าหมดเวลาแล้ว อาจต้องใจแข็งในคราวแรก ๆ แต่ต่อไปลูกจะเรียนรู้ และปรับพฤติกรรมใหม่ได้เอง
  10. ถ้าลูกกินไม่หมด ไม่มีการให้อาหารหรือของว่างอื่นใดนอกจากน้ำเปล่าก่อนจะถึงมื้อถัดไป
  11. ถึงแม้ว่าลูกจะกินได้ตามปกติ ก็ควรกำหนดอาหารว่างไม่ให้มีมากเกินไป เพราะถ้าเด็กกินอาหารเหล่านี้มากไปก็จะไม่หิวเมื่อถึงเวลาอาหาร
  12. ถ้าลูกสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องบอกกฎเกณฑ์ย้ำ ๆ อีกต่อไป แต่วิธีที่จะทบทวนไม่ให้ลืมกฎก็คือการชมลูกเมื่อเขาทำได้ตามกฎ
อาหารไม่มีประโยชน์ทำให้ลูกอิ่มไว
อาหารไม่มีประโยชน์ทำให้ลูกอิ่มไว

กฎเกณฑ์ และวินัยต่าง ๆ ของแต่ละบ้านอาจแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม และความชอบของแต่ละครอบครัว และกฎนั้นควรมีความยืดหยุ่น แต่ไม่ยกเว้น พ่อแม่ควรยึดหลักสำคัญคือการทำให้บรรยากาศการกินเป็นช่วงเวลาที่ดีของลูก แต่ถ้าเขาไม่สามารถทำตามกฎที่ตั้งไว้ สิ่งที่ทำได้คือรอ ให้เวลาในการปรับตัวกับลูก วันนี้อาจยังไม่ได้ แต่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย เราจะไม่ยกเลิกกฎนั้นไปเสียเลยเพียงเพราะเขาทำไม่ได้

การเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับเทคนิคการแก้ปัญหาการกินของลูกกับครอบครัวอื่น ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่คุณพ่อคุณแม่ในการหาแนวทางปฎิบัติ เพราะกฎเกณฑ์ทางวิชาการใด ๆ ก็ไม่ดีเท่ากับการได้ลองทำดูว่าจะได้ผลอย่างไร การได้เห็นประสบการณ์หลาย ๆ ครอบครัวก็จะช่วยลดการลองผิดลองถูกได้

ตัวอย่างการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคุณแม่จากเพจ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

คำถามเรื่องฝึกลูกกินข้าวเองเป็นคำถามพบบ่อยตลอดกาล
คุณแม่ท่านหนึ่งกรุณาส่งข้อเขียนนี้มา กระชับ และใจความดีมากนะครับ อยากให้อ่าน
เวลามีเรื่องกินจะมาแจมคุณหมอตลอดค่ะ อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ ^^
เอาทริกเล็กๆมาฝากค่ะ^
  • ให้ลูกกินอาหารเหมือนเรา ไม่จำเป็นที่จะต้องแยก แค่ไม่ปรุงเพิ่มให้รสจัดก็ได้แล้วค่ะ ^^
  • เวลาจะให้ลูกกินอะไรแปลกๆใหม่ๆ ควรทำบรรยากาศให้ผ่อนคลาย ไม่กดดัน ลูกไม่กินก็อย่าโกรธลูก หรือผิดหวังเสียใจ นำเสนอบ่อยๆ เรื่อยๆ สม่ำเสมอ เดี๋ยวเค้าก็กินค่ะ การกินอาหารใหม่ๆของเด็กอาจใช้เวลานานกว่าเค้าจะยอมรับและยอมกิน อย่าท้อ อย่าทะเลาะกันกับลูกเนอะ
  • นั่งกินพร้อมหน้าพร้อมตา ลูกจะได้เลียนแบบการกินของเรา และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวค่ะ
  • พยายามสนับสนุนให้ลูกกินเอง เพื่อช่วยเหลือตัวเองและรับผิดชอบตัวเองได้ แต่อย่าบังคับให้ลูกกินค่ะ (meal time should be enjoyable – เวลากินอาหาร ควรเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขค่ะ)
  • อย่าตัดสินแทนว่าลูกอาจชอบ หรือไม่ชอบอะไร วันนี้เด็กอาจไม่ชอบกะหล่ำดอก แต่อาทิตย์หน้าเค้าอาจยอมกิน ถ้าเราถือเอาของวันนี้เป็นตัวตั้งว่า ลูกเราไม่ชอบกะหล่ำดอก ลูกคงไม่ได้ลองรสชาติของมันแน่ๆใช่ไหมคะ – นำเสนอเรื่อยๆ เพราะเค้าอาจชอบมันค่ะ ^^
  • ยอมให้ลูกจับอาหาร กินอาหารเอง มันอาจจะเลอะ ไม่สะอาดเหมือนป้อน แต่มันคือการเรียนรู้ของเค้าค่ะ
  • พยายามอย่าไปก้าวก่าย แอบป้อนเวลาลูกกินเอง การกินเองคือพื้นฐานหนึ่งของการรับผิดชอบในร่างกายและพื้นที่ของตัวเองค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยลัยมหิดล /รพ.เปาโล/ สถาบันราชานุกูล / PobPad

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ไลซีนคืออะไร ? ทำไมถึงช่วยเจริญอาหาร และเสริมการเจริญเติบโตของลูกน้อย?

น่าเป็นห่วง! ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กวัยเด็กเล็ก 1-3 ปี ส่งผลไอคิวลดลงเมื่อเข้าสู่วัยเรียน

เปิดสูตรเด็ด! พาสต้าซอสไก่ “แก้ปัญหา ลูกไม่กินข้าว”

แจกสูตรอร่อย “มักกะโรนีอบชีส” เมนูเส้น แก้ลูกเบื่อข้าว

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up