ลูก แพ้ อาหาร กลุ่มเสี่ยง ที่แม่ไม่ควรทานมากไปทั้งในช่วงตั้งครรภ์ ให้นมลูก และช่วงลูกเริ่มอาหารเสริม สำหรับอาหารกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้ลูกแพ้มากที่สุดมาจากอาหาร 8 อย่าง ที่เรียกกันว่า Top 8 Food Allergens ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาบอกต่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกันค่ะ
ลูก แพ้ อาหาร กลุ่ม เสี่ยง แพ้ top 8 มีอะไรบ้าง?
ครอบครัวที่มีลูกเล็กควรต้องระวัง ลูก แพ้ อาหาร ที่มาจากอาหาร Top 8 Food Allergens กันให้มากขึ้น เพราะถือเป็นอาหารกลุ่มที่ทานเข้าไปแล้วมีเปอร์เซ็นต์ในการเกิดภาวะแพ้อาหารได้มาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่เริ่มได้รับอาหารทั้ง 8 อย่างนี้สะสมมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของแม่ หรือในเด็กบางคนอาจถูกกระตุ้นให้เกิดการแพ้อาหารเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเริ่มอาหารเสริมก็ได้เช่นกัน
ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมกระตุ้นให้ ลูก แพ้ อาหาร จากอาหารกลุ่มเสี่ยงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคนในครอบครัวมีประวัติโรคภูมิแพ้และหอบหืด เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ มักพบว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพ้อาหารกลุ่ม Top 8 กันมาก ไปดูกัน อาหารกลุ่มเสี่ยง ทั้ง 8 ชนิดนี้มีอะไรบ้าง…
1. นม (Milk)
เด็กในช่วงระหว่างแรกเกิดถึง 6 เดือนแรก ที่ไม่ได้ทานนมแม่มีโอกาสเสี่ยงการแพ้นมได้สูงมากกว่าเด็กที่ทานนมแม่ แต่ก็มีบางกรณีที่ลูกมีอาการแพ้อาหารจากการทานนมแม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าแม่ทานอาหารที่เป็นโปรตีนกลุ่มเสี่ยง นั่นคือ นมวัว ถั่ว น้ำเต้าหู้ ไข่ แป้งสาลี เบเกอรี่ เป็นต้น ซึ่งโปรตีนกลุ่มเสี่ยงที่ว่านี้จะผ่านถึงลูกทางน้ำนมแม่ เมื่อร่างกายลูกได้รับการกระตุ้นจากโปรตีนกลุ่มเสี่ยงนี้ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดการแพ้อาหารได้ง่าย และรวมถึงมีอาการแพ้อย่างรุนแรงด้วย
สังเกตอาการแพ้นม :
- ร้องไห้งอแงหลังทานนมอิ่ม
- อาเจียน หรือแหวะนม
- ผิวหนังมีผื่นแดงนูน
- มีอาการหอบ หายใจติดขัด
- ท้องเสียบ่อย ถ่ายเป็นเลือด
2. ไข่ (Egg)
พฤติกรรมการทานอาหารของแม่ในช่วงตั้งครรภ์สำคัญมากค่ะ เพราะอาหารที่แม่ทานมากไปในระหว่างท้องสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของลูก โดยเฉพาะการทานไข่ ถามว่าแม่ท้องกินไข่ไม่ดีเหรอ ดีค่ะ แต่ต้องทานในปริมาณที่เหมาะสม แล้วยิ่งถ้าในครอบครัวมีประวัติการแพ้ไข่ แนะนำว่าแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการทานไข่ รวมถึงตอนที่ให้นมลูกด้วย และเมื่อถึงวัยที่ลูกต้องเริ่มอาหารเสริมควรปรึกษากุมารแพทย์ก่อนว่าสามารถป้อนไข่ให้ลูกได้หรือไม่ ในกรณีที่ทานไข่ได้จะหลีกเลี่ยงการแพ้ไข่ให้กับเด็กเล็ก ด้วยการให้ทานไข่แดงได้แต่จะไม่ให้ไข่ขาว โดยที่ไข่ขาวจะเริ่มให้เด็กกินได้ก็ต้องรอ หลังอายุได้ 1 ขวบ เพราะไข่ขาวมีอัลบูมินที่ทำให้แพ้นั่นเองค่ะ
สังเกตอาการแพ้ไข่ :
- มีผื่นลมพิษ
- มีอาการแน่นหน้าอก
- มีการหายใจเสียงวี๊ดๆ เหมือนคนเป็นหอบ
- ปากบวกแดง คันกระพุ้งแก้ม
3. ข้าวสาลี (Wheat)
ในเด็กที่แพ้ข้าวสาลี พ่อแม่ต้องระวังในเรื่องอาหารการกินให้มากกว่าปกติ เพราะข้าวสาลี หรือแป้งสาลี เป็นหนึ่งใน ส่วนประกอบที่อยู่ในอาหาร เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เค้ก คุกกี้ ซีเรียล มะกะโรนี พาสต้า บะหมี่ ซาลาเปา ฯลฯ ในข้าว สาลีจะมีโปรตีนหลายชนิด ซึ่งสามารถไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องต่อการแพ้ ง่าย เมื่อทานอาหารที่มีส่วนประกอบของข้าวสาลี ก็จะมีการแพ้อาหารขึ้น ดังนั้นควรระมัดระวังส่วนประกอบในอาหารก่อนให้ลูกทานด้วยนะคะ
สังเกตอาการแพ้ข้าว/แป้งสาลี :
- มีอาการท้องเสีย
- มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
- หายใจไม่สะดวก เจ็บปวดตามข้อ
4. ถั่วลิสง (Peanuts)
มีหลายครอบครัวค่ะที่มีประวัติแพ้ถั่วลิสง ซึ่งแน่นอนว่ารุ่นลูกก็มีโอกาสแพ้ถั่วลิสงได้เช่นกัน เรามักจะพบว่าถั่วลิสงเป็นส่วนประกอบของเนยถั่ว ช็อกโกแลต ขนมเค้ก บิสคิท ซอสสปาเกตตี้ ขนมปังธัญพืช ซอสปรุงรสต่างๆ ไอศกรีม แครกเกอร์ ฯลฯ
สังเกตอาการแพ้ถั่วลิสง :
- มีอาการไอ หายใจหอบแน่นหน้าอก
- ปากบวม ตาบวม
- ความดันต่ำ ช็อกและหมดสติ และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิต
บทความแนะนำ คลิก>> เตือนจากแม่ถึงแม่!! ลูกแพ้อาหาร เพราะแม่ท้องโด๊ปอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป
Good to know… กรรมพันธุ์ พบว่าหากในครอบครัวมีสมาชิกที่เป็นโรคภูมิแพ้ 1 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 หากมีสมาชิกในครอบครัวสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้ 2 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80[1]
อ่านต่อ Top 8 อาหารเสี่ยงแพ้ต้องระวัง หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5. ถั่วเปลือกแข็ง (Tree Nuts)
ก็จะมีทั้ง อัลมอนด์ (almond) ถั่วบราซิล (Brazil nut) ฮาเซลนัท (hazelnut) วอลนัท (walnut) มะม่วงหิมพานต์ (cashew nut) พีแคน (pecans) แมคคาดาเมีย (macadamia nut) เกาลัด (chestnut) พิสตาชิโอ (pistachio) ฯลฯ
สังเกตอาการแพ้ถั่วเปลือกแข็ง :
– มีอาการไอ หายใจหอบแน่นหน้าอก
– ปากบวม ตาบวม ลมพิษ อาเจียน
– ความดันต่ำ ช็อกและหมดสติ และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิต
6. ปลา (Fish)
ปลาทะเลก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารขึ้น สำหรับเด็กๆ ที่อายุหลัง 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่อาจเตรียมอาหารให้ลูกด้วยเมนูปลา ซึ่งก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีว่าปลาทะเล หรือปลาน้ำจืดชนิดไหนที่สามารถให้ลูกทานได้โยไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ โดยอาจจะลองผสมในข้าวทีละเล็กน้อย เมื่อป้อนลูกแล้วไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถให้ทานต่อได้ แต่หากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติต้องงดปลาชนิดนั้นทันที หรือหากครอบครัวมีประวัติทานปลาชนิดไหนแล้วแพ้ไม่ควรเสี่ยงนำมาทำอาหารให้ลูกทาน เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาค๊อด ฯลฯ
สังเกตอาการลูกแพ้ปลา :
- ปาก จมูก และตา ปากบวม หนังตาบวม
- มีอาการลมพิษพุพอง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อุจจาระร่วง
- แน่นหน้าอก หายใจติดขัด และหมดสติ
บทความแนะนำ คลิก>> แพ้อาหาร ภัยเงียบที่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
7. ถั่วเหลือง (Soy Bean)
ก็จัดอยู่ในกลุ่ม Top 8 อาหารเสี่ยงแพ้ จึงแนะนำว่าหากครอบครัวมีประวัติแพ้ถั่วเหลือง คุณแม่ควรหลีกเหลี่ยงการให้ลูก ทานถั่วเหลือง หรือในขณะตั้งครรภ์ไม่ควรทานในปริมาณมาก หรืออาจหลีกเลี่ยงไม่ทานจะดีที่สุดค่ะ
สังเกตอาการลูกแพ้ถั่วเหลือง :
- มีผื่นผิวหนัง อักเสบ ผื่นแดง บวม
- เด็กที่แพ้ถั่วเหลืองมักพบได้บ่อยกับการแพ้ถั่วลิสงควบคู่กันไปด้วย
8. สัตว์น้ำที่มีเปลือก และหอยชนิดต่างๆ
สัตว์น้ำที่ว่านี้ก็คืออาหารทะเลนั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็น หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปลาหมึก กุ้ง ปู เป็นต้น
สังเกตอาการลูกแพ้อาหารทะเล :
- เกิดลมพิษ คัน มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- คัดจมูก หายใจเสียงดังวี้ดๆ หายใจติดขัด
- ใบหน้า ลำคอ ริมฝีปาก ลิ้น หู ฝ่ามือ นิ้วมือ มีอาการบวม
- ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- ความดันต่ำ อาจทำให้ช็อกจนหมดสติได้
อาหารกลุ่มเสี่ยง top 8 ถือเป็นอาหารที่ทำให้ ลูกแพ้อาหาร ได้มากที่สุด จึงแนะนำว่าควรมีการป้องกันความเสี่ยงแพ้อาหารให้ลูกกันตั้งแต่…
- ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ นั่นคือการไปตรวจสุขภาพ เช็กประวัติการแพ้อาหารของครอบครัว
- หากมีการพบว่าน่าจะเสี่ยงต่อการแพ้อาหารชนิดใดให้เลี่ยงการไม่บริโภค หรือทานได้แต่น้อยที่สุดในขณะตั้งครรภ์
- ช่วงให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่ม top 8
- ช่วงวัยเริ่มอาหารเสริมลูกควรหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่ม top 8
หากทำได้เช่นนี้ก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยง ลูกแพ้อาหาร ไปได้มากค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
แพ้อาหาร ผ่านไมโครเวฟ แพ้กลิ่นหรือควันอาหาร
7 เมนูอาหารและขนม สำหรับเด็กแพ้อาหาร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. การแพ้อาหารในเด็ก
Merry Bites
www.ifrpd-foodallergy.com
นมแม่แฮปปี้