AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

กรรไกรตัดอาหาร ทำร้ายลูกทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว!

ใช้กรรไกรตัดอาหาร ภัยร้ายที่ทำให้มองไม่เห็นพัฒนาการของลูก

พ่อแม่ทุกคนต้องการปกป้องลูก และดูแลลูกของตัวเองเป็นอย่างดี แต่การดูแลลูกน้อยดีเกินไปอาจส่งผลเสียได้ในอนาคต เมื่อเรายังเล็กๆ เวลารับประทานอาหาร คุณพ่อ คุณแม่มักจะฝึกให้เรารับประทานอาหารเอง ใช้ช้อนส้อมในการตัดอาหาร หรือใช้มือ แต่ในปัจจุบันมี “กรรไกรตัดอาหาร” มาอำนวยความสะดวกลูกน้อยมากขึ้น

ภัยจาก กรรไกรตัดอาหาร 

กรรไกรตัดอาหารช่วยให้ลูกน้อยตัดอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนที่จะรับประทานเข้าปาก เพื่อไม่ให้ลูกน้อยติดคอ และไม่ทำให้เลอะเทอะ แต่รู้ไหมว่าอุปกรณ์ช่วยตัวนี้เป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม

กรรไกรตัดอาหาร ภัยร้ายที่ทำให้มองไม่เห็นพัฒนาการของลูก

มีคุณครูอนุบาลท่านหนึ่ง ยกปัญหานี้ขึ้นมา เนื่องจากคุณครูสังเกตเห็นว่าเด็กบางคนไม่สามารถรับประทานอาหารที่ติดกระดูกได้เอง เช่น ซี่โครงหมู หรือไก่ที่มีกระดูกติดอย่างน่องไก่ และเด็กไม่กล้าที่จะใช้มือหยิบอาหารเข้าปาก ได้แต่นั่งมองอาหารตรงหน้า

คุณครูจึงถามว่า “ทำไมถึงไม่กินน่องไก่”

เด็กน้อยตอบกลับมาว่า “หนูไม่รู้ว่าจะกินยังไง เพราะทุกครั้งที่มีอาหารที่มีกระดูก คุณพ่อหรือคุณแม่จะใช้กรรไกรตัดอาหารเอากระดูกออกให้ก่อนที่จะกินทุกครั้ง”

ตอนนี้เด็กคนนี้อายุ 3 ขวบแล้ว แต่ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีกระดูกได้เอง ปัญหานี้เกิดจากการที่คุณพ่อ คุณแม่คิดว่าการใช้มือรับประทานอาหาร หรือขนม ทำให้เลอะเทอะ และไม่สะอาด จึงต้องใช้กรรไกร หรืออุปกรณ์ช่วยในการรับประทาน เพื่อความสะดวกและอนามัยที่ดีของลูกน้อย แต่การทำแบบนี้ ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และทำให้เด็กไม่ได้บริหารฟัน และสมองด้วย เพราะว่าเด็กจะไม่ยอมเคี้ยวอาหาร และเคี้ยวอาหารที่มีความเหนียวไม่เป็น จนทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย และสมองของลูกน้อย

ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไป โดยที่ไม่ใส่ใจ ในอนาคตข้างหน้า หนูน้อยอาจจะไม่สามารถทำเรื่องที่ซับซ้อนกว่านี้ได้เลย เพราะสมองจะไม่มีการพัฒนา ไม่มีการฝึกการเคี้ยวอาหาร

ซึ่งการเคี้ยวจะช่วยฝึกการเคลื่อนไหวของขากรรไกร กล้ามเนื้อกระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อคอ ฝึกการใช้ลิ้นตวัด และดุนอาหาร นอกจากการเคี้ยวจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อของลูกน้อยแล้ว ยังช่วยทำให้กราม และฟันโตสวย ส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้อีกด้วย

การเคี้ยวอาหารมีผลต่อการไหลเวียนโลหิต และเส้นประสาท การที่ลูกรับประทานอาหารที่ละเอียดตลอดเวลา ทำให้มีผลต่อระบบขับถ่าย หากปล่อยไว้นานระบบย่อยอาจมีปัญหา พูดช้าลง เปล่งเสียงออกมาไม่แข็งแรง และอวัยวะบดเคี้ยวจะไม่แข็งแรง ทำให้เบื่ออาหาร เพราะรับประทานอาหารซ้ำๆ เดิมๆ คุณพ่อ คุณแม่ควรระมัดเรื่องการใช้กรรไกรกันด้วยนะคะ

อ่านต่อ >> “7 ข้อดีๆ กับการเคี้ยวช้าๆ สุขภาพดี สมองแข็งแรง” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การเคี้ยวให้ช้าลง มีผลต่อการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน

เคี้ยวช้าๆ สุขภาพดี สมองแข็งแรง

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเว็บไซต์ส่งเสริมความรู้วิทยาศาสตร์ “วิชาการดอทคอม” รวบรวมผลการศึกษาทางแพทย์ ซึ่งยืนยันผลดีของการฝึกนิสัยเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนลงสู่กระเพาะ “การเคี้ยวให้ช้าลง” ยังมีผลต่อการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน เนื่องจากไปช่วยกระตุ้นให้ “ต่อมน้ำลาย” และ “ต่อมใต้หู” หลั่งฮอร์โมนออกมา

นอกจากนั้น ยังช่วยกระตุ้นพลังแห่งการขบคิดและสมาธิ ตรงข้ามกับผู้ที่เคี้ยวอาหารไม่ค่อยได้หรือเคี้ยวเร็วไป สมองก็จะอ่อนแอตามไปด้วย ผลที่ตามมาก็คือ สุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว โดยประโยชน์จากการเคี้ยวอาหารให้ช้าลง จะมีผลต่อดีสมองและร่างกาย ดังนี้

1. เคี้ยวอาหารประมาณ 30 ครั้ง ในแต่ละมื้อเป็นอย่างน้อย จะช่วยให้เหงือกแข็งแรงและช่วยรักษาอาการอารมณ์หงุดหงิด เครียด และโมโหง่าย

2. เคี้ยว 50 ครั้ง จะช่วยลดความวิตกกังวลของอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากินอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยลดความอ้วนได้ เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของน้ำที่มากเกินความจำเป็นดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

3. เคี้ยว 60 ครั้ง เหมาะสำหรับการเคี้ยวอาหารที่มีกากใยมากเกินไป ช่วยลดอาการท้องผูก การทำงานของสมอง ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์จากการเคี้ยวอาหารให้ช้าลง จะมีผลต่อดีสมองและร่างกาย

4. เคี้ยว 80 ครั้ง ช่วยให้ประสาทสัมผัสไวขึ้น มีความจำดีขึ้น สามารถจดจำและจำแนกรสชาติของอาหารทั้งจากธรรมชาติและสารปรุงอาหารที่มีพิษ ต่อร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

5. เคี้ยว 100 ครั้ง ทำให้คุณจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สงบ เยือกเย็น กินน้อยลง แต่ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้มาก อีกทั้งช่วยลดการอยากอาหารประเภทเนื้อ

6. เคี้ยว 150 ครั้ง ระบบการทำงานกระเพาะและลำไส้ดีขึ้น และช่วยควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ

7. เคี้ยว 200 ครั้ง ต่ออาหาร 1 คำได้ทุกมื้อ จะหายจากโรคกระเพาะเรื้อรัง และโรคกระเพาะอาหารเป็นแผลอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้สมองขบคิดกระบวนการคาดการณ์และวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้น ฉะนั้น จึงไม่ควรมองข้ามสิ่งเล็กๆ อย่างการเคี้ยวอาหารเพราะส่งผลดีต่อทั้งสมองและสุขภาพของคนเรา โดยไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไรเลยเพียงแค่เสียเวลาเคี้ยวเท่านั้นเอง!


เครดิต: liekr.com, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), วิชาการดอทคอม