ก่อนซื้อขนมหรืออาหารให้ลูก สิ่งสำคัญที่คุณแม่มักละเลย คือการอ่านฉลากโภชนาการ ฉะนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีของลูก เรามี วิธีอ่านฉลากโภชนาการ ที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกรักของคุณได้โภชนาการที่ดี ครบถ้วนและอร่อยไปพร้อมๆกันค่ะ
การเติบโตของเด็กมีปัจจัยหลายด้าน ทั้งด้านพันธุกรรม ฮอร์โมน ภาวะโภชนาการ โรคทางกาย และสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบการเจริญเติบโคของเด็กได้โดยวัดความยาวหรือส่วนสูง น้ำหนัก และวัดเส้นรอบศีรษะ ร่วมกับการดูขนาดของกระหม่อม ขนาดเส้นรอบอกและการขึ้นของฟัน
นี่คือ วิธีอ่านฉลากโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก
การบริโภคอาหาร เป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เพราะอาหารทำให้ร่างกายและระบบต่างๆ ภายในร่างกายเป็นปกติ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การบริโภคอาหารที่ถูกหลัก ครบถ้วน เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทุกมื้อ จะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ทำให้การดำรงชีวิตเป็นปกติ ทำให้ลูกน้อยมีภาวะโภชนาการที่ดี
ในทางตรงข้ามถ้าลูกน้อยบริโภคอาหารไม่ได้สัดส่วนกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน หรือไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วน จะทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ หรืออาจเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ หรือเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งถ้ารับประทานอาหารไม่เพียงพอจะทำให้ขาดสารอาหาร …แต่ถ้าได้รับสารอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกายก็จะทำให้เกิดภาวะโภชนาการเกิน หรืออ้วนทำให้เกิดโรคต่างๆได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ สะอาด ปราศจากอันตรายจากสารปนเปื้อนต่างๆ ทำให้มีผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมด้วย ซึ่งอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายของลูก คือ ต้องได้อาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ เหมาะสมกับวัยทุกวัน โดยมีอาหารหลัก 5 หมู่ที่หลากหลายและอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ นม 2-3 แก้วต่อวัน
ฉลากโภชนาการ คือ?
ทั้งนี้ทั้งนั้นหากคุณพ่อคุณแม่จะเลือกซื้ออาหารหรือขนมให้ลูกน้อยรับประทาน สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยในการเลือกดูก่อนซื้อ นั่นก็คือ ฉลากโภชนาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการแสดงข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ
อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Nutrition Information” ที่ระบุรายละเอียดของชนิดและปริมาณสารอาหารที่มีในอาหารนั้นไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ที่รักและใส่ใจสุขภาพของลูกน้อย หรือผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
การแสดงฉลากโภชนาการ มี 2 รูปแบบ คือ
1.ฉลากโภชนาการแบบเต็ม เป็นฉลากที่แสดงชนิดและปริมาณสารอาหารที่สำคัญที่ควรทราบ 15 รายการ สำหรับฉลากที่มีความสูงจำกัด สามารถแสดงฉลากโภชนาการเต็มรูปในลักษณะแบบแนวนอนหรือแบบขวางตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ได้
2.ฉลากโภชนาการแบบย่อ ใช้ในกรณีที่สารอาหารตั้งแต่ 8 รายการ จากจำนวนที่กำหนดไว้ 15 รายการนั้นมีปริมาณน้อยมากจนถือว่าเป็นศูนย์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแสดงให้เต็มรูปแบบฉลากโภชนาการ
อ่านต่อ >> “วิธีอ่านฉลากโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อยคุณแม่ห้ามพลาด!” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขอบคุณภาพจาก เด็กไทยสุขภาพดี www.dekthaidd.com
ปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน
สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ในหนึ่งวันไม่ควรได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มากกว่าปริมาณสูงสุดที่แนะนำ ดังนี้ พลังงานไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี น้ำตาลไม่ควรเกิน 65 กรัม ไขมันไม่ควรเกิน 65 กรัม โซเดียมไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม
สำหรับ วิธีอ่านฉลากโภชนาการ นั้น มีหลักง่ายๆ ดังนี้…
ดู “หนึ่งหน่วยบริโภค” คือ ปริมาณการกินต่อครั้งที่ผู้ผลิต แนะนำให้ผู้บริโภคกิน ซึ่งได้มาจากค่าเฉลี่ยการกินของคนไทย หนึ่งหน่วยบริโภคจะแสดงให้เห็นทั้งปริมาณที่เป็นหน่วยครัวเรือน เช่นกระป๋อง ชิ้น ถ้วย แก้ว เป็นต้น ตามด้วยน้ำหนัก …กรัมหรือ ปริมาตร…มิลลิลิตร ในระบบเมตริก ตัวอย่างเช่น ลิ้นจี่ในน้ำเชื่อมเข้มข้น บรรจุกระป๋อง จะต้องระบุปริมาณ ที่เห็นง่าย และน้ำหนัก หรือปริมาตร ดังนี้ “หนึ่งหน่วยบริโภค : 4 ลูก (140 กรัม รวมน้ำเชื่อม)”
ดู “จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ” หมายถึง อาหารในบรรจุภัณฑ์นั้น กินได้กี่ครั้ง เช่น นมพร้อมดื่ม หากหนึ่งหน่วยบริโภคคือ 1 กล่อง หรือ 250 มิลลิลิตร จำนวนครั้งที่กินได้ก็คือ 1 แต่หากเป็นขวดลิตร ควรแบ่งกิน (ตามหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง) ครั้งละ 200 มิลลิลิตรซึ่งจะกินได้ถึง 5 ครั้ง
ดู “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค” เป็นการอธิบายว่า เมื่อกินตามปริมาณที่ระบุในหนึ่งหน่วยบริโภคแล้ว จะได้พลังงานเท่าใด สารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าใดและปริมาณนี้ คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณที่เราควรได้รับต่อวัน
ดู “ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน” คือ ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายถึง ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่มีในหนึ่งหน่วยบริโภค เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน เช่น ถ้าอาหารนี้ให้คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 8 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายความว่าเรากินอาหารนี้ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคเราจะได้รับคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 8 และเราต้องกินอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตจากอาหารอื่นอีก ร้อยละ 92
สำหรับ ในเรื่องของการดูร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันนั้น คุณแม่ยังต้องเข้าใจด้วยว่า โปรตีน น้ำตาล วิตามินและเกลือแร่ จะแสดงเป็นร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันเท่านั้น เพราะโปรตีนมีหลากหลายชนิดและ คุณภาพแตกต่างกัน การระบุเป็นร้อยละจะทำให้เข้าใจผิดได้ ส่วนน้ำตาลนั้นปริมาณร้อยละเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดอยู่แล้ว ขณะที่วิตามินและเกลือแร่ ปริมาณความต้องการของร่างกายมีค่าน้อยมาก การแสดงปริมาณของวิตามินและเกลือแร่ที่มีอยู่จริงอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้
√ ประโยชน์ของการ “แสดงฉลากโภชนาการ”
คือ เป็นการให้ข้อมูลความรู้ทางโภชนาการแก่ผู้บริโภคในการเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อ และบริโภคอาหารตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและสุขภาพ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการกล่าวอ้างปริมาณสารอาหารในผลิตภัณฑ์ด้วย
อ่านต่อ >> “หลักเช็คฉลากโภชนาการ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
√ ประโยชน์ของการ “อ่านฉลากโภชนาการ”
เพราะ วิธีอ่านฉลากโภชนาการ ที่ถูกต้อง จะช่วยให้ทราบถึงชนิดและปริมาณสารอาหารที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารนั้น ๆ ทำให้เลือกบริโภคอาหารได้ตรงตามภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล และสามารถนำมาเปรียบเทียบ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อที่ให้ประโยชน์มากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความเข้าใจของผู้บริโภคต่อฉลากโภชนาการโดยนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 67.5 ไม่เคยอ่านฉลากโภชนาการ และในจำนวนผู้อ่านฉลากโภชนาการ พบว่า ร้อยละ 32.5 อ่านฉลากโภชนาการไม่รู้เรื่อง ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าฉลากโภชนาการยากเกินไป และทำให้ผู้บริโภคสับสน
ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guidline Daily Amounts : GDA)
หรือ ฉลากหวานมันเค็ม เป็นการแสดงปริมาณสารอาหารที่สำคัญ แบบสรุป ได้แก่ พลังงาน(กิโลแคลอรี) น้ำตาล(กรัม) ไขมัน(กรัม) และโซเดียม(มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ (ถุง ซอง กล่อง) โดยจะแสดงฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ โดยมีการบังคับการแสดงฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ ในกลุ่มอาหาร 5 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหารขนมขบเคี้ยว กลุ่มช็อกโกแลต กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป และกลุ่มอาหารมื้อหลักแช่เย็นแช่แข็ง
ขอบคุณภาพจาก : www.lovefitt.com
ทั้งนี้นี่คือวิธีอ่านฉลากโภชนาการ โดยการเช็กก่อนซื้อง่ายๆ แบบใช้ทางลัด เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของลูกน้อย โดยคุณแม่สามารถเปรียบเทียบ คุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ได้ทันทีจากตัวเลขด้านหน้า และยังนำไปปรับใช้ในการบริโภคอาหารให้สมดุล ดังนี้
- เช็คที่ 1 เช็คว่าปริมาณพลังงานต่อ 1 หน่วยบริโภคเท่าไหร่ = หากต้องควบคุมน้ำหนักให้ลูก ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณพลังงานน้อย
- เช็คที่ 2 เช็คปริมาณไขมันและไขมันอิ่มตัวมีเท่าไหร่ = หากกังวลเรื่องน้ำตาลของลูก หรือเป็นโรคเบาหวานควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย ซึ่งในหนึ่งวันลูกควรได้รับไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 20 กรัมต่อวัน เพราะไขมันอิ่มตัวเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คอเรสตอรอลในร่างกายสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เช็คที่ 3 เช็คว่ามีปริมาณน้ำตาลเท่าไหร่ = หากกังวลเรื่องไขมันของลูก หรือกลัวลูกมีภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณไขมันน้อย ซึ่งแต่ละวันลูกควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชา น้ำตาลที่ได้รับเกินกว่าที่ต้องการ จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมทำให้เป็นโรคอ้วน และส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา
- เช็คที่ 4 เช็คปริมาณเกลือ(โซเดียม)เท่าไหร่ ในหนึ่งวัน = หากกังวลเรื่องโซเดียม หรือการมีภาวะความดันโลหิตสูงของลูกน้อย ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมน้อย ซึ่งลูกควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม การได้เกินจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง
ผลเสียหากคุณแม่ไม่ใส่ใจใน วิธีอ่านฉลากโภชนาการ
การที่คุณแม่ละเลยการอ่านฉลากโภชนาการจะทำให้เราอาจได้รับพลังงานและสารอาหารเกินความจำเป็น อาจจะทำให้ทานมากเกินไป และเมื่อลูกรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายเป็นประจำแล้ว จะทำให้น้ำหนักของลูกน้อยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั้นหมายถึง เป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคข้อต่ออักเสบ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากหากคุณแม่รู้ วิธีอ่านฉลากโภชนาการ ที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้ทราบรายละเอียดของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ ทำให้สามารถเปรียบเทียบคุณภาพกับราคาซึ่งช่วยให้ประหยัดเงิน สามารถเก็บรักษา/บริโภค ผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงสารบางชนิดที่อาจทำให้ลูกน้อยเกิดการแพ้หรือเกิดปัญหาในการบริโภค และให้คุณแม่ได้เลือกผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณสมบัติให้ตรงตามความต้องการได้ นอกจากนั้นในกรณีที่เกิดปัญหาหรือข้อบกพร่องจากตัวผลิตภัณฑ์ ก็สามารถร้องเรียนให้มีการดำเนินการต่อผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่ายได้ตาม ชื่อและที่อยู่ ที่ปรากฏในฉลากด้วย
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- คัมภีร์ ตารางอาหารตามวัย สำหรับลูกน้อยในวัยขวบปีแรก
- เตือนแม่! ทานอาหารรสจัด โซเดียมสูง ระวัง ไตเสื่อม
- หลักการเลือกซื้ออาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย!
ขอบคุณข้อมูลจาก : เดลินิวส์ ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 56 โดย “PrincessFangy” twitter.com/PrincessFangy