คุณพ่อ คุณแม่เคยสังเกตบ้างไหม? ทำไมเด็กสมัยนี้โตเร็วจัง พ่อแม่หลายคนอาจมีความกังวล เพราะเด็กๆ จะโตเร็วกว่ารุ่นพ่อแม่ ลูกโตก่อนวัย ภาวะเช่นนี้กระทบทั้งร่างกาย และจิตใจของลูก เนื่องจากช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ลูกจะสูงกว่าเด็กคนอื่นๆ แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่กลับเตื้ยกว่าคนอื่น
โรคโตก่อนวัยคืออะไร?
โรคโตก่อนวัย (Precocious Puberty) มักเกิดกับเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เป็นความผิดปกติของการเจริญเติบโตในวัยเด็ก เด็กจะมีเต้านม ประจำเดือน รังไข่ มดลูก อัณฑะ ทำงานพร้อมที่จะเจริญพันธุ์ การเจริญเติบโตที่ผิดปกตินี้ส่งผลเสียกับเด็กหลายด้าน
การเจริญเติบโตของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 ช่วงได้แก่ ช่วงอยู่ในท้องแม่ ช่วงวัยเด็กเล็ก ช่วงวัยเด็ก และวัยรุ่นเจริญพันธุ์ ในแต่ละช่วงจะมีการเจริญเติบโตของร่างกายแตกต่างกัน อาจมีความผิดปกติทางร่างกาย หรือภายนอก ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติ
ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลไว้ว่า การเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวโดยทั่วไป เกิดจากฮอร์โมนไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน ทำให้สร้างฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอะไรควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม โภชนาการ โดยเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงจะโตเป็นหนุ่มสาวได้เร็วกว่า
“แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน ยังเจริญเติบโตแตกต่างกัน เด็กผู้หญิงจะมีประจำเดือนช่วง 11 – 15 ปี เด็กที่มีประจำเดือนในวัยมาก หรือน้อยกว่านั้นมักตรวจไม่พบสาเหตุ แม้จะตรวจเอกซเรย์สมองก็ไม่พบความผิดปกติ ข้อสังเกตง่ายๆ ถ้าลูกสาวมีประจำเดือนหลัง 8 ขวบ ยังไม่ถือว่าผิดปกติ อายุเฉลี่ยของการมีหน้าอกจะอยู่ที่ 9-10 ขวบ สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้ลูกอ้วนตั้งแต่ 3 – 4 ขวบ เพราะเด็กอ้วนส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ 1-2 ปี”
อ่านต่อ “วิธีสังเกตลูกโตก่อนวัย และผลร้ายของโรค” คลิกหน้า 2
วิธีสังเกตลูกโตก่อนวัย
ลองสังเกตลูกถ้าลูกมีการเปลี่ยนแปรงร่างกายก่อนอายุ 8-9 ขวบ ลูกอาจเป็นโรคโตก่อนวัย สังเกตได้ดังนี้
1.เด็กผู้หญิง เริ่มมีเต้านม มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ รักแร้ ส่วนสูงเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เริ่มมีสิว และมีกลิ่นตัว
2.เด็กผู้ชาย อวัยวะเพศขยาย มีขนบริเวณอวัยวะเพศ รักแร้ สูงเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เสียงแตก เป็นสิว มีกลิ่นตัว
ผลร้ายของโรคโตก่อนวัย
- ฮอร์โมนเพศที่ทำให้โตเร็วในวัยเด็ก จะมีผลทำให้กระดูกปิดเร็ว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่สั้นกว่าคนอื่น ส่งผลกระทบต่อส่วนสูง ทำให้หยุดสูงเร็วกว่าเด็กคนอื่นๆ กลายเป็นคนตัวเตี้ยกว่ามาตรฐาน
- มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งเต้านม เพราะการมีเต้านมเร็ว จะทำให้เนื้อเยื่อเต้านมถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงเร็วขึ้น
- ลูกผู้หญิงอาจส่งผลกระทบทางจิตใจ ถูกเพื่อนล้อเลียน กลั่นแกล้ง ให้อับอาย ทำให้กลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง สับสน ไม่รู้จะจัดการกับตัวเองยังไง เนื่องจากมีหน้าอกเร็วกว่าคนอื่น
- เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเกิดภาวะตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม
อ่านต่อ “การตรวจรักษาโรคโตก่อนวัย พร้อมวิธีป้องกัน” คลิกหน้า 3
การตรวจรักษาโรคโตก่อนวัย พร้อมวิธีป้องกัน
เด็กรุ่นใหม่ที่โตเร็วอาจเป็นเพราะวิวัฒนาการของมนุษ์ สิ่งแวดล้อม และอาหารการกินจึงทำให้เด็กโตเร็วกว่าสมัยก่อน การรักษาเด็กโตก่อนวัยเริ่มจากการหาสาเหตุ ตรวจร่างกาย ประเมินพัฒนาการทางเพศ เอกซเรย์กระดูก ตรวจฮอร์โมน วัดขนาดมดลูกและรังไข่ การรักษากะแตกต่างกันไป เช่น ฉีดฮอร์โมน กินยา จุดประสงค์เพื่อชะลอพัฒนาการ หน้าอกก็จะเล็กลง ประจำเดือนหยุดชั่วคราว เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมจึงหยุดให้ยา
เมื่อพบว่าลูกเป็นโรคโตก่อนวัย พ่อแม่ควรให้ความรู้กับลูกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ให้ความรู้เรื่องเพศ เพื่อไม่ให้ลูกตกใจ หรือสับสน
การลดความเสี่ยงภาวะโตก่อนวัยที่ง่ายที่สุด คือ พ่อแม่ต้องควบคุมน้ำหนักให้ลูกอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เน้นโภชนาการที่ดี สนับสนุนให้ลูกออกกำลังกาย ถ้าลูกน้ำหนักเกินก็รีบแก้ไขตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ควรรอให้โตแล้วค่อยลดน้ำหนัก ทุกปัญหาที่เกิดกับลูก พ่อแม่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ อย่าปล่อยให้ลูกอ้วนจนเกินไป
ภาวะโภชนาการที่ไม่ดี รับประทานขนมกรุบกรอบ ของทอด ของมัน อาหารจานด่วน อาหารที่มีไขมันสูง ทำให้เด็กน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
กรมอนามัยเตือน พ่อแม่ต้องคุมอาหารลูก หวั่นโรคอ้วน
เลือก “โปรตีนคุณภาพ” ให้ลูก 1,000 วันแรก ลดเสี่ยงอ้วน-โรคร้ายแรงเรื้อรัง-ภูมิแพ้
แพทย์เตือน! โรคอ้วนอาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้
เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส, ภาควิชากุมารเวชศิริราชมหิดล, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์