“สำหรับเด็กแรกเกิดนมเป็นอาหารหลัก แต่สำหรับวัยเตาะแตะตั้งแต่ 1-3 ปี นั้นนมเป็นเพียงอาหารเสริม ซึ่งเพิ่มเติมจากอาหารมื้อหลักหรืออาหารครอบครัวทั่วไปที่รสไม่จัด ฉะนั้นเด็กยังต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แล้วจึงดื่มนมเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียม โปรตีน ไขมันและสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น”
อาจารย์อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ บอกเล่าให้ Amarin Baby & Kids ฟัง แต่นมในท้องตลาดทุกวันนี้มีมากมายหลายชนิด จะเลือกนมให้ลูกวัยเตาะแตะอย่างไร และดื่มนมอย่างไรถึงจะเหมาะสม อาจารย์อุรุวรรณมีข้อมูลดีๆ มาแนะนำมากมายเชียวค่ะ
ในน้ำนมมีอะไรซ่อนอยู่?
- โปรตีน ในนมมีโปรตีนคุณภาพซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นที่เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
- ไขมัน ช่วยเสริมสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อ อีกทั้งยังให้พลังงานแก่ร่างกาย
- คาร์โบไฮเดรต คือน้ำตาลแลคโตสในนม ซึ่งช่วยดูดซึมแคลเซียมสู่ร่างกายและช่วยพัฒนาเยื่อหุ้มสมองให้แข็งแรง
- วิตามินบี 2 เสริมสร้างการทำงานของร่างกาย และป้องกันโรคปากนกกระจอกได้ด้วย
- แคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยในการเจริญเติบโต ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง
- วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา เพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโต
ปริมาณพลังงานและสารอาหารอ้างอิงที่เด็กเล็กควรได้รับในหนึ่งวัน
- เด็ก อายุ 1-3 ปี แนะนำปริมาณไขมันที่ควรได้รับคือร้อยละ 30-40 ของพลังงานทั้งหมด (ประมาณ 33-44 กรัมต่อวัน)
- เด็ก อายุ 4-5 ปี แนะนำปริมาณไขมันที่ควรได้รับคือร้อยละ 25-35 ของพลังงานทั้งหมด (ประมาณ 36-50 กรัมต่อวัน)
ช่วงอายุ | 1-3 ปี | 4-5 ปี |
พลังงาน
(กิโลแคลอรี่) |
1,000 | 1,300 |
โปรตีน
(กรัม) |
18 | 22 |
วิตามินเอ
(ไมโครกรัม) |
400 | 450 |
วิตามินดี
(ไมโครกรัม) |
5 | 5 |
แคลเซียม
(มิลลิกรัม) |
500 | 800 |
ฟอสฟอรัส
(มิลลิกรัม) |
460 | 500 |
วิตามินบี 1
(มิลลิกรัม) |
0.5 | 0.6 |
วิตามินบี 2
(มิลลิกรัม) |
0.5 | 0.6 |
ที่มา: กองโภชนาการ กรมอนามัย 2546
คุณค่าทางโภชนาการโดยประมาณจากนมวัวรสจืด 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร)
- พลังงาน 120 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 7 กรัม
- ไขมัน 8 กรัม
- แคลเซียม 220 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 160 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 1 0.08 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.45 มิลลิกรัม
เด็กจึงควรดื่มนม 2-3 แก้ว หรือ 400-600 มิลลิลิตรต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารสำคัญ 2 ใน 3 ของความต้องการของร่างกาย นมรสจืดจึงเป็นสุดยอดนมของวัยเตาะแตะ เพราะให้คุณค่าทางโภชนาการซึ่งมีความเหมาะสมกับธรรมชาติของร่างกาย ไม่มีการแต่งกลิ่น สี หรือรส ซึ่งจะลดปริมาณสารอาหารให้น้อยลงค่ะ
อ่านต่อ >> “เคล็ดลับการดื่มนมให้มีประโยชน์” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เด็กอ้วนดื่มนมก็ยิ่งอ้วน จริงหรือ?
อาจมีคำถามจากคุณพ่อคุณแม่ว่า เด็กอ้วนจะดื่มนมได้หรือไม่ เพราะเกรงว่าลูกจะอ้วนขึ้นไปอีก อาจารย์อุรุวรรณอธิบายไว้ว่า สำหรับเด็กอ้วนบางคนอาจมีปัญหาไขมันในเลือดสูงด้วย จึงมีข้อแนะนำให้ดื่มนมจืดได้ โดยเลือกนมจืดชนิดพร่องมันเนย เพราะนมชนิดนี้จะลดสัดส่วนของไขมันลงไป แต่ปริมาณสารอาหารอื่นๆ ยังคงมีอยู่ ทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่พอเหมาะกับร่างกาย ไม่เพิ่มไขมันจนกลายเป็นโรคอ้วน
เคล็ดลับดื่มนมถูกเวลาเสริมวัยให้แข็งแรง
“การดื่มนมให้ได้ประโยชน์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเท่านั้นนะคะ แต่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย” อาจารย์อุรุวรรณบอกเคล็ดลับสำคัญ และขยายความช่วงเวลาที่เหมาะและไม่เหมาะกับการดื่มนมมาด้วยค่ะ
สิ่งที่ควรทำ
- ดื่มหลังมื้ออาหารหลัก เพื่อให้ลูกน้อยได้สารอาหารจากอาหารหลักก่อน แล้วค่อยเสริมทัพความแข็งแรงด้วยอาหารเสริมอย่างนมรสจืดสักแก้ว เพียงเท่านี้ลูกก็จะได้สารอาหารทั้งจากอาหารหลักและอาหารเสริมครบถ้วนแล้ว
- ดื่มนมอุ่นๆ ก่อนนอน ในนมอุ่นๆ จะมีสารอาหารช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและหลับสบาย แต่อย่าลืมชวนลูกน้อยแปรงฟันก่อนเข้านอนด้วย
สิ่งที่ห้ามทำ
- ไม่ควรดื่มนมก่อนมื้ออาหาร จะทำให้ลูกน้อยอิ่มจนกินข้าวไม่ไหว ทำให้พลาดโอกาสรับสารอาหารจากมื้อหลักไปอย่างน่าเสียดายเลยค่ะ
- ไม่ควรดื่มนมขวดจนหลับ จะทำให้ฟันผุได้นะคะ เพราะถึงแม้จะเป็นนมรสจืด แต่ธรรมชาติของนมก็มีน้ำตาลผสมอยู่ดี
- ไม่ควรดื่มนมพร้อมกินยาบางชนิด เพราะแคลเซียมในนมอาจทำปฏิกิริยากับยา ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ทางที่ดีควรเว้นช่วงดื่มนมหลังจากกินยาประมาณ 1-2 ชั่วโมงจะดีกว่า
- ไม่ควรดื่มนมพร้อมน้ำผลไม้ โปรตีนเคซีนในนมเมื่อเจอกรดในน้ำผลไม้จะจับเป็นตะกอนอยู่ในกระเพาะอาหาร อาจทำให้ย่อยยากและท้องเสียได้ค่ะ
อ่านต่อ >> “นมอะไรให้คุณค่าสูงที่สุด? + สุดยอดอาหารเสริมแคลเซียม” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Milk Award
มาดูกันว่านมชนิดไหนติดอันดับท็อป 3 นมที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุด จากนม 6 ชนิด ได้แก่ นมวัวรสจืด นมควาย นมแพะ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต ประเมินจากคุณค่าสารอาหารต่อปริมาณนม 100 มิลลิลิตร
สุดยอดนมให้โปรตีน
- นมควาย 4.5 กรัม
- โยเกิร์ต 3.8 กรัม
- นมวัวรสจืด 3.3 กรัม
สุดยอดนมอุดมไขมัน
- นมควาย 8.0 กรัม
- นมวัวรสจืดและนมแพะ 3.6 กรัม
- โยเกิร์ต 2.6 กรัม
สุดยอดนมเปี่ยมแคลเซียม
- นมควาย 195 มิลลิกรัม
- โยเกิร์ต 126 มิลลิกรัม
- นมวัวรสจืด 110 มิลลิกรัม
สุดยอดอาหารเสริมแคลเซียม
นอกจากนมแล้วยังมีอาหารชนิดอื่นที่ให้แคลเซียมอีกมากมายเลยนะคะ เช่น ปลาตัวเล็ก ผักคะน้า เต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง ผักโขม กุ้งฝอย กุ้งแห้ง งาดำคั่ว ฯลฯ
โยเกิร์ต อร่อย ย่อยง่าย ให้คุณค่า
โยเกิร์ตเป็นนมชนิดหนึ่งที่ให้คุณค่าเช่นเดียวกับนมวัว แต่เป็นนมที่ผ่านการย่อยด้วยจุลินทรีย์ ทำให้แลคโตสซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่อาจทำให้ท้องเสียได้ง่ายถูกย่อยสลายไป เด็กที่ไม่ชอบดื่มนมหรือท้องเสียง่าย การเลือกกินโยเกิร์ตแทนก็ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการให้เด็กได้เช่นกันค่ะ
ความหวานแสนอร่อย แต่ก่อปัญหาหลายอย่าง!
- ในกระบวนการผลิตนมเปรี้ยวหรือนมที่ปรุงแต่งรสชาติจะมีการดึงน้ำนมออกและเพิ่มน้ำตาลเข้าไปแทนที่ 5-15% เท่ากับว่าเด็กจะได้คุณค่าสารอาหารลดน้อยลง แต่ได้ปริมาณน้ำตาลเข้ามาแทนที่
- ความหวานอาจทำให้เด็กติดรสหวานจนไม่ยอมกินอาหารและดื่มนมรสธรรมชาติ
- ความหวานจากน้ำตาลทำให้เด็กฟันผุได้นะ
- น้ำตาลเป็นอีกหนึ่งตัวการเพิ่มน้ำหนักตัว เกิดความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนอีกต่างหาก
สุดท้ายอาจารย์อุรุวรรณฝากคำแนะนำว่า “ในช่วงแรกเกิดถึง 1 ขวบปีแรก ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งด้านร่างกายและสมอง หลังอายุ 1 ขวบ อัตราการเติบโตด้านน้ำหนักและส่วนสูงจะชะลอตัวลง อาหารและโภชนาการเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก
“ในส่วนของอาหารประเภทนม มีข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลกว่า แม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่งหรือ 2 ขวบและเมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ก็สามารถให้นมแม่ควบคู่ไปอาหารตามวัยได้ค่ะ”
อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!
- นมดี 100% ให้ลูกดื่ม สารอาหารเพียบ ในโครงการตามพระราชดำริของพ่อหลวง
- รีวิวนมวัว 100% (รสจืด) ห้ามพลาด!! สำหรับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป
- เทียบสารอาหาร นมสำหรับเด็กแพ้นมวัว (นมถั่วเหลือง-นมอัลมอนด์-นมข้าว-นมลูกเดือย)
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock