อันตรายจากไส้กรอก อาหารเช้า หรืออาหารว่างตอนบ่ายๆ ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็มักจบลงที่ไส้กรอกทอดจิ้มซอสมะเขือเทศ ไส้กรอกเป็นอาหารที่ทานง่าย อร่อย และเป็นหนึ่งในเมนูสุดโปรดของเด็กๆ แต่ก่อนที่คุณแม่จะให้ลูกทานไส้กรอกกันมากเกินไปกว่านี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำเตือนถึงโทษจากการทานไส้กรอกมาให้ได้ทราบกันค่ะ
อันตรายจากไส้กรอก – ไส้กรอกทำมาจากอะไร?
ไส้กรอกเป็นหนึ่งในวิธีถนอมอาหาร โดยใช้เนื้อสัตว์บดละเอียดผสมกับเกลือและเครื่องเทศ บรรจุลงในไส้ วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตไส้กรอก ได้แก่ เนื้อสัตว์ เกลือแกง ไขมัน เกลือไนเตรต์ เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรส โดยเนื้อสัตว์ที่นำมาใช้ในการผลิตไส้กรอกจะต้องมีความสามารถในการรวมตัวกับน้ำได้สูง โดยมีแอคติน และไมโอซิน ทำหน้าที่ให้น้ำและไขมันในเนื้อสัตว์สามารถรวมตัวกันได้ เกลือนอกจากจะทำหน้าที่ให้รสชาติแล้วยังทำหน้าที่สกัดโปรตีนจำพวก แอคตินและไมโอซิน ออกจากกล้ามเนื้อของสัตว์ ทำให้ไส้กรอกที่ได้มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มและชุ่มฉ่ำและให้กลิ่น และรสชาติที่คงตัว เกลือไนเตรต (KNO3, NaNO3) ทำให้ไส้กรอกเกิดสีและกลิ่นที่คงตัว และป้องกันไม่ให้ไส้กรอกเกิดการเน่าเสียจาก แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการหายใจ1
พอจะรู้จักที่มาที่ไปของไส้กรอกกันแล้วใช่ไหมคะ แต่มีอยู่ส่วนผสมหนึ่งในการผลิตไส้กรอกที่ถูกกำหนดให้ใช้ในปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสมเท่านั้น นั่นก็คือไนเตรต์ โทษของไนเตรต์คือ เมื่อเด็กๆ หรือทุกคนที่รักในการทานไส้กรอกทานมากเกินไป อาจทำให้ได้รับสารพิษสะสมในร่างกาย ไนเตรต์ที่อยู่ในอาหารมากเกินไปจะทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย เนื่องจากสารประกอบไนเตรต์ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะไปทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์กับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงนั้นหมดสภาพ ไม่สามารถทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนได้ และยังก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วย
อันตรายจากไส้กรอก ที่แพทย์ห้ามให้เด็กกิน!!
กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้โซเดียมไนไตรต์หรือโปแตสเซียมไนไตรต์ในไส้กรอกและกุนเชียงได้โดยกำหนดปริมาณสูงสุด ต้องไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามในปีพ.ศ. 2555 จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของกระทรวงสาธาณสุข พบว่ามีโซเดียมไนไตรต์ในปริมาณที่เกินกำหนดในไส้กรอกและกุนเชียง ถึงร้อยละ 16.4 และ 8.9 ของจำนวนตัวอย่างที่ถูกสุ่มตรวจ ตามลำดับ และตรวจพบการเจือปนของโซเดียมไนไตรต์ในแหนม ไก่ทอด หมูยอ ปลาเค็ม และปลาเค็มตากแห้งหวาน ทั้งที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ไนไตรต์ในผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว
ในเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2558 ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สุ่มตัวอย่างไส้กรอก แฮม และโบโลน่า จำนวนทั้งหมด 13 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อทั่วไปและซุปเปอร์มาร์เก็ต มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมไนไตรต์ด้วยวิธี Modified AOAC official method 973.31 ซึ่งสรุปผลการตรวจวิเคราะห์ ได้ดังนี้ คือ ตรวจพบว่ามีไนไตรต์ในทุกตัวอย่างและมีปริมาณโซเดียมไนไตรต์ที่ตรวจพบอยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ (ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ผลการวิเคราะห์แสดงในตารางที่ 1
อ่านต่อ >> “ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อทานไส้กรอกมากเกินไป” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
กินไส้กรอกมากๆ มีผลต่อสุขภาพของเด็กๆ และผู้ใหญ่อย่างไร?
จากการศึกษาด้านความเป็นพิษของไนไตรต์ต่อสัตว์ทดลอง ได้มีรายงานว่าหนูที่ถูกป้อนน้ำหรืออาหารที่มีปริมาณไนไตรต์สูง 250-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) สูงขึ้น ไนไตรต์สามารถทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารกลายเป็นกรดไนตรัส (HNO2) ที่สามารถรวมตัวกับสารเอมีนหรือเอมีดที่มีในอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์เกิดสารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรซามีนขึ้นในร่างกาย (endogenous nitrosamines) ซึ่งจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้อย่างรวดเร็ว จากการศึกษาทางระบาดวิทยาได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับไนไตรต์ในปริมาณสูงกับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งหลอดอาหาร
ถ้าผู้บริโภคได้รับไนไตรต์ในปริมาณที่สูงมากทันที ไนไตรต์จะก่อให้เกิดภาวะอาการขาดออกซิเจน คือ มีอาการตัวเขียว เล็บเขียว หอบ เหนื่อย หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้ เพราะไนไตรต์จับตัวกับฮีโมโกลบิน (haemoglobin) ในเลือดเกิดเป็นเมทฮีโมโกลบิน (methaemoglobin) ทำให้ฮีโมโกลบินไม่สามารถจับตัวกับออกซิเจน ปริมาณไนไตรต์ที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในการบริโภคหนึ่งครั้ง คือ 32 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยถ้าคำนวณเทียบกับน้ำหนักตัวเฉลี่ยของวัยรุ่น (9-18 ปี, 44.5 กิโลกรัม) และผู้ใหญ่ (ตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป, 54.5 กิโลกรัม) พบว่า ปริมาณไนไตรต์ที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในการบริโภคหนึ่งครั้ง คือ 1,424 และ 1,744 มิลลิกรัม ตามลำดับ ในอดีตในประเทศไทยเคยมีรายงานการเกิดโรคเมทฮีโมโกลบีนีเมีย (methemoglobinemia) ถึงสองครั้ง โดยครั้งแรก (พ.ศ.2550) ผู้ป่วยเป็นเด็กนักเรียนที่บริโภคไส้กรอกไก่ที่มีปริมาณโซเดียมไนไตรต์สูงถึง 3,137 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และครั้งที่สอง (พ.ศ.2553) เป็นผู้ป่วยที่บริโภคไก่ทอดซึ่งมีการหมักด้วยสารไนไตรต์
ในปี 2002 คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ (Joint WHO/FAO Expert of Committee on Food Additive; JECFA) ได้กำหนดค่า acceptable daily intake (ADI) หรือ ค่าปริมาณการได้รับไนไตรต์ต่อวันโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตลอดช่วงชีวิต ที่ 0-0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยถ้าคำนวณเทียบกับน้ำหนักตัวเฉลี่ยของวัยรุ่น (9-18 ปี, 44.5 กิโลกรัม) และผู้ใหญ่ (ตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป, 54.5 กิโลกรัม) พบว่า ปริมาณไนไตรต์ที่ได้รับต่อวันจากการบริโภคอาหาร ไม่ควรเกิน 3.1 และ 3.8 มิลลิกรัม ตามลำดับ
การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการบริโภคไส้กรอก แฮม และโบโลน่า โดยดูจากปริมาณการได้รับไนไตรต์ (มิลลิกรัม) นำมาเทียบกับค่าความปลอดภัย (ADI) ของไนไตรต์ ซึ่งถ้ามีค่าสูงกว่าค่า ADI แสดงว่าบริโภคมากเกินไปมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตารางที่ 2 แสดงค่าประเมินปริมาณการได้รับไนไตรต์จากการบริโภคไส้กรอก แฮม และโบโลน่า 50 กรัม (ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง, 1 serving size) และ 200 กรัม (น้ำหนักบรรจุต่อ 1 ถุง) จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ไส้กรอก แฮม และโบโลน่าที่ซื้อมาบริโภค มีปริมาณโซเดียมไนไตร์ตอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าการบริโภคต่อครั้งเป็นจำนวนมาก เช่น บริโภคหมดถุง (200 กรัม) ก็จะทำให้ได้รับไนไตรต์ในปริมาณสูงเกินกว่าค่าปลอดภัยของไนไตรต์ ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้2
ขึ้นชื่อว่าอาหารก็มีทั้งประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ ซึ่งเราในฐานะพ่อแม่สามารถที่จะเลือกแต่อาหารที่มีคุณภาพให้ลูกได้รับประทานกันได้ การทานอาหารที่จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายจริงๆ ต้องเป็นอาหารครบ 5 หมู่ ที่ต้องทานให้สมดุลกันในแต่ละหมู่ เพื่อจะได้ป้องกันร่างกายไม่ให้รับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป
สำหรับไส้กรอกเด็กๆ สามารถทานได้ค่ะ แต่ต้องทานในปริมาณที่เหมาะสม และต้องไม่ทานแต่เมนูไส้กรอกทุกวัน เพราะพฤติกรรมการบริโภคอาหารซ้ำๆ ร่างกายจะถูกสะสมไว้ด้วยสารพิษจากไส้กรอก ซึ่งจะเกิดผลสียร้ายแรงต่อสุขภาพของเด็กๆ ได้ ดังนั้นอยู่ที่พ่อแม่ต้องไม่ตามใจลูกให้กินไส้กรอกมากเกินความพอดี หรือหากเลี่ยงที่จะไม่ทานได้เลยก็จะดีมาก …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!
เตือนแม่!! 11 ภาชนะ ห้ามใส่อาหารเข้าอุ่นไมโครเวฟ อันตรายต่อสุขภาพลูกน้อย
จริงหรือไม่? กินผลไม้ก่อนอาหารทำให้ลูกป่วย
อาหารแช่แข็ง อันตรายกับลูกน้อยจริงหรือไม่?
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1ไส้กรอก. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. th.wikipedia.org
2ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรสา สุริยาพันธ์ ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. วัตถุกันเสียในไส้กรอก แฮม และโบโลน่า. www.pharmacy.mahidol.ac.th