เลือกกิน หรือกินยากนี่เข้าข่ายเดียวกันค่ะ ปัญหานี้มักเกิดขึ้นเมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยเตาะแตะ พอ 1 ขวบ นั่นก็ไม่เอา นี่ก็ไม่กิน พ่อแม่ก็นั่งเครียดถอนหายใจไปซิ ว่าเอ๊ะ!! ทำไมลูกเราไม่เห็นเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ที่ทำอะไรให้กินก็กินได้หมด เห็นทีจะปล่อยลูกเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำในการแก้ไขพฤติกรรมลูกเลือกกินมาฝากค่ะ
เลือกกิน กินยาก เป็นเพราะอะไร?
ที่บ้านผู้เขียนก็เจอกับปัญหาลูก เลือกกิน กินยาก ไม่ต่างจากอีกหลายครอบครัวค่ะ หลานชายวัย 1.3 ขวบ ที่ก่อนหน้านี้เป็นเด็กค่อนข้างไม่ปฏิเสธอาหาร แม่ทำเมนูอะไรให้กินก็กินได้ไม่เคยบ่ายเบี่ยงว่าจะไม่กิน กินครบทุกมื้อ ถึงแม้ว่าบางมื้ออาจจะทานข้าวไม่หมดจานก็ไม่ว่ากัน เพราะเราถือคติที่ว่าเด็กกินได้แค่ไหนแค่นั้น อิ่มแล้วจะหยุดกินๆ ก็จะไม่ทำโทษ แต่ตอนนี้ไม่เหมือนกับช่วงก่อนวัย 1 ขวบ เพราะหลานชายเริ่มมีข้อต่อรอง และเลือกกินแต่เมนูที่เป็นของโปรดซะส่วนใหญ่ ถ้าวันไหนไม่มีเมนูที่ชอบ แม่นี่ต้องถึงขั้นบังคับให้ทานข้าวกันเลยค่ะ ถามว่าบังคับแล้วได้อะไร “หลานทานข้าวเคล้าน้ำตา” และแลดูไม่ค่อยมีความสุขกับช่วงเวลามื้ออาหารสักเท่าไหร่ คือพ่อแม่ก็ดีใจที่ทำให้ลูกกินข้าวได้ เพราะถ้าลูกไม่กินข้าวเดี๋ยวจะขาดสารอาหาร ผอมแห้ง หัวโต!!
แต่จากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า การบังคับ ยัดเยียดให้กินแต่เมนูอาหารที่คิดว่าดีต่อร่างกายลูกมากไป แทนที่ลูกจะทานข้าวได้หมดจานอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความสุขในการกิน กลับกลายเป็นว่ายิ่งไปสร้างทัศนคติไม่ดีในเรื่องการกินให้กับลูกแทน
มีผลการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุค ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เด็กๆ ที่เลือกกินอาหาร หรือกินอาหารยาก จะส่งผลต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตเมื่อโตขึ้น แม้แต่เด็กที่เลือกกินในระดับปานกลาง ก็อาจกลายเป็นคนมีอาการซึมเศร้า กระวนกระวาย มีปัญหาเรื่องสมาธิ เรื่อยไปจนถึงอาการกระตือรือร้นผิดปกติ หรือไฮเปอร์แอ๊กทีฟ[1]
บทความแนะนำ คลิก>> 11 เทคนิคแก้ปัญหา ลูกกินยาก อมข้าว
ช่วงตั้งแต่ขวบปีแรกขึ้นไป เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย และพัฒนาการการเรียนรู้ เด็กๆ เริ่มที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รู้ึสึกชอบ และปฏิเสธเป็น นั่นจึงไม่แปลกว่าทำไมเด็กๆ ถึงเริ่มที่จะเลือกกินแต่ในสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งอาหารโปรดของพวกเขาในช่วงวัยนี้มีอยู่ไม่กี่อย่างที่ทำให้รู้สึกว่าอยากกินแต่ซ้ำๆ เช่น ไข่เจียว ไก่ทอด ข้าวผัด หมูทอด ดื่มแต่นม กินแต่ขนมปัง ฯลฯ อย่างเด็กบางคนอาจกินแต่เมนูเดิมซ้ำๆ เกือบจะทุกมื้อก็มีค่ะ ซึ่งตรงนี้จำเป็นอย่างมากที่พ่อแม่จะต้องฝึกหัดให้ลูกได้ทานอาหารในเมนูอื่นๆ บ้าง โดยที่นำเอาวัตถุดิบที่ลูกชอบมาดัดแปลงเป็นเมนูที่หลากหลายมากขึ้น จากนั้นก็ค่อยๆ ให้ลูกได้ลองชิมเมนูอื่นที่มีวัตถุดิบต่างออกไป หากยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร มาลองดูคำแนะนำจากคุณหมอกันค่ะ
อ่านต่อ 4 วิธีแก้ปัญหาลูกเลือกกิน หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ปัญหาลูก “เลือกกิน” ต้องแก้ไขอย่างไร?
การเลือกกินเป็นความชอบของแต่ละบุคคล เราไม่สามารถห้ามลูกไม่ให้กินหรือบังคับให้กินตามใจพ่อแม่ได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีต่อมรับรสไม่เหมือนกัน เด็กที่ต่อมรับรสโตจะรับรู้รสชาติอาหารได้ดีมาก รสชาติต่างกันนิดหน่อยเขาก็รู้ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ไม่แนะนำให้ใช้วิธีบังคับลูกให้กินอาหารมีประโยชน์ แต่คุณหมอมีเคล็ดลับให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอาหารที่ลูกน้อยไม่ชอบให้กลายเป็นจานโปรดของเด็กๆ ดังนี้ค่ะ
“food chain” หรือห่วงโซ่อาหาร เพื่อพัฒนาอาหารให้หลากหลาย
แม้จะใช้คำเดียวกับคำว่า “ห่วงโซ่อาหาร” ในระบบนิเวศ แต่ความหมายของนักจิตวิทยาพัฒนาการคือ การพัฒนาการกิน อาหารของลูกให้หลากหลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากสิ่งที่ลูกชอบ วิธีของคุณหมอทำตามได้ไม่ยาก มีขั้นตอนดังนี้ค่ะ
1. สังเกตลูก
พ่อแม่ต้องสังเกตว่าลูกชอบกินอะไร เช่น ลูกชอบกินหมูทอด
2. แยกองค์ประกอบ
แยกองค์ประกอบของสิ่งที่ลูกชอบ ในที่นี้แยกได้ 2 อย่างคือ หมูและของทอด
3. ใช้ความสร้างสรรค์พลิกแพลง
ผสมผสานสิ่งที่ลูกชอบ กับสิ่งที่อยากให้ลูกกิน เช่น แม่อยากให้ลูกกินผัก ก็ลองนำผักไปทอด จะลองให้กินไก่ทอด ปลา ทอดด้วยก็ทำได้ง่าย หรือไม่อยากให้ลูกกินของทอด ก็ลองนำหมูไปตุ๋น ไปต้ม ไปผัด หรือไปทำอาหารด้วยกรรมวิธีอื่นที่ไม่ใช่การทอด เพียงแค่นี้ลูกก็จะกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้นแล้วค่ะ
4. ขยายวงจรอาหารให้หลากหลาย
เมื่อลูกกินอาหารที่เกิดจากการผสมผสานกับสิ่งที่ลูกชอบได้โดยง่ายแล้ว ค่อยขยายไปสู่อาหารที่เขาไม่ค่อยกิน จากที่เคยกิน หมูทอด มากินผักทอด แล้วค่อยไปกินผักต้ม หรือจากหมูทอด มาเป็นหมูต้ม แล้วก็เปลี่ยนมาลองให้กินไก่ต้ม
บทความแนะนำ คลิก>> เมนูอาหารน่ารัก 360 เมนู แก้ปัญหาลูกน้อยกินยาก
และคุณหมอยังได้แนะนำถึงคุณพ่อคุณแม่ว่า อย่าไปยัดเยียดให้ลูกกินสิ่งที่มีประโยชน์ แต่เขาไม่ชอบโดยทันที นอกจากจะ เป็นการฝืนบังคับซึ่งอาจทำให้ลูกงอแงแล้ว ยังอาจทำให้เขามีทัศนคติไม่ดีกับการกิน คือไม่กล้าลองกินสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ทำให้ไม่ชอบอาหารชนิดนั้นไปจนโต
ได้รู้แบบนี้แล้วครอบครัวไหนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาลูกเลือกกิน ลองนำวิธีที่คุณหมอแนะนำนี้ไปปรับใช้แก้ไขพฤติกรรมการกินของลูกๆ ที่บ้านกันดู เชื่อว่าจะสามารถค่อยๆ ปรับแก้ไขได้อย่างแน่นอนค่ะ
อ่านต่อ 7 วิธีจัดการลูกเลือกกิน กินยาก หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
7 วิธีจัดการลูกเลือกกิน กินยาก
คำถามจากผู้อ่าน “ลูกชายอายุ 5 ขวบค่ะ เขาชอบกินขนมปังกรอบมากๆ และไม่ค่อยยอมกินอะไรอย่างอื่นเลย จะทำอย่างไรดีคะ”
สิ่งสำคัญที่คุณควรรู้คือ นิสัย “เลือกกิน” เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้ และยิ่งคุณทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเท่าไรโอกาสที่ลูกจะกินได้หลากหลายก็ยิ่งน้อยลง
การเปลี่ยนความชอบอย่างใดอย่างหนึ่งของเด็กวัยนี้เป็นงานยากพอสมควร ต้องใจเย็นๆ เรื่องกินเป็นเรื่องความชอบแต่ละบุคคล คุณควรเคารพในการตัดสินใจของลูกด้วย แต่มีตั้งหลายวิธีที่คุณแม่จะสอนให้ลูกกินอาหารหลากหลายขึ้นได้
- ให้เจ้าตัวเล็กปลูกผักสวนครัวด้วยตัวเอง จะได้สนุกกับการกินผลผลิตที่เขาปลูก
- ให้ลูกช่วยเตรียม (และแอบชิม) อาหาร ระหว่างทำครัว
- จากที่เคยไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตในห้าง ลองเปลี่ยนไปซื้อของจากชาวสวนโดยตรงดูบ้าง เจ้าตัวเล็กจะได้เห็นว่ามันมีที่มาอย่างไร และทำให้อยากกินมากขึ้น
- เปลี่ยนโฉมของอาหารบ้าง เช่น นำเนื้อสัตว์หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวมาห่อด้วยไข่ เปลี่ยนจากการทอดมาเป็นนึ่ง ฯลฯ
- เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ว่าคุณกินอาหารอย่างอื่นอย่างเอร็ดอร่อยไม่แพ้ขนมปังกรอบเลยนะ
- อธิบายด้วยภาพ ว่าอาหารแต่ละอย่างมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เช่น วาดภาพร่างกายคนใหญ่ๆ และวาดรูปเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนไว้ตรงแขน ขา รูปผักบุ้งไว้ที่ดวงตา
- กำหนดช่วงเวลาการกินที่แน่นอนสำคัญที่สุด ต้องใช้ความอดทนค่ะ เพราะงานนี้ไม่ได้สำเร็จภายในวันเดียว ถึงไม่มีรางวัลให้ก็หยุดอาการเลือกกินได้นะ จะบอกให้
การเรียนรู้พัฒนาการ และพฤติกรรมของลูกในแต่ละช่วงวัยเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกันอย่างมาก นั่นเพราะหากพ่อแม่รู้และเข้าใจถึงพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของลูก ก็จะช่วยให้สามารถช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของลูก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโภชนาการอาหารการกิน อารมณ์ นิสัย ฯลฯ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกนั้นจะสามารถแก้ไขได้อย่างถูกจุดอย่างแน่นอนค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
กินยาก แก้ด้วย 6 กลยุทธ์สร้างความคุ้นชินกับเมนูใหม่ๆ ให้เจ้าตัวน้อย
วิธีจัดการลูกเลือกกิน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร Amarin Baby & Kids
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1www.sanook.com/health