ถึงแม้ลูกแพ้นมวัว แต่คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลว่าลูกไม่ได้ดื่มนมวัวแล้วจะไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอนะคะ เพราะยังมีอาหารอื่นที่ให้สารอาหารอย่างในนมวัวแต่มีโอกาสเสี่ยงแพ้น้อยกว่า เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว เนื้อหมู และเนื้อไก่ (อ่านเพิ่มเติม แพ้นมวัว…ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด)
ปัจจุบันมีนมสูตรพิเศษมากมายสำหรับเด็กแพ้นมวัวซึ่งเติมสารอาหารต่างๆ ลงไปครบถ้วนไม่ต่างจากนมวัว เพียงแต่ไม่มีโปรตีนที่อาจทำให้ลูกเกิดอาการแพ้เท่านั้นค่ะ
4 นมทางเลือก เพื่อ ลูกแพ้นมวัว
1. นมวัวสำหรับเด็กแพ้นม
เป็นนมวัวที่ผ่านกระบวนการย่อยโปรตีนแล้ว ให้มีขนาดเล็กลงกว่าโปรตีนในนมวัวและนมถั่วเหลือง จนตัวภูมิแพ้ในร่างกายของเด็กดักจับไม่เจอ ทำให้ไม่เกิดปฏิกิริยาแพ้นมวัวรวมถึงนมถั่วเหลืองด้วย ในท้องตลาดจะมีอยู่สองชนิด คือ สูตร Protein hydrolysate และสูตร Extensively protein hydrolysate แบบหลังจะมีโปรตีนขนาดเล็กกว่าแบบแรก จึงมีความเสี่ยงในการแพ้นมต่ำกว่า
2. นมที่ผลิตจากกรดอะมิโน
เป็นสูตรนมที่มีโปรตีนที่ผ่านขบวนการย่อยเป็นกรดอะมิโน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนที่เล็กที่สุด ปราศจากความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการแพ้ 100% สำหรับเด็กที่กินนมสูตร Extensively protein hydrolysate แล้วยังมีอาการแพ้อยู่ ข้อเสียคือมีราคาแพงมาก และรสชาติไม่ดีนัก
อ่านต่อ “นมทางเลือกสำหรับเด็กแพ้นมวัว ชนิดที่ 3-4” หน้า 2
3. นมที่ผลิตจากโปรตีนถั่วเหลือง
แต่ไม่ใช่น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองทั่วไปในท้องตลาดนะคะ แม้นมเหล่านั้นจะกินได้ แต่คุณค่าทางโภชนาการอาจไม่พอสำหรับเด็ก คุณหมอแนะนำให้ใช้นมผงทารกสูตรโปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง (Soy-based formula) เท่านั้นค่ะ เพราะมีการเติมสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเด็ก แต่เด็กที่แพ้นมวัวบางส่วนจะแพ้นมถั่วเหลืองด้วย จึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลังดื่มนมถั่วเหลืองด้วยค่ะ
4. นมแม่
เป็นนมที่คุณหมอแนะนำมากที่สุด เพราะทั้งประหยัด ให้สารอาหารและภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูก และขณะให้ลูกเข้าเต้าก็ยังเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์แม่ลูกและกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกน้อยได้ดีอีกด้วย แต่คราวนี้คุณแม่ต้องเป็นฝ่ายงดนมเนยต่างๆ แทนค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้สารก่อภูมิแพ้ถ่ายทอดจากน้ำนมแม่ไปสู่ลูก
(อ่านเพิ่มเติม อาหารต้องห้ามสำหรับแม่ลูกอ่อน)
เรื่อง: อ.พญ.นริศรา สุรทานต์นนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแพ้อาหารในเด็ก หน่วยภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิงเพิ่มเติม: competencyrx.com, breastfeedingthai.com
เรียบเรียง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock