ทำเอาเชฟประจำโรงเรียนถึงกับงง เมื่อคุณแม่ Aomme Titapa (หรือ น.ส.ฐิตาภา สวัสดิรักษา ซึ่งคุณแม่ได้ถ่ายภาพนี้ตั้งแต่วันเปิดเทอมช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมในปี พ.ศ.2557 โดยเพิ่งถูกนำมาแชร์กันในกลุ่มคุณแม่ที่มี ลูกแพ้อาหาร กันช่วงนี้) ซึ่งคุณแม่ได้ปักลงที่เสื้อของลูกสาวว่า “น้องเอมิแพ้แป้งสาลี ห้ามกิน ขนมเค้ก ขนมปัง คุ๊กกี้ โดนัท ขนมถุงทุกชนิด บะหมี่เหลือง เกี๊ยว มักกะโรนี สปาเกตตี้ มาม่า”
ทั้งนี้คุณแม่ได้เผยว่า ไอเดียนี้เป็นไอเดียของคุณแม่ เพื่อบอกเพื่อนๆ รวมถึงคุณครูและร้านอาหารภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะน้องเอมิเป็นคนแพ้แป้งสาลี และแป้งสาลีก็มีผสมอยู่ในหลายเมนูอาหาร รวมถึงขนมทานเล่นด้วย ซึ่งการใช้วิธีนี้สื่อสารไป ก็เพราะถ้าเกิดวันไหนครูที่เราฝากดูแลลูกลาหยุดไม่มาโรงเรียน หรือพ่อค้าแม่ค้า สลับหน้าหมุนเวียนไป จะทำอย่างไรหละ วิธีปักเสื้อนักเรียนนี้ถือว่าโอเคเลย
และยังกล่าวต่อว่า ผลตอบรับจากคุณครู ก็คือทุกคนที่ทราบเรื่องก็ช่วยดูแล เพราะเราปักอย่างนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องจริงจัง ซึ่งคุณครูน้องเอมิก็คอยเตือนเพื่อนๆอย่าแบ่งให้ขนมให้น้องเอมิ เพราะอาจทำให้น้องแพ้อาหารได้
นับว่าเป็นไอเดียที่ดีเพื่อบอกให้คนอื่นรอบข้างตัวน้องได้รับรู้ข้อมูลการแพ้อาหาร และจะได้ช่วยกันระวัง หลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้น้องได้รับแป้งสาลีนั่นเอง เพราะเมื่อดูแล้วเป็นของที่เด็กๆ ชอบกินทั้งนั้นเลย
การแพ้อาหารของเด็ก
การแพ้อาหารเป็นโรคที่ใกล้ตัวเด็กๆมาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเด็กเล็กช่วง 2-3 ปีแรก ที่มีอัตราการแพ้อาหารมากที่สุดและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นด้วย
แพ้อาหารเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้วร่างกายของเราสร้างแอนติบอดี้ (Antibody) หรือสร้างภูมิต่อต้านกับอาหารชนิดนั้น ๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างแล้วแสดงอาการออกมาในลักษณะต่าง ๆ
อ่านต่อ >> การแพ้อาหารของเด็ก และวิธีป้องกันดูแลเมื่อลูกแพ้อาหาร
แพ้อาหาร…อาการเป็นอย่างไร
- ทางผิวหนัง มีผื่นเม็ดทรายหรือผื่นลมพิษขึ้นตามผิวหนังทั่วตัว
- ทางเดินหายใจ มีน้ำมูกเรื้อรัง คัดจมูก นอนกรน หายใจดังในขวบปีแรก หากกินยาแก้แพ้แล้วยังไม่ดีขึ้น อาการอาจรุนแรง ถึงขั้นมีน้ำในหูชั้นกลางทำให้เกิดภาวะหูไม่ได้ยินเสียง ซึ่งส่งผลให้พูดไม่ได้ โดยเด็กบางคนอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีผื่นที่ผิวหนัง ถ่ายบ่อยวันละหลาย ๆ ครั้ง หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย สันนิษฐานได้ว่าลูกอาจแพ้นมวัว เพราะบางทีอาการอาจแสดงออกแค่ที่ผิวหนังที่พ่อแม่ไม่ทันได้สังเกต ถ้าปล่อยไว้ก็อาจทำให้มีอาการของระบบอื่น ๆ ตามมา หรือมีเสมหะในปอดเยอะ หายใจวี้ด ๆ เหมือนเป็นหอบหืด
- ทางเดินอาหาร มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ อาการปวดท้องร้องกวนแบบโคลิกซึ่งเกิดในเด็กเล็ก ๆ ต่ำกว่า 1 ขวบ
จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกแพ้อะไร?
ถ้าในเด็กโตขึ้นมาหน่อยที่เริ่มรับประทานอาหารเสริมแล้วจะเห็นง่ายว่าแพ้อะไร ก็จากการทดลองตรงๆ คือการให้เด็กเริ่มรับประทานทีละอย่างติดต่อกัน อย่างละ 1 อาทิตย์ ในบางคนที่แพ้สะสมอาการแสดงออกช้า ก็ทาน ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ โดยจำกัดตัวแปรดีๆ เช่น เริ่มข้าวบด ก็ให้ทานข้าวบดอย่างเดียว 1 อาทิตย์ ถ้าผ่านข้าวดีแล้วค่อยเริ่มที่ผัก โดยเพิ่มผักทีละอย่าง คือ ทานข้าวบด+ผักกาดขาว 1 อาทิตย์ ถ้าผ่านค่อยเพิ่มผักชนิดอื่น โดยใช้หลักเดียวกัน ถ้าเจอตัวไหนว่าแพ้ ก็ให้หยุดอาหารชนิดนั้นไป ซัก 6 เดือนถึง 1 ปี ค่อยกลับมาลองใหม่อีกครั้ง
****note 1
อาหารที่ควรให้ด้วยความ ระมัดระวังคือ ไข่ นมวัว แป้งสาลี ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง ปลาและอาหารทะเล ควรให้อาหารเสริมทีละอย่างและครั้งละน้อยๆ
**** note 2
ไม่ควรให้ไข่ขาวกับเด็กเล็กๆก่อนอายุครบ 7 เดือน ไม่ควรให้อาหารทะเลแก่เด็กเล็กก่อนอายุครบอย่างน้อย9 เดือน
การป้องกัน
- วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน ช่วยส่งเสริม การเจริญเติบโต ซึ่งก็คือนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้โปรตีนในนมวัว และอาหารต่างๆ
- เมื่อคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือทราบว่าลูกมีอาการแพ้อาหาร ควรพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและขอคำแนะนำ ที่เหมาะสม
- ช่วงเริ่มอาหารเสริม การให้อาหารแต่ละชนิดแต่ละครั้งควรเริ่มให้ครั้งละน้อยๆ ถ้าไม่มีอาการแพ้ จึงค่อยๆ เพิ่มอาหารชนิดอื่น จะช่วยป้องกัน ลดโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะเกิดอาการแพ้จากอาหารที่กินเข้าไปได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาแพ้โปรตีนนมวัว ควรเลี่ยงนมที่มีส่วนผสมของนมวัว
- ลดปัญหาอาการแพ้อาหาร ด้วยการปรุงอาหารให้ลูกกินเอง หากต้องเลือกซื้ออาหารโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูป ควรเลือกผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ มีการระบุข้อมูลทางโภชนาการที่ชัดเจน สามารถสอบถามข้อมูลหรือขอรายละเอียดจากผู้ผลิตในกรณีที่เกิดปัญหาได้
การดูแล
กรณีที่เกิดอาการแพ้แล้วนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลตามอาการ เช่น
- มีการอาเจียน ถ่ายบ่อย ควรเลี่ยงอาหารนั้นๆ ควรระมัดระวังภาวะขาดน้ำ ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่
- ถ้าเป็นลักษณะของผื่น อาการคัน อาจใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดบริเวณที่มีอาการ และเลี่ยงการอยู่ในที่ๆ มีอากาศร้อน เพราะมีส่วนต่อการกระตุ้นให้เกิดอาการคัน หากเกิดเป็นแผลอาจทำให้มีอาการ แทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
- ส่วนอาการทางระบบทางเดินหายใจ คุณแม่อาจใช้น้ำเกลือล้างหรือเช็ดบริเวณจมูก เพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น
แม้ว่าการแพ้อาหารในเด็กเกิดจากปัจจัยใหญ่ๆ 2 อย่าง ได้แก่ พันธุกรรม เช่น พ่อ แม่ หรือมีลูกคนก่อนในครอบครัว เป็นโรคภูมิแพ้ ก็อาจทำให้ลูกน้อยมีโอกาสเกิดการแพ้อาหาร ได้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ และประการต่อมา เกิดจากอาหารที่เป็นสิ่งกระตุ้นก่อให้เกิดอาการแพ้ หากอาการแพ้อาหารแต่ละชนิด ที่กล่าวมานั้น เมื่อลูกโตขึ้นอาการแพ้จะค่อยๆ หายไปด้วยเพราะระบบการย่อยอาหาร เซลล์เยื่อบุลำไส้ทำงานได้สมบูรณ์ มีความสามารถในการยับยั้งสารอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นการแพ้ได้ ทำให้เกิดปัญหาน้อยลง แต่อาหารบางประเภท เช่น อาหาร-ทะเล หรือถั่วลิสง ยังทำให้เกิดอาการแพ้ไปได้ตลอดชีวิต จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้เหล่านี้ค่ะ
ที่มา: https://twitter.com/ChickyStar1994/status/469053171474513920
http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/allergy/food.htm#.VT9MhiHtmko