ลูกไม่ยอมกินข้าว เมื่อลูกได้ 6 เดือนเป็นวัยเริ่มทานอาหารเสริม ลูกจะทานอาหารทุกอย่างที่แม่ป้อน แต่เมื่อลูกครบหนึ่งขวบขึ้นไป เริ่มที่จะรู้ว่านี่คือผัก นี่คือเนื้อหมู นี่คือไข่เจียว ฯลฯ แล้วก็เริ่มที่จะปฏิเสธการทานอาหารในเมนูที่ไม่ชอบ ซึ่งนี่คือปัญหาที่แม่ๆ กังวลใจกันมาก ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีวิธีที่จะแก้ไข ลูกไม่ยอมกินข้าว ให้กลับมากินข้าวกันค่ะ
ลูกไม่ยอมกินข้าว เพราะอะไร?
หลายเหตุผลที่ ลูกไม่ยอมกินข้าว อาจด้วยวัยที่รับรู้รสชาติของอาหารได้มากขึ้น รู้ว่าเมนูอาหารที่แม่ทำนั้นมีผักอะไรที่ชอบ และไม่ชอบ มีเนื้อสัตว์ที่อยากกินด้วยหรือเปล่า เป็นต้น แต่บางครั้งการที่ลูกไม่กินข้าว อาจมาจากตัวของพ่อแม่เอง ที่ไม่เข้าใจถึงปริมาณความยากและความต้องการอาหารของลูกในแต่ละวัน ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล1 ได้อธิบายถึงสาเหตุของที่ เด็กไม่ยอมกินข้าว ไว้ดังนี้
1. เข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วน (จนเกินเกณฑ์น้ำหนักปกติ) เป็นเด็กแข็งแรง และน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่าเป็นเด็กผอมเกินไปและพยายามยัดเยียดเรื่องกินมากขึ้น2
2. เข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กอ้วนในบ้านเราอยู่ถึงร้อยละ 15 – 203
3. ไม่รู้ว่าเด็กหลังอายุ 1 ขวบ จะสนใจการกินน้อยลง ธรรมชาติเด็กอายุขวบปีแรกจะกินเก่งเพราะเป็นช่วงที่เติบโตเร็ว เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มถึง 3 เท่าตัว คือ น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 3 กิโลกรัม จะเพิ่มเป็น 9 กิโลกรัม เมื่ออายุ 1 ขวบ จึงมีความต้องการสารอาหารมากตามธรรมชาติและหิวบ่อย กินเก่ง แต่เมื่ออายุ 1 ปี จนถึง 10 ปี จะมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 กิโลกรัมเท่านั้น ร่างกายต้องการสารอาหารน้อยลงเมื่อเทียบกับปีแรกเด็กจึงมีความกระตือรือร้นเรื่องกินลดลง4
4. ไม่รู้ว่าลูกควรกินอาหารปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน ปริมาณอาหารที่พ่อแม่คาดหวังว่าลูกควรจะกินมักจะมากเกินความจริง จากการศึกษาวิจัยพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะตักอาหารให้ลูกปริมาณมากกว่าที่ร่างกายของลูกต้องการจริงๆ เมื่อเด็กกินไม่หมด ทำให้พ่อแม่กังวลและพยายามยัดเยียด5
5. ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวัน เด็กคนเดียวกันความต้องการอาหารแต่ละวันไม่เหมือนกัน บางวันเด็กอาจกินมาก บางวันอาจกินน้อย ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น กิจกรรมที่ใช้พลังงานในวันนั้น สภาพทางอารมณ์จิตใจ แม้แต่สภาพอากาศก็มีผลต่อการเจริญอาหารของเด็กในแต่ละวัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่อาจมีบางมื้อที่รู้สึกไม่หิว ไม่อยากกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่นไข้หวัด ก็อาจทำให้เบื่ออาหารไปชั่วคราว6
6. ไม่รู้ว่าความต้องการปริมาณอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้ว่าจะน้ำหนักเท่ากันแต่เด็กแต่ละคนอาจกินอาหารมากน้อยต่างกันได้มาก ซึ่งขึ้นกับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม อัตราการเผาผลาญของร่างกาย ฯลฯ ของเด็กแต่ละคน7
คุณพ่อคุณแม่พอจะทราบถึงสาเหตุที่มาของการที่ ลูกไม่กินข้าว กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ ซึ่งความจริงแล้วหากเราในฐานะพ่อแม่ได้ทำความเข้าใจกับลูก เพื่อสังเกตว่า ลูกไม่ยอมกินข้าว เพราะสาเหตุใดก็จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และก็จะทำให้ลูกมีความสุขกับการกินอาหารที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้นได้ค่ะ
อ่านต่อ >> “วิธีแก้ไขปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การแก้ปัญหาลูกไม่กินข้าว อาจต้องใช้เวลากับลูกอยู่พอสมควร แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะยอมกินข้าวดีๆ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ที่จะปฏิเสธว่าไม่กินในการแก้ไขปรับพฤติกรรมการกินของลูกในช่วงแรกๆ ซึ่งคุณหมอชาตรี8 ก็ได้ให้วิธีปฏิบัติกับพ่อแม่ที่มีปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว ที่เป็นวิธีแก้ไขง่ายๆ สามารถนำไปปรับใช้กับลูกที่บ้านกันได้ ดังนี้
ลูกไม่ยอมกินข้าว แก้ไขได้อย่างไร?
1. หากพ่อแม่เช็กตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง
ในสมุดบันทึกวัคซีนของเด็กทุกคนจะมีกราฟน้ำหนักและส่วนสูงตามวัยให้ทราบ ซึ่งหากดูแล้วลูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ นั่นหมายความว่าการให้อาหารลูก ณ ปัจจุบันเพียงพอแล้ว
2. ไม่ใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้เด็กกินมากขึ้น
พ่อแม่ไม่ควรทำโทษลูกเวลาที่ไม่กินข้าวด้วย การตี ดุว่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูกหรือการตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น
3. ให้เด็กรู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหาร
ก่อนหน้ามื้ออาหารหลัก ให้งดอาหารหรือขนมจุกจิกระหว่างมื้อ ไม่ว่าจะเป็นขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน ไอศกรีม ฯลฯ หากจะให้ ควรให้หลังอาหาร หากเด็กกินได้เหมาะสม
4. ไม่ให้นมมากเกินไป
สำหรับเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรกินข้าวเป็นอาหารหลัก วันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลงเหลือวันละ 3 – 4 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ร่างกายไม่ต้องการนมหลังจากหลับไปแล้วจนถึงเช้า จึงไม่ควรปลุกเด็กขึ้นมากินนม เพราะเด็กวัยนี้สามารถกินนมก่อนนอนแล้วอยู่ได้ถึงเช้า หากให้กินกลางดึกจะกลายเป็นความเคยชินและทำให้เด็กเบื่ออาหารเช้าเพราะยังอิ่มนม หลังอายุ 1 ปี ควรเลิกขวดนม ดังนั้นจึงให้เด็กเริ่มฝึกดูดจากหลอดหรือดื่มจากแก้วแทนตั้งแต่อายุ 10 เดือน
อ่านต่อ >> “วิธีแก้ไขปัญหา ลูกไม่ยอมทานข้าว” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5. ฝึกให้กินอาหารเป็นเวลา
การที่พ่อแม่ให้ลูกทานอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรให้ลูกกินพร้อมๆ กับทุกคนในครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการกินอาหารให้ลูก
6. ขณะมื้ออาหารไม่ดูทีวี
เมื่อถึงเวลาของมื้ออาหาร พ่อแม่ต้องตัดสิ่งรบกวนการกินของลูก คือ ไม่เปิดทีวี หรือให้ลูกเล่นของเล่นไปด้วยในขณะที่นั่งทานข้าว เพราจะทำให้เด็กไม่สนใจอาหารที่อยู่ตรงหน้า ทำให้กินช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่กินไปได้นิดเดียว
7. ให้นั่งกินอาหารบนเก้าอี้
การฝึกให้ลูกรู้ว่าหากถึงเวลาทานอาหารของทุกคนในบ้าน จะต้องนั่งทานที่โต๊ะอาหารเท่านั้น และต้องทานให้เสร็จเรียบร้อยอิ่มแล้วถึงจะออกจากโต๊ะทานข้าวได้ พ่อแม่ไม่ควรเดินตามป้อนข้าวให้ลูกเด็ดขาด
8. ทำบรรยากาศขณะมื้ออาหารให้ผ่อนคลาย
ช่วงเวลาคุณภาพของครอบครัวอีกช่วงเวลาหนึ่งก็คือการที่ทุกคนได้ทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในทุกเรื่อง การสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะบนโต๊อาหารจะช่วยทำให้บรรยากาศในการทานข้าวเป็นที่น่าจดจำสำหรับเด็ก แต่ไม่ควรใช้ช่วงเวลาทานข้าวมาดุด่ากัน เพราะจะทำให้ทุกคนบนโต๊ะอาหารตึงเครียดเกินไป และลูกก็จะไม่ชอบการทานข้าวในบรรยากาศที่ดูไม่มีความสุข
9. เปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง
ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสถือหรือหยิบอาหารเข้าปากด้วยตัวเองบ้าง ถึงแม้จะเลอะเทอะไปบ้างก็ต้องยอม ส่วนเด็กที่อยู่ในช่วงวัย 4 ขวบ ส่วนใหญ่จะสามารถตักอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกตักอาหารเข้าปากเอง
10. สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่เด็กชอบ
การทำอาหารให้ลูกทาน พ่อแม่ควรต้องศึกษาและสังเกตพฤติกรรมการกินของลูกด้วยว่า เขาชอบ ไม่ชอบทานอะไร เพื่อที่จะได้นำมาปรับเปลี่ยนเมนูอาหารปรุงรสชาติให้ถูกปากลูกมากยิ่งขึ้น
11. กำหนดระยะเวลามื้ออาหารประมาณ 30 – 45 นาที
เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่จะต้องเก็บอาหาร เก็บจานบนโต๊ะทานข้าวของทุกคน เพราะทานอิ่มกันหมดแล้ว แต่ลูกจะยังกินไม่หมดหรือกินได้น้อย ก็ไม่ต้องรอให้ลูกกินต่อ ให้คุณแม่เก็บจานอาหารของลูกได้ทันที โดยไม่ต้องวิตกกังวลหรือโกรธที่ลูกยังทานไม่เสร็จ และระหว่างนี้ให้งดของหวาน ขนม หรืออาหารว่างต่างๆ เพื่อที่เมื่อถึงมื้ออาหารถัดไป ลูกจะได้หิวมากๆ ซึ่งความหิวจะช่วยกระตุ้นให้ลูกเจริญอาหาร8
การปรับพฤติกรรม ลูกไม่ยอมกินข้าว ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่พ่อแม่จะทำไม่ได้ เพียงแค่ขอให้สังเกตว่า ลูกไม่ยอมกินข้าว ด้วยสาเหตุใด จากนั้นก็นำมาปรับแก้ไข เพื่อให้ทั้งลูกและพ่อแม่เองมีความสุขในช่วงเวลาการทานอาหารด้วยกัน ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจคุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวสามารถที่จะผ่านพ้นปัญหานี้ไปให้ได้ แล้วอย่าลืมนำวิธีแก้ไขจากคุณหมอไปปรับใช้แก้ไขปัญหาลูกไม่กินข้าวกันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!
หมอแนะ! 4 เทคนิค ฝึกลูกกินข้าวเก่ง
แก้ปัญหาโลกแตก ลูกกินข้าวยาก ลูกกินข้าวน้อย กันดีกว่า!
ทำไงดี ลูกกินข้าวที่บ้าน แต่ไม่ยอมกินที่โรงเรียน
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1,2,3,4,5,6,7,8ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. เมื่อลูกน้อยไม่กินข้าว. si.mahidol