ลูกกินยาก อมข้าว เป็นหนึ่งปัญหาหนักใจของพ่อแม่เลยก็ว่าได้ เมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะอายุประมาณ 1 ขวบขึ้นไป การทานอาหารจะไม่ใช่เรื่องง่ายกับแม่ๆ หลายคนแล้วค่ะ เพราะลูกมักจะมีอาการไม่ยากกินข้าว หรือไม่ก็อมข้าวกว่าจะกินหมดจานนี่ลุ้นกันตัวโก่งทั้งบ้าน!! ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำในการช่วยให้ลูกกินข้าวได้อย่างมีความสุขมาฝากค่ะ
ลูกกินยาก อมข้าว
อย่างที่บอกไปค่ะว่าปัญหา ลูกกินยาก อมข้าว นี่ถือเป็นปัญหาปราบเซียนเลยก็ว่าได้ เพราะแม้แต่ในครอบครัวของผู้เขียนเองก็เจอกับปัญหานี้เหมือนกัน เริ่มที่หลานชายคนโต ตอนที่เขาได้ 2 ขวบการทานข้าวไม่ได้อยู่ในบรรยากาศของความสุขสักเท่าไหร่ เพราะต้องเค้นบังคับให้ทานข้าวกันเลยค่ะ ซึ่งจากการเฝ้าดูพฤติกรรมของเขาคือ จะเขี่ยข้าวมารวมไว้ แล้วตักกินแต่ กับข้าวที่ชอบเท่านั้น มื้อไหนไม่มีแกงจืดไข่น้ำ หรือไข่เจียว แทบจะไม่แตะข้าวในจานเลยค่ะ พอไม่กินเองเราตักป้อนให้ก็ กว่าจะเคี้ยวข้าวได้แต่ละคำ อมจนข้าวในปากเปื่อย คือต้องบอกว่าหลายชายทานได้สารพัดเมนูที่ทำจากไข่ ต่อให้จะใส่ผักลง ไปในเมนูไข่ด้วยก็ทานได้ไม่มีเกี่ยง แต่ที่นี้คนเป็นพ่อแม่ใครจะยากให้ลูกทานแต่เมนูซ้ำๆ ใช่ไหมละคะ
ความกังวลที่เกิดขึ้นว่าหลานจะได้สารอาหารไม่ครบ ทำให้ต้องพาไปตรวจเช็กสุขภาพกับคุณหมอเด็ก ก็ได้ความว่าถึงเขาจะ ไม่ทานข้าวมากอย่างที่เราต้องการให้แต่ละมื้อ แต่เขาก็ทานนม กินผลไม้ กินผักได้ น้ำหนักส่วนสูงมีความสัมพันธ์กันดี เล่น ได้ และแข็งแรง แต่คุณหมอก็แนะนำว่าค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ หาเทคนิคเพื่อล่อใจให้เขาอยากทานเมนูอื่นบ้าง
คุณหมอยังบอกอีกว่าเด็กที่อยู่ในช่วงวัย 1-3 ขวบเขาจะทานอาหารได้เพียง 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่เท่านั้น ถ้าทานข้าวในแต่ละมื้อ ถ้าอิ่มแล้วก็อิ่มจะไม่เอาอะไรเพิ่มอีก ฉะนั้นไม่ต้องบังคับ ตักอาหารเท่าที่เขาทานได้แค่ไหนแค่นั้น แล้วผ่านช่วงขวบวัยนี้ไปเด็กๆ จะเริ่มปรับตัวได้ และสนุกกับการอาหารที่หลากหลายมากขึ้นเองค่ะ
เมื่อได้รับคำแนะนำแบบนี้ ที่บ้านเลยไม่บังคับ ไม่สร้างบรรยากาศในการทานข้าวที่ตึงเครียดให้กับหลานชาย พอถึงมื้ออาหารเราจะให้เขาตักข้าว กับกับข้าวที่เขาอยากทานเอง อยู่ในปริมาณที่เขาต้องการจะทานได้กี่คำก็ไม่เป็นไร อ่อ!! แต่เมนูอาหารควรมีสัก 2-3 เมนูค่ะ เอาแบบที่ทานได้กันทั้งครอบครัว คือเมื่อเขาเห็นว่าทุกคนทานเมนูเดียวกับเขาๆ จะอยากทานข้าวมากขึ้น อันนี้ใช้ได้ผลจริงกับครอบครัวผู้เขียนเลยค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> เมนูอาหารน่ารัก 360 เมนู แก้ปัญหาลูกน้อยกินยาก
เอาเป็นว่าถ้าครอบครัวไหนที่กำลังเจอกับปัญหา ลูกกินยาก อมข้าว กันอยู่ละก็ แนะนำว่าให้สังเกตพฤติกรรมการกินของเด็กๆ ก่อน ว่านอกเหนือจากอาหารมื้อหลัก 3 มื้อแล้ว เขาทานนม หรือทานอะไรที่มีประโยชน์ได้เพิ่มเข้ามาบ้าง จากนั้นให้ไปเช็กพัฒนาการน้ำหนักส่วนสูงว่าสมดุลตามช่วงวัยหรือเปล่า เพราะการทราบถึงสาเหตุในเบื้องต้นจะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นค่ะ
อ่านต่อ 11 วิธีช่วยแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
11 เทคนิคแก้ปัญหา ลูกกินยาก อมข้าว
การไม่บังคับลูกให้อยู่ในบรรยากาศของการทานข้าวร่วมกันแบบตึงเครียด และไม่คาดหวังว่าลูกๆ จะทานข้าวได้มากหรือได้น้อยในแต่ละมื้อ จะช่วยให้ทั้งพ่อแม่และตัวลูกเองมีความสุขในโต๊ะอาหารมากขึ้นได้ หน้าที่เพียงอย่างเดียวที่สำคัญมากๆ คือ ขอให้มื้ออาหารทั้ง 3 มื้อนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าโภชนาการสารอาหารที่ครบ 5 หมู่เป็นใช้ได้ค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> ลูกไม่กินผัก วิธีสอนลูกกินผัก ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
แต่เพื่อความสบายใจของทุกครบครัว ผู้เขียนได้อ่านเจอเทคนิคดีๆ นำมาใช้กับลูกเมื่อไม่อยากทานข้าว ซึ่งเป็นคำแนะนำจาก ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ กุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น[1] ที่คุณหมอได้ให้ความรู้พ่อแม่ที่จะรับมือกับเรื่องนี้ไว้มากถึง 11 วิธีเลยค่ะ
- หากพ่อแม่เช็คตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง (ซึ่งจะมีในสมุดบันทึกวัคซีนของลูก) แล้วยังอยู่ในช่วงปกติ ให้เตือนตนเองเสมอว่าอาหารที่ลูกได้อยู่ปัจจุบันนี้เพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะมีญาติผู้ใหญ่หรือคนอื่นทักก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กอ้วนในสังคมไทยจำนวนมากสูงถึง 15-20% ซึ่งเด็กที่น้ำหนักเกินจะมีส่วนสูงมากกว่าวัยด้วย (แต่ก็จะหยุดสูงเร็วด้วย) ทำให้เด็กในวัยเดียวกันที่น้ำหนัก ส่วนสูงปกติ ถูกเปรียบเทียบแล้วรู้สึกว่าเป็นเด็กผอมหรือตัวเล็กไป
- ไม่ใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้เด็กกินมากขึ้น เช่น การตี ดุว่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูกหรือการตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น
- ให้เด็กรู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหารโดยงดอาหารหรือขนมจุกจิกระหว่างมื้อ ไม่ว่าจะเป็นขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน ไอศกรีม ลูกอม ฯลฯ หากจะให้ ควรให้หลังอาหาร หากเด็กกินได้เหมาะสม
- ไม่ให้นมมากเกินไป เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรกินข้าวเป็นอาหารหลัก วันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลงเหลือวันละ 3-4 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ร่างกายไม่ต้องการนมหลังจากหลับไปแล้วจนถึงเช้า จึงไม่ควรปลุกเด็กขึ้นมากินนม เพราะเด็กวัยนี้สามารถกินนมก่อนนอนแล้วอยู่ได้ถึงเช้า หากให้กินกลางดึกจะกลายเป็นความเคยชินและทำให้เด็กเบื่ออาหารเช้าเพราะยังอิ่มนม หลังอายุ 1 ปี ควรเลิกขวดนม ดังนั้นจึงให้เด็กเริ่มฝึกดูดจากหลอดหรือดื่มจากแก้วแทนตั้งแต่อายุ 10 เดือน
อ่านต่อ 11 วิธีแก้ไขปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
- ฝึกให้กินอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรกินพร้อม ๆ กันทั้งครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการกินอาหารให้เด็ก
- ขณะมื้ออาหารไม่ดูทีวี หรือเล่นของเล่นไปด้วย เพราจะทำให้เด็กไม่สนใจเรื่องกิน ทำให้กินช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่ยังกินได้น้อย
- ให้นั่งกินอาหารบนเก้าอี้จนเสร็จจึงจะให้ลง ไม่เดินตามป้อน
- ทำบรรยากาศขณะมื้ออาหารให้ผ่อนคลาย พูดคุยกันเรื่องอาหาร หรือเรื่องเบาๆ ไม่ควรใช้เป็นเวลาที่จะมาต่อว่า ดุด่าว่ากล่าวกัน
- เปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง เรื่องการกินให้มากที่สุดตามวัย โดยค่อย ๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลงตามลำดับ ในเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ ให้เด็กมีโอกาสถือหรือหยิบอาหารเข้าปากด้วยตัวเองบ้าง แม้จะเลอะเทอะไปบ้างก็ต้องยอม เด็กวัย 4 ขวบ ส่วนใหญ่สามารถตักอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องป้อน เพียงแต่ให้ความช่วยเหลือบางส่วน
- สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่เด็กชอบ ปรุงรสชาติให้ถูกปากเพราะเด็กสามารถแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่อายุไม่กี่สัปดาห์
- กำหนดระยะเวลามื้ออาหารประมาณ 30-45 นาที เมื่อถึงเวลาที่กำหนดให้เก็บจาน แม้ว่าจะยังกินไม่หมดหรือกินได้น้อยก็ตาม โดยไม่ต้องแสดงความวิตกกังวลหรือโกรธ แต่ให้งดของหวาน ขนม หรืออาหารว่างต่างๆ ทั้งหมดก่อนจะถึงมื้อถัดไปเพื่อให้เด็กเกิดความหิว ซึ่งจะกระตุ้นให้เจริญอาหารและรับผิดชอบเรื่องการกินว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลได้ดีขึ้น[1]
บทความแนะนำ คลิก>> เคล็ดลับสร้างบรรยากาศให้ลูกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร
การเข้าใจทุกพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย จะช่วยลดปัญหากังวลใจของพ่อแม่ลงได้ค่ะ โดยเฉพาะสงครามการทานข้าวของลูก ถ้าพ่อแม่เข้าใจก็จะสามารถจัดการได้อย่างถูกจุดและถูกต้อง ไม่ว่าลูกจะกินข้าวยาก หรือชอบอมข้าว ก็จะไม่เกิดขึ้นค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจคลิก
กินยาก แก้ด้วย 6 กลยุทธ์สร้างความคุ้นชินกับเมนูใหม่ๆ ให้เจ้าตัวน้อย
คุณหมอเผย! กลเม็ด CLICK! พลิกวิกฤติพฤติกรรมลูกตัวเล็ก กินยาก
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ กุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น. เมื่อลูกน้อยไม่กินข้าว. www.manager.co.th