เมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป ก็ถึงเวลาที่ลูกจะต้องปรับการรับประทานอาหาร โดยเพิ่มอาหารชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมจากนมแม่ สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อ คุณแม่มักเป็นกังวลคือห่วงว่าลูกจะรับประทานอาหารติดคอ บางคนจึงให้ลูกน้อยรับประทานแต่ของเหลว จนอาจทำให้ ลูกไม่เคี้ยวข้าว ในอนาคตได้
การให้เด็กๆ รับประทานแต่อาหารเหลว หรือน้ำ เพราะห่วงว่าลูกน้อยจะติดคอนั้น เป็นความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการการบดเคี้ยวของลูกน้อยได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและนักโภชนาการต่างย้ำเสมอว่า ต้องปรับให้ลูกน้อยได้รับอาหารที่มีเนื้อหยาบขึ้นเรื่อยๆ ตามวัยที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ฟัน และฝึกการบดเคี้ยว จนสามารถรับประทานอาหารชนิดแข็งได้ เพราะการเคี้ยวอาหารเป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ที่ควรจะฝึกก่อน 1 ขวบ หากช้ากว่านั้นอาจต้องใช้ความอดทนในการฝึก และใช้เวลามาก
ลูกไม่เคี้ยวข้าว แก้ได้ยังไง?
1. เข้าใจ
การที่ลูกไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้นั้น ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เกิดจากลูกไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อน ช่วงแรกของการฝึก หากลูกยังไม่ยอมเคี้ยว หรือบ้วนทิ้งนั่นก็เพราะอาจจะไม่คุ้นกับรสสัมผัสแบบใหม่ หรือเขาไม่ชอบเคี้ยว ดังนั้นช่วงแรกๆ ควรจัดอาหารชนิดเดิมประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้ลูกคุ้นเคยก่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนชนิดอาหาร เช่น ปกติลูกกินแต่โจ๊ก คุณแม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นข้าวต้มกับเนื้อสัตว์เพียงชนิดเดียวก่อน แล้วเปลี่ยนชนิดของเนื้อสัตว์ จนลูกคุ้นกับข้าวต้มจึงค่อยเปลี่ยนเป็นข้าวสวยตามลำดับ
