คุณแม่หลายคน เข้าใจว่า หย่านมแม่ แล้วจะทำให้ลูกน้อยต้องการพึ่งพาคุณแม่น้อยลง ตื่นกินนมเวลากลางคืนลดลง แต่จริงๆ แล้วการหย่านม จะทำให้ลูกน้อยหงุดหงิด และต้องการความสนใจมากกว่าปกติ คุณแม่ควรวางแผนการหย่านม ตามอายุ พัฒนาการ และความพร้อมตามธรรมชาติ
หย่านมแม่
รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ ได้ให้ความรู้ไว้ว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการหย่านมของคุณแม่ และลูกน้อย จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่ควรตกลงตัดสินใจกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้หย่านมได้ราบรื่นขึ้น ไม่ควรหย่านมเพราะความเข้าใจผิด เช่น
- คิดว่าการหย่านมจะทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น สบายขึ้น เพราะแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการให้นม และคิดว่าการให้นมผสม หรือการหย่านมจะช่วยแก้ปัญหาจากความเหน็ดเหนื่อยนี้
- คิดว่าต้องหย่านม เมื่อมีปัญหาเต้านมอักเสบ การหยุดให้นมแม่ในช่วงนี้ จะทำให้เต้านมคัดตึง และเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น ควรให้ลูกดูดนมแม่ต่อไป เพราะน้ำนมแม่ที่มีปัญหาเต้านมอักเสบ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อลูกน้อย
- คิดว่าต้องรีบหย่านม เพราะต้องทำงาน หรือลูกน้อยชอบกัดหัวนมแม่ ทำให้รู้สึกเจ็บ รู้สึกไม่สุขสบาย จึงไม่อยากให้ลูกดูดนม
- คิดว่าถ้าคุณแม่ หรือลูกน้อยป่วย หรืออาจจะต้องนอนโรงพยาบาล จึงให้ลูกน้อยหย่านม คุณแม่ไม่ควรหย่านมลูกขณะที่ลูกป่วย เพราะจะทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด ถ้าคุณแม่ป่วยก็ควรให้นมแม่ต่อไป ถ้าคุณแม่ไม่ได้รับยาที่มีผลข้างเคียงต่อการให้น้ำนมลูกน้อย
อ่านต่อ “รูปแบบของการหย่านม” คลิกหน้า 2
รูปแบบของการหย่านม
1.การหย่านมที่มีการวางแผน
โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เริ่มจากลดจำนวนมื้อของการให้นมแม่ลงวันละ 1 มื้อ และเว้นระยะห่างระหว่างมื้อให้นานขึ้น โดยมีช่วงเวลาห่างกัน 1-3 วัน จะทำให้น้ำนมของคุณแม่ลดลงอย่างช้าๆ เต้านมจะไม่คัดตึง หรือปวด ช่วยให้คุณแม่แน่ใจว่าหย่านมจริงๆ ลูกน้อยจะค่อยๆ ปรับตัวจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การหย่านมควรเริ่มจากมื้อกลางวันก่อน และในเวลากลางคืนควรทำทีหลังสุด
2.การหย่านมเพียงบางส่วน
ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าต้องใช้เวลาทั้งหมด ไปกับการให้นมลูกน้อย และรู้สึกไม่มีความสุขกับการให้นมลูก หรือลูกอายุเกิน 1 ขวบขึ้นไป และไม่ต้องการให้ดูดนมแม่อีกต่อไป อาจใช้วิธีหย่านมเพียงบางส่วน เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าจะหย่านมลูกอย่างสมบูรณ์ หรือกลับมาให้นมลูกใหม่ได้อีกครั้ง ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ถ้ามีการหย่านมบางส่วน อาจทำให้มีปัญหาน้ำหนักลดได้
3.การหย่านมทันทีทันใด
การหย่านมทันทีทันใดอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณแม่ต้องแยกจากลูกน้อย เช่น เจ็บป่วยเฉียบพลัน เดินทางไกลกะทันหัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา และความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ และลูกน้อย ดังนี้
- ร่างกายของคุณแม่ยังคงสร้างน้ำนมอยู่ อาจทำให้เกิดปัญหาเต้านมคัด และนำไปสู่การเกิดเต้านมอักเสบ หรือเป็นฝีได้ วิธีป้องกันคือ เมื่อเต้านมเริ่มตึง ให้คุณแม่บีบน้ำนมออกบางส่วน เพื่อบรรเทาอาการคัด ถ้าคุณแม่ต้องการเก็บนมเอาไว้ให้ลูกน้อย ควรบีบน้ำนมออกทุก 3 ชั่วโมง หรือเมื่อเต้านมคัดตึง เพื่อให้ร่างกายสร้างน้ำนมลดลงอย่างช้าๆ อาบน้ำอุ่นช่วยให้ผ่อนคลาย
- มีแนวโน้มที่อาจจะทำให้คุณแม่เกิดปัญหาซึมเศร้าได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งช่วยให้คุณแม่มีความรู้สึกเป็นปกติสุขที่ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากเกิดการหย่านมทันทีทันใด การบีบ หรือปั๊มน้ำนมบางส่วนออก จะช่วยลดปริมาณการผลิตน้ำนมอย่างช้าๆ และทำให้ฮอร์โมนชนิดนี้ค่อยๆ ลดลง
- การหย่านมทันทีทันใด อาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกขาดความรักจากเต้านมแม่ ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ สูญเสียความรัก ความอบอุ่น คุณแม่จึงควรค่อยๆ หย่านม และทดแทนความรู้สึกที่สูญเสียไป ด้วยการให้ความสนใจ การกอด การโอบอุ้มลูกน้อยด้วยความรัก การดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กที่ถูกหย่านมทันทีทันใด มักจะไม่ยอมกินนมผสมได้เท่ากับที่ดูดนมแม่
อ่านต่อ “เทคนิคช่วยคุณแม่ในการหย่านม” คลิกหน้า 3
เทคนิคช่วยคุณแม่ในการหย่านม
1.ให้นมลูกน้อยเฉพาะเมื่อลูกน้อยร้องขอ และจะไม่ให้นมลูกน้อยเมื่อลูกไม่ร้องขอ ใช้เวลาให้นมสั้นลง
2.เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันของลูกน้อย และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เตือนให้ลูกน้อยกินนมบ่อยๆ เช่น เปลี่ยนจากการนั่งเก้าอี้ตัวที่นั่งประจำเมื่อให้นมลูก เพื่อเปลี่ยนความเคยชินที่ทำให้กินนมได้ดี
3.ให้คุณพ่อมีส่วนช่วยในการหย่านม ถ้าลูกน้อยขอกินนมช่วงตื่นนอนในตอนเช้า ให้คุณพ่ออุ้มลูกน้อย และให้อาหารเช้าแทนนมแม่ เตรียมอาหาร และเครื่องดื่มให้พร้อม เพื่อจะได้กินได้ในทันที
5.เด็กบางคนกินนมแม่บ่อยขึ้นเมื่ออยู่บ้าน เพราะไม่มีอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจ แต่จะกินนมห่างออกไปเมื่ออยู่ข้างนอก หรือในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย แต่เด็กบางคนอาจกินนมแม่บ่อยขึ้นเมื่ออยู่ข้างนอก เพราะมีสิ่งเร้ากระตุ้นมากขึ้น คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของลูกน้อย
6.การเลื่อนเวลาออกไปเป็นวิธีที่ใช้ได้ผล ในการหย่านมสำหรับคุณแม่ที่รู้สึกว่า ลูกน้อยปรับตัวได้ช้า ถ้าลูกกินนมไม่สม่ำเสมอ ก็ยังดีกว่าให้ลูกหยุดดูดนม วิธีนี้จะได้ผลในเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ
อ่านต่อ “ผลข้างเคียงจากการหย่านม” คลิกหน้า 4
ผลข้างเคียงจากการหย่านม
การให้นมแม่มีความสำคัญกับลูกน้อยมากกว่าสิ่งอื่น คุณแม่ควรให้นมลูกน้อยไปจนกว่าลูกต้องการจะหย่านมด้วยตัวเอง การหย่านมไม่ได้หมายความว่า ห้ามกินนมแม่ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกับเด็ก เช่น
1.เด็กบางคนอาจต่อต้านการหย่านมในเวลากลางวัน หรือกลางคืน อาจจะให้ลูกดูดนมบ้าง หรือเบี่ยงเบนความสนใจ
2.อย่าหย่านมลูกน้อยเร็วเกินไป เพราะจะทำให้พัฒนาการถดถอย เช่น ติดอ่าง ตื่นกลางดึก เกาะติดแม่มากขึ้นในตอนกลางวัน ติดสิ่งของมากขึ้น เช่น ผ้าห่ม กลัวการแยกจากแม่มากขึ้น ชอบกัดสิ่งของ
3.มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น แสดงอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก
ถ้าลูกน้อยมีอาการข้างเคียงเหล่านี้ ควรเลื่อนการหย่านมออกไปก่อน จนกว่าอาการจะหายไป แล้วค่อยๆ หย่านมด้วยวิธีที่ทำให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง หย่านมลูกคนโตดีไหม?
เมื่อคุณแม่นักปั้มคิดจะแขวนเต้า ก็ต้องเจอเรื่องดราม่าจากลูก!
เลิกนมมื้อดึก และฝึกหลับยาว สำหรับลูกน้อยวัยเด็กเล็ก
Save
Save