AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

กินยาก แก้ด้วย 6 กลยุทธ์สร้างความคุ้นชินกับเมนูใหม่ๆ ให้เจ้าตัวน้อย

รับมือลูก กินยาก

กินยาก และ ช่างเลือก เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่คุณแม่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เป็นเพราะส่วนใหญ่เห็นว่าไม่น่าเป็นอะไร แม้อาจกังวลลำบากใจอยู่บ้างแต่ก็เข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมปกติที่สามารถพบได้ในเด็กทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในวัย 1-3 ปีซึ่งมีพัฒนาการในหลายๆ ด้านอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเด็กจะสนใจกับการเล่นหรือการทำกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าการรับประทานอาหาร

โดยปกติเด็กอายุ 1-3 ปีมีความต้องการพลังงานวันละ 1,000-1,200 กิโลแคลอรี ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตและกิจกรรมที่ทำ[1] การรับประทานอาหารและการทำกิจกรรมในแต่ละวันให้สมดุลจึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก พฤติกรรมกินยากช่างเลือกที่คุณแม่สามารถสังเกตดูลูก ได้แก่ รับประทานอาหารซ้ำๆ ไม่กล้าลองอาหารใหม่ อมข้าว กินช้า กินน้อย ชอบเขี่ย เลือกกิน กินแต่ของหวาน กินแต่ขนมกรุบกรอบ กินแต่ของจุบจิบ เป็นต้น

พ.ญ. เกศินี โอวาสิทธิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมกล่าวว่า “หัวใจสำคัญคือการให้ลูกได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเสียใหม่ คุณแม่สามารถเพิ่มสารอาหารที่มี ดีเอชเอ เอเอ แอล-คานิทีน ลูทีน ทอรีน โคลีน อิโนซิตอล นิวคลีโอไทด์สทั้ง 5 และเส้นใยอาหารธรรมชาติ ไปในมื้ออาหารแต่ละมื้อได้ นมถือเป็นแหล่งอาหารเสริมสำคัญสำหรับเด็กกินยากช่างเลือก โดยแนะนำให้เด็กที่มีอายุระหว่าง 1-3 ปีดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว”

6 กลยุทธ์สร้างความคุ้นชินกับเมนูใหม่ๆ ให้เจ้าตัวน้อย กินยาก

คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสังเกตชนิดอาหารที่ลูกชอบและไม่ชอบซึ่งอาจเกิดจากรสชาติสีกลิ่นหรือสัมผัสรวมทั้งบันทึกว่าอาหารประเภทไหนที่อยากให้ลูกลองทานหรือเลิกทาน

  1. เป็นนักชิมเพื่อลูก คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงสีหน้าเอร็ดอร่อยพร้อมแสดงความชื่นชอบเมนูนั้นๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากกินด้วย นั่นคือ ‘อยากให้ลูกกินอะไรพ่อแม่กินด้วย’
  2. ตอบโจทย์รสชาติอันคุ้นเคย การเปรียบเทียบรสชาติกับอาหารที่ลูกรู้จักและคุ้นเคยจะทำให้ลูกเข้าใจในรสชาติอาหารง่ายขึ้น เช่น อาหารจานนี้มีรสชาติหวานเหมือนช็อกโกแลต หรือพูดถึงประโยชน์ เช่น รับประทานแล้วร่างกายจะแข็งแรง รวมถึงให้ลูกมีส่วนร่วมในการปรุงอาหารก็จะช่วยให้ลูกกล้าลองเมนูใหม่ๆ มากขึ้น
  3. กดดันไปก็ไร้ประโยชน์ ไม่ควรใช้ความกดดันบีบบังคับให้ลูกกินเมนูอาหารที่ไม่เคยกิน เพราะหากประสบการณ์แรกแย่ลูกก็จะไม่อยากกินอีกต่อไปและเกิดพฤติกรรมต่อต้านการกินในมื้อถัดๆ ไปได้
  4. เปลี่ยนคำหลอกเป็นคำชม คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการหลอกให้กลัว เช่น ไม่กินเดี๋ยวตำรวจจับนะ แต่ควรให้รางวัล ปรบมือ ลูบหัว หรือกล่าวชมเมื่อลูกกล้ากินเมนูใหม่ๆ เช่น ‘เก่งจังกินผักเป็นด้วย’
  5. เลือกที่รักจัดที่ชอบ ควรจัดเมนูที่ลูกชอบผสมเข้ากับเมนูใหม่ซึ่งจะทำให้ลูกกล้าลองและยอมรับเมนูอาหารใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น อาจเพิ่มความน่าสนใจด้วยท็อปปิ้ง เช่น ชีส ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้ม หรือเพิ่มเติมผักต่างๆ ที่ลูกชอบ
  6. สวมวิญญาณเชฟกระทะเหล็ก ปรับหน้าตาอาหารที่ลูกไม่เคยกินให้เป็นแบบที่ลูกชอบ เช่น ลูกไม่ชอบความหยุ่นของเต้าหู้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทอดให้กรอบเพื่อเปลี่ยนเป็นเนื้อสัมผัสที่ลูกคุ้นเคย หรือให้ลูกร่วมเป็น ‘เชฟกระทะหลุด’ ไปด้วยกัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีช่วงเวลาดีๆ ที่จะได้สนุกสนานไปพร้อมกันกับลูกและจะยิ่งช่วยกระตุ้นให้เขาอยากลองชิมอาหารที่เขาทำอีกด้วย

 

ที่มาจาก : S-26 PE GOLD

[1]www.mayoclinic.org/