ทำความเข้าใจ เด็กไม่กินผัก และวิธีฝึกลูกกินผักที่ได้ผลดี ไม่ต้องบังคับ - Page 2 of 2 - Amarin Baby & Kids
เด็กไม่กินผัก

ทำความเข้าใจ เด็กไม่กินผัก และวิธีฝึกลูกกินผักที่ได้ผลดี ไม่ต้องบังคับ

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กไม่กินผัก
เด็กไม่กินผัก

เด็กไม่กินผัก อันตรายแค่ไหน?

เนื่องจากร่างกายของเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต มีความจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินและเกลือแร่ ซึ่งสารอาหารจำพวกนี้ หาได้มากในผักและผลไม้นานาชนิด หากเด็กกินผักในปริมาณที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ยอมกินผักเลย ย่อมนำไปสู่ปัญหาความบกพร่องของพัฒนาการและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้แก่

  1. ภาวะร่างกายขาดวิตามินเอ ซี อี วิตามินเอมีความจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ในร่างกาย วิตามินซีเป็นส่วนประกอบในการสร้างคอลลาเจนสำหรับยึดโครงสร้างเซลล์เข้าด้วยกัน ส่วนวิตามินอีก็เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดแดงให้แข็งแรง ดังนั้นการขาดวิตามินดังกล่าวย่อมหมายถึงการทำงานของเซลล์ เม็ดเลือด และเนื้อเยื่อในร่างกายที่ไม่ปกติได้
  2. ภาวะร่างกายขาดเกลือแร่ (Mineral Deficiency) เด็กต้องการสารอาหารประเภทเกลือแร่สำหรับกระบวนการเจริญเติบโต เช่น แคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง รวมทั้งธาตุเหล็กที่ช่วยในการลำเลียงออกซิเจนในเซลล์เม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงสมองและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเกลือแร่ทั้ง 2 ชนิดสามารถพบได้มากในผักใบเขียว
  3. ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร (Digestive Problems) และระบบขับถ่าย (Excretory Problems) ในผักมีเอนไซม์ซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการทำให้อาหารแตกตัวและการย่อยอาหาร นอกจากนี้ เส้นใยในผักยังส่งผลดีต่อลำไส้และระบบขับถ่ายอีกด้วย ดังนั้นเด็กที่ไม่รับประทานผักย่อมมีความเสี่ยงต่อปัญหาระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตรวมถึงสุขภาพในระยะยาว
ลูกไม่ยอมกินผัก
การให้ลูกมีส่วนร่วมในการทำอาหาร ทำให้เด็กมีความสนใจในผักชนิดนั้นมากขึ้น

วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินผัก

ก่อนเริ่มแก้ปัญหาที่ลูกไม่ยอมกินผัก ควรหาสาเหตุก่อนว่าที่ไม่ยอมกินเพราะเหตุใด เมื่อทราบสาเหตุแล้วควรแก้ที่สาเหตุนั้น ๆ และทางทีมงาน Amarin Baby & Kids มีเคล็ดลับทำให้ลูกชอบกินผักมาฝากค่ะ

  • ให้ลูกมีส่วนร่วมเลือกซื้อผักสด และช่วยกันคิดเมนูว่าจะปรุงผักที่ลูกได้เลือกเป็นเมนูใด รวมถึงการให้ลูกมีส่วนร่วมในการปรุงอาหาร เช่น การล้างผัก การฉีก (หรือหั่นสำหรับเด็กโต) ผัก จะทำให้ลูกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการปรุงอาหารจานนั้น และสนใจกับอาหารเมนูนั้นเป็นพิเศษ
  • การให้ลูกได้ปลูกผักสวนครัว จะทำให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นการเจริญเติบโตของผักชนิดนั้น ๆ และเมื่อผักโตพอที่จะนำมาทานได้แล้ว อาจให้ลูกเป็นคนเด็ดผักนั้นมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ปรุงอาหารเอง ก็จะทำให้ลูกภูมิใจว่าได้เป็นคนจัดหาอาหารมาให้คนในครอบครัว
  • การทานผัก ไม่จำเป็นต้องทานเป็นอาหารคาว เมนูผักสามารถทำเป็นขนมหวาน หรือเมนูทานเล่นได้หลากหลาย เช่น แครอทนึ่ง หัวหอมทอด เป็นต้น ดังนั้น แทนที่จะให้ขนมขบเคี้ยวเป็นอาหารว่าง ลองเปลี่ยนเป็นผักหรือผลไม้เป็นอาหารว่างให้ลูก ๆ ได้ทานกันดีกว่า
  • ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าสาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินผัก อาจเป็นเพราะลูกเกิดอาการกลัวสิ่งใหม่ ๆ ทำให้ไม่อยากลองอาหารประเภทอื่น ๆ เลย หากเป็นที่สาเหตุนี้ วิธีที่จะทำให้ลูกยอมทานผัก คือ ให้ทำเมนูผักชนิดนั้นในวันต่อ ๆ ไป โดยไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกทานผักจานนั้น อาจจะเพียงพูดให้ลูกลองทาน หากลูกไม่ยอมทานก็ไม่ควรไปดุด่าว่ากล่าว ทำเพียงแค่ทานผักจานนั้นให้ลูกดู เมื่อลูกเกิดความคุ้นเคยกับเมนูนี้ ลูกก็จะยอมลองทานเอง
  • แต่หากทำเมนูผักชนิดนี้ติดต่อกันมากกว่า 5 วันแล้ว ลูกยังไม่ยอมทานเมนูนั้นอีก ให้ลองเปลี่ยนเป็นเมนูผักชนิดอื่น ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น เพราะอาจเป็นโอกาสดีที่ลูกจะได้ค้นพบผักที่ตนเองชอบเป็นพิเศษด้วย
  • ใช้วิธีการ “ซ่อนผัก” ในที่นี้ไม่ได้ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่หลอกลูกนะคะว่าไม่ได้ทานผักอยู่ แต่การซ่อนผักในเมนูอื่น ๆ ที่ลูกชื่นชอบ เพื่อเป็นการซ่อนกลิ่นหรือลดรสชาติที่ลูกไม่ชอบให้น้อยลง วัตถุประสงค์สำคัญของวิธีนี้ คือให้ลูกได้รับรู้ว่ากำลังทานผักอยู่ แต่เป็นผักที่มีรสชาติที่อร่อยมากขึ้นนั่นเอง เช่น การผสมผักลงในน้ำปั่นผลไม้ที่ลูกชอบ การใส่แครอทต้มสุกและบดละเอียดลงในหมูทอด เป็นต้น
  • จัดแต่งอาหารที่มีผักให้ดูน่ารับประทาน โดยอาจจะหั่นผักให้ดูน่ารักน่าทาน และมีสีสันที่หลากหลาย (แม่พริมาใช้วิธีนี้ในการดึงดูดความสนใจลูกให้ทานผัก โดยการซื้อพิมพ์หั่นผักรูปดอกไม้ รูปหัวใจ และลายการ์ตูนต่าง ๆ ที่ลูกชื่นชอบมาใช้หั่นผัก)
  • เป็นตัวอย่างในการทานผักให้กับลูก หากทุกคนในครอบครัวแสดงให้เด็กได้ว่าผักทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพ เด็กย่อมสนใจและอยากลองชิมตามไปด้วย
  • หลีกเลี่ยงการบังคับ ดุด่า และแสดงความผิดหวังเมื่อลูกไม่ทานผัก เพราะนอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกเครียดแล้ว ยังอาจทำให้เขามีอาการต่อต้านหรือจำฝังใจ จนนำไปสู่ปัญหาการไม่ทานผักในระยะยาวได้

คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าปัญหา เด็กไม่กินผัก นั้นมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากกว่าตัวผักเอง โดยเฉพาะอิทธิพลจากตัวผู้ปกครอง ที่ไม่ชอบทานผักหรือไม่ได้มีพฤติกรรมทานผักและผลไม้เป็นประจำ ซึ่งพฤติกรรมนี้ได้ส่งต่อไปยังลูกน้อยจนทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหันมาทานผักผลไม้เป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อยด้วยนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกไม่ยอมกินข้าว แก้ไขได้อย่างไร?

ลูกกินยาก กินแต่อาหารซ้ำซาก เสี่ยงโรค Neophobia

เปิดสูตร “เต้าหู้ทรงเครื่อง” เมนูเต้าหู้ไข่ ลูกทานง่ายไม่มีเบื่อ (มีคลิป)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : taamkru, สสส.

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up