อย. ออกประกาศใหม่ ปรับเกณฑ์มาตรฐานในสาหร่ายแล้ว ชี้ไม่มี อันตรายจากสาหร่าย หากทานพอดี
หลังจากการเผยแพร่ผลการทดสอบ สาหร่ายทะเลอบกรอบ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ผู้บริโภคตระหนักถึง อันตรายจากสาหร่าย แล้ว นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมาแจ้งให้ผู้บริโภคทราบดังนี้
สาหร่ายหรืออาหารที่เรารับประทานอยู่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ จึงมีโอกาสที่จะพบการปนเปื้อนของโลหะหนักจากสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจและหลีกเลี่ยงได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ อย. จึงออกประกาศ สธ. ว่าด้วยเรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดปริมาณตะกั่วให้พบในอาหารได้ไม่เกิน 1 มก./1 กก. เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูงให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก อย. และออกประกาศ อย. กำหนดปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียมในผลิตภัณฑ์สาหร่ายพร้อมบริโภคได้ไม่เกิน 2 มก./1 กก. โดยค่าสูงสุดของโลหะหนักที่ยอมให้ปนเปื้อนในอาหารได้มาจากการประเมินความเสี่ยงของผู้บริโภค เป็นค่าที่สามารถลดความเสี่ยงของการได้รับโลหะหนักจากอาหารและทำได้จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (codex) นอกจากนี้ อย. ได้มีการเฝ้าระวังสาหร่ายแห้งและสาหร่ายพร้อมบริโภคเป็นประจำทุกปี ในปี 2561 ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบผ่านมาตรฐานทุกตัวอย่าง จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนกและมั่นใจนการทำงานของ อย.
ขณะนี้ อย. อยู่ระหว่างการทบทวนการกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินมาตรฐาน อย. ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตแล้ว หากพบปริมาณโลหะหนักเกินมาตรฐานกำหนดจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนักในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อห่วงใยอีกประเด็นหนึ่งคือ ปริมาณโซเดียมที่พบในผลิตภัณฑ์สาหร่าย กรณีนี้ อย. ได้ปรับปรุงประกาศ สธ. ว่าด้วยเรื่อง ฉลากโภชนาการ โดยปรับปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวันจากเดิม 2,400 มก. เป็น 2,000 มก. สอดคล้องตามปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 62 เป็นต้นไป ส่วนผู้ประกอบการรายเก่าที่ได้จัดทำฉลากโภชนาการไปก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้ฉลากเดิมได้ไม่เกินวันที่ 20 เม.ย. 64 ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือปรุงรส เป็นอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการและค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคอ่านฉลากจีดีเอ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อสังเกตปริมาณโซเดียมที่จะได้รับจากการรับประทานผลิตภัณฑ์สาหร่ายห่อนั้น และควรเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพ และสามารถติดตามข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพได้จากสื่อออนไลน์ของ อย. หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย ให้แจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือ Line @Fdathai
จะเห็นได้ว่า อันตรายจากสาหร่าย เสี่ยงต่อการได้รับปริมาณโลหะที่เป็นพิษ ในอัตราที่สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดได้ ดังนั้นแม่ ๆ จึงควรแนะนำเด็ก ๆ ให้รับประทานสาหร่ายอบกรอบทานเล่นเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยลง และไม่ควรรับประทานบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย โดยเฉพาะแคดเมียมจะมีค่ากึ่งชีวิตในร่างกายได้นานกว่า 10 ปี ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในภายหน้าได้ กินได้แต่กินน้อย ๆ และไม่บ่อย เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคตนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ห่วงลูกต้องอ่าน! นี่คือ “วิธีอ่านฉลากโภชนาการ” เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก!
ฉลาดซื้อพบ! สารตกค้างในไก่ เนื้อไก่สด ตับไก่ มากถึง 40%
ระวัง! 5 ของเล่นเด็กอันตราย เด็กทุกวัยควรหลีกเลี่ยง
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, https://www.thaipost.net/main/detail/27145
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่