ช่วงเวลาของการ หย่านม เป็นช่วงเวลาที่สร้างความหงุดหงิดใจ เสียใจ ให้กับลูกไม่น้อย เพราะสำหรับลูก นมแม่ นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารชั้นดีแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยปลอบขวัญเมื่อเจอกับสิ่งที่น่าตกใจ น่ากลัว น่ากังวลใจ ของลูกอีกด้วย ดังนั้น การจะพรากสิ่ง ๆ นี้ไปจากลูก ย่อมทำให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกไม่ดีแน่ ๆ
วิธี “หย่านม” แบบนุ่มนวล ไม่ทำร้ายจิตใจลูก
การ หย่านม คือ การที่คุณแม่เปลี่ยนวิธีการทานนมแม่จากการดูดนมแม่จากเต้า ไปดูดนมแม่หรือนมผงจากขวด หรือกินอาหารอย่างอื่นแทน ซึ่งกระบวนการ หย่านม นี้ อาจต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านพัฒนาการของลูก การให้ลูกเลิกทานนมจากเต้า ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ประการใดค่ะ เพราะเรายังสามารถปั๊มนมแม่ให้ลูกทานจากขวดได้เช่นกัน แต่หากคุณแม่มีความจำเป็นอื่น ๆ ที่จะต้องให้ลูกทานนมผงแทนนมแม่ ควรเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมผง หลังจากลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะนมแม่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก จึงควรให้ลูกได้ทานนมแม่ไปให้นานที่สุดเท่าที่คุณแม่สบายใจ แต่ไม่ควรน้อยกว่า 6 เดือน
สัญญาณที่บอกว่าลูกพร้อมหย่านมแล้ว
เด็กในวัยที่สามารถเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวไปมาตามที่ต้องการได้แล้ว มักจะห่วงการเล่น การเดิน การวิ่ง มากกว่าการดูดนมแม่ จึงทำให้แม่ ๆ ส่วนใหญ่ เลือกที่จะหย่านมในช่วงที่ลูกมีอายุ 1-3 ขวบ และเพราะเด็กในวัยนี้ การทานนม ไม่ได้ทานเป็นอาหารหลักแล้ว การทานนมจากเต้า จึงเป็นเพียงการทานเพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจมากกว่าการทานให้อิ่มท้อง อย่างไรก็ตาม นมแม่ยังเป็นอาหารเสริมที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกน้อย คุณแม่จึงสามารถปั๊มนมแม่ใส่ขวดให้ลูกทานต่อ แทนการนมจากเต้าได้เช่นกัน และนี่เป็นสัญญาณที่ลูกกำลังบอกคุณแม่ว่าหนูพร้อมหย่านมแล้วนะ
- ห่วงเล่นมากกว่าการดูดนมแม่
- ใช้เวลาในการดูดนมสั้นลง แต่กลับดูดถี่ขึ้น (แสดงว่าลูกดูดนมเพียงเพราะรู้สึกเหงาปาก)
- ในช่วงที่ดูดนมแม่อยู่ เมื่อมีอะไรที่น่าสนใจก็ทำให้เกิดอาการวอกแวกได้ง่าย
- เริ่มกัดหรือดึงหัวนมแม่เล่น
- ดูดนมเพราะเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หิว เช่น เมื่อรู้สึกกลัว กังวลใจ หรือ เสียใจ
หากลูกแสดงสัญญาณเหล่านี้ แสดงว่าลูกพร้อมที่จะหย่านมแล้วค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะไม่รู้สึกเสียใจเลยหากคุณแม่หย่านมนะคะ เพราะการดูดนมแม่นั้น เป็นช่วงเวลาที่ลูกจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยที่สุด การจะพรากสิ่ง ๆ นี้ออกจากลูก จึงต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวลที่สุด เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกขาดความอบอุ่น หรือความรักจากคุณแม่นั่นเองค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธี “หย่านม” แบบนุ่มนวล ไม่ทำร้ายจิตใจลูก
วิธี “หย่านม” แบบนุ่มนวล ไม่ทำร้ายจิตใจลูก
- ลดเวลาการให้นมจากเต้าให้สั้นลง โดยให้ลูกดูดนมจากเต้าก่อนในช่วงแรก หลังจากนั้นให้ลูกดูดนมแม่หรือนมผสมจากขวดต่อ จนกว่าจะอิ่ม วิธีนี้จะทำให้ลูกไม่รู้สึกต่อต้านว่านมขวดจะมาแทนที่นมจากเต้า เพียงแต่นมขวดจะทำให้อิ่มท้อง และจะทำให้ลูกคุ้นเคยกับขวดอีกด้วย
2. เมื่อลูกเริ่มคุ้นชินกับการดูดนมจากขวด และเริ่มคุ้นชินกับรสชาตินมผสมหรือนมแม่ที่แช่เก็บไว้แล้ว ให้ค่อย ๆ งดการทานจากเต้าเป็นมื้อ ๆ ไป โดยเริ่มงดการทานนมจากเต้าเพียงมื้อเดียวก่อน และค่อย ๆ งดเพิ่มเป็น 2 มื้อ 3 มื้อ จนครบทุกมื้อ แนะนำว่าไม่ควรงดมื้อแรกของวันก่อน
3. หากลูกยังไม่สามารถงดการดูดเต้า 2 มื้อติดกันได้ ให้ใช้วิธีให้นมจากขวดสลับไปก่อน โดยสลับดูดนมแม่พร้อมนมขวด 1 มื้อ และดูดนมขวดล้วน 1 มื้อ ทำอย่างนี้ติดต่อกัน 1 อาทิตย์ หากมีท่าทีที่ดีขึ้นค่อยเริ่มกลับมางดการดูดเต้า 2 มื้อติดอีกครั้ง
4. เพราะลูกอาจได้กลิ่นน้ำนมจากคุณแม่ ดังนั้น คุณแม่ควรปล่อยให้คุณพ่อ คุณยาย หรือพี่เลี้ยงเด็กทำหน้าที่หย่านมแทน คุณแม่ควรหลบไปอยู่อีกห้อง เพื่อให้ลูกเห็นว่าไม่สามารถดูดนมจากเต้าได้แน่นอนแล้ว ลูกก็จะยอมทานนมที่คุณพ่อ คุณยาย หรือผู้ที่ช่วยเลี้ยงดู ยึ่นให้
5. ในการหย่านมจากเต้ามื้อดึก หากลูกตื่นขึ้นมาควรกอดลูกไว้ แล้วอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าดูดนมแม่ตอนกลางคืนไม่ได้ หรือจะให้คุณพ่อหรือคนที่ลูกคุ้นเคยเป็นคนกล่อมลูกให้หลับต่อแทนก็ได้ค่ะ เพราะวิธีนี้จะทำให้ลูกยังรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยจากการกอดแทนการดูดนมแม่นั่นเองค่ะ
6. ในช่วงแรก ๆ หากลูกต่อต้าน ไม่ยอมทานนมจากขวด คุณแม่ไม่ควรดุด่าว่ากล่าวลูก หรือบังคับให้ลูกทานนมจากขวดให้ได้ เพราะจะทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้น พาลจะไม่ยอมทานนมจากขวดไปเลย คุณแม่จึงควรเว้นการหย่านมไปสักพักหนึ่งก่อนแล้วค่อยเริ่มใหม่
7. กอดลูกบ่อย ๆ ในช่วงที่หย่านมแม่นั้น ลูกจะรู้สึกขาดความรักและความอบอุ่น การแสดงให้ลูกเห็นว่าความรักความอบอุ่นนั้น สามารถทำได้โดยวิธีอื่น เช่น การกอด การใช้เวลาร่วมกันในเรื่องอื่น ๆ การเล่นด้วยกัน ก็จะได้รับความอบอุ่นจากแม่ได้เช่นกัน
8. ดึงดูดความสนใจด้วยวิธีอื่น เมื่อลูกร้องจะดูดนมแม่ เช่น พาลูกไปเดินเล่นนอกบ้าน เล่นของเล่นที่ลูกชอบ เป็นต้น
9. ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกซื้อนม และอุปกรณ์การทานนม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยจูงใจให้ลูกอยากดื่มนมจะอุปกรณ์อื่นนอกเหนือจากเต้า
10. เมื่อลูกยอมดูดนมจากขวดหรือแก้ว หรือสามารถตักอาหารกินเองได้ คุณแม่ควรเอ่ยคำชมและให้กำลังใจลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกดีที่ทำแบบนี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีดูแลเต้านมหลัง หย่านม
วิธีดูแลเต้านมหลังหย่านม
ในกรณีที่เลิกเต้าแล้วให้ลูกทานนมกล่องหรือนมผสมต่อแทน หลังหย่านมสำเร็จแล้ว การดูแลเต้านมเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากน้ำนมไม่ได้ถูกระบายออกเหมือนเดิม ก็อาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวด หรือในบางรายอาจทำให้คุณแม่มีอาการท่อน้ำนมอุดตันได้ ดังนั้น ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีวิธีดูแลเต้านมหลังหย่านมมาฝากค่ะ
- หากรู้สึกตึงคัดเต้านม ให้ปั้มเอาน้ำนมส่วนหน้าออกพอประมาณ เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บจนเกินไป
- หากปวดจนทนไม่ไหว สามารถทานยาเพื่อลดอาการปวดได้ (ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนทานยา)
- การประคบเย็น ประคบกะหล่ำปลี ช่วยให้รู้สึกสบายขึ้นได้
- ควรตรวจเต้านมเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าท่อน้ำนมไม่เกิดการอุดนั้นน
- หากรู้สึกเจ็บอย่างรุนแรง หรือปวดจนทนไม่ได้ ควรไปปรึกษาแพทย์
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการหย่านมแม่ นั่นคือ คุณแม่ต้องใจแข็ง แต่ไม่ดุดัน ควรอธิบายให้ลูกฟังอย่างใจเย็น แต่ไม่ทำตามที่ลูกต้องการ และคุณแม่ควรทำความเข้าใจกับคนรอบข้างเสียก่อน ว่าต้องการจะใช้วิธีใดในการหย่านมบ้าง โดยเฉพาะการหย่านมมื้อดึก เพื่อให้คนรอบข้างเข้าใจว่าหากลูกร้องไห้เสียใจบ้าง ก็ควรจะช่วยกันปลอบ เมื่อลูกเข้าใจได้แล้วว่า การดูดนม ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะได้รับความอบอุ่นและความรักจากแม่ ลูกก็จะเลิกทานนมจากเต้าได้เองค่ะ แม่พริมาขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่าน ประสบความสำเร็จในการหย่านมแม่นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ ได้ที่นี่
เก็บสต็อกนมแม่ ในตู้เย็นแบบไหน? คุณสารอาหารถึงไม่ถูกทำลาย!!
นมแม่ป้องกันโรค ช่วยลูกสุขภาพดีตั้งแต่แรกเกิด
เทคนิค ปั๊มนมเกลี้ยงเต้า เพื่อลูกได้สารอาหารครบ!
ขอบคุณข้อมูลจาก : hellokhunmor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่