แม่ถึงแม่! เผยอุทาหรณ์…ซื้อขนมให้ลูกทาน สุดท้าย ลูกแพ้แป้ง รุนแรงถึงขั้นช็อก!
พบกับเรื่องราวของคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ได้เปิดเผยเรื่องราวของลูกสาววัย 4 ขวบที่ เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง จนถึงขั้นช็อก เหตุเพราะส่วนผสมของขนมที่คุณแม่ซื้อให้ทานนั้น มีส่วนผสมของกลูเตน ที่ลูกสาวตัวเองแพ้
แม่กุ้ง ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 12.00 น. ตนได้ไปที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านสยามสแควร์ เพื่อซื้อขนมครกให้ลูกสาววัย 4 ขวบ ก่อนซื้อตนถามกับพนักงานขายว่า มีส่วนผสมของแป้งสาลีหรือไม่ เพราะลูกตนแพ้ ซึ่งพนักงานบอกว่าไม่มีแน่นอน ตนจึงซื้อกลับมา
เมื่อลูกกินไป 2 ชิ้น ก็มีอาการไอไม่หยุด หายใจไม่ออก และร้องไห้งอแง ตนก็รู้สึกแปลกใจ จึงรีบพาลูกไปส่งโรงพยาบาล ระหว่างทางลูกสาว มีอาการหายใจแผ่วเบา และคล้ายคนหมดสติ ตนพยามเรียกให้ฟื้น เพราะกลัวว่าลูกจะหลับไป
อ่านต่อ >> เรื่องราวของคุณแม่ท่านนี้ได้ที่นี่
คุณแม่ได้เปิดเผยอีกว่า หลังจากลูกมีอาการดังกล่าว ตนได้ส่งข้อความทางไลน์ ไปที่ร้านที่ตนซื้อขนมมา แล้วระบุว่า ขนมที่ซื้อมาลูกมีอาการแพ้ขั้นรุนแรง ซึ่งทางร้านได้ตอบกลับมาว่าขอโทษ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 6 ก.พ. เวลาประมาณ 12.40 น. ตนได้รับการติดต่อทางไลน์จากทางร้านขนมดังกล่าวว่า “ลูกค้าท่านอื่นมาซื้อไปทาน ทั้งๆ ที่ลูกหลานก็แพ้ ยังไม่มีอาการอะไรเลย ลูกของตนไปทานขนมอะไรมาก่อนหรือเปล่า” ตนจึงตอบไปว่า ในส่วนคนอื่นตนไม่ทราบ แต่ลูกสาวของตนแพ้แป้งสาลีขั้นรุนแรง ถ้ารักษาไม่ทันอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งนี่เป็นการต่อว่า ไม่ใช่การขอโทษ
ด้าน นายแพทย์ สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม ได้เปิดเผยว่า สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นการแพ้แป้งสาลี ซึ่งมีสารกลูเตนอยู่ด้วย ซึ่งสารดังกล่าวนั้นเป็นโปรตีนหลักอยู่ในแป้งสาลี แป้งไรย์เล่ห์ และมอลล์ เพราะคนที่แพ้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.อาการแพ้รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น ไอ อาเจียน ท้องเสีย หรือแม้แต่ผื่นขึ้นตามตัว
2. อาการแพ้ไม่รุนแรง มีอาการท้องอืด และมีผื่นคันนิดหน่อย
แต่สำหรับกรณีดังกล่าว คือการแพ้รุนแรง ส่วนบางคนที่ไม่ทราบว่า ตนเองมีอาการแพ้หรือไม่นั้น อาจจะไปตรวจสารเคมีในเลือด หรือทดสอบทางผิวหนัง ก็จะทราบได้เช่นเดียวกัน
อ่านต่อ >> คำแนะนำของคุณหมอเพิ่มเติม คลิก!
นายแพทย์สิทธา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีแพ้กลูเตน จะมีอาหารต้องห้ามค่อนข้างเยอะ เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ห์ บะหมี่ สปาเกตตี้ มะกะโรนี ไส้กรอก ไก่ย่าง หมูเด้ง ลูกชิ้น หมี่ซั่ว ปาท่องโก๋ ซาลาเปา ทอดมัน นักเก็ต เทมปุระ ไอศกรีม ลูกอม น้ำมันหอย ซอสหมูแดง และผลไม้ที่ผ่านการแปรรูป ก็จะรับประทานไม่ได้เลย
ส่วนอาหารที่รับประทานได้คือ ถั่ว เนย เผือก ฟักทอง วุ้นเส้น เส้นหมี่ น้ำมันพืชที่ไม่ผ่านการแปรรูป เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ สันในหมู เนื้อปลา หรืออาหารที่ใช้แป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวเหนียวแทน เท่านั้น
หากจะรับประทานนม ก็สามารถทานได้ โดนเลือกนมที่มีฉลากที่ระบุว่า “กลูเตนฟรี” คืออาหาร หรือนม ที่ไม่มีส่วนประกอบของโปรตีนกลูเตน
นายแพทย์สิทธา บอกอีกว่า อยากจะฝากเรื่องของการรับประทานอาหาร สำหรับเด็กที่มีอาการแพ้เช่นนี้ หากมีการติดตาม หรือรักษาเรื่อย ๆ ในอนาคตจะมีอาการแพ้ลดลง แต่ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ถ้ารู้ว่าแพ้ จะต้องรีบหลีกเลี่ยง หรือบางครั้งอาจจะมีการทดสอบตัวเอง หรือเป็นการทำให้ภูมิต้านทานดีขึ้น ก็อาจจะมีอาการแพ้ที่เบาบางลงได้
ชมคลิป!
เด็กส่วนใหญ่แพ้อาหารอะไรบ้าง? คลิก!
เครดิต: Amarin TV
สังเกตอย่างไร ว่าลูกแพ้อาหารชนิดไหน?
อาหารที่เด็กแพ้นั้น เกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดกรรมพันธุ์และสิ่งเเวดล้อม หากคุณพ่อคุณแม่มีอาการภูมิแพ้อยู่แล้ว ลูกที่เกิดมามีโอกาสในการเป็นภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นถึง 60% หรือในอีกกรณี หากพ่อแม่พี่น้องไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ ก็เป็นไปได้ที่เมื่อเด็กได้รับอาหารประเภทโปรตีน แล้วโปรตีนเกิดรั่วเข้าสู่กระแสเลือดไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือได้รับอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้ โดยอาหารส่วนใหญ่ที่เด็กแพ้กันนั้น ได้แก่
- นมวัวการแพ้โปรตีนนมวัวในเด็กเล็ก เป็นภาวะที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางพันธุกรรม และจากการให้อาหารเสริมทารกที่เร็วขึ้น จึงพบว่า เด็กวัยแรกเกิด- 4 เดือนที่ได้รับนมผสมที่มีโปรตีนนมวัวเป็นส่วนผสม มีโอกาสเกิดอาการแพ้โปรตีนนมวัว และมีข้อสังเกตที่พบว่า คุณแม่ที่ดื่มนมมากกว่าปกติระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างให้นมแม่ ลูกก็จะมีโอกาสเกิดการแพ้โปรตีนนมวัวได้ด้วยเช่นกัน
- ถั่ว ในประเทศทางตะวันตก พบว่า ถั่วลิสงเป็นสาเหตุ อันดับต้น ๆ ที่ทำให้เด็กเล็กเกิดอาการแพ้ โดยประเทศไทยหรือเชื้อชาติแถบเอเชียจะพบว่า มีเด็กน้อยราย ที่เกิดอาการแพ้ถั่วลิสงเมื่อเทียบกับทางตะวันตก ซึ่งนอกจากถั่วลิสงแล้ว ถั่วอีกชนิดหนึ่งที่เด็กแพ้ได้คือ ถั่วเหลือง เป็นต้น
- แป้งสาลี ปัญหาการแพ้อาหารประเภทแป้งเท่าที่พบ ส่วนใหญ่นั้น เป็นการแพ้แป้งสาลีในอาหารประเภทขนมปัง หรือสปาเกตตี มะกะโรนี ซึ่งมีสารโปรตีนของแป้งสาลีอยู่ค่อนข้างมาก ฉะนั้น เมื่อเด็กกินอาหารประเภทนี้ จึงมีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย
- อาหารทะเล โดยเฉพาะสัตว์ที่มีกาบหรือกระดอง เช่น กุ้ง ปู หรือปลาทะเล เป็นกลุ่มที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าปลาหรือสัตว์น้ำจืด ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเริ่มกินเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อปลาละก็ แนะนำว่าควรเริ่มจากปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก เป็นต้น
- ไข่ขาว ในไข่ขาวมีโปรตีนชนิดที่ชื่อว่า โอวัลบูมิน เป็นโปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ช่วงเริ่มอาหารเสริม ทำให้คุณหมอส่วนใหญ่แนะนำให้คุณแม่เริ่มให้ไข่แดงก่อน และค่อยเริ่มให้ลูกกินไข่ขาวได้เมื่ออายุ 6 เดือนไปแล้ว
คุณพ่อคุณแม่คือคนที่อยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะต้องคอยสังเกตลูกน้อยของตัวเองว่า แพ้อะไรบ้าง เพื่อการป้องกันในเบื้องต้น
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่