ฟิงเกอร์ฟู้ด คืออะไร ทำไมถึงส่งผลกับพัฒนาการของลูก พร้อม 10 วิธีเลือกเมนูให้ปลอดภัย!
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะรู้จักแล้วว่า ฟิงเกอร์ฟู้ดหรืออาหารประเภทหยิบจับที่ว่านี้คืออะไร แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่บางท่านอาจจะยังไม่ทราบ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ เพราะวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมข้อมูลมาฝากกันแล้วละค่ะ ว่าแล้วไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ฟิงเกอร์ฟู้ด คืออะไร?
อาหารไม่ใช่แต่จะดีต่อสุขภาพร่างกายของลูกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ ฟิงเกอร์ฟู้ด หรือ Fingger Food นั้นถือเป็นอาหารที่จะมาช่วยเสริมพัฒนาการด้านการเคี้ยว การกลืน ของลูกน้อย อีกทั้งยังช่วยเสริมพัฒนาการด้านการหยิบจับสิ่งของและช่วยกระตุ้นให้ฟันขึ้นสำหรับเด็กที่อยู่ในวัย 8 เดือนให้ดีและมีประสิทธิภาพขึ้นได้
สามารถแบ่งออกได้กี่แบบ? อ่านต่อได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
แบ่งออกเป็นกี่แบบ?
สำหรับฟิงเกอร์ฟู้ดนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบด้วยกันดังนี้ค่ะ
1.ผลิตภัณฑ์จาก ข้าว แป้ง ธัญพืช สำหรับอาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ แครกเกอร์กรอบชนิดไม่เคลือบน้ำตาล ขนมปังขาไก่ ขนมปังกรอบ ขนมปังชุบไข่หั่นเป็นแท่ง ข้าวสวยปั้นเป็นก้อน ธัญพืชชนิดอัดแท่งที่ไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาลน้อย ที่สำคัญจะต้องไม่มีส่วนผสมของถั่วด้วยนะคะ
2.ผลิตภัณฑ์จาก ผัก ผลไม้ จะต้องเป็นชนิดที่ต้มสุกแล้ว แต่ก่อนที่จะนำไปต้ม อย่าลืมหั่นให้เป็นชิ้น หรือเป็นแท่งกันด้วยนะคะ
– ผลไม้ที่นิยมนั้นได้แก่ มะละกอ มะม่วงสุก กล้วย แคนตาลูป อโวคาโดหั่น พรุนที่แช่น้ำให้นุ่มแล้ว และส้มตัดหรือแกะเป็นกลีบที่เอาเม็ดออกแล้ว เป็นต้น
– ผักที่เป็นที่นิยมได้แก่ แครอท มันเทศหั่นเป็นแท่ง ฟักทองนึ่งปอกเปลือก ถั่วฝักยาวต้ม (อย่าลืมที่จะเอาเมล็ดออกก่อนนะคะ) บร็อคโคลีนึ่ง ดอกกะหล่ำปลีนึ่ง อย่าลืมที่จะตัดแต่งให้มีก้านด้วยนะคะ ลูกจะได้ถือได้สะดวกขึ้นค่ะ
3.ผลิตภัณฑ์ จาก นม และแหล่งโปรตีนต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ไข่ขาวต้ม หั่นเป็นเสื้ยว ๆ ถ้าลูกไม่แพ้ไข่แดงก็แนะนำให้เสิร์ฟควบคู่กันไป เป็นต้น
เลือกเมนูอย่างไรให้ปลอดภัยกับชีวิตลูก อ่านต่อคลิก!
10 วิธีเลือกเมนูให้ปลอดภัย
1.เลือกเมนูที่ไม่มีเกลือโซเดียมสูง เพราะการที่ลูกทานอาหารเค็มมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการบวมน้ำ และไตทำงานหนักได้
2.ไม่มีสารกันบูด เพราะหากลูกทานเข้าไปจะส่งผลเสียกับการทำงานของตับ
3. ควรเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติและไม่ฉูดฉาดจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกได้รับสารตะกั่วหรือโลหะหนักในสีผสมอาหารนั่นเอง
4.ไม่ควรให้ทานอาหารที่มีรสหวาน เว้นเสียแต่ว่า เป็นความหวานที่ได้จากธรรมชาติ เพราะหากลูกทานหวานมากไป จะทำให้กินนมหรืออาหารหลักได้น้อยลงค่ะ
5.ไม่มีไขมันสูง อาหารทอดกรอบทำให้เด็กได้รับไขมันสูง อาจทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนหรือ น้ำหนักเกิน ถ้าอยากกินอาหารทอดควรทำเองดีกว่า เพราะเราสามารถควบคุมปริมาณน้ำมันได้
อ่านต่อ วิธีการเลือกที่เหลือ คลิก!
6.ควรเลือกเมนูให้เหมาะสมกับเด็กวัย 8 เดือน และควรเตรียมอาหารเอง แต่หากไม่สะดวกละก็ ให้เลือกซื้อแต่เมนูที่เป็นการทำมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ ที่สำคัญจะต้องมั่นใจว่าปลอดภัยด้วยนะคะ
7.อย่าให้ลูกทานผักและผลไม้ ที่แข็งเกินไป เพราะอาจทำให้ติดคอลูกได้
8.ควรเลือกอาหารที่มีความเหนียวปานกลาง และยืดหยุ่นเป็นอย่างดี จะได้ช่วยกระตุ้นการเคี้ยวของลูก เช่น มักกะโรนีต้มสุก เป็นต้น
9.ถ้าเป็นไปได้เมนูนั้นควรจะสามารถละลายในปากได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นเมนูประเภทขนมปัง แครกเกอร์ ควรเลือกที่ทำมาสำหรับเด็กและละลายในปากได้เลย ทั้งนี้เพื่อป้องกันอาหารติดคอลูกนั่นเอง
10.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะกลม เล็กและแข็ง เช่น ถั่ว ลูกเกด เพราะลูกอาจจะเผลอกลืนลงไปโดยที่ยังไม่ได้เคี้ยว อาจทำให้ติดคอ หรือหลอดลมได้ง่าย
ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ อย่างไรลองทำกันดูนะคะ คุณแม่สามารถทำเก็บเอาไว้และแช่ในช่องแช่แข็งเอาไว้สำหรับมื้ออื่นได้ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญอย่าลืมเขียนวันที่กำกับเอาไว้ด้วยก็ดีนะคะ จะได้รู้ว่าเราทำไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่นั่นเอง
เครดิต: 108 Health
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่