AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“ต้มจืดลูกเงาะ” เมนูดีช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร (สำหรับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป)

เมื่อถึงวัยที่คุณแม่ต้อง ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร (10-12 เดือนขึ้นไป) ซึ่งอาหารเสริมสำหรับเจ้าตัวเล็กวัยนี้ เริ่มจะเพิ่มความหยาบมากขึ้น คุณแม่ก็สามารถทำอาหารเสริมได้หลากหลาย จากที่นำส่วนผสมโถปั่นก็เปลี่ยนเป็นใช้การสับหยาบ ๆ เพื่อให้ลูกได้ใช้ฟันขบกัดเคี้ยวกลืน

เมื่อพูดถึงการฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร ดูๆ ไปแล้วก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่คุณแม่รู้หรือไม่ว่า…กว่าที่เจ้าตัวเล็กจะสามารถเคี้ยวอาหารต่างๆ ได้คล่อง ต้องอาศัยเวลาในการฝึกพอสมควร เพราะการบดเคี้ยวและกลืนอาหารต้องอาศัยการทำงานประสานกันของอวัยวะในช่องปากหลายส่วน

ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร ด้วย “ต้มจืดลูกเงาะ”
สูตรดีทำง่าย ได้ประโยชน์เต็มคำ!

สำหรับเด็กบางคนอาจเคยมีประสบการณ์กินอาหารที่แข็งครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จ คือไม่ทันได้เคี้ยวให้ละเอียดแล้วรีบกลืนลงคอ ทำให้ระคายคอแล้วอาเจียน หรืออาจเป็นเพราะพ่อแม่ป้อนอาหารคำใหญ่เกินไป ทำให้เคี้ยวยากและกลืนลำบาก หากพยายามกลืนก็อาจมีอาการจุกในคอ เนื่องจากอาหารติดอยู่ในหลอดอาหาร หากเป็นในผู้ใหญ่ จะใช้วิธีรีบดื่มน้ำเข้าไป อาการจึงดีขึ้น แต่เด็กจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและควรแก้ไขอย่างไร

หากอาหารติดคออยู่นานอาจทำให้ลูกเล็กกลัวการกินของแข็งไปเลย ร่วมกับอาการตื่นเต้นตกใจของผู้ป้อนที่เห็นเด็กมีอาการอาเจียนหรือติดคอ เด็กจะกลัวการกินของแข็งและฝังใจว่าถ้ากินอีกจะอาเจียนอีก กลายเป็นพฤติกรรมที่ติดเป็นนิสัยได้ค่ะ ดังนั้นครั้งต่อมาเมื่อมีการป้อนข้าวลักษณะเดียวกันอีก ทั้งที่ยังไม่เข้าปากลูกเลยเขาอาจจะเริ่มทำท่าโก่งคออาเจียนแล้ว

(ชมคลิป >> ช่วยลูกอาหารติดคอ สำลัก เมื่อไม่หมดสติ)

การเคี้ยว..สำคัญกับลูกแค่ไหน

หากพูดถึง การเคี้ยว ที่ดูเหมือนง่ายกับเรา แต่อาจยากสำหรับลูกในตอนแรกๆ นั้น สำคัญกับการเจริญเติบโตของลูกน้อยเป็นอย่างมากเลยนะคะ เพราะการเคี้ยวเป็นจุดเริ่มต้นของการย่อยอาหาร และการนำสารอาหารไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ถ้าลูกเคี้ยวไม่เป็น ก็เท่ากับว่า ลูกจะไม่มีการเจริญเติบโตตามวัยที่ดี ซึ่งเมื่อลุกอายุครบ 1 ขวบ นมที่เคยเป็นอาหารหลัก ก็จะกลายเป็นอาหารเสริมไปโดยปริยาย นั่นก็แปลว่าอาหารหลักที่เข้ามาแทนที่นมก็จะเป็นอาหาร ที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ด้วยค่ะ

ฝึกทักษะเคี้ยว-กลืน เริ่มได้ตั้งแต่ 6 เดือน

คุณแม่อาจฝึกทักษะด้านการเคี้ยวและกลืนได้ตั้งแต่เล็ก

นอกจากนี้การฝึกให้ลูกเคี้ยวจะต้องเริ่มด้วยอาหารที่เหมาะสม และต้องเริ่มในเวลาที่ถูกต้องด้วยถึงจะช่วยให้การฝึกได้ผลดี การจัดอาหารตามวัยให้เด็กๆลูกถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและนักโภชนาการย้ำเสมอว่า ต้องปรับให้เนื้ออาหารหยาบขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กใช้ฟันและฝึกการเคี้ยว จนกินอาหารแข็งได้ค่ะ

อ่านต่อ >> “เผยสูตรดี เมนูฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร “ต้มจืดลูกเงาะ”
ทำง่าย ได้ประโยชน์เต็มคำ
!” คลิกหน้า 2


บทความโดย : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เพราะการเคี้ยวอาหารเป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์และจะให้เหมาะและฝึกง่าย ควรฝึกก่อน 1 ขวบแต่หลังจากนั้นก็ยังฝึกได้ค่ะขอเพียงอดทนและให้เวลามากหน่อยค่ะ และเพื่อลดความกังวลของคุณแม่ลง ลองมาดูกันว่าจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ คุณแม่จะสามารถทำอะไรได้บ้างดีกว่าไหมค่ะ

คำแนะนำจากคุณหมอเพื่อให้คุณแม่ช่วยฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร

1. เข้าใจ การที่ลูกไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้นั้นไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เกิดจากลูกไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อนช่วงแรกของการฝึกหากลูกยังไม่ยอมเคี้ยวหรือบ้วนทิ้งนั่นก็เพราะอาจจะไม่คุ้นกับรสสัมผัสแบบใหม่หรือเขาไม่ชอบเคี้ยว ดังนั้นช่วงแรกๆ ควรจัดอาหารชนิดเดิมประมาณ 3-4 วันเพื่อให้ลูกคุ้นเคยก่อนแล้วค่อยๆเปลี่ยนชนิดอาหาร เช่น ปกติลูกกินแต่โจ๊ก คุณแม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นข้าวต้มกับเนื้อสัตว์เพียงชนิดเดียวก่อน แล้วเปลี่ยนชนิดของเนื้อสัตว์ จนลูกคุ้นกับข้าวต้มจึงค่อยเปลี่ยนเป็นข้าวสวยตามลำดับ

2. ให้มีส่วนร่วม ลูกในวัยนี้เริ่มทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้แล้ว และบอกความต้องการของตัวเองได้บ้าง เขาควรได้โอกาสมีส่วนร่วมในกิจวัตรประจำวันของเขา ลองคิดดู…พอถึงเวลากินข้าวก็จับเขานั่งบนเก้าอี้แล้วเอาแต่ป้อนให้เสร็จๆ ไป เรื่องกินสำหรับลูกช่างไม่น่าสนุกเอาเสียเลย…คุณว่าไหม….ลองเปลี่ยนเป็นชวนลูกไปเลือกจานชาม ถือช้อนเอง ตักกับข้าวบ้าง ต้องเลอะเทอะและเหนื่อยเก็บเช็ดกันบ้าง แต่แลกกับลูกรู้สึกดีกับการกิน และไม่ต้องเสียน้ำตากันเวลากินข้าว…ไม่คุ้มหรือ??

3. ให้กำลังใจ ในการฝึกไม่ว่าเรื่องใดๆ การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้ว่าในระยะแรก ลูกจะกินได้น้อย ทำหกบ้างสำลักบ้าง การทำท่าตกใจหรือดุลูก เขาอาจไม่ทำอีกหรือยิ่งร้องไห้หนักให้หัวเสียกันไปหมอ คำพูดให้กำลังใจใช้ได้เสมอ เช่น “ไม่เป็นไร ลองใหม่นะ” “คำนี้เล็กหน่อย เคี้ยวได้แน่” และเมื่อลูกเริ่มกินได้ก็อย่าขาดคำชมค่ะ “อะ…เคี้ยวแล้ว ทำได้นี่เรา เห็นแล้วชื่นใจ” บอกความรู้สึกว่าเขาทำให้คุณดีใจขนาดไหน เพื่อเพิ่มความมั่นใจและเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าตัวเล็ก

4. หักดิบ วิธีนี้อาจจะโหดไปหน่อย แต่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ใจแข็งพอ จัดเมนูที่เนื้ออาหารเป็นชิ้น เป็นคำ หยาบขึ้นทุกมื้อไปเลยค่ะ และถ้าลูกไม่กินหรือเอาแต่อมลูกเดียวก็ไม่ต้องป้อนต่อ เก็บอาหารเมื่อถึงเวลา โดยไม่มีอาหารว่าง ของกินเล่น รอเสิร์ฟมื้อต่อไป (คุณแม่รู้หรือไม่ว่าเจ้าตัวน้อยสามารถอดอาหารได้นานถึง 2 วันเชียวนะ) เชื่อว่าถ้าเขาหิวและไม่มีตัวเลือกอื่นจะไม่ยอมกิน ไม่ยอมเคี้ยวได้อย่างไร

5. ปรึกษาคุณหมอ ถ้าลูกของคุณผ่านการฝึกมาสักระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ยังไม่ยอมเคี้ยวสักที แถมมีอาการสำลักทุกครั้งที่คุณป้อนอาหารหยาบ หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน แบบนี้แนะนำให้พาลูกไปหาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ดีกว่าค่ะ

ผลเสียของการไม่ ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร

ทำไมลูกจึงเคี้ยวบ้างไม่เคี้ยวบ้าง?

เด็กส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าอาหารชนิดไหนกลืนได้เลย หรือชนิดไหนต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อน หากป้อนเข้าไปพร้อมๆ กันมีโอกาสที่เด็กจะกลืนเข้าไปเลยแล้วทำให้อาเจียนได้

ดังนั้นคุณแม่ควรช่วยบอกลูกอยู่ข้างๆ ยกตัวอย่างเช่น หากป้อนเต้าหู้นิ่มพร้อมกับหมูสับ ลูกอาจจะอาเจียน เพราะเขาเห็นว่าเป็นเต้าหู้ก็รีบกลืนไปเลย ไม่ทันระวังหมูที่ป้อนมาพร้อมกัน แต่ถ้าป้อนหมูสับอย่างเดียวแล้วเตือนเขาว่า “หมูนะลูก ต้องเคี้ยวก่อนนะคะ” เขาก็จะเคี้ยวแล้วกลืนได้โดยไม่มีปัญหา

ดังนั้นแล้วเพื่อช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร เชฟแม่หมีจึงมีสูตรดีเมนูเด็ดมาแนะนำ กับ “ต้มจืดลูกเงาะ” เป็นเมนูที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึกการเคี้ยวเนื้อสัตว์ และผัก ว่าแต่จะมีส่วนผสมและวิธีทำจะเป็นอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ

ชมคลิป >> “ขั้นตอนการทำ ต้มจืดลูกเงาะ เมนูดีช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร” คลิกหน้า 3


ขอบคุณข้อมูลจาก : baby.haijai.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 


วัตถุดิบและส่วนผสม ของ “ต้มจืดลูกเงาะ”
เมนูดีช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร

วัตถุดิบและส่วนผสม

ปริมาณตวง

เนื้อไก่สับ ¼             ถ้วย
วุ้นเส้น แช่น้ำตัดเป็นท่อนสั้น ๆ ¼             ถ้วย
กะหล่ำปลี หั่นชิ้นเล็ก ¼             ถ้วย
แครอท สับหยาบ 1              ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 1 ½         ช้อนชา
น้ำซุป 1 ½         ถ้วย

 

ขั้นตอนการทำ “ต้มจืดลูกเงาะ” เมนูดีช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร

(สำหรับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป)

1. ขั้นตอนแรก ให้คุณแม่นำเนื้อไก่ มาผสมกับ วุ้นเส้น แครอท และซีอิ๊วขาว ( ½ ช้อนชา ) เข้าด้วยกัน

2. จากนั้นเทน้ำซุปใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟให้เดือด

3. แล้วใส่เนื้อไก่ที่เตรียมไว้ในขั้นแรก ตามด้วยกะหล่ำปลี จากนั้น ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวที่เหลือ

4. สุดท้ายให้คุณแม่เคี่ยวจนส่วนผสมทั้งหมดสุกนุ่ม แล้วจึงตักใส่ถ้วย พร้อมป้อนให้ลูกน้อยกินขณะอุ่นๆ

 

ชมคลิป >> ขั้นตอนการทำ “ต้มจืดลูกเงาะ” เมนูดี
ช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร ได้ด้านล่างนี้เลยค่ะ 

โภชนาการดี๊….ดี  ของ “ต้มจืดลูกเงาะ” เมนูดีช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร

♥ เนื้อไก่                มีโปรตีนสูง

♣ กะหล่ำปลี             มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส บำรุงกระดูกและฟัน

♠ แครอท               มีวิตามินเอ สร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย

 

♥ ติดตามเมนูเด็ดอื่น ๆ โดยเชฟแม่หมีเพื่อลูกน้อยโดยเฉพาะ!
ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ