AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

10 สัญญาณอันตราย หลังป้อน “กล้วยบด” ให้ลูก

กล้วยบด

กล้วยบด อาหารสุดฮิตที่ปู่ ย่า ตา ยาย มักจะนำมาป้อนให้ทารกได้ทาน เพราะคิดว่านมแม่ไม่ทำให้หลานอิ่ม แต่ความหวังดีนี้ กลับกลายเป็นการยื่นยาพิษ ที่อาจทำให้หลานเสียชีวิตได้!!

10 สัญญาณอันตราย หลังป้อน “กล้วยบด” ให้ลูก

อาหารของทารกแรกเกิด – 6 เดือนที่ดีที่สุดคือนมแม่ เพราะระบบทางเดินอาหารของทารกแรกเกิดมีข้อจํากัดในการสร้างน้ำย่อย ทําให้การย่อยการดูดซึมอาหารไม่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับผู้ใหญ่ การป้อนอาหารอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนมแม่ เช่น ข้าว กล้วยบด จะทำให้อาหารที่ทานเข้าไปไม่สามารถย่อยและดูดซึมในกระเพาะอาหารและลําไส้ของทารกได้ และจะก่อให้เกิดปัญหาลําไส้อุดตันจากเศษอาหารที่ไม่ย่อยนี้ได้ ถ้ารุนแรงมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลําไส้ และอาจเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้เลยทีเดียว แต่เมื่อลูกได้ถูกป้อนกล้วยไปแล้ว (โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่รู้) เรามีวิธีสังเกตอาการที่มักจะเกิดกับลูกหลังป้อนกล้วยบด มาฝากกันค่ะ

10 สัญญาณอันตราย หลังป้อน “กล้วยบด” ให้ลูก

  1. ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด

เนื่องจากระบบย่อยในทารกยังทำงานได้ไม่ดีพอ ทำให้แน่นท้อง ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหารได้ ลูกจะร้องไห้งอแง ร้องกวนตลอดเวลา ถ้าลูกมีอาการแบบนี้คุณแม่อาจช่วยลูก โดยนำตัวลูกขึ้นมานอนทับให้ส่วนท้องอยู่ตรงหน้าขาและขยับตัวลูกเบา ๆ เพื่อไล่ลมออกจากท้อง หรือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกผายลมให้ได้มากที่สุด หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ

2. ท้องผูก

เด็กทารกแรกเกิดส่วนมากจะถ่ายวันละ ประมาณ 7 – 8 ครั้ง ยิ่งเด็กที่กินนมแม่จะถ่ายบ่อย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องท้องผูก แต่การป้อนกล้วย เป็นการรบกวนระบบย่อยอาหารของลูก ทำให้ลูกมีอาการท้องผูกหลังจากป้อนกล้วยได้ อาการท้องผูก สังเกตได้ง่ายมาก เวลาลูกถ่ายจะบิดตัวไปมา เด็กบางคนอุจจาระเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือ สีดำ หากหลังจากป้อนกล้วยแล้ว ลูกยังไม่ถ่าย หรือถ่ายลำบาก เป็นเวลาหลายวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ดูอาการและรักษาต่อไป

3. คลื่นไส้ อาเจียน

อาการนี้ เป็น 1 ในอาการที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาลำไส้อุดตัน (ลำไส้อุดตัน คือภาวะที่มีสิ่งอุดตันหรือมีการรบกวนการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหารหรือของเหลวต่าง ๆ เคลื่อนผ่านไม่ได้ตามปกติ) หรือแพ้อาหารได้ ดังนั้น หากลูกอาเจียน ร้องไห้งอแงหลังจากป้อนกล้วย คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะลูกอาจต้องได้รับการผ่าตัดลำไส้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันการณ์ อาจเสี่ยงต่อภาวะลำไส้แตกทะลักจนเสียชีวิตได้

4. สำลัก ไออย่างรุนแรง

อีก 1 สัญญาณที่สุดจะอันตรายต่อชีวิตของทารก เพราะทารกยังไม่พร้อมสำหรับการกลืนอาหาร การทานอาหารชนิดอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนมแม่ เช่ย กล้วยซึ่งมีลักษณะข้น เหนียว และแข็งกว่าของเหลว อาจทำให้อาหารเหล่านี้ เข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจของลูกน้อยได้ หากลูกมีอาการ  สำลัก  ไออย่างรุนแรง หายใจลำบาก ริมฝีปากเขียวคล้ำ ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน จนอาจทำให้สมองขาดเลือดและเสียชีวิตได้ในที่สุด หรือในเด็กบางคนก็อาจกลายเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายนิทราได้

อาการป่วย

5. ท้องเสีย

เป็นอาการที่เกิดจากการแพ้อาหาร เพราะร่ายกายของทารก ยังไม่สามารถรับอาหารชนิดอื่น ๆ ได้ การทานกล้วย จึงทำให้ทารกเสี่ยงต่อเชื้อโรคที่เกิดจากการประกอบอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และยังเสี่ยงต่อการทำให้ลูกแพ้กล้วยได้

6. คันบริเวณริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นลมพิษ ตาบวม คันที่ดวงตา ตาแดง หายใจถี่รัว

เป็นอาการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน ถือเป็นอาการที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อก อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง จึงอาจมีโปรตีนก่อการแพ้หรือสารบางชนิดหลุดเข้าไปในกระแสเลือดจนทำให้ลูกเกิดการแพ้อาหารได้ และเนื่องจากโปรตีนชนิดที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ซึ่งพบในกล้วย ยังเป็นโปรตีนชนิดเดียวกันกับที่พบในถั่ว หรือผลไม้อื่น ๆ ดังนั้น อาจทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้อาหารได้อีกหลายชนิดในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้น หากลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยให้อาการแพ้หายไปเอง เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถรู้ได้ว่าลูกแพ้กล้วยรุนแรงแค่ไหน และอนาคตลูกจะแพ้กล้วยอีกหรือไม่

7. จามและน้ำมูกไหล

อีกหนึ่งในอาการแพ้กล้วย ลูกน้อยจะมีน้ำมูก คัดจมูก หายใจได้ลำบาก จาม ไอ เนื่องจากน้ำมูก ไปขัดขวางทางเดินหายใจ หากลูกน้อยไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย คุณแม่สามารถดูอาการต่อไปได้อีก แต่หากอาการจามและน้ำมูกไหลไม่ลดลง ก็ควรไปพบแพทย์ค่ะ

8. ถ่ายเป็นมูกเลือด

การขับถ่ายที่ปกติหลังจากทานกล้วย ลักษณะของอุจจาระจะข้นกว่าทานนมแม่ มีกลิ่นที่แรงขึ้นเล็กน้อย อาจมีเส้นสีดำ ๆ ปะปนอยู่กับอุจจาระ แต่หากลูกถ่ายเป็นมูกเลือด หรือมีเลือดปะปนมาในอุจจาระ อาจแปลได้ว่าลูกอาจจะมีปัญหาในลำไส้ หรือแพ้อาหารได้ ดังนั้น ให้คุณแม่ถ่ายรูปอุจจาระไว้ แล้วพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ

9. ป่วยง่าย ป่วยบ่อย

เพราะนมแม่มีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดี นมแม่ช่วยให้ลูกสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการเจ็บป่วย ด้วยการสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาต่อต้านอาการเจ็บป่วยทั่วไปอย่างไข้หวัด การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไปจนถึงการป้องกันการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (RSV) โรคงูสวัด ภูมิต้านทานเหล่านี้มาจากแม่ที่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนและมีภูมิต้านทานโรคแล้ว ด้วยการส่งผ่านไปยังลูกน้อยทางน้ำนมแม่ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถช่วยป้องกันโรคที่จะเกิดกับลูกได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเหล่านี้กับลูกได้ นอกจากนี้นมแม่ยังสามารถช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้ รวมไปถึงโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไหลตายในเด็กทารก (SIDS) เป็นต้น ดังนั้น การป้อนกล้วยก่อนวัยที่เหมาะสม เป็นการลดโอกาสในการได้รับภูมิคุ้มกันที่ดีจากนมแม่ เมื่อลูกมีภูมิต้านทานลดลง ลูกก็อาจมีโอกาสป่วยบ่อย ป่วยง่าย ได้นั่นเอง ซึ่งอาการป่วยง่าย ป่วยบ่อย นั้น อาจไม่ได้เกิดทันทีหลังจากทานกล้วย แต่หากยังป้อนกล้วยลูกไปเรื่อย ๆ ลูกอาจเสี่ยงต่ออาการนี้ได้

10. อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร ผิวหนังลอกเป็นขุย ตาแห้ง น้ำหนักลดลง

เป็นที่ทราบกันดีว่าทารกควรจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของทารก (อ่านต่อ สารอาหาร 11 ชนิด ที่จำเป็นสำหรับ “ทารกแรกเกิด – 2 ปี”) สารอาหารในนมแม่มีมากกว่า 200 ชนิด ในขณะที่สารอาหารในกล้วยจะมีอยู่ประมาณ 20 กว่าชนิด การที่ผู้ปกครองเลือกที่จะป้อนกล้วยเร็ว ๆ ก็เป็นการลดโอกาสให้ลูกได้รับสารอาหารที่ดีมากกว่า 200 ชนิดที่อยู่ในนมแม่ แทนที่ลูกจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ลูกกลับต้องขาดสารอาหารแทน เช่นกันว่าอาการที่เกิดจากการขาดสารอาหารนั้น อาจไม่ได้แสดงออกมาในทันที แต่หากผู้ปกครองยังดื้อดึงป้อนกล้วยให้ทารกไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ลูกขาดสารอาหารได้ค่ะ

ป้อนกล้วย

นมแม่ จะเพียงพอต่อความต้องการของทารกหรือไม่?

ในนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกายและการพัฒนาการทางด้านสมองของลูกน้อย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มให้แก่ร่างกาย ปรับสมดุลของระบบย่อย ระบบขับถ่ายของทารก และลดอาการติดเชื้อในทารกแรกเกิดได้ นอกจากสารอาหารที่มากมายแล้ว ในนมแม่ยังมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก จึงไม่จำเป็นต้องให้ทารกดื่ม หรือจิบน้ำหลังทานนมแม่

ถ้าหลานไม่อิ่ม ร้องกวนจะทานนม จะทำอย่างไร?

หากนมแม่มีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อทารกจริง ๆ (อ่านต่อ วิธีอัพ “น้ำนม” ให้มากพอ โดย ป้าหมอสุธีรา) ให้คุณแม่ลองทำกระตุ้นน้ำนมให้เพียงพอต่อความต้องการของลูก และหากมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้นมแม่มีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อทารกจริง ๆ ก็ควรเสริมด้วยนมผง การเสริมอาหารเสริม กล้วยบด หรืออาหารใด ๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การป้อน กล้วยบด ให้ทารกแรกเกิด – 6 เดือน อาจทำให้ลูกมีอาการป่วยดังต่อไปนี้

 

จะเห็นได้ว่าการป้อนกล้วย ป้อนอาหารเสริมมก่อนวัยที่เหมาะสม นอกจากไม่ทำให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดโทษและอันตรายมากกว่าที่คิด และอันตรายเหล่านี้ เดิมพันด้วยชีวิตของลูกน้อยของเราเอง คำกล่าวที่บอกว่า “เด็กหลายคนก็โตมาได้ด้วยกล้วยบด ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย” ขอบอกว่า “เด็กเหล่านั้น โชคดีที่ผ่านอันตรายที่ผู้ปกครองหยิบยื่นให้มาได้” จะถูกต้องกว่าค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

สุดเศร้า! ยายดื้อป้อนกล้วยทารก เกิดมาแค่ 10 วันก็ต้องจบชีวิต

วิธีป้อนกล้วยทารก ที่ถูกต้อง! ไม่ทำร้ายลำไส้ลูก

7 สัญญาณ ลูกพร้อมกิน “อาหารเสริมเด็ก-ทารก”

อยาก ให้นมแม่ สำเร็จ แม่ต้องสตรอง และห้ามท้อ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.อรพร ดํารงวงศ์ศิริ สาขาวิชาโภชนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมอนามัย, hellokhunmor.com, โรงพยาบาลสุขสวัสดิ์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids