คุณพ่อ คุณแม่หลายคน เริ่มให้ลูกน้อยรับประทานอาหารตั้งแต่ 6 เดือน โดยให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมเล็กน้อย ถือเป็นการเตรียมความพร้อม อาหารต้องบดละเอียดเนียนเป็นเนื้อเดียว ให้เริ่มทีละน้อยก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ แม่น้องเล็กมีวิธี เลือกอาหารให้ลูก มาฝากค่ะ
เลือกอาหารให้ลูก
6 เดือน
ให้นมแม่และอาหารเสริม 1 มื้อ โดยยังคงเป็นอาหารบดละเอียด เช่น ข้าว 3 ช้อนโต๊ะ ร่วมกับไข่แดงหรือเนื้อสัตว์ปริมาณเล็กน้อย หรือไม่ก็ผักและผลไม้บดละเอียด
ตัวอย่างปริมาณอาหารใน 1 วัน สำหรับกิน 1 มื้อ
- นมแม่ + ข้าว 3 ช้อน
- ผสมกับไข่แดง 1/2 ฟอง หรือปลา 2 ช้อน หรือตับบด 1 ช้อน
- ผสมกับผักสุก 1/2 ช้อน หรือฟักทอง 1/2 ช้อน หรือมะละกอสุก 2 ชิ้น หรือส้ม 2 กลีบ
Baby Tips
- ควรเลือกช่วงเวลาที่เด็กอารมณ์ดี ไม่หิว หรืออิ่มจัด เช่น เริ่มจากการให้นมแม่ก่อนสักพัก แล้วจึงตามด้วยอาหารเสริม ถ้าเด็กปฏิเสธก็ให้งดก่อนแล้วเริ่มใหม่วันถัดไป ไม่ควรบังคับ
- เริ่มทีละอย่าง เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ อาจเริ่มจากข้าวเปล่าบด หรือข้าวบดไข่แดงต้มก่อน จากนั้นคอยสังเกตว่าเด็กมีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น หอบหืด อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด มีผื่นแดง ปากบวม นั่นแสดงว่ามีอาการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ อาจเลือกให้อาหารในช่วงเช้าเพื่อให้สังเกตเห็นอาการแพ้ได้ง่าย
- จัดให้เด็กอยู่ในท่านั่งที่ปลอดภัย เช่น เก้าอี้สำหรับทารก หรือมีคนอุ้มนั่งประคอง เลือกใช้ช้อนขนาดเล็ก และไม่มีคมในการป้อน
- เริ่มให้ทีละน้อย ครั้งแรกอาจแค่ 1 ช้อนชาเท่านั้น แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณในวันถัด ๆ ไป หากไม่พบปัญหาใด ๆ ที่บ่งบอกถึงอาการแพ้อาหารในช่วง 1 – 2 สัปดาห์นั้นก็ค่อยเปลี่ยนชนิดของอาหารหรือเพิ่มชนิดขึ้นไปทีละ 1 อย่าง
- ผู้ป้อนควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ป้อนด้วยความนุ่มนวล สบตา อาจชวนพูดคุยบ้างในขณะป้อน เล่าถึงอาหารที่จัดให้เด็กกินวันนั้น และควรรับรู้ถึงความรู้สึกหิวหรืออิ่มของเด็กได้ไว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “7-9 เดือน กินอะไร อย่างไร” คลิกหน้า 2
7 เดือน
ใกล้เคียงกับวัย 6 เดือน แต่ปริมาณมากกว่าเล็กน้อย คือ ข้าวสวย 4 ช้อน กับเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ แต่ควรหยาบกว่าเมื่อตอน 6 เดือนเล็กน้อย อาจทดลองเริ่มให้ไข่ขาวได้ ถ้ามีอาการแพ้ให้หยุดไปก่อน แล้วเริ่มให้ไข่ขาวใหม่อีกครั้งหลังอายุ 1 ขวบ
ตัวอย่างปริมาณอาหารใน 1 วัน สำหรับกิน 1 มื้อ
- นมแม่ + ข้าว 4 ช้อน
- ผสมกับไข่ 1 ฟอง หรือปลา 2 ช้อน หรือหมู 2 ช้อน
- ผสมกับผักสุก 1 ½ ช้อน หรือฟักทอง 1 ½ ช้อน หรือมะละกอสุก 2 ชิ้น หรือมะม่วงสุก 2 ชิ้น
8 – 9 เดือน
ให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริม 2 มื้อ เพิ่มปริมาณขึ้นอีกคือ ข้าวสวย 5 ช้อน กับเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ และบดหยาบ ๆ
ตัวอย่างปริมาณอาหารใน 1 วัน สำหรับกิน 2 มื้อ
- นมแม่ + ข้าว 5 ช้อน
- ผสมกับไข่ 1 ฟอง และปลา 2 ช้อน หรือหมู 2 ช้อน หรือตับบด 1 ช้อน
- ผสมกับผักสุก 2 ช้อน หรือฟักทอง 2 ช้อน หรือมะม่วงสุก 4 ชิ้น หรือส้ม 1 ผล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “10-12 เดือน กินอะไร อย่างไร” คลิกหน้า 3
10 – 12 เดือน
ให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริม 3 มื้อ ลักษณะคล้ายวัย 8 – 9 เดือน แต่อาหารบางชนิดอาจไม่ต้องบดแล้ว เช่น อาจให้ข้าวหุงสุกนิ่ม ๆ
ตัวอย่างปริมาณอาหารใน 1 วัน สำหรับกิน 3 มื้อ
- นมแม่ + ข้าว 5 ช้อน
- ผสมกับไข่ 1 ฟอง และปลา 2 ช้อน หรือหมู 2 ช้อน
- ผสมกับผักสุก 2 ช้อน หรือฟักทอง 2 ช้อน หรือมะละกอสุก 3 ชิ้น หรือกล้วย 1 ผล
BABY Tips
- เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการทางด้านการใช้นิ้วมือ สามารถหยิบของชิ้นเล็กได้ เพื่อเป็นการสร้างพฤติกรรมการช่วยเหลือตนเองไปในตัว ควรให้เด็กลองหยิบอาหารเป็นชิ้น เช่น ฟักทองนึ่ง มันต้มหั่นเป็นชิ้นยาว หรือผลไม้นิ่ม ๆ เช่น มะละกอสุก มะม่วงสุกหั่นเต๋าเล็ก ๆ เข้าปากเอง แต่หลีกเลี่ยงอาหารแข็ง และลื่น เช่น เมล็ดถั่วต่าง ๆ เมล็ดข้าวโพด เพราะอาจทำให้สำลักได้
- ฝึกให้เด็กดื่มน้ำและนมจากแก้ว ในช่วงวัยนี้เช่นกัน อาจใช้ถ้วยหัดดื่ม หรือผู้ใหญ่ต้องช่วยจับประคอง อย่าใส่นมหรือน้ำปริมาณมาก ให้ใส่แค่ก้น ๆ แก้วก็พอ
- คอยกระตุ้นเด็กเป็นครั้งคราว แต่อย่าป้อนนานเกินไป ระยะเวลาที่เหมาะสมในแต่ละมื้อควรใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที ถ้านานเกินไปให้เก็บทันที
“ลูกน้อยจะเป็นเด็กกินดีมีสุขได้สำคัญที่การเริ่มหม่ำแรกนี่ละ”
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “สิ่งที่ต้องคำนึงเรื่องการกิน” คลิกหน้า 4
สิ่งที่ต้องคำนึงถึง
- ไม่ควรให้อาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ก่อการแพ้รุนแรง เช่น อาหารทะเล ประเภทมีเปลือก ได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก หอย ในเด็กก่อนวัย 1 ขวบ รวมถึงถั่วลิสงด้วย
- ความสะอาดของอาหารและตัวผู้เตรียมเองนับเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะหากอาหารที่ทำไม่สะอาด อาจทำให้เกิดภาวะท้องเสีย หรือโรคติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการปรุงรสในอาหารสำหรับเด็กทารก ไม่ควรเติมเครื่องปรุงใด ๆ เลย ปล่อยให้เด็กคุ้นกับรสตามธรรมชาติของอาหาร อาหารที่ปรุงแต่งรสเค็มก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ส่วนรสหวานเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะฟันผุ อ้วน ไขมันในเลือดสูง และจะเป็นพฤติกรรมติดเค็มและหวานไปจนโต ส่วนผลไม้สามารถให้ผลไม้สดบดหรือหั่นชิ้นเล็ก ๆ ได้ (ตามวัย) เช่น กล้วย มะละกอสุก มะม่วงสุก
- กรณีมีความจำเป็นต้องให้อาหารเสริมสำเร็จรูป ควรอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดว่ามีส่วนผสมของอะไรบ้าง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมหลายอย่าง หรือไม่ทราบส่วนผสมแน่ชัด เช่น เค้ก คุกกี้ เป็นต้น
3 สิ่งพึงระวังเพาะนิสัยการกินผิด ๆ
- ไม่ให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และกาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น
- ควรให้เด็กกินอาหารรสธรรมชาติ จะได้ไม่ติดรสเค็มหรือหวานที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
- ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ กินขนม และควรเลือกขนมที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ควรกินขนมกรุบกรอบ ขนมที่มีรสเค็มหรือหวาน ขนมที่เหนียวติดฟัน
อ่านเนื้อหาที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับคู่มือดูแลลูกรักขวบปีแรก
ช่องทางการสั่งซื้อ
- ร้านนายอินทร์ทุกสาขา
- เว็บไซต์: naiin.com
- Inbox Facebook: Amarin Baby & Kids
- ID Line: ร้านนายอินทร์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save
Save
Save
Save