เรารู้กันอยู่ว่าการกินมังสวิรัติเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กล่ะ?
มีผู้ตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ ว่า ให้ลูกกินอาหารมังสวิรัติจะดีไหมตั้งแต่ยังเป็นทารก ตัวอย่างเช่น กระทู้ ลูก 11 เดือน ให้กินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดเลย ดีไหม? ที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ หรือกระทู้เก่าๆ ที่มีในเว็บไซต์พันทิปอย่าง มีท่านใดที่เลี้ยงลูกด้วยอาหารมังสวิรัติ ไม่ให้ทานเนื้อสัตว์บ้างคะ และ มีใครเลี้ยงลูกน้อยเป็นมังสวิรัติบ้างครับ ขอแชร์ไอเดีย วันนี้ Amarin Baby & Kids จึงรวบรวมข้อมูลมาให้คุณพ่อคุณแม่พิจารณากันค่ะว่าจะเลือกให้ลูกกินอาหารทั่วไป หรือกินมังสวิรัติดี หรือถ้าลูกไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ จะทำอย่างไรให้ลูกได้สารอาหารครบ ก็ลองอ่านกันได้ค่ะ
เพื่อให้ลูกทารกที่เริ่มกินอาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป ได้กินอย่างมีความสุขและได้รับสารอาหารเพียงพอ หากจะให้ลูกกินอาหารมังสวิรัติให้ยึดอาหาร 4 กลุ่มหลักนี้ค่ะ
- ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง พาสต้า ซึ่งเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต
- ผักและผลไม้
- นมและผลิตภัณฑ์นม
- ไข่สุก ถั่วต่างๆ (คุณหมอสุธีราเคยแนะนำให้ลูกเริ่มไข่ขาว 1 ขวบขึ้นไปเพื่อเลี่ยงการแพ้)
อาหารมังสวิรัติบางอย่างมีใยอาหารมากเกินไปและมีพลังงานไม่พอสำหรับทารก ดังนั้นควรเลือกอาหารที่พลังงานสูงด้วย เช่น อโวคาโด จะให้ลูกกินข้าวขาว ขนมปังธรรมดา ร่วมกับแบบไม่ขัดสีด้วยก็ยิ่งดีค่ะ เพราะอาหารที่มีใยอาหารสูงอาจรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุสำคัญ เช่น แคลเซียม เหล็ก และสังกะสีหรือซิงค์
อ่านต่อ “ทารกกินมังสวิรัติ ดีไหม?” คลิกหน้า 2
เบบี๋น้อยต้องการนม ส่วนน้ำนมข้าว หรือนมถั่วเหลืองนั้นให้พลังงาน โปรตีน และสารอาหารที่จำเป็นไม่เท่ากับนมแม่และนมผสม หากต้องการคำแนะนำเรื่องนมว่าชนิดไหนเหมาะกับลูก ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือนักโภชนาการค่ะ อาจได้รับคำแนะนำให้ลูกกินนมแม่หรือให้นมผสมนานกว่าปกติ นอกจากนี้ การใช้นมผสมที่ทำจากถั่วเหลืองควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
หากตัดสินใจให้ลูกกินอาหารมังสวิรัติตั้งแต่วัย 6 เดือนขึ้นไป ควรศึกษาข้อมูล ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และเลือกอาหารให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่มักพบมากหรือพบแต่ในเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก ซึ่งทารกต้องการในปริมาณน้อย แต่ถ้าไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้
ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ทารกกินอาหารแบบ Vegan หรือมังสวิรัติที่ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น นม ผลิตภัณฑ์นม และไข่ เพราะอาจทำให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอได้
แต่หากวางแผนอย่างรอบคอบและมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็สามารถทำได้ค่ะ ต้องเลือกอาหารที่มีสารอาหารสูงที่ประกอบด้วยโปรตีน แคลเซียม เหล็ก วิตามินบี 12 และวิตามินดี และอาจต้องให้อาหารเสริมกับลูกทารกด้วย โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่ไม่พบในผัก แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์และนักโภชนาการเพื่อหาทางร่วมกันให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนค่ะ
อ่านต่อ “4 สารอาหารสำคัญสำหรับทารกมังสวิรัติ” คลิกหน้า 3
4 สารอาหารสำคัญสำหรับทารกมังสวิรัติ
คุณพ่อคุณแม่ควรมั่นใจว่าอาหารมังสวิรัติสำหรับลูกทารกน้อยมีโปรตีน เหล็ก วิตามินบี 12 และซีลีเนียม หากจะเริ่มอาหารใหม่ ให้เริ่มจากปริมาณน้อยและควรสังเกตว่าลูกมีอาการผิดปกติจากเดิมหรือไม่เพราะลูกอาจแพ้ได้ อ่านคำแนะนำวิธีการเริ่มอาหารเสริมได้ที่ อาหารเสริมทารก เริ่มอย่างไร ให้ลูกกินเก่งแถมกินง่าย!
1. โปรตีน
ควรให้ลูกทารกได้รับโปรตีน 2-3 มื้อต่อวัน แหล่งโปรตีนได้แก่
- ถั่วต่างๆ เมล็ดพืช
- ไข่สุก (คุณหมอสุธีราเคยแนะนำให้ลูกเริ่มไข่ขาว 1 ขวบขึ้นไปเพื่อเลี่ยงการแพ้)
- ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้
- โปรตีนจากธัญพืช เช่น ขนมปัง ข้าว และข้าวโพด
- นมและผลิตภัณฑ์นม
โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโน ทั้งแบบจำเป็นและไม่จำเป็น เราจะได้รับกรดอะมิโนจำเป็นจากอาหารเท่านั้น เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้
ทารกน้อยต้องการทั้งกรดอะมิโนจำเป็นและกรดอะมิโนไม่จำเป็นเพื่อช่วยในการเจริญเติบโต ควรให้ลูกกินอาหารที่มีกรดอะมิโนจำเป็นแต่ละตัวในปริมาณที่เพียงพอพร้อมๆ กัน ทารกจะได้รับกรดอะมิโนทั้งสองชนิดพร้อมกันได้จาก ถั่วเหลือง เมล็ดควินัว (Quinoa) เมล็ดกัญชง (Hemp seed) และไข่ แต่วิธีที่ง่ายกว่าคือคละอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนเข้าด้วยกันในหนึ่งมื้อ เช่น ข้าวบดใส่เต้าหู้หั่นจิ๋ว ข้าวต้มผสมนมแม่ สำหรับทารกไม่ควรใช้แหล่งโปรตีนเพียงแหล่งใดแหล่งหนึ่งเท่านั้น เช่น ชีส
2. เหล็ก
ทารกต้องการธาตุเหล็กเพื่อช่วยในการสร้างฮีโมโกลบิน สารสีแดงในเลือดซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่อวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย เหล็กที่สะสมในร่างกายลูกจากค่อยๆ ลดลงหลังจากลูกอายุ 6 เดือน ถ้าลูกได้รับไม่เพียงพอจะเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก หรือโลหิตจางได้ แหล่งธาตุเหล็กที่ดีสำหรับลูกได้แก่
- ถั่วเมล็ดแบน เช่น ถั่วเลนทิล ถั่วลูกไก่ (chick peas)
- ผักใบเขียว เช่น บร็อกโคลี ผักบุ้ง ผักโขม
- ขนมปัง ทั้งขนมปังขาวและโฮลวีท
- อาหารเสริมที่มีการเติมธาตุเหล็ก (ดูที่ฉลาก)
เบบี๋จะดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้นหากกินอาหารอุดมวิตามินซีด้วย ดังนั้นควรให้ลูกกินผลไม้เช่น ส้ม มะละกอ หรือน้ำผลไม้ด้วย
อ่านต่อ “สารอาหารสำคัญสำหรับทารกมังสวิรัติ ตัวที่ 3-4” คลิกหน้า 4
3. วิตามินบี 12
วิตามินบี 12 จะช่วยให้ลูกทารก
- สร้างเม็ดเลือดแดงและมีระบบประสาทที่สมบูรณ์
- ใช้พลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป
- นำกรดโฟลิกซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญไปใช้งาน
อาหารที่เป็นแหล่งวิตามินบี 12 ชั้นดีได้แก่
- อาหารเสริมที่มีการเติมวิตามินบี 12 (ดูที่ฉลาก)
- ไข่สุก
- นมและผลิตภัณฑ์นม
นมแม่และนมผสมต่างก็เป็นแหล่งวิตามินบี 12 เช่นกัน ดังนั้นลูกทารกควรได้รับนมแม่หรือนมผสมไปจนอายุครบ 1 ขวบเป็นอย่างน้อย แต่ Amarin Baby & Kids อยากแนะนำว่า ถ้าทำได้ควรให้นมแม่ไปจนลูกอายุ 1 ขวบครึ่งหรือ 2 ขวบเลยยิ่งดีค่ะ
4. ซีลีเนียม
ทารกจำเป็นต้องได้รับซีลีเนียมเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้ดี ถั่วเปลือกแข็งเป็นแหล่งซีลีเนียมที่ดี สามารถลองให้เนยที่ทำจากถั่วเปลือกแข็งกับลูกดูได้ เช่น อัลมอนด์บัตเตอร์ เชียบัตเตอร์ ถ้ากลัวลูกแพ้ให้ปรึกษากุมารแพทย์เสียก่อน ไม่ควรให้ถั่วทั้งเมล็ดกับทารกและเด็กต่ำกว่า 5 ขวบเพราะจะทำให้ติดคอจนสำลักได้ แหล่งซีลีเนียมอื่นได้แก่ ขนมปัง ไข่ และเมล็ดทานตะวัน
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงตอนที่ลูกเข้าโรงเรียนแล้วว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เขาต้องรู้สึกแปลกแยกหากจะยังคงให้ลูกกินอาหารมังสวิรัติต่อไป ควรแนะนำคำตอบให้ลูกไว้ก่อนเมื่อเพื่อนถามลูกว่าทำไมกินแต่ผัก (มีเพื่อนถามแน่ๆ) หรือจะไม่บังคับการกินของลูกเมื่อเข้าโรงเรียน ก็สุดแล้วแต่คุณพ่อคุณแม่จะพิจารณาค่ะ
ที่มา: babycentre.co.uk
ภาพ: Shutterstock