AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เคล็ดลับ! เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไรให้สำเร็จ

คุณแม่หลายคนที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังมีลูกน้อยวัยแรกไปจนถึง 2 ขวบ อาจมีความกังวลกับปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บางคนอาจมีปัญหาน้ำนมน้อย มีอาการเจ็บที่หัวนม หรืออยากทราบเคล็ดลับในการปั๊มนมเพื่อเก็บสต็อกให้มีน้ำนมเพียงพอให้ลูกน้อย

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้ให้ความรู้เอาไว้ ดังนี้

1.การเตรียมความพร้อมในการให้นมแม่

คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ซึ่งมีลูกชายวัย 2 ขวบครึ่ง ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการให้นมแม่ โดยคุณหมอกล่าวว่า จริงๆ แล้วผู้ชายก็สามารถให้นมลูกน้อยได้ เพราะว่าผู้ชายก็มีต่อมน้ำนมเหมือนกับผู้หญิง แต่อาจต้องใช้ความพยายามมาก เพราะในสมัยก่อน เมื่อคุณแม่เสียชีวิตไป คุณพ่อก็จำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่นี้แทน โดยใช้นมผงช่วยเสริม

คุณแม่มีศักยภาพที่สามารถผลิตน้ำนมได้ ซึ่งในน้ำนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด แต่นมผงมีเพียง 60 ชนิด และในสมัยนี้มีเครื่องปั๊มนมที่ช่วยในการเพิ่มน้ำนมที่ลดลงให้เพิ่มขึ้นได้ โดยการกระตุ้น ถ้ากระตุ้นบ่อยๆ ก็จะสร้างน้ำนมได้มาก ถ้ากระตุ้นน้อย ก็จะสร้างน้ำนมได้น้อย

การดูแล และเตรียมความพร้อมทางด้านสุขภาพจิตใจของคุณแม่ เกี่ยวกับการให้นมลูก คุณแม่บางคนอาจเกิดความกังวลว่าจะให้นมลูกน้อยได้ไม่เพียงพอ คุณหมอก็ได้ให้ข้อมูลว่า ในยุคที่ยังไม่มีนมผง โดยปกติคุณแม่จะมีน้ำนมเลี้ยงลูกได้ 95% มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่จำเป็นจะต้องใช้นมจากคนอื่น ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องโรคเอดส์ที่มาจากนมของผู้อื่น

การเตรียมความพร้อมขณะตั้งครรภ์ เพียงรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 500 กิโลแคลอรี่ คือจากข้าว 3 มื้อ อาจเพิ่มเป็น 4 มื้อ ถ้าคุณแม่กินอะไรที่ไม่ดีตอนท้อง ลูกก็จะได้กินสิ่งนั้นไปด้วย เช่น ถ้าคุณแม่ชอบกินของหวาน หรือของที่ไม่มีประโยชน์ ควรดูที่คุณค่าทางโภชนาการ

อาหารที่ดี คืออาหารที่ไม่หมัก ไม่แปรรูป เป็นอาหารธรรมชาติ เช่น น้ำพริกผักต้ม แกงส้ม ราดหน้า คุณแม่สามารถกินได้ปกติ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกินแคลเซียมจากโปรตีนผง เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ลูกแพ้ได้ ควรกินแคลเซียมจากธรรมชาติ เช่น ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เมล็ดพืชชนิดต่างๆ

ถ้าคุณแม่กินนมเยอะ ก็มีโอกาสที่ลูกจะแพ้ ทำให้มีอาการผิวหนังมีผื่นขึ้น ถ่ายเป็นมูกเลือด ร้องกวน โคลิค ถ่ายบ่อย อาเจียน หายใจครืดคราด นอนกรน ฉะนั้นถ้าคุณแม่กินอะไรเยอะๆ ก็ต้องระวัง โดยปกติแล้วตลอดการตั้งครรภ์ คุณแม่จะน้ำหนักขึ้น 12 กิโลกรัม โดย 3 เดือนแรกไม่ต้องเพิ่มขึ้น เพราะจะมีความเสี่ยงเบาหวาน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “เลือกโรงพยาบาลให้เหมาะกับคุณแม่ให้นม” คลิกหน้า 2

2.เลือกโรงพยาบาลให้เหมาะกับคุณแม่ให้นม

การเลือกโรงพยาบาล ควรเลือกโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อป้องกันเวลาฉุกเฉิน หรือคลอดไม่ทัน คุณแม่ควรหาความรู้ ให้มีความมั่นใจ ว่าลูกน้อยจะปลอดภัย

ที่โรงพยาบาลของคุณหมอ จะมีชาวต่างชาติมาคลอดลูก ซึ่งมีการเขียน birth plan วางแผนการคลอดของตัวเองให้หมอทำตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งในโรงพยาบาลเอกชนสามารถทำให้ได้

การสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมในต่างประเทศ เกิดจากแม่ๆ ที่เรียกร้องขึ้น เพราะเมื่อลูกกินนมผงแล้วพบว่าลูกป่วยบ่อย และเห็นว่าเมื่อลูกได้กินนมแม่แล้วแตกต่าง จึงอยากให้เด็กได้กินนมแม่เหมือนกัน จึงจัดกลุ่มขึ้นมา เรียกร้องให้มีกฎหมาย

มีคำถามหนึ่งจากคุณพ่อ ซึ่งมีลูกน้อยวัย 8 เดือน ถามว่า ทางโรงพยาบาลที่คลอดมีการยัดนมผงให้กับลูกเมื่อแรกคลอด แล้วจะมีวิธีการพูดอย่างไรว่าลูกของเราได้รับว่าไม่อยากให้ลูกของเรากินนมผง

คุณหมอให้คำตอบว่า เราคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายของโรงพยาบาลไม่ได้ ถ้าคุณแม่คลอดเองก็ร้องเรียกให้นมลูกด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่มั่นใจ กังวลว่าลูกไม่ปลอดภัย เพราะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว อาจจะต้องรอจนกว่าออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว ให้รีบไปพบผู้เชี่ยวชาญคลินิกนมแม่ หรือหาข้อมูลความรู้ด้วยตัวเอง โดยการศึกษาจาก facebook หรือคลิปวิดีโอ หรือนับการขับถ่าย เด็กจะถ่ายอุจาระประมาณวันละ 2 ครั้ง ขนาดเท่ากับแกนกระดาษทิชชู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร และปัสสาวะประมาณวันละ 6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง มีอาการสะอึก แสดงว่าลูกน้อยได้นมที่เพียงพอแล้ว

คนไข้ส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลที่คุณหมอทำงานอยู่ 80% เป็นคุณแม่ผ่าคลอด คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ทันทีหลังคลอด ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลที่สนับสนุน คุณแม่บางคนยังเมายาบล็อกหลัง ก็ให้นมได้แล้ว หรือให้นมลูกครั้งแรกหลังจากคลอดได้ประมาณ 2 ชั่วโมง คุณแม่บางคนก็นอนให้นมลูกได้แล้ว หรือถ้าคุณแม่รู้สึกตัว ก็สามารถเดินไปให้นมลูกได้ที่ห้องเด็กแรกเกิดได้ หลังจากนั้นคุณแม่ก็สามารถปั๊มนมต่อได้เลย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “ทำสต็อกนมแม่ให้เข้าเป้า และแก้ปัญหาน้ำนมน้อย” คลิกหน้า 3

3.ทำสต็อกนมแม่ให้เข้าเป้า และแก้ปัญหาน้ำนมน้อย

โดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่ 97% จะมีน้ำนมอยู่ปานกลาง นั่นคือ เมื่อให้ลูกกินนมแล้ว จะยังสามารถปั๊มนมออกมาได้ประมาณ 20 กว่าออนซ์ สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำนมน้อยนั้นมีเพียง 3-5 % คุณแม่ต้องอดทน แล้วเก็บน้ำนมต่อไป ถ้าคุณแม่ทำทุกอย่างได้ถูกต้อง ก็จะสามารถทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้นได้

ยิ่งคุณแม่ปั๊มนมบ่อยเท่าไหร่ น้ำนมก็จะผลิตออกมาบ่อยเท่านั้น แล้วคุณแม่ก็สามารถทำสต็อกเก็บเอาไว้ได้ หรืออาจจะใช้วิธีการรับประทานยาเพิ่มน้ำนม แต่ก็ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน ว่ามีภาวะ หรือผลข้างเคียงหรือไม่ หรือมีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเปล่า รวมถึงเมื่อคุณแม่ไม่มีเวลาปั๊มนม ก็อาจจะทำให้น้ำนมน้อยลงได้

ตามความเชื่อของคนโบราณที่แนะนำให้รับประทานอาหารบางชนิด เพื่อเพิ่มการผลิตน้ำนม คุณหมอกล่าวว่า อาหารเหล่านี้ยังไม่มีการวิจัยยืนยัน เพียงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่เพียงพอ ได้รับแคลเซียมที่เพียงพอ สำหรับการผลิตน้ำนมนั้น คุณหมอแนะนำว่าคุณแม่จะต้องการแคลอรี่เพิ่มขึ้นเพียง 500 กิโลแคลอรี่ ซึ่งมีความจำเป็นเพียงพอต่อการผลิตน้ำนม

คุณหมอสุธีรา กล่าวว่า การไม่เครียดคือสิ่งสำคัญมาก ซึ่งโดยปกติแล้วคนทั่วไป น้ำนมจะมาโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 วันหลังคลอด คุณแม่ต้องคอยกระตุ้น ถ้าไม่กระตุ้นแล้วน้ำนมจะน้อย ต้องให้ลูกน้อยดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่คลอดเอง จะสามารถให้นมได้ตั้งแต่อยู่ในห้องคลอด โดยให้ลูกนอนบนอกแม่ แล้วให้ลูกน้อยคลานหาเต้าด้วยตัวเอง ซึ่งลูกน้อยจะคลานไปตามกลิ่น เป็นพัฒนาการของลูกน้อยเมื่อแรกคลอด

โดยลานหัวนมของคุณแม่จะมีต่อมไขมันชนิดพิเศษ ช่วยให้บริเวณนี้มีความชุ่มชื้น ไม่แห้ง เพราะเมื่อหัวนมโดนน้ำลายลูกบ่อยๆ ก็อาจจะแตกง่าย นอกจากนี้ จะมีกลิ่นคล้ายน้ำคร่ำ ลูกน้อยจึงสามารถคลานมาเข้าเต้าได้เองภายใน 60 นาที ลูกจะเริ่มดูดนมเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัญชาติญาณของเด็กที่ธรรมชาติเตรียมการเอาไว้แล้ว แต่บางครั้งความก้าวหน้าทางการแพทย์อาจไปเบี่ยงเบน แยกแม่ลูก เพื่อไปดูความเรียบร้อย ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมง สัญชาติญาณนี้จึงหายไป

คุณแม่ต้องพยายามลูกกระตุ้นเต้านมบ่อยๆ ประมาณทุก 1 ชั่วโมง ช่วงแรกเกิดลูกน้อยอาจดูดนมแม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งความจุในกระเพาะของลูกน้อยเมื่อแรกเกิดจะมีอยู่ประมาณ 5 ซีซี เท่ากับผลเชอร์รี่ นมที่พึ่งออกจากเต้าแม่เป็นครั้งแรกจะมีความหนืด เพราะเป็นนมน้ำเหลือง และมีภูมิคุ้มกันสูง เปรียบเทียบได้กับวัคซีน 4,000 เข็ม โดยคุณแม่ควรให้ลูกน้อยดูดนมข้างละประมาณ 15-20 นาที

การให้ลูกน้อยดูดนมจะช่วยกระตุ้นได้ดีกว่าเครื่องปั๊ม หรือให้คุณพ่อช่วยกระตุ้นน้ำนมด้วยการบีบ หลังจากที่ลูกดูดนมแล้ว น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นมก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกน้อยสามารถดูดนมแม่แล้วอยู่ได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “สารพัดปัญหาเกี่ยวกับการให้นมแม่” คลิกหน้า 4

4.สารพัดปัญหาเกี่ยวกับการให้นมแม่

มีคำถามหนึ่งจากคุณแม่ ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน และเป็นท้องแรก คุณแม่สงสัยว่าจำเป็นหรือไม่ที่ในช่วง 7-8 เดือน ขณะตั้งครรภ์ จะต้องกระตุ้นน้ำนม ด้วยการรับประทานอาหารเพื่อให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น

คุณหมอได้ให้คำตอบว่า การที่คุณแม่รับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไปขณะตั้งครรภ์ อาจจะทำให้ลูกคลอดออกมาแล้วแพ้ได้ ทางที่ดีที่สุดในการกระตุ้นน้ำนมคือหลังจากคลอดออกมาแล้ว ให้ลูกดูดนม ดูดให้เร็ว ดูดให้บ่อย และถูกวิธี

สำหรับคุณแม่ที่มีอาการเจ็บหัวนม แสดงว่าให้ลูกน้อยดูดนมผิดวิธี ทำให้น้ำนมของคุณแม่น้อยลง เพราะลูกน้อยดูดนมได้ไม่เต็มที่

วิธีการกระตุ้นน้ำนมให้เพิ่มขึ้นคือการบีบกระตุ้น แต่ถ้าหัวนมแตกคุณหมอจะใช้วิธีการแก้ไขด้วยการทำไวท์ดอด เป็นการสะกิดที่หัวนม เพื่อช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้ดีขึ้น 15-20% ถ้าคุณแม่มีความรู้สึกเจ็บนม อย่าทน ควรให้คุณหมอตรวจ หรือรีบไปคลินิกนมแม่ ซึ่งในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำวิธีต่างๆ

การนวดเปิดท่อน้ำนม ไม่ได้ช่วยให้น้ำนมเพิ่มขึ้น เพราะคุณแม่มีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันนั้น เกิดจากการกินหวาน กินมัน กินน้ำตาลเยอะ ทำให้นมแม่ข้น หรืออาจเกิดจากการใส่ยกทรงที่ไม่รัดท่อน้ำนม การนวดด้วยการบีบนม กระตุ้นจี๊ด ไม่ได้ช่วยเพิ่มน้ำนม

สำหรับคุณแม่นักปั๊มจะเหนื่อยมาก เพราะต้องมีวินัยมากๆ ตกรอบนิดเดียวนมก็ตก แต่ถ้าลูกน้อยดูดเต้าเป็นก็จะกระตุ้นได้ยาวนาน อย่างคุณหมอ ตอนกลางคืนจะใช้นมสต็อก ไม่เกินชั่วโมงละ 1 ออนซ์ ขั้นต่ำ 2 ครั้ง เพราะเด็กบางคนจะฉลาดมาก รู้ว่านมสต็อกไม่อร่อย เขาก็จะกินแค่กันตาย จะรอคุณแม่กลับมาจากทำงานเพื่อกินนมจากเต้า

สำหรับคุณแม่ทำงาน อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะกลางวันต้องทำงาน กลางคืนต้องให้นมลูก ก็ต้องมีคนช่วย ให้คุณพ่อช่วยให้กำลังใจ ช่วยงานบ้าน คุณแม่ก็จะสามารถให้นมได้ยาวนาน เป็นการเสียสละอย่างมาก สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน

คำถามจากคุณแม่ สอบถามมาว่า มีลูกน้อยวัย 7 เดือน แล้วฟันลูกน้อยกำลังขึ้น กลัวว่าลูกน้อยจะฟันผุ เพราะลูกกินนมมื้อดึกบ่อยมาก

คุณหมอจึงให้คำตอบว่า สำหรับคุณแม่เต็มเวลา จริงๆ แล้วเราสามารถให้ลูกหลับยาวตอนกลางคืนได้ เนื่องจากกลางวันลูกน้อยได้รับนมเพียงพอแล้ว ตอนกลางคืนคุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องตื่นขึ้นมาให้ลูกกินนม แต่สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน จำเป็นจะต้องทำ เสียสละความสะดวกสบายของตัวเองเพื่อให้ลูกได้กินนม หรือเด็กบางคนสามารถหาเต้านมแม่ดูดกินเองได้ตอนกลางคืน จนบางครั้งแม่ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ แล้วลูกก็หลับต่อเองได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “วิธีให้ลูกน้อยหย่านม” คลิกหน้า 5

5.วิธีให้ลูกน้อยหย่านม

โดยปกติน้ำหนักของทารกแรกเกิดจะลดลงมาประมาณ 10% หลังคลอด และจะเพิ่มขึ้นวันละ 20-30 กรัม แสดงว่าได้รับนมเพียงพอแน่นอน หลังจากที่เริ่มปรับตัวกับลูกได้แล้ว ผ่านไปประมาณ 2 อาทิตย์ก็เริ่มปั๊มนมได้เลย สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน

สำหรับคุณแม่ที่มีเวลาอยู่กับลูกเต็มเวลา ก็ให้ลูกดูดนมจากเต้าได้เลย เมื่อลูกน้อยโตขึ้น

หลังจาก 1 ขวบ ข้าวจะเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ นมจะกลายเป็นอาหารเสริม ถ้ามีนมแม่เพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องดื่มนมอื่นเสริม แต่ถ้านมแม่หมดก็สามารถให้ลูกน้อยรับประทานนมกล่องได้เลย เมื่อลูกโตขึ้นก็จะสนใจนมแม่น้อยลง

อย่าให้ลูกมีความรู้สึกว่าเต้านมเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นทั้งแหล่งอาหาร เป็นทั้งแหล่งของเล่น เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกสงบจิตใจ ร้องไห้ก็นม ฉีดวัคซีนเจ็บก็นม เหมือนกับบางคนที่ใช้เรื่องการกินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เสียใจก็กิน มีความสุขก็กิน เหงาก็กิน ให้ลูกกินนมแค่ครึ่งชั่วโมงก็พอ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เพียงพอ

เมื่อลูกน้อยครบ 1 เดือนก็ลองให้ลูกฝึกนมขวด วิธีการกินนมอย่าถือขวดแบบตั้งฉาก เพราะนมจะหมดเร็ว ให้ถือขวดในแนวราบ และจับเรอทุกออนซ์ ครั้งละ 3 ออนซ์ โดยเมื่อครบ 1 ออนซ์ ก็อุ้มลูกเดินรอบบ้าน ให้ลูกเรอ ออนซ์ที่ 2 ก็เรอ ออนซ์ที่ 3 ก็เรอ ให้นมไหลช้าๆ หมดช้าๆ ใช้เวลาในการดูดนมประมาณ 20 นาที เพราะถ้าให้ลูกดูดนมเร็วเพียง 3 นาที 3 ออนซ์นมหมดแล้ว แต่ปากยังขยับอยู่ ทำให้ต้องเอานมมาเพิ่มอีก ทำให้ได้รับนมเยอะเกินไป แล้วอาเจียนออกมา เพราะความอยากดื่ม และความอิ่มนั้นไม่เหมือนกัน จึงต้องให้นมลูกช้าๆ เพราะ 3 ออนซ์ สามารถอยู่ได้ 3 ชั่วโมง สูตรชั่วโมงละ 1 ออนซ์นี้ใช้ได้ตั้งแต่เด็ก 1 เดือน – 6 เดือน ให้ใช้สูตรนี้ตลอด เมื่อลูกโตขึ้นก็ให้กินทุก 2 ชั่วโมง เพราะถ้าให้ลูกกินนมบ่อยอาจทำให้ติดนมแม่ได้

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ ให้ลูกมีกินได้นานเป็นปี

หมอแนะ! เด็กเล็กเสี่ยงปอดบวม ป้องกันได้ด้วย “นมแม่”

CDC แนะนำการเก็บรักษาสต๊อกนมแม่แบบใหม่

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Save