พบกับ 3 เรื่องราวของคุณแม่ กับวิธีการรับมือทำอย่างไรเมื่อลูกคนโตไม่รักน้องและกลัว ” แม่ไม่รัก “
โดยแต่ละเรื่องราวที่เรานำมาฝากในวันนี้ จะแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลาค่ะ เริ่มตั้งแต่น้องคนเล็กอยู่ในท้อง ไปจนถึงคลอดน้องออกมา เรื่องราวที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร แล้วคุณแม่แต่ละท่านจะรับมือได้หรือไม่ ไปอ่านประสบการณ์ตรงของคุณแม่ทั้งสามท่านนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
เริ่มจากเรื่องราวของคุณแม่น้ำ (Oheem Pj) กับประสบการณ์การแนะนำให้พี่ได้รู้จักกับน้องคนเล็กตั้งแต่อยู่ในท้อง
ขอแนะนำตัวก่อนเลยนะคะ ชื่อแม่น้ำค่ะ มีลูกชายสองคนคนโตชื่อ พี่ทะเล อายุ 5 ขวบ ส่วนลูกชายคนเล็กชื่อน้องอันดามัน ที่ตอนนี้อายุได้ 1 ขวบ 4 เดือนแล้ว ซึ่งกว่าคุณแม่จะรู้ว่าตัวเองมีน้องคนเล็กก็ท้องได้ 3 เดือนแล้ว ตอนนั้นคุณแม่มีอาการแพ้ท้องบ้างค่ะ พอพี่ทะเลรู้ว่าตัวเองกำลังจะมีน้อง คุณแม่ก็จะเริ่มสอนให้รักน้อง พร้อมกับคอยบอกเขาว่า คุณแม่กำลังมีน้องตัวเล็ก ๆ อยู่ในท้องเหมือนพี่ทะเลตอนเด็ก ๆ ผลตอบรับที่ได้ก็คือ “เลไม่รักน้อง” เป็นแบบนี้อยู่พักใหญ่ ๆ เลยละค่ะ
แต่พอถึงเวลาตรวจครรภ์กับคุณหมอ คุณแม่ก็พาพี่ทะเลไปด้วย คราวนี้เขาเริ่มมีความเป็นพี่ชายมากขึ้น เริ่มอยากมีส่วนร่วมในการขอตั้งชื่อน้องด้วยการถามว่า “ขอผมตั้งชื่อน้องนะครับแม่” คุณแม่ก็เลยบอกว่า “ได้จ้ะลูก” ทำให้เขายิ่งรักน้องมากขึ้น พอคลอดน้องก็รู้สึกว่าทั้งคู่รักกันมาก เชื่อไหมคะเวลาที่คุณแม่ดุพี่ชาย น้องชายตัวเล็ก ๆ ก็จะคลานมานอนทับตัวและเอามือลูกหัวพี่ชายเหมือนกับจะปลอบว่าไม่เป็นไร
สิ่งที่คุณแม่อยากจะฝากบอกก็คือ การที่พี่ชายคนโตบอกว่าไม่รักน้องนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติค่ะ เป็นเหมือนกับว่าความรู้สึกของเด็กที่กลัวว่าจะโดนแย่งความรักและทุกสิ่งที่เคยได้ไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าวจะต้องใจเย็นและให้เวลาลูกในการปรับตัวค่ะ รวมถึงควรระมัดระวังในการใช้คำพูดเช่น ดื้อมากเดี๋ยวไม่รัก ดูซิน้องไม่เห็นจะดื้อเลย อะไรแบบนี้เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนเดิมและกอดเขาให้มาก ๆ เมื่อลูกปรับตัวได้ความมั่นใจที่เคยมีก็จะกลับมาเอง อาการไม่รักน้องหรือกลัวว่าแม่ไม่รักก็จะลดลงเช่นกันค่ะ
คลิก! อ่านเรื่องราวของคุณแม่ท่านที่สองได้ที่นี่
เรื่องราวของคุณแม่ท่านนี้ เป็นเรื่องราวของคุณแม่ลูกเล็กที่กำลังท้องน้องอีกคนอยู่ในท้อง เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรไปอ่านกันเลยค่ะ
คุณแม่เล่าว่า ตอนที่ท้องลูกคนที่สองนั้น คนโตเพิ่งจะมีอายุเพียง 6 เดือนเท่านั้นค่ะ ยอมรับเลยว่าตอนนั้นเหนื่อยมาก ยิ่งตอนคลอดน้องด้วยแล้ว ลูกคนโตจะอ้อนคุณพ่อคุณแม่มากเป็นพิเศษ และพอเผลอก็จะคอยชอบแกล้งน้อง ด้วยความที่ลูกทั้งสองคนทานนมแม่ ก็ต้องคอยผลัดกันทาน คุณแม่นี่เหนื่อยและเพลียมาก ๆ เลยละค่ะ
วัน ๆ นี่แทบไม่ต้องทำอะไรเลยรบอยู่กับลูกทั้งสองคนก็หมดวันแล้ว กว่าจะผ่านตอนนั้นมาได้ คุณแม่ร้องไห้เพราะความเหนื่อยตลอด มาถึงตอนนี้ลูกคนโตอายุได้ 1 ขวบ 5 เดือนแล้วค่ะ ส่วนคนเล็กก็ 3 เดือน ตอนนั้นกลุ้มใจกลัวลูกคนโตจะไม่รักน้อง แต่ด้วยความที่พวกเราทุกคนตระหนึกถึงข้อนี้ จึงทำทุกอย่างเหมือนเดิม ให้ความสำคัญกับลูก ๆ ทั้งคู่เท่า ๆ กัน มาตอนนี้ทั้งสองคนรักกันมากเลยละค่ะ
สำหรับในทางการแพทย์นั้น จะมีการศึกษาถึงระยะห่างของการมีบุตรพบว่า หากระยะห่างยิ่งสั้นก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกคลอดก็จะน้ำหนักตัวน้อย คุณหมอจึงแนะนำว่า ถ้าหากเป็นไปได้ควรเว้นระยะการคลอดอย่างน้อยประมาณ 1 ปี โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีความเสี่ยงเช่น การคลอดโดยการผ่าคลอด คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
แต่ถ้าหากไม่สามารถควบคุมได้ คุณหมอก็จะคอยแนะนำให้คุณแม่บำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานยาบำรุงเลือดตลอดอายุการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจภาวะซีดอีกด้วย
อ่านเรื่องราวของคุณแม่ท่านสุดท้ายที่ต้องคอยตอบคำถามลูกคนโตว่าทำไมถึงอุ้มไม่ได้ ที่นี่
คุณแม่ท่านนี้ต้องคอยตอบคำถามและอธิบายกับลูกคนโตว่า ทำไมคุณแม่ถึงอุ้มเขาไม่ได้ ทุกอย่างเป็นเพราะน้องหรือ? โดยคุณแม่เล่าว่า
ตอนนั้นลูกคนโตมีอายุได้ 2 ขวบ พอทราบว่าตัวเองท้องก็กลัวและกังวลในหลาย ๆ เรื่องโดยเรื่องแรกก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับนมแม่ เนื่องจากคนโตยังกินนมแม่อยู่ ปรึกษาคุณหมอ ๆ ก็บอกว่ากินได้ แต่กลัวว่าขณะที่ลูกดูดนมนั้น มดลูกก็อาจจะบีบรัดตัวซึ่งอาจจะส่งผลกับทารกในครรภ์ได้ อีกทั้งกลัวว่า ถ้าน้องออกมาแล้วลูกคนโตจะมาแย่งดูดด้วย ดังนั้นจึงตัดสินใจหย่านมลูกคนแรกเลย
ส่วนเรื่องที่สองที่ไม่สบายใจก็คือ คุณแม่ไม่สามารถอุ้มลูกคนโตได้เหมือนเมื่อก่อน เขาก็มักจะคอยถามว่า เป็นเพราะอะไร ทำไมถึงอุ้มเขาไม่ได้ คุณแม่ก็ต้องคอยอธิบายให้เขาเข้าใจว่าเขากำลังจะมีน้อง และก็หมั่นคอยให้เขาพูดคุยกับน้องและฟังเสียงหัวใจน้องผ่านเครื่องช่วยฟัง พอเวลาไปหาหมอก็จะพาไปด้วยทุกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นการปลูกฝังความสัมพันธ์ให้กับเขาไปในตัว
พอน้องคลอดคุณแม่ก็จะเตรียมของขวัญไว้ให้ลูกคนโตหนึ่งชิ้นพร้อมกับบอกว่า น้องเกิดมาแล้วและน้องก็มีของขวัญมาฝากพี่ด้วยนะ แค่นี้เขาก็ดีใจและไม่ต่อต้านน้องอีกเลย อาจจะมีบ้างที่เรียกร้องความสนใจจากคุณแม่ในช่วงแรก ๆ แต่ตอนนี้รักและหวงน้องมากค่ะ คอยช่วยเอาผ้าอ้อมไปทิ้ง เช็ดน้ำลายน้อง ซึ่งลูกคนเล็กตอนนี้อายุ 3 เดือนแล้ว ทั้งคู่รักกันดี คุณแม่นี่ปลื้มใจมาก ๆ เลยละค่ะ
ทั้งนี้การไม่อุ้มลูกอาจจะไม่ได้ส่งผลกับพัฒนาการเด็กโดยตรง แต่เป็นการช่วยให้เด็กได้มีพัฒนาการและใช้แขนขาของตัวเองให้มากขึ้น แต่แน่นอนค่ะว่ามันมีผลกับจิตใจของลูก คุณหมอจึงแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรับสมดุล อุ้มบ้างในบางครั้งเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกได้รู้ว่าเรายังรักเขาอยู่เหมือนเดิม ส่วนกิจกรรมที่เคยทำกับลูกก็ยังคงต้องทำอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับสามเรื่องราวประสบการณ์บอกเล่าจากคุณแม่ที่ต้องคอยรับมือกับลูกคนโตที่มักจะคอยคิดว่า “แม่ไม่รัก” เขาแล้ว อย่างไรลองนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ
อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่