สงสัยว่าลูกอาจถูกทำร้าย พ่อแม่จะพูดอย่างไรกับลูกดี? ทีมแม่ ABK มีเทคนิคต้องรู้ ช่วยให้พ่อแม่คุยกับลูก ให้ยอมกล้าเล่า กล้าบอกความจริง ไม่ทำร้ายจิตใจ มาแนะนำค่ะ
วิธีคุยกับลูกเมื่อคิดว่าถูกทำร้าย
จากข่าวนักเรียนอนุบาล 1 โรงเรียนเอกชน ถูกครูใช้ความรุนแรง โดยกลุ่มผู้ปกครองของเด็ก ๆ ได้เข้าแจ้งความเรียบร้อยแล้วนั้น เรื่องนี้สร้างความสะเทือนใจให้กับทุกคน โดยเฉพาะหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ทั้งโกรธ โมโห รวมทั้งกลัว ระแรงว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นกับลูกของตัวเองหรือไม่ และมีวิธีไหนที่พูดคุยกับลูก เพื่อเช็กว่าลูกถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากที่โรงเรียนมาหรือเปล่า? มาอ่านเทคนิคดีๆ เปิดใจลูกให้กล้าเล่าความจริงกันค่ะ
แผลบนร่างกายอาจจะเล็ก แต่สร้างบาดแผลร้าวลึกในใจเด็ก
อย่างแรกคือพ่อแม่ต้องสังเกตว่าลูกเป็นอย่างไรบ้างหลังกลับจากโรงเรียน เพราะเด็กบางคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเด็กที่ถูกทำร้ายในโรงเรียนแห่งนี้มีตัวอย่างของพฤติกรรมที่แสดงออกมา รวมถึงมีท่าทางที่หวาดกลัว ดังนี้
- น้องอชิ ชั้นอนุบาล 1 ถูกทำร้ายโดย : การจิกผม การแสดงออก : มีพฤติกรรมก้าวร้าว กลัวการไปโรงเรียน
- น้องหมิงหมิง ชั้นอนุบาล 1 ถูกทำร้ายโดย : ผลักลงพื้นห้องเรียน การแสดงออก : กลัวการไปโรงเรียน
- น้องเทมส์ ชั้นอนุบาล 1 ถูกทำร้ายโดย : ทุบแผ่นหลัง, กระชากใบหู, ขีดเขียนใบหน้า, ถูกทุบตีตอนเข้าห้องน้ำ การแสดงออก : กลัวชักโครกและระแวงคนแปลกหน้า
- น้องเอ็นเจ ชั้นอนุบาล 1 ถูกทำร้ายโดย : ถูกตี การแสดงออก : กลัวการไปโรงเรียน มีอาการก้าวร้าว
- น้องคาราเมล ชั้นอนุบาล 1 ถูกทำร้ายโดย : ดึงหัวรุนแรง เล็บหยิก ใช้นิ้วสะกิดแรงจนหัวโยก การแสดงออก : มีอาการเพ้อ ละเมอขณะหลับ
หนึ่งในคุณแม่ที่ลูกถูกทำร้ายเล่าว่า ลูกเรียนมาตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนชั้นอนุบาล 1 แต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ลูกชายมีอาการเเปลก ๆ ตอนเช้าที่เเม่ปลุกให้ไปโรงเรียน ลูกจะร้องไห้พร้อมกับยกมือไหว้ เเล้วพูดว่า “ไม่ไปได้ไหม” จากนั้นลูกก็ร้องไห้ตลอดเวลา ตั้งแต่บนรถ จนกระทั่งจอดรถหน้าโรงเรียนก็หยุดร้องทันที เหมือนกับหวาดกลัวอะไรบางอย่าง ทั้งยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป บางครั้งก็ร้องกรี๊ดขึ้นมา จนเดือนกันยายาน ลูกเริ่มฟ้องว่าเพื่อนในห้องถูกครูทำร้าย แล้วลูกก็เล่าว่า ตัวเองถูกตี พอถามว่า “เจ็บไหม” ลูกก็ตอบเเบบกลัว ๆ ว่า “ไม่เจ็บ” แต่เริ่มเอะใจเพราะที่ผ่านมาลูกไม่เคยโกหก
ส่วนผู้ปกครองอีกคนเล่าว่า ลูกสาวมีอาการเพ้อบ่อย จนวันหนึ่งช่วงตี 4 ลูกสาวนอนหลับและเพ้อว่า “อย่าเอากระเป๋าหนูไป ๆ กระเป๋าของหนู” พอถามลูกตอนหลับว่า ใครเอาไป ลูกสาวก็บอกชื่อคุณครู เลยค่อนข้างมีความชัดเจน
การสังเกตลูกในทุก ๆ วัน รวมถึงการพูดคุยกับเด็กเป็นประจำ จึงมีความสำคัญอย่างมาก แต่ด้วยความหวาดกลัวและกังวลของเด็ก อาจทำให้ลูกไม่กล้าพูด พ่อแม่จำเป็นต้องมีเทคนิคในการพูดคุยกับลูก เพื่อให้เด็กกล้าพูดความจริงออกมา
คุยกับลูกอย่างไรเมื่อคิดว่าลูกถูกทำร้าย
เพจ Drama-addict ได้โพสต์ถึงทริคให้พ่อแม่ทุกคนเก็บไว้ใช้ โดยจิตแพทย์ได้แนะนำคำถามที่จะถามลูกอย่างไร เมื่อสงสัยว่า เด็กอาจถูกทำร้ายหรือทารุณกรรม
- ชวนลูกพูดคุยถึงโรงเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องครู ไม่ใช่แค่เรื่องการบ้าน โดยชวนลูกคุยทุกวันให้กลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ส่วนพ่อแม่ก็ควรจะรู้จักเพื่อนของลูก ครูของลูก โดยเฉพาะคุณครูที่ใกล้ชิดกับลูก การชวนลูกพูดคุยถึงโรงเรียนบ่อย ๆ เด็กจะไว้ใจพ่อแม่ ว่าเรื่องโรงเรียนก็ไม่ต่างกับเรื่องในบ้าน ทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย อย่างน้อย ๆ พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกสักวันละ 10 นาทีต่อวัน
- คุยกับลูกด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อฝึกให้ลูกได้เล่าเรื่องราว ได้อธิบายถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์สมมติ โดยเฉพาะในวันที่ลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือไม่อยากไปโรงเรียน เช่น มีอาการปวดหัวตัวร้อนบ่อย ร้องไห้เมื่อต้องไปโรงเรียน หรือมีรายงานจากทางโรงเรียนว่าลูกมีท่าทีที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่คุณครู แต่รุ่นพี่ หรือเพื่อนร่วมห้อง ก็อาจจะมีปัญหาทะเลาะกันหรือกลั่นแกล้งกันได้ ถ้ารู้สึกผิดสังเกต ชวนลูกเล่นบทบาทสมมติอีกรอบ แล้วถ่ายคลิปเอาไว้
- สำรวจข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ดูว่าลูกอ้วกหรือไม่ สังเกตแผลในปาก ลิ้นของลูก เพราะถ้าเป็นเด็กเล็ก วิธีการแกล้งหรือทารุณ วิธีสังเกตแผลในปากที่ง่ายที่สุดคือการป้อนข้าว พร้อมกันนั้นต้องสังเกตด้วยว่าลูกฝันร้าย ฉี่รดที่นอนหรือไม่ ถ้าอายุเกิน 4 ขวบยังฉี่รดที่นอน โดยเฉพาะนอนกลางวัน (เช่นครูมาแจ้งว่า ลูกฉี่รดที่นอนอีกแล้วนะคะ) ให้หาสาเหตุทันที กรณีอายุเกิน 4 ขวบ ควรพาพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อหาสาเหตุร่วมกันว่า เด็กเป็นอะไร ถูกทำร้าย หรือมีการกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือไม่
5 คำถามที่ควรถามลูกเป็นประจำ
- ลูกชอบคุณครูคนไหน แล้วครูคนนี้ล่ะใจดีไหม? ลองสอบถามถึงคุณครูที่ดูแล เพื่อดูปฏิกิริยาลูกว่า อยากพูดถึงครูคนนี้หรือไม่ หรือมีอาการหวาดกลัวเวลาพูดถึงครูคนนี้หรือเปล่า
- เล่นที่โรงเรียนสนุกไหม ลูกเล่นอะไรบ้างวันนี้? เพื่อจับสังเกตว่าลูกเล่นคนเดียวหรือไม่ ลูกมีเพื่อนบ้างหรือเปล่า
- หนูชอบเล่นกับเพื่อนคนไหน ไม่ชอบเล่นกับเพื่อนคนไหน? เพื่อดูว่าลูกมีเพื่อนสนิทบ้างหรือเปล่า และเพื่อนที่เล่นด้วยเป็นอย่างไร
- ชอบเรียนวิชาไหน ทำไมลูกถึงไม่ชอบเรียนวิชานี้? การสอบถามเรื่องวิชาที่ลูกชอบ นอกจากแม่จะได้รู้ว่าลูกชอบเรียนวิชาอะไรแล้ว ยังจะได้รู้ถึงบรรยากาศการสอนในห้องของครูวิชานั้น ๆ ด้วย
- ลูกชอบไปโรงเรียนไหม ทำไมหนูชอบไปโรงเรียน หรือทำไมหนูไม่อยากไปโรงเรียน? เมื่อลูกมีอาการไม่อยากไปโรงเรียน ดูหวาดกลัวบางอย่าง ลองชวนพูดคุยถึงความรู้สึกของลูก เพื่อให้ลูกอธิบายว่า ไปโรงเรียนแล้วเป็นอย่างไร มีใครมาทำร้ายหรือกลั่นแกล้งไหม
การฝึกลูกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ พร้อมกับการสังเกตลูกในทุก ๆ วัน เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กไม่รู้ว่าตัวเองถูกทำร้ายหรือถูกทารุณกรรม จึงควรฝึกให้ลูกเล่าเรื่องปลายเปิด หรือ Story Telling ช่วยให้ลูกได้บอกถึงความต้องการ ทั้งยังเป็นการฝึกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล : facebook.com/DramaAd และ amarintv
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อ่าน! 3 เทคนิคเชิงบวกฝึกลูกเล็ก ควบคุมอารมณ์ โตไปไม่ก้าวร้าว
น่าเป็นห่วง! ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กวัยเด็กเล็ก 1-3 ปี ส่งผลไอคิวลดลงเมื่อเข้าสู่วัยเรียน