หมดยุคแล้วกับการลงโทษด้วยการตบตีทุกครั้งที่ ลูกดื้อ เพราะยุคนี้คือ ยุคใหม่ที่คุณแม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เหตุผล หรือการลงโทษลูกด้วยวิธี Time Out แทน แต่ในความเป็นจริง คุณแม่ ๆ ทราบกันหรือไม่คะว่า วิธีการรับมือเวลาที่ “ลูกดื้อ” นั้นมีมากมาย และแต่ละวิธีก็ไม่ได้ยากสำหรับคุณแม่ยุคใหม่เลย
แต่ก่อนที่เราจะไปดูวิธีการรับมือเวลาที่ “ลูกดื้อ” นั้น เรามาทำความรู้จักกับสาเหตุของการแสดงออกถึงพฤติกรรมี่ไม่น่ารักนี้กันก่อนค่ะ
ทำไมลูกถึงดื้อ?
- ดื้อตามวัย เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีอายุ 2 ขวบ พวกเขาจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง รักอิสระมากขึ้น ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ และแน่นอนว่า จะเริ่มต่อต้านสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกให้ทำ จนก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่น่ารักนั่นก็คือ การร้องอาละวาดและเอาแต่ใจตัวเอง เป็นต้น
- ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ด้วยความที่ลูกยังเด็ก นอกจากพวกเขาจะยังไม่สามารถที่จะสื่ออารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นออกมาได้แล้ว พวกเขายังไม่รู้จักแม้แต่วิธีการควบคุมตัวเองอีกด้วย ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่มองว่า ลูกเป็นเด็กขี้โวยวาย หรือดื้อเงียบ เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวว่ามีอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นหรือส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนที่มีเด็ก ๆ อยู่มาก แน่นอนว่า พวกเขาก็จะมีการทะเลาะหรือแย่งของเล่นกันบ้าง ทำให้ลูกอาจจะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นมาจนกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวก็เป็นได้
- สภาพจิตใจ เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม ถูกปล่อยปละละเลย รู้สึกขาดความรักและความอบอุ่น ทำให้พวกเขาเรียกร้องความสนใจของคนรอบข้างด้วยการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ดูแล้วไม่น่ารัก เพราะรู้ว่าหากแสดงออกไป คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความสนใจกับพวกเขาแน่นอน
อ่าน 10 วิธีรับมือลูกดื้อได้ที่หน้าถัดไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
10 วิธีรับมือลูกดื้อในแบบฉบับคุณแม่ยุคใหม่
- ใจเย็น การตะคอกหรือการลงโทษด้วยการตีเวลาที่ลูกดื้อหรือกำลังทำตัวไม่น่ารักนั้น เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงค่ะ สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือ ใจเย็น สูดหายใจลึก ๆ แล้วสำรวจว่าตัวเองพร้อมที่จะคุยกับลูกด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์แล้วหรือยัง ถ้าหากว่ายังไม่พร้อมคุณแม่ควรที่จะหาตัวช่วยทำให้อารมณ์ของคุณแม่เย็นก่อน ยกตัวอย่างเช่น การฟังเพลง เป็นต้น
- ไต่ถาม ภายหลังจากที่คุณแม่เรียกลูกมาแล้ว คุณแม่ควรที่จะไต่ถามถึงสาเหตุว่า ทำไมพวกเขาถึงแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมา แน่นอนค่ะว่า คำตอบนั้นต้องมีเหตุผลแน่นอนว่าเป็นเพราะอะไร ทีนี้คุณแม่ก็จะได้รับรู้ถึงสาเหตุว่า ที่พวกลูกดื้อนั้นเป็นเพราะ พวกเขากำลังหิว รู้สึกไม่สบายตัว หรือว่ากำลังเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่กันแน่
- เป็นผู้ฟังที่ดี สำหรับลูก ๆ แล้วไม่มีอะไรที่จะไปดีไปกว่าการมีใครรับฟังสิ่งที่พวกเขากำลังคิดอยู่ด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่ และทุกครั้งที่ลูกพูด แต่การรับฟังนั้น จะต้องเป็นการรับฟังอย่างตั้งใจ และไม่ดุหรือตำหนิในสิ่งที่พวกเขากระทำ มิเช่นนั้น ครั้งหน้าพวกเขาอาจจะไม่กล้าเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีกแน่ ๆ ค่ะ
- ให้ทางเลือก มาถึงตอนนี้ คุณแม่ทราบแล้วว่า สาเหตุที่ลูกดื้อหรือทำตัวไม่น่ารักนั้นเป็นเพราะอะไร เมื่อทราบแล้วคุณแม่ก็ควรที่จะช่วยหาทางออกให้กับลูก โดยการให้ทางเลือกกับพวกเขาพร้อมกับยกตัวอย่างง่าย ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับเขา ได้ลองคิดตามไปด้วย
- เคารพการตัดสินใจของลูก เมื่อลูกได้เลือกทางออกให้กับตัวเองแล้ว คุณแม่อย่าเพิ่งปฏิเสธพวกเขานะคะ ไหน ๆ เราก็ให้โอกาสเขาได้เลือกแล้ว สิ่งที่เราทำได้ก็คือเคารพกับการตัดสินใจของลูก นั่นเองค่ะ
- เจรจาต่อรอง หากคุณแม่คิดว่า สิ่งที่ลูกเลือกนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีละก็ แนะนำให้คุณแม่เจรจาต่อรองลูกด้วยการใช้คำพูดและน้ำเสียงที่นุ่มนวล ยกตัวอย่างเช่น ทำไมลูกไม่ทำแบบนี้ละจ้ะ … คุณแม่ว่าถ้าลูกทำแบบนี้น่าจะดีและมีประโยชน์กับลูกมากกว่า เป็นต้น
- ให้รางวัล เมื่อลูกทำตัวน่ารักแล้ว คุณแม่ต้องอย่าลืมให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ กับลูกบ้างนะคะ ไม่จำเป็นต้องเป็นของมีค่าราคาแพงเลยค่ะ การให้รางวัลลูกนั้น ถือได้ว่าเป็นกำลังใจให้กับลูกในการปฏิบัติตัวน่ารักต่อไป เพราะพวกเขาจะรู้ว่า ถ้าหากลูกดื้อหรือทำตัวไม่น่ารักอีก ลูกจะไม่มีโอกาสได้รับของรางวัลแน่ ๆ เป็นต้น
- ทำโปรแกรมสะสมคะแนน คุณแม่อาจจะหาสมุดเล็ก ๆ สักเล่มมาทำเป็นสมุดสะสมคะแนนของเด็กดี และทุกครั้งที่ลูกทำตัวน่ารักแล้ว นอกจากคุณแม่จะต้องให้รางวัลกับลูกแล้ว คุณแม่ควรที่จะเรียกลูกมาดูด้วยว่า ตอนนี้คุณแม่ได้สะสมคะแนนเด็กดีไว้ให้กับลูกแล้ว หากลูกได้ครบ 10 ดวงขึ้นไป ลูกจะได้รางวัลใหญ่จากคุณแม่ เป็นต้น
- ลงโทษ หากลูกไม่เชื่อและยังทำตัวไม่น่ารักอยู่ คุณแม่อาจจะลงโทษลูกด้วยการยื่น Time Out หรือตัดสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ลูกจะได้รับออกไป ยกตัวอย่างเช่น อดเล่นของเล่นหรืออดกินขนมที่ตัวเองชอบ เป็นต้น
- ติดตามผล ในแต่ละสัปดาห์คุณแม่ควรที่จะติดตามดูผลพร้อมกับประมวลพฤติกรรมของลูกว่า ภายหลังจากที่พวกเราได้คุยกันแล้วนั้น ลูกมีพฤติกรรมปรับเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด หากยังไม่ดีขึ้นให้คุณแม่เริ่มนับหนึ่งใหม่ ใจเย็น ๆ อย่าใจร้อน เพราะเด็กอย่างไรก็คือเด็กค่ะ พวกเขายังต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกมาก ซึ่งการปรับตัวของเขานั้นจะดีหรือไม่มากน้อยเพียงใด ก็อยู่ที่ความใส่ใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วยนั่นเอง
แก้ปัญหาลูกดื้ออย่างไร คลิกหาคำตอบได้ที่น่าถัดไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีแก้ปัญหา ลูกดื้อ
1. การช่วยเหลือโดยเน้นที่ตัวเด็ก
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด เน้นการให้รางวัลกับการทำพฤติกรรมดี ไม่ใช่ทำโทษ
- การฝึกพัฒนาทักษะลูกให้รู้จักการแก้ปัญหาและการเข้าสังคม
- ถ้าสงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ควรพาพบจิตแพทย์เพื่อให้รักษา
2. การช่วยเหลือโดยเน้นที่ครอบครัว
- การให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวและความช่วยเหลือทางสังคม
- ครอบครัวบำบัด เช่น การกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนระหว่างของเด็กและผู้ปกครองอย่างชัดเจน รวมถึงปรับเปลี่ยนบรรายากาศและการใช้อารมณ์กันเองในครอบครัว ให้เด็กรู้สึกอยู่แล้วมีความสุข
- ฝึกให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสนใจกับพฤติกรรมดีที่ต้องการมากกว่าคิดหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องไม่ดีของเด็ก เอาแต่บ่น ตำหนิ และทำโทษ ส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับวิธีรับมือเวลาที่ ลูกดื้อ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ อย่างไรคุณแม่สามารถลองปรับไปใช้ให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง คราวนี้แหละ ไม่ว่าลูกจะดื้อขนาดไหน ก็คงต้องยอมแพ้คุณแม่ยุคใหม่อย่างเราแน่นอน
เครดิต: Momjunction และ CU Mental Health
คลิกอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่