” การดุลูก “ ทำได้…แต่!! ต้องพองาม มิเช่นนั้น อาจก่อให้เกิดความสูญเสียไปตลอดชีวิต
นักจิตแพทย์กล่าวว่า “การขึ้นเสียงหรือส่งเสียงดัง” เพื่อดึงความสนใจให้ลูกฟังหรือเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยได้ผล เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มส่งเสียงดัง ลูก ๆ ก็จะเริ่มเข้าสู่โหมดชัดดาวน์ตัวเองทันที!”
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า เด็กที่มักโดนคุณพ่อคุณแม่ตะคอกอยู่เสมอนั้น จะมีแนวโน้มมีปัญหาด้านพฤติกรรม มีอาการซึมเศร้า และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะไม่มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ดังเช่นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ที่สามารถเป็นอุทาหรณ์ให้กับทุก ๆ ครอบครัวได้เป็นอย่างดีเลยละค่ะ เมื่อ น้องโน้ต (นามสมมุติ) เด็กนักเรียนชายวัย 10 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงด้วยการกระโดดตึกคอนโดที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยมีสาเหตุมาจากการมีปากเสียงกับคุณแม่
ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวนนางแพรว (นามสมมุติ) วัน 28 ปี ซึ่งเป็นคุณแม่ของน้องโน้ต จึงได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุนั้น น้องโน้ต ลูกชายกำลังจะเดินทางไปโรงเรียน แต่ถือวิสาสะหยิบเงินในกระเป๋าของคุณแม่ไปโดยพลการ ตนจึงได้เรียกลูกชายมาต่อว่า ทำให้ลูกอารมณ์เสียไม่พอใจ พร้อมกับมีท่าทีเอะอะโวยวาย ก่อนที่จะเก็บตัวอยู่แต่ในห้องลำพังและไม่ยอมไปโรงเรียน
พอตกบ่าย ตนคิดว่าลูกจะดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ลูกชายกลับก่อเหตุด้วยการกระโดดออกจากหลังห้องที่อยู่ชั้น 16 ทำให้ร่างของน้องร่วงลงไปกระแทกพื้นระเบียงคอนกรีตชั้นที่ 6 ได้รับบาดเจ็บสาหัสดังกล่าว และเสียชีวิตภายในวันต่อมาที่โรงพยาบาล
ทีมงาน Amarin Baby & Kids ทุกคนขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์การสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้กับคุณแม่และครอบครัวของน้องด้วยนะคะ และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสามารถเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้กับทุก ๆ ครอบครัวได้เป็นอย่างดี
อ่าน! วิธีการลงโทษลูกด้วยความรัก คลิก!
เครดิต: คมชัดลึก
คุณพ่อคุณแม่คะ เวลาที่ลูกทำให้เราโกรธ คุณแม่คุณแม่มีวิธีการจัดการกับลูกรวมถึงอารมณ์ของตัวเราเองกันอย่างไรคะ ใช่ 4 วิธีดังต่อไปนี้หรือไม่?
-
ทนไม่ไหวแล้ว ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ดุลูก ทันทีพร้อมกับการตวาดเสียงดัง
-
พูดดีก็แล้วอะไรก็แล้ว ยังไม่เชื่อ งั้นเอาไปสัก เผียะ!! ก็แล้วกัน
-
ไม่อยากอยู่ตรงนี้แล้ว เดินหนีลูกไปหน้าตาเฉย ปล่อยให้ลูกอยู่ตรงนั้นคนเดียว
-
ทำทุกข้อที่กล่าวมา
ถ้าหากคำตอบของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ “ทำทุกข้อ” หรือทำตามข้อใดข้อหนึ่ง ขอให้รับรู้ไว้เลยว่า คุณพ่อคุณแม่นั้น กำลังสอนให้ลูกที่อยู่ในวัยกำลังซนจดจำภาพของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ไป และแน่นอนค่ะว่า อาจจะนำไปสู่การเจริญเติบโตโดยเด็กมีปัญหาเรื่องความก้าวร้าวต่อไปได้
ได้มีบทความจากหนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีท เจอนัล พูดถึงเรื่องการลงโทษว่า พ่อแม่หลายคนที่พยายามหลีกเลี่ยงการลงโทษลูกด้วยการตี ส่วนใหญ่แล้วมักจะหันมาตวาดหรือตะโกนใส่ลูกแทน เพื่อที่จะอบรมวินัยให้แก่เด็ก ๆ หรือแสดงให้ลูกรู้ว่าพวกเขาโกรธ และจากผลสำรวจก็พบว่า 3 ใน 4 ของคุณพ่อคุณแม่นั้นชอบที่จะตะโกนใส่หน้าลูก 1 ครั้ง ต่อเดือน
อีกทั้งยังพบอีกว่า เด็กที่มักจะโดนพ่อแม่ตะคอกเสมอ ๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านพฤติกรรม มีอาการซึมเศร้า โดยนักจิตวิทยาได้แนะนำว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกลูกเริ่มแผลงฤทธิ์ ดื้อ และไม่ยอมฟัง ให้คุณพ่อคุณแม่นั้น เข้าไปพูดกระซิบกับลูกแทน เพราะวิธีการสื่อสารแบบนี้จะแตกต่างจากที่พวกเขาได้ยินปกติ พวกเขาจะหยุดพูด หยุดโวยวาย และสนใจฟังคำที่คุณพูดทันที โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ลูก ๆ อยากรู้ว่าคุณจะพูดอะไรให้เขาฟังนั่นเอง
ดุลูกแบบไหนถึงจะดี คลิก!
ในเรื่องของการลงโทษลูกนั้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ก็ย่อมทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความหนักใจและเสียใจได้ทั้งสิ้น คุณพ่อคุณแม่บางท่าน กลัวลูกไม่รัก เวลาที่ลูกทำผิดก็เลือกที่จะไม่ตี ไม่ตำหนิ ปล่อยให้ลูกทำต่อไปได้ อันนี้ก็ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องนะคะ บางครอบครัวไม่ดุ ไม่ว่า แต่ลงไม้ลงมือเลยก็มี อันนี้ก็ส่งผลกับสภาพจิตใจของเด็กให้แย่ลงเช่นกัน
มาถึงตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ก็สงสัยว่า อ้าว! แล้วจะให้ทำอย่างไร นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้! แล้วแบบนี้ลูกจะรู้จักผิดชอบชั่วดีได้อย่างไร … ซึ่งวันนี้ เราก็จะมาขอนำเสนอวิธีการดุลูกด้วยความรักมาฝากกันค่ะ จะเป็นอย่างไร ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน
วิธี การดุลูก ด้วยความรัก
วิธีการดังกล่าวนี้ จะเป็นวิธีการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาภายในบ้าน แทนการดุว่า หรือลงไม้ลงมือค่ะ ทำง่ายแล้วก็ดีทั้งกับตัวของคุณพ่อคุณแม่ และลูกเอง
-
ตั้งกฎกติกาที่ชัดเจน ลูกปฏิบัติได้และเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างเช่น ก่อนเข้าบ้าน อย่าลืมถอดรองเท้า และเก็บรองเท้าให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่วางเกะกะไว้ที่หน้าบ้าน
-
หากลูกโตในระดับที่เริ่มสื่อสารได้แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่นั้น เปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตั้งกฎระเบียบ กติกาภายในบ้านด้วยเช่นกันนะคะ เพื่อที่ลูกจะได้รู้ว่า ไม่ใช่แต่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายตั้งกฎ เขาก็สามารถทำได้เช่นกัน แบบนี้ยุติธรรมดีค่ะ แต่ก็ต้องคอยดูด้วยนะคะว่า กฎที่ลูกตั้งนั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไรด้วย
-
อย่าบังคับให้เด็กทำตามความต้องการของคุณเท่านั้น ทุกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ตั้ง จะต้องมีเหตุและผลมาอธิบายให้ลูก ๆ เข้าใจ ไม่ใช่ว่า ตั้งมาแล้ว เพราะอยากให้เป็นแบบนี้ แต่ไม่มีเหตุผลอะไร เพราะนี่คือความพอใจของคุณพ่อคุณแม่เอง เป็นต้น
-
เปิดโอกาสให้ลูกได้มีทางเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเองบ้างค่ะ อย่าไปเจ้ากี้เจ้าการ กีดกั้นทุกอย่างกับเขาในทุก ๆ เรื่อง
-
เคารพกฎกติกานั้นอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ลูกจะได้เห็นว่า กฎที่ตั้งไว้นั้นศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ
-
ตั้งบทลงโทษอย่างชัดเจน โดยจะต้องรับรู้ร่วมกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ และลูก
-
หากลูกทำผิดกฎกติกา ก็ต้องเรียกลูกมาทำการกล่าวตักเตือนทันที และทำการลงโทษตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้
-
หากลูกสามารถทำได้ ก็ควรที่จะกล่าวชื่นชม หรืออาจจะมีรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ปลอบใจเขาด้วยนะคะ
ลองดูนะคะ กับวิธีที่ได้กล่าวแนะนำไป ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาแต่ก็คงดีกว่าการที่เราไปดุด่าว่าลูกด้วยคำหยาบคาย และลงโทษพวกเขาด้วยการลงไม้ลงมือแน่นอน
เครดิต: ผู้จัดการออนไลน์
คลิกอ่านเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่