ความเชื่อในการนับถือ การไหว้ผีบ้านผีเรือน …เป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ชาวนครไทย (ปัจจุบันคือ อ.นครไทย ตั้งอยู่ใน จ.พิษณุโลก) ซึ่งได้รับสืบทอดกันมาจากปู่ย่าตายายบรรพบุรุษ เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ เพราะด้วยการเป็นครอบครัวที่มีความผูกพันกันมา สิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้ก็จะสืบสาน ทำกันตามมา และเชื่อว่าถ้ากระทำแล้วจะทำให้สังคมหรือบุคคลในครอบครัวมีความสุขสงบ
การไหว้ผีบ้านผีเรือน ที่ถูกต้อง เพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัว
คนไทยเรียก ผีบ้านผีเรือน ว่า “ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน”, “ผีพ่อเฒ่าใหญ่” หรือ “ผีเหย้าผีเรือน” ซึ่งผีเหล่านี้ เป็นบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว และมีความผูกพันใกล้ชิดกับลูกหลาน เช่น ปู่ย่าตายายทั้งหลาย มีลักษณะต่างจากผีทั่วไป คือจะอยู่ในรูปของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะรูปร่างจะเหมือนคนปกติ ใส่ชุดไทย ซึ่งจะคอยคุ้มครองผู้อยู่อาศัยในบ้านให้ปลอดภัย มีความสุขสงบ
วิธีการจัดพิธีกรรมเซ่น การไหว้ผีบ้านผีเรือน
1. การจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนจึงมักจะให้ผู้สูงอายุที่มีอาวุโสมากที่สุดในบ้านเป็นผู้ทำพิธีด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความหมายต่อลูกหลานเป็นการให้ความสำคัญแก่ผู้ควรเคารพเป็นการแสดงความกตัญญูต่อทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและผู้ที่ยังอยู่ ผลของการไหว้ผีจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติทุกคน ความรู้สึกโดดเดี่ยวจึงไม่มี ทำให้ลูกหลานมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตน สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดประสงค์สำคัญที่สุดของการกราบไหว้
2. การเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนนี้นิยมกระทำในวันตรุษ วันสารท วันเกิดของบรรพบุรุษ วันเอาข้าวขึ้นยุ้ง วันรับขวัญ โดยมีวิธีการทำ นำหิ้งขนาด 1-2 ฟุต วางของใช้ของบรรพบุรุษ เช่นพระห้อยคอ หนังสือ เสื้อผ้า ฯลฯ
ผู้ทำพิธีจะเลือกเอาวันใดวันหนึ่งทำการเซ่นไหว้ บางบ้านจะเซ่นด้วยอาหารคาวหวานที่บรรพบุรุษชอบ บางบ้านเซ่นด้วยหัวหมู ไก่ หมาก พลู ขนม บุหรี่ เหล้า ดอกไม้ (นิยมใช้ดอกพุด) บางบ้านจุดตะเกียงบางบ้านจุดเทียน
ผู้ทำพิธีจะจุดธูปบอกกล่าวผีบ้านผีเรือนว่า “ลูกหลานเอาของ…………(ชื่อบรรพบุรุษ) มาเซ่นไหว้เชิญมารับประทานและขอให้คุ้มครอง………..(ชื่อของคนในบ้าน) ให้อยู่ดีกินดีและร่ำรวย”
3. พิธีนี้ชาวนครไทยเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่ทำพิธีเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน ผีจะมารบกวนคนในบ้านให้เจ็บป่วย สามี-ภรรยาจะทะเลาะกัน เด็กเล็กร้องให้ทั้งคืน
♥ บทความแนะนำควรอ่าน : ลูกร้องโคลิค สาเหตุ และวิธีแก้ไข
♥ บทความแนะนำควรอ่าน : โคลิค หรือ แม่ซื้อ สาเหตุลูกร้องไห้ไม่ยอมหยุด
♥ บทความแนะนำควรอ่าน : รวม 12 เรื่องของ เด็กแรกเกิด ที่แม่มือใหม่ต้องรู้!
4. ถ้าครอบครัวใดทำพิธีเซ่นไหว้จะมีแต่ความสุขความเจริญ
กรณีที่บ้านใดมีคนป่วยหรือมีความทุกข์ต้องการให้ผีเรือนมาช่วย ก็อาจเซ่นไหว้ และเมื่อหายทุกข์หรือหายป่วย จะต้องเซ่นไหว้หรือแก้บนตามที่บอกกล่าวผีบ้านผีเรือนไว้
แต่สิ่งสำคัญก็คือ การอุทิศโมทนาบุญไปให้ท่านเหล่านั้น คือการบอกให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นให้ทราบ เมื่อท่านทราบแล้วจะได้โมทนาบุญคุณความดีต่อไป แล้วไปเกิดยังภพใหม่ที่สูงกว่าและมีความสุขมากขึ้นไปกว่านี้นั่นเอง
อ่านต่อ >> “พิธีการไหว้แม่ซื้อให้ดูแลลูกน้อย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ปัจจุบันด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าทั้งการแพทย์และสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างทั่วถึง ความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวอาจจะลดน้อยถอยลงหรือสูญไปแล้วก็ได้ เพราะสมัยนี้เมื่อเด็กป่วย พ่อแม่ก็พาไปหาหมอได้ทันที แต่สิ่งเหล่านี้ก็ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงภูมิปัญญาและแนวคิดของคนในอดีตที่พยายามคิดค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะปกป้องลูกหลานของตนให้มีชีวิตอย่างปกติสุข หลีกเลี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย อีกทั้งยังเป็นสร้างขวัญและกำลังใจแก่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นอีกด้วย นับเป็นความชาญฉลาดของบรรพชนที่น่าศึกษาอีกกรณีหนึ่ง
แม่ซื้อคือใคร
แม่ซื้อหรือแม่เซ้อเป็นสิ่งเร้นลับที่อยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน ไม่มีตัวตน จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่ปรากฏชัด แต่เชื่อกันว่าทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 12 ขวบ ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิด และพฤติกรรมของชาวบ้านกลุ่มนั้นอย่างลึกซึ้ง เพราะมีการสืบทอดปลูกฝังสืบต่อกันมาหลายชั่วคน
ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า แม่ซื้อ คือ เทวดาหรือผีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก เทวดาหรือผี ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงอมุนษย์ คือบางแม่ซื้อเป็นเทวดา บางแม่ซื้อก็เป็นผี แม่ซื้อจะเข้ามาสถิตในบ้านที่มีเด็กอ่อน หรือเด็กทารกแรกเกิด โดยการสิงสถิตจะเข้ามาดูแลรักษาดูแลทารก เวลาจะชมเด็กที่น่ารักก็ให้ชมว่า “น่าเกลียดน่าชัง” มิเช่นนั้นแม่ซื้อจะรู้ว่าหน้าตาเด็กน่ารักจนอยากเอาไปอยู่ด้วย กับยังมีการให้ผู้อื่นรับซื้อเด็กไป เพื่อให้ผีเข้าใจว่าแม้แต่แม่ยังไม่รัก ไม่อยากได้ไว้ ผู้ที่ซื้อเด็กจึงมีชื่อเรียกว่า แม่ซื้อ
แม่ซื้อ ในลักษณะทั่วไปกล่าวว่าเป็นเทวดา คงคิดกันแล้วว่าคงสวยสดงดงาม แล้วถ้าเรียกว่าผีล่ะ คงจะจินตนาการกันว่าน่าเกลียดน่ากลัว แม่ซื้อไม่ได้น่าเกลียดอย่างที่หลายคนคิด แม่ซื้อทั้งเจ็ด มีที่สิงสถิตอยู่ในเมืองบน เมืองล่าง และกลางหน
ตามความเชื่อว่าหากเด็กทารก คลอดให้นำรกเด็กไปฝังไว้ตามที่อยู่ของแม่ซื้อ จะทำให้แม่ซื้อรักใคร่ หากไม่เช่นนั้นแล้ว แม่ซื้อจะคอยหลอกหลอนทารกให้เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อใดที่แม่ซื้อสิงสถิตจะสำแดงให้ทารกเจ็บป่วยตามลักษณะอาการของโรคแม่ซื้อ
พิธีกรรมการทำแม่ซื้อ
คือ พิธีกรรมบูชาแม่ซื้อนั่นเอง เพื่อขอให้แม่ซื้อเอาใจใส่ดูแลลูกน้อยทารกให้มากขึ้น ให้หายจากอาการตกใจกลัวหรืออาการหวาดสะดุ้งผวา จนไม่เป็นอันกินอันนอน กระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วย
ซึ่งเมื่อเด็กทารกมีอาการดังกล่าว พ่อแม่ก็จะไปหาหมอเฒ่าประจำบ้านมา “ทำแม่ซื้อ” สิ่งของที่หามามีบายศรี และเครื่องสังเวยแม่ซื้อและตายายประจำบ้าน ได้มีการประกอบพิธีกรรมอยู่เป็นเวลานานพอสมควร
แม้ว่าแม่ซื้อจะเป็นพี่เลี้ยงทารกก็จริง แต่บางครั้งก็ให้โทษด้วยเช่นกัน เพราะอาจหยอกล้อเด็กทารกแรงเกินไป ด้วยการแปลงกายเป็นสัตว์ต่าง ๆ เป็นยักษ์เป็นมาร ฯลฯ มาหลอกหลอนเด็กจนทำให้เด็กทารกตกใจกลัวป่วยไข้ไป ดังความว่า “เป็นช้างเสือสีห์ เป็นแร้งเป็นกาเป็นครุฑเลียงผา เป็นควายเป็นวัว เป็นนกเงือกร้อง กึกก้องพองหัว ตัวเป็นตัววัว หัวเป็นเลียงผา บ้างเป็นงูเงือก หน้าลาตาเหลือก ยักคิ้วหลิ่วตา บิดเนื้อบิดตัว น่ากลัวนักหนาตัวเป็นมฤคา เศียรากลับผัน เป็นยักษ์ขินี เติบโตพ่วงพี ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ทารกเห็นร้อง ขนพองตัวสั่น ดิ้นด้าวแดยัน กายสั่นรัวรัว ให้ร้อนให้เย็น ร่างกายแข็งเข็ญ เป็นไข้ร้อนตัวท้องขึ้นท้องพอง เจ็บป่วยปวดหัว แม่ซื้อประจำตัว ทำโทษโทษา”
การทำแม่ซื้อเชื่อกันว่าจะช่วยให้ความเป็นไปของทารกเช่นที่กล่าวมานั้นหายเป็นปกติได้และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เด็กก็อาจจะทำแม่ซื้อขึ้นโดยที่เด็กไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ได้ ในแต่ละท้องถิ่นมีการทำแม่ซื้อแตกต่างกัน บางแห่งจะทำยันต์แม่ซื้อแขวนไว้ที่เปลของเด็กก็มี
อ่านต่อ >> “พิธีทำขวัญให้ทารก” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
พิธีทำขวัญทารก เมื่อเกิดตั้งแต่ 1 วัน ถึง 3 วัน
สมัยโบราณมานิยมทำพิธีจัดการทำขวัญให้แก่ทารกนับแต่กำเนิดจากท้องแม่วันแรก และต่อไปโยไม่เกิน 7 วัน เพราะในระหว่างนี้นับว่าทารกนั้นยังไม่รู้เดียงสาจริงๆแม้แต่ดวงตาจะลืมอยู่ก็ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เสมอเหมือนคนหลับตาอยู่เฉยๆเท่านั้น เมื่อพ้น 7 วันไปแล้วจึงจะเกิดความรู้สึกจากม่านตา คือรู้จักดู รู้จักสังเกต เริ่มมองและจำหน้าพ่อแม่ ฉะนั้นพ่อแม่จึงจัดการทำขวัญของทารกให้อยู่กับเนื้อกับตัวและเป็นสิริมงคลแก่ทารกสืบไป
♥ บทความแนะนำควรอ่าน : โกนผมไฟ ประเพณีไทยทำอย่างไรให้เป็นมงคล?
ทำขวัญวัน
เมื่อทารกมีอายุ 3 วันแล้ว พ่อแม่จะจัดการทำขวัญให้แก่เด็ก เรียกว่า “ทำขวัญวัน” พิธีนี้ไม่นับว่าเป็นพิธีใหญ่โตนัก เพราะทำกันในระหว่างวงศาคณาญาติ ไม่ต้องนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ (หากมีการติดขัดที่จะทำขวัญในระยะ 3 วันมิได้ เช่น ญาติผู้ใหญ่ยังไม่พร้อมเพรียงกัน หรือบิดามารดาของเด็กมีกิจธุระอย่างอื่นที่จำเป็น ก็เลื่อนไปได้โดยอย่าให้เกิน 7 วัน เช่น ทำในวันที่ 5 หรือที่ 7 แต่ถ้าไม่มีอุปสรรคอย่างใดแล้วพึงกระทำภายในวันที่ 3 ได้เป็นดี) พิธีทำขวัญนั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้
- จัดทำบายศรีปากชาม 1 ที่
- จัดเครื่องสังเวยเล็กน้อย เช่น หมู(หัวหมูหรือเนื้อสามชั้น ที่เรียกว่า”หมูนอนตอง”)เป็ด ไก่ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว และเครื่องกระยาบวช(แกงบวชฟักทองหรือมันเทศ)
- จัดทำบัตรพลีและเครื่องเซ่น คือ มีกระทงใส่ข้าวปากหม้อ และกุ้งพล่า ปลายำ วางไว้ในบัตรสี่มุม กับเอาเบี้ยใส่ไว้ด้วย 33 เบี้ย (ปัจจุบันนี้ใช้เงินเหรียญแทน) และปั้นเป็นรูปหุ่นทารกใส่ไว้ 1 หุ่น (มักใช้ปั้นด้วยแป้ง)
- ขันใส่น้ำอุ่นๆ 1 ใบ กับช้อนเล็กๆ 3 คัน
- ด้ายสายสิญจน์พอรอบข้อมือ 2 เส้น ด้ายดำด้ายขาวควั่นเข้ากัน 1 เส้น เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม ธูปเทียนบูชา 1สำรับ
- เครื่องแป้งหอมกระแจะจันทน์เคล้าน้ำหอม สำหรับเจิม
- เชิญพราหมณ์ โหร หรือผู้รู้สำหรับกล่าวคำทำขวัญเด็ก
- เชิญญาติมิตรที่เคารพมาร่วมงานตามสมควร
ครั้นแล้วพราหมณ์หรือโหร หรือผู้รู้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พร้อมกับกล่าวคำอัญเชิญเทวดาและกล่าวคำทำขวัญเด็ก
(หมายเหตุ ถ้าจะไม่ใช้พราหมณ์ หรือโหรมากล่าวคำทำขวัญ จะให้ผู้ใหญ่ที่มาในงานนั้นทำแทนก็ได้ หากไม่รู้ทำนองกล่าวคำทำขวัญ ก็ให้ใช้คำพูดธรรมดา เชิญเทวดามาช่วยปกปักรักษา ขอให้มีความสุขสวัสดีแก่เด็ก ฯลฯ)
ครั้นเสร็จการกล่าวทำขวัญแล้ว ให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ ณ ที่นั้นหยิบด้ายดำด้ายขาวที่ควั่นรวมกันไว้มาลูบแขนเด็กทั้ง 2 ข้าง วิธีลูบให้ลูบจากเหนือข้อมือออกมาทางปลายนิ้วมือ (ลูบออก) เพื่อปัดเคราะห์โศกโรคภัยให้ออกไป เมื่อลูบเสร็จแล้วเอาด้ายเส้นนั้นเผาไฟเทียนที่จุดเตรียมไว้ 1 เล่มนั้นเสีย จึงหยิบเอาด้ายสายสิญจน์มาผูกข้อมือข้างละเส้น ก่อนผูกด้ายสายสิญจน์ ตอนนี้ให้ลูบเส้นด้ายจากปลายนิ้วเข้าไปหาข้อมือของเด็ก (ลูบเข้า) พลางก็กล่าวคำอวยชัยให้พร ให้มีอายุมั่นขวัญยืน เติบโตขึ้นทำราชการ ได้เป็นเจ้าขุนมูลนายเจ้าพระยานาหมื่น หรือถ้าเป็นเด็กหญิงก็อวยพรให้อยู่ในแนวทางของสตรีเพศ เช่น ให้ได้เป็นคุณหญิงคุณนาย ได้เป็นที่พึ่งแก่พ่อแม่ต่อไปในภายภาคหน้า
เมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้ว จึงเอากระแจะหอมจุณเจิมที่หน้าผาก แล้วเอาช้อนตักน้ำในขันให้เด็กกิน 5 ช้อน หากจะมีการเวียนเทียนด้วย ก็กระทำในระยะนี้ แล้วจึงให้บรรดาญาติที่มาต่างก็พากันให้ศีลให้พร เป็นเสร็จพิธี
และเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ให้เอาข้าวและไข่ที่บายศรีออกเสีย รวบเอาใบตองบายศรีมัดห่อผ้าวางไว้ข้างเบาะเด็กครบ 3 วัน จึงนำไปลอยในแม่น้ำหรือลำคลองที่น้ำไหลอยู่เสมอ ส่วนเครื่องสังเวยนั้นให้แบ่งออกสิ่งละเล็กละน้อย ใส่กระทงหรือใบตองไปวางเซ่นฝีไว้กลางแจ้ง
(หมายเหตุ เครื่องเซ่นที่วางไว้ในบัตรพลีนั้น เป็นเครื่องสำหรับเซ่นแม่ซื้อ รูปหุ่นสมมติว่าเป็นหุ้นแทนทารก เพื่อให้แม่ซื้อลงไปกินเครื่องเซ่น และพะวงอยู่กับหุ่นแทนตัวเด็ก โยไม่มารบกวนหรือรังแกเด็กต่อไป)
ส่วนเบี้ย 33 เบี้ยนั้น เป็นเบี้ยค่าขอซื้อหรือค่าไถ่ตัวทารกมาจากแม่ซื้อ เพราะถือว่าแม่ซื้อบางตนดุร้าย มักรบกวนทำให้ทารกเจ็บป่วยล้มตาย จึงขอไถ้คืนมา จำนวนเบี้ย 33 เบี้ยนั้น คงเป็นอาการ 32 อย่างละเบี้ย ส่วนอีกเบี้ยหนึ่งจะเป็นเบี้ยแถมให้เกินเลยเผื่อไว้
ทั้งนี้ทั้งนั้นจากพิธีกรรมความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมการไหว้ผีบ้านผีเรือนจะทำให้คนในครอบครัวมีแต่ความสุข ความเจริญกันแล้ว พิธีกรรมการทำแม่ซื้อ เพื่อขอให้แม่ซื้อเอาใจใส่ดูแลลูกน้อยทารก และการทำขวัญวันให้ลูกน้อยแรกเกิด แท้จริงความเชื่อนี้ก็เป็นเพื่อให้ผู้ทำเกิดความสบายใจ
ซึ่งนอกจากวิทยาการเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ หรือข้อมูลการเลี้ยงลูกต่างๆ จะช่วยดูแลลูกน้อยให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้ แต่พิธีกรรมความเชื่อโบราณเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร สามารถทำได้ แต่หากบางคนจะเชื่อหรือไม่นั้นก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล คุณพ่อคุณแม่โปรดใช้วิจารณญาณด้วยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- จริงหรือไม่? 8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพแม่และลูก
- 10 ความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับลูกเบบี๋ที่แม่ควรรู้!
- วิธีขอขมาพ่อแม่ เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง เรื่องสำคัญที่ลูกควรทำ!
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.prapayneethai.com , horoscope.sanook.com , sites.google.com