AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

[Mom diary แม่โอ] ถูก-ผิด คิดไม่ยาก

ในโลกที่ “ความถูก ความผิด เริ่มละลายปนกัน จนแบ่งขอบเขตไม่ค่อยชัดเจนนอกจากศีลธรรมขั้นพื้นฐานแล้ว เราจะสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะว่า อะไรถูก อะไรผิด ได้อย่างไร? อืม…ฟังแล้วเหมือนยาก แต่จริงๆ แล้ว พอไหวค่ะ!

มองโลกให้ครบ

ก่อนจะรู้ว่า “ถูกและผิด” ต่างกันอย่างไรนั้น เด็กๆ ต้องเรียนรู้ที่จะ “มองโลกให้ครบ 360 องศา” ซะก่อน วิธีสอนลูกก็คือ เมื่อลูกมีเรื่องมาร้องเรียน ดิฉันจะไม่ปักธงว่า ใครผิดใครถูก แต่จะใช้เวลาซักไซ้ไล่เรียง… การไต่ถามเรื่องราว ไม่ใช่ “การจับผิดลูก” แต่เป็นการ “ช่วย” ให้ลูกเรียนรู้ที่จะ “ลำดับเหตุการณ์และเรียบเรียงเนื้อความ” ให้ถูกต้อง จากที่เคยเล่าแต่ฉากดราม่าเคล้าน้ำตาของตัวเอง ก็จะกลายเป็นค่อยๆ เล่าว่า ตัวเองก็มีส่วนเล่นเป็นผู้ร้ายอยู่หลายฉากเหมือนกันแฮะ! อารมณ์ที่พลุ่งพล่านจึงสงบลง และมีดวงตาที่ “ยอมรับความจริง” และ “เห็นความถูกต้อง” ได้ด้วยตัวเองค่ะ… เราไม่จำเป็นต้อง “บังคับ” ให้ลูกเห็นความถูกต้อง แต่จง “ช่วย” ให้เขาเห็นความถูกต้องนั้นด้วย “ตัวเอง” ลูกจึงสามารถแยกแยะความถูกผิดในชีวิตได้

ผลถูก วิธีต้องถูก

ดิฉันย้ำเสมอว่า “ถ้ามั่นใจว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ก็ต้องเลือกวิธีที่ถูกต้องด้วย จึงจะได้ผลลัพธ์เป็นความถูกต้อง” …. หากโดนแกล้งมา ต้องไม่แกล้งกลับ เพราะจากที่เคยเป็นฝ่ายถูก ก็จะกลายเป็นฝ่ายผิดเสมอกัน… หลังจากบ่มเพาะและฝึกกันมานาน ลูกๆ จึงซึ้งดีว่า การคิดเช่นนี้จะช่วยให้ “มีสติ และอดทนอดกลั้น” มากขึ้น จากที่เคยรู้สึกว่า ต้องเอาคืนในทันที ก็จะยับยั้งชั่งใจได้ว่า ถ้าต้องการพิสูจน์ความถูกต้องของตัวเองล่ะก็ คงต้องหาวิธีอื่นที่สร้างสรรค์แล้วล่ะ

แน่นอนว่าตอนกำลังโมโหอยู่ลูกจะหาออกที่ “ถูกต้อง” ไม่เจอหรอกค่ะ เราจึงต้องเริ่มจากการ “รับฟังความรู้สึก” ที่เขามี ต่อให้ดราม่าเข้าข้างตัวเองก็อย่าไปเพิ่งขัดจังหวะ… เมื่อลูกมั่นใจว่า เราเข้าใจเขาแล้ว จึงค่อยแลกเปลี่ยนความคิดกับลูกว่ามีทางออกที่ “สร้างสรรค์” อะไรให้เลือกบ้าง วันหนึ่งจึงลูกกลับมาเล่าว่า เขาเลือกไม่เอาคืนเพื่อน แต่ขอให้เพื่อนคนอื่นเป็นพยานกับสิ่งที่เกิดขึ้นแทน พอครูไต่สวน จึงได้รับความยุติธรรม ลูกรู้สึกเลยว่าคุ้มค่ามากที่ “เลือกวิธี” ถูกต้อง เพื่อ “รับผล” ถูกต้องค่ะ เย้!

ความถูกต้อง ไม่มีในคนพาล

ดิฉันเคยอ่านนิทานอีสปเรื่อง “หมาป่ากับลูกแกะ” ให้ลูกฟัง เรื่องมีอยู่ว่าหมาป่าหาเรื่องอยากกินลูกแกะ ส่วนลูกแกะก็ให้เหตุผลสารพัดว่า ทำไมจึงไม่ควรกินมัน แต่สุดท้ายหมาป่าก็จับลูกแกะกินอยู่ดี! อ่านจบปุ๊บ เด็กๆ สงสัยปั๊บว่า ทำไมจบแบบนี้ล่ะ! ก็ให้เหตุผลแล้วนี่! แต่ในที่สุดก็เข้าใจว่า จงอย่าเสียเวลาคุยกับคนพาล เพราะ “ความถูกต้อง” ไม่มีในคนพาลนั่นเอง… สิ่งที่นำมาสอนลูกก็คือ

หนึ่ง จงอย่าทำตัวเป็น “คนพาล” ที่อ้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ทั้งที่รู้ว่ากำลังทำผิด

สอง หากตกอยู่ในสถานะของลูกแกะ ก็จงอย่าเสียเวลาคุยหรือให้เหตุผลกับคนพาล ทางออกที่ถูกต้องก็คือ จงเดินจากไปซะ… คนพาลเหมือนเหวมืด เราไม่จำเป็นต้องกระโดดลงไปเพื่อพิสูจน์ความกล้า แค่ก้าวข้ามผ่านก็พอ… นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้ลูกแยกแยะได้อีกขั้นว่า การหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ไร้เหตุผล ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นการ “ใช้สติ” ค่ะ

จริงวันนี้ จริงวันหน้า

ดาวพลูโตเคยอยู่ในระบบสุริยะของเราจากนั้นก็โดนไล่ออกไป และเพิ่งได้รับเชิญกลับมาอย่างสมเกียรติอีกครั้งไม่นานมานี้… วิทยาศาสตร์จึงสอนให้ลูกๆ เรียนรู้สัจธรรมข้อหนึ่งว่า “ทฤษฎี ความถูกต้อง ความจริง ในวันนี้ สามารถถูกล้มล้างด้วย ความถูกต้องและความจริงในวันหน้าได้” เราจึงต้องสอนลูกให้พร้อม “เปิดใจยอมรับ” ความเปลี่ยนแปลงของความรู้ และความถูกต้อง “ใหม่” ด้วยนะคะ… ถูกผิด คิดไม่ยากเลย จริงไหมคะ

 

บทความโดย : ชิดชนก ทองใหญ่ ณ อยุธยา

ภาพ : shutterstock