เพราะแม่ลูก(ในท้อง) สื่อถึงกันได้ การ อ่านนิทานให้ลูกในท้องฟัง ก็เป็นการกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินของลูกในท้องอย่างหนึ่ง ในขณะที่อยู่ในครรภ์ ลูกจะสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกผ่านจากการฟังเสียง หากคุณพ่อคุณแม่คอยพูดคุยหรือ อ่านนิทานให้ลูกในท้อง ฟังบ่อยๆ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และ ยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการได้ยิน ให้มีพัฒนาการที่ดีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด และเตรียมพร้อมสำหรับการสื่อสาร การพูด และพัฒนาการด้านภาษาหลังคลอดได้อีกด้วย
อ่านนิทานให้ลูกในท้องฟัง ดีอย่างไร?
ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปในการเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟัง
เนื่องจากระบบประสาทสัมผัสหูของทารกในครรภ์ จะเริ่มสร้างเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 18 สัปดาห์ และจะสมบูรณ์เมื่ออายุครรภ์ได้ 24-26 สัปดาห์ ลูกในท้องจะรับรู้เสียงได้แล้ว แต่เสียงที่ได้ยินจะเป็นเสียงที่ไม่ชัดเจน อื้อๆ เช่น เสียงหัวใจเต้น เสียงการเคลื่อนไหวที่อยู่ในร่างกายคุณแม่นั่นเอง แต่อย่าลืมว่าเสียงที่ลูกในท้องจะได้ยินอีกเสียงก็คือเสียงของคุณแม่เองด้วย เพราะเสียงจากคุณแม่มีแหล่งกำเนิดมาจากกล่องเสียงที่คอ ซึ่งอยู่ในร่างกายของคุณแม่นั่นเอง ดังนั้นหากคุณแม่คอยพูดคุยกับลูกในท้องบ่อยๆ หรืออ่านนิทานด้วยน้ำเสียงที่ผ่อนคลาย อย่างน้อยที่สุด ลูกในท้องก็จะรับรู้ว่าคุณแม่กำลังอารมณ์ดีอยู่นะ และสิ่งนี้จะส่งผลให้ลูกในท้องรู้สึกผ่อนคลายไปด้วย ทั้งนี้ คุณพ่อก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ด้วยนะคะ เพราะจะยิ่งช่วยทำให้บรรยากาศในการเล่านิทานสนุกสนานมากขึ้นไปอีกด้วย
เคล็ด(ไม่)ลับ ในการ อ่านนิทานให้ลูกในท้องฟัง
- ใช้เวลาอ่านนิทานในเวลาเดิมทุกวัน ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดคือช่วงเวลาที่คุณแม่พักผ่อน อาจจะเป็นช่วงก่อนนอน หรือช่วงเช้าที่เพิ่งตื่นนอนก็ได้ เพราะจะเป็นช่วงที่คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด คุณแม่สามารถใช้ช่วงเวลานี้เอนหลังพักผ่อนจากวันที่วุ่นวาย ยังเป็นช่วงเวลาทองที่คุณแม่จะได้เชื่อมความสัมพันธ์ ทำความรู้จักกับลูกในท้องอีกด้วย
- แต่หากไม่สามารถทำได้ในเวลาเดิม ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ ในความเป็นจริงแล้ว สามารถทำในเวลาไหนก็ได้ค่ะ
- ให้คุณพ่อมาร่วมอ่านนิทานให้ลูกฟังได้ด้วย นอกจากจะช่วยทำให้บรรยากาศการเล่านิทานสนุกสนานมากขึ้น ยังช่วยให้คุณพ่อได้เชื่อมสายใยความผูกพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้อีกด้วย และอาจจะเป็นโอกาสให้ลูกในท้องจำเสียงคุณพ่อได้อีกด้วยนะ
- สามารถใช้หลักการเดียวกันกับข้อ 3 กับพี่สาวและพี่ชาย คุณแม่สามารถให้พี่สาวและพี่ชายได้มีส่วนร่วมในการอ่านนิทานได้ค่ะ ลูกที่อยู่ในท้องก็จะได้คุ้นเสียงของพี่ๆ และพี่ๆ ก็จะรู้สึกตื่นเต้นที่มีหน้าที่ช่วยคุณแม่เลี้ยงน้อง ทำให้รู้สึกไม่ต่อต้านการมีน้องไปด้วยค่ะ วิธีนี้ผู้เขียนได้เคยลองใช้กับลูกของผู้เขียนเองแล้ว โดยพี่สาวจะมีหน้าที่ร้องเพลงกล่อมให้น้องในท้องนอนทุกวัน โดยใช้เพลง Twinkle Twinkle Little Star เมื่อน้องคลอดออกมาแล้ว เมื่อไรที่น้องร้องไห้ พี่สาวจะร้องเพลงนี้ให้น้องฟัง แล้วน้องก็จะหยุดร้องและฟังทุกครั้ง (แต่กับเพลงอื่น น้องก็จะไม่หยุดร้องค่ะ)
- เลือกนิทานที่ใช้เสียงสูงต่ำในการเล่า หรือจะเลือกนิทานที่เป็นกลอนก็ได้ค่ะ เพราะลูกที่อยู่ในท้องจะตอบสนองกับโทนเสียงและจังหวะในการพูดมากกว่าคำพูด การมีโทนเสียงที่หลากหลายจึงสำคัญต่อการเล่านิทานให้ลูกในท้องฟังค่ะ
- ไม่ต้องแปลกใจหากลูกในท้องดิ้นหรือตอบสนองต่อเสียงของคุณแม่ แล้วคุณแม่จะมีความสุขในช่วงเวลาที่ได้เชื่อมต่อกับลูกในท้องค่ะ
อ่านต่อ ประโยชน์ของการอ่านนิทานให้ลูกในท้องฟัง และ การอ่านนิทานให้ลูกในท้องฟังทำให้ลูกฉลาดขึ้นหรือไม่