AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิจัยเตือนพ่อ! พิษจากควันบุหรี่อันตรายกว่า ฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5

ในช่วงนี้ที่ ฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่สูดดมเข้าไป โดยเฉพาะในคนท้อง ผู้ป่วย และเด็กเล็ก ทำให้ผู้คนต่างแตกตื่นหาซื้อหน้ากากกันฝุ่นมาสวมใส่ แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งที่อันตรายใกล้ตัวกว่านั้น กลับไม่ใช่ฝุ่นแต่เป็นพิษจากควันบุหรี่ที่พ่อสูบนั่นเอง

วิจัยเตือนพ่อ! พิษจากควันบุหรี่อันตรายกว่า ฝุ่น PM 2.5

ในขณะนี้ที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งเริ่มจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับผู้คนที่สูดดม ทางกรมควบคุมมลพิษจึงได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นก็ควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้

โดยค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษกำหนดว่าเริ่มมีผลต่อสุขภาพนั้น จะต้องมีค่ามากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ ที่ได้รับรายงานนั้น มีค่าสูงสุดอยู่ที่ 163 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อ่านแล้วดูน่ากลัวใช่ไหมล่ะคะ แต่ทราบหรือไม่ ว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่ว่าร้ายนั้น ดูอันตรายน้อยไปเลยเมื่อนำมาเทียบกับพิษจากควันบุหรี่!!

การสูบบุหรี่ 1 มวนจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเทียบเท่า ฝุ่น PM 2.5 = 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลองคำนวณแบบง่าย ๆ ดูนะคะว่าหากสูบบุหรี่วันละ 10 มวน จะทำให้ผู้สูบและคนรอบข้าง ซึ่งอาจจะเป็น ผู้ใหญ่ ผู้ป่วย ลูกน้อยตัวเล็ก ๆ ได้รับมลพิษเทียบเท่ากับการสูดดม ฝุ่น PM 2.5 ถึง 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอนำผลวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัย California, Berkeley มาให้ได้อ่านกัน ดังนี้ค่ะ

พิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีค่าเกินมาตรฐานอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

นักวิจัยชี้สูบบุหรี่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่น่ากลัวเท่าพิษจากควันบุหรี่ สูบบุหรี่ 1 มวนจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเทียบเท่า PM 2.5 = 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยมีนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา Dr. Richard Muller จากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัย California, Berkeley ได้ทำการคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า การสูบบุหรี่ 1 มวนจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเทียบเท่า PM 2.5 = 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถผ่านเข้าสู่ปอด กระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมายทั้งโรคปอด หอบหืด โรคหัวใจและมะเร็ง เป็นต้น

ปัจจุบันที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ล่าสุดมีรายงานค่า PM 2.5 สูงถึง 163 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในกรุงเทพ ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่จะเทียบเท่ากับคนกรุงเทพที่ได้รับพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณดังกล่าวสูบบุหรี่หรือรับควันพิษจากบุหรี่คนละ 7.4 มวนต่อวัน

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2560 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่จำนวน 10.7 ล้านคน โดยเฉลี่ยสูบคนละ 10 มวนต่อวัน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าผู้สูบบุหรี่รวมทั้งคนใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่จะได้รับมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 สูงถึง 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านจากคนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันพบคนไทย 18 ล้านคน (32.7%) ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และในจำนวนนี้กว่า 13 ล้านคน (73.8%) ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านทุกวัน

ขอบคุณข่าวจาก : https://www.hfocus.org/content/2019/01/16746

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ อันตรายจากควันบุหรี่มือสอง

ฝุ่น PM 2.5 ที่ว่าร้าย ยังอันตรายไม่เท่า “พิษจากควันบุหรี่มือสอง”

อันตรายจากควันบุหรี่มือสอง

  1. แม่ท้องและลูกในท้อง
    • แม่ท้องที่สูดดมควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ โดยอาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด และเกิดอาการไหลตายในเด็กสูงขึ้น
    • ลูกในท้อง มีความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักตัวแรกคลอด และความยาวน้อยกว่าปกติ และอาจเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท  และระบบความจำ
    • พิษจากควันบุหรี่มือสองเป็นอันตรายกับทุกคนไม่เว้นแม้แต่กับลูกในท้อง

  2. เด็กเล็ก
    • เด็กเล็กที่สูดดมควันบุหรี่ จะทำให้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอมลมอักเสบ ปอดบวม และมีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น
    • เกิดโอกาสในการติดเชื้อของหูส่วนกลางเพิ่มขึ้น
    • โดยในระยะยาว เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะมีพัฒนาการของปอดน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
  3. ผู้ใหญ่
    • เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 25-30%
    • มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 20-30%
    • เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่ลำคอมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ 3 เท่า
    • เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ กล่องเสียง  ช่องปาก หลอดอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ  มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ถึง 2 เท่า
    • ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดหัวใจทันทีที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง
    • สำหรับผู้ที่มีอาการ หอบ หืด โรคหัวใจ และโรคหลอดลมอักเสบ จะทำให้อาการของโรคเพิ่มมากขึ้น

พิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ยังสามารถเลี่ยงได้โดยการไม่อยู่ในที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน และสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น แต่พิษจากควันบุหรี่มือสองจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะอยู่ในที่กลางแจ้งหรือไม่ พิษนี้ก็จะตามตัวเราไปในทุก ๆ ที่ ดังนั้น เรามารณรงค์ให้คนข้าง ๆ เลิกสูบบุหรี่กันดีกว่าค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เบคอน อาหารปลิดชีวิตคนจากมะเร็งได้พอ ๆ กับบุหรี่

ปอด อักเสบ ติดเชื้อ เพราะควันบุหรี่มือสอง

รีวิว หน้ากากกันฝุ่น PM2.5 เลือกใส่แบบไหน ปลอดภัยทั้งแม่และลูกน้อย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids