AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

4 พฤติกรรมที่พ่อแม่..ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

การใช้ความรุนแรงในการทำร้ายจิตใจเด็กผ่านคำพูดหรือพฤติกรรมต่าง ๆ นั้น แม้ไม่ทำให้ลูกบาดเจ็บทางร่ายกาย แต่ก็สร้างบาดแผลในใจให้กับลูกได้ หยุด ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้!

4 พฤติกรรมที่พ่อแม่..ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

ลูกคือกระจกเงาที่สะท้อนพ่อแม่ ดังนั้น ทุก ๆ พฤติกรรม คำพูด การเลี้ยงดู และการกระทำต่าง ๆ ของพ่อแม่ ล้วนส่งผลถึงลูกในอนาคตได้ สิ่งนี้เรียกว่า อาการตอบสนองทางการเลี้ยงดูของพ่อแม่และครอบครัว หากพ่อแม่ไม่ระวังพฤติกรรมและการกระทำของตนเอง ก็อาจเสี่ยงทำให้ลูกเสียใจได้ และหากพ่อแม่ยังคงทำพฤติกรรมเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ลูกเก็บกดได้

คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่าการทำร้ายลูกไม่ได้มีแค่การทำร้ายร่างกายเท่านั้น บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะกำลัง ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว อยู่ก็ได้ มาดูกันดีกว่าว่าพฤติกรรมแบบไหนที่แสดงว่าคุณกำลังทำร้ายลูกอยู่

พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้หากไม่อยากให้ลูกเสียใจ

4 พฤติกรรมที่พ่อแม่..ทำร้ายลูกโดยที่ไม่รู้ตัว

  1. ต่อว่าลูกต่อหน้าคนอื่น

หน้าที่ในการสั่งสอน อบรมดูแลลูกนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่อยู่แล้ว แต่การว่ากล่าวตักเตือนนั้น ควรทำไปด้วยเหตุผลเหนืออารมณ์ ไม่ควรเอาอารมณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง และอย่าลืมว่าลูกก็อายเป็น การเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) ของลูกจะถูกทำลายลงหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้เกียรติลูก ไม่มีใครอยากถูกมองในขณะที่ตนเองกำลังถูกดุอยู่หรอกค่ะ ก็เหมือนตอนที่เรากำลังทำอะไรซักอย่างผิด เราก็คงไม่อยากไปโพนทะนาให้ทุกคนรู้ว่าเรากำลังทำผิดอยู่ ลูกของเราก็เช่นกันค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูด้วยว่าเวลาไหนถึงจะเหมาะสม หากลูกทำผิดในขณะที่อยู่ในที่สาธารณะ มีผู้คนมากมาย คุณพ่อคุณแม่อาจจะเตือนลูกด้วยเหตุผลดี ๆ และหากลูกยังไม่ฟัง อาจจะพูดว่าเราอาจจะต้องคุยกัน แล้วพาลูกออกมาคุยกันส่วนตัวที่บริเวณอื่น ๆ แทน

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ 4 พฤติกรรมที่พ่อแม่..ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

4 พฤติกรรมที่พ่อแม่..ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

2. อย่าพูดว่าไม่รัก

ไม่มีเด็กคนไหนไม่อยากให้พ่อแม่รักหรอกค่ะ ลูกต้องการความรักต่อพ่อแม่ แม้ว่าเราจะกระทำให้ลูกเห็นว่าเรารักลูกมากแค่ไหน แต่การพูดว่า ถ้าทำอย่างนี้ จะไม่รักแล้วนะ ก็สามารถบั่นทอนความรู้สึกและความมั่นใจว่าพ่อแม่รักไปได้มากเลยทีเดียวค่ะ อย่าใช้ความรักมาเป็นข้อต่อรองในการกระทำใด ๆ ก็ตามของลูก ควรทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่รักลูกแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะทำอย่างไรพ่อแม่ก็รักดีกว่าค่ะ

3. อย่าขู่ให้ลูกกลัว

จริงอยู่ว่าการขู่ให้ลูกกลัว จะทำให้ลูกหยุดการกระทำหรือสิ่งที่ผิดนั้น ๆ ได้ง่าย และลูกก็จะไม่ทำอีก (เพราะกลัว) แต่ในระยะยาว การขู่ให้ลูกกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี ลูกจะกลัวสิ่ง ๆ นั้นไปจนโต ดังนั้น หากต้องการขู่ลูก ควรขู่ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงหากลูกทำสิ่ง ๆ นั้น เช่น หากลูกยังคงกินแต่ขนมและไม่ยอมแปรงฟันอีก ฟันของลูกจะผุจนต้องไปถอนฟัน และไม่มีฟันให้เคี้ยวอาหารอีกจนกว่าฟันแท้จะขึ้น เป็นต้น

4. หยุดเปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนอื่น

“ดูสิลูกบ้านนั้นทำไมเรียนเก่งจัง ทำไม่ไม่เรียนเก่ง ๆ เหมือนเค้าบ้าง” “ทำไมดื้ออย่างนี้ ไม่เห็นน่ารักเหมือนน้องเค้าเลย” “เมื่อไรจะทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้เหมือนพี่เค้าบ้างนะ” แน่นอนว่าการพูดเปรียบเทียบจากปากของพ่อแม่นั้น เป็นไปด้วยความปรารถนาดี อยากให้ลูกทำตามแบบอย่างที่ดี หรืออาจจะพูดเพราะโมโห เพราะลูกทำไม่ได้ดั่งใจ แต่รู้หรือไม่คะ ว่าความปรารถนาดีเหล่านี้ กำลังทำร้ายจิตใจลูกอย่างใหญ่หลวงเลยค่ะ เพราะเด็กจะรู้สึกแย่กับตนเอง หมดความมั่นใจในตนเอง และเมื่อลูกได้รับฟังอยู่ทุก ๆ วัน ลูกจะเริ่มรู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กไม่ดี ไม่มีความสามารถทำได้เหมือนคนอื่น ทำให้รู้สึกด้อยค่า มองไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในตนเอง นานวันเข้าจะไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะขาดความมั่นใจว่าตนจะทำได้สำเร็จ

ในทางตรงข้ามเด็กบางคนอาจจะรู้สึกโกรธ อิจฉา หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้าน รุนแรง ก้าวร้าวตอบโต้กลับไป มีน้อยมากที่อาจจะฮึดสู้กับคำพูดเปรียบเทียบของผู้ใหญ่ และกลายเป็นแรงผลักดันในการทำสิ่งที่ดีๆ เพราะส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักจะทำในทางตรงกันข้าม คือทำสิ่งที่ไม่ดีตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสะใจที่พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรมองเห็นคือ เด็กแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกที่แตกต่างกันไป ทั้งหน้าตา ท่าทาง พฤติกรรมการแสดงออก รวมทั้งศักยภาพและความสามารถ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น

การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด ก้าวร้าวได้

พฤติกรรมเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงทำต่อไปเรื่อย ๆ ในตอนนี้คุณพ่อคุณแม่จะยังไม่เห็นผลกระทบต่อจิตใจลูกหรอกค่ะ แต่เมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะค่อย ๆ แสดงผลกระทบที่พ่อแม่เคยกระทำไว้ให้เห็นเอง ดังนั้น เราจึงควรหยุดสิ่งเหล่านี้ให้ได้ก่อนที่จะสายเกินแก้นะคะ ลองเปลี่ยนจากคำดุด่า เป็นคำชื่นชม เปลี่ยนสิ่งที่ลูกทำไม่ได้ดั่งใจ เป็นช่วยกันค้นหาศักยภาพในตัวของลูกด้วยกัน เปลี่ยนคำว่าไม่รัก เป็นไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรแม่ก็รัก กันดีกว่าค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

พ่อแม่จ๋า อย่าทำร้ายหนูด้วยการสอนคนละทาง

10 เคส เลี้ยงลูกดี แต่กลับทำให้เป็นเด็กมีปัญหา

รวมพฤติกรรมยอดแย่ที่พ่อแม่ไม่ควรทำต่อหน้าลูก

10 แบบอย่างที่ดี ที่พ่อแม่ควรทำให้ลูกเห็น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : siriallergyguard.blogspot.com, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids