เนื้อหาข่าวการประกาศยกเลิก สอบกลางภาค-ปลายภาค ของมาเลเซีย
Datuk Dr Amin Senin อธิบดีกรมสามัญศึกษา จากกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ระบุว่า จะใช้ระบบการประเมินผลแบบอย่างต่อเนื่อง เข้ามาแทนที่การ สอบกลางภาค-ปลายภาค อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอนและเรียนรู้ผ่านระบบ Classroom-Based Assessment (PBD)
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2018 นาย Maszlee Malik รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยเปรยไว้ผ่านทวิตเตอร์ว่าจะตัดการ สอบกลางภาค-ปลายภาค ของเด็กชั้นป. 1-3 ออก ในปี 2019 และจะทดแทนด้วยแบบประเมินตามวัตถุประสงค์ ซึ่งตอนนี้ก็ถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรสำหรับปีการศึกษาหน้าแล้ว
ทั้งนี้ Dr. Amin ได้อธิบายไว้ว่า การถูกยกมาเปรียบเทียบและการแข่งขันระหว่างโรงเรียน จะกลายมาเป็นการตั้งมาตรฐานสำหรับการสอบต่างๆ เมื่อเด็กถูกเปรียบเทียบก็อาจจะหมดกำลังใจ ส่งผลกระทบด้านลบจนไม่อยากเรียน
เพราะฉะนั้นการให้ความสำคัญกับนักเรียนแต่ละคน ก็ควรจะมีให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตามความถนัดของตัวเอง โดยไม่ใช้เพียงแค่ข้อสอบเป็นตัวชี้วัดความรู้และความสามารถ
เขามีความเชื่อมั่นว่า ระบบ PBD จะช่วยเพิ่มความสนใจในการเรียนรู้ของนักเรียน เพิ่มความสนุกควบคู่ไปกับสาระที่จำเป็น
และโฟกัสที่ความต้องการของเด็กเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะพื้นฐานทั้ง 4 ด้านให้แข็งแกร่งมากขึ้น (อ่าน, เขียน, การนับเลข และการใช้เหตุผล)
“เด็กๆ จะได้รับการวัดผลอย่างต่อเนื่องด้วย รูปแบบการประเมินที่หลากหลาย ทั้งด้านความรู้ทางวิชาการ ทักษะต่างๆ และคุณค่าในตัวเด็ก ที่จะช่วยให้พ่อแม่รับรู้ได้ว่าบุตรหลานของตัวเอง มีพัฒนาการทางด้านไหน และจะช่วยระบุจุดแข็งกับจุดอ่อนของเด็กได้
การประเมินผลไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงแค่วิธีเดียว อาจจะเป็นได้หลากหลายแบบอย่างเช่น การสังเกต, ทำบททดสอบเล็กๆ, ทำควิซ, การบ้าน หรือแม้แต่วาดภาพ ก็ยังใช้ประเมินได้เหมือนกัน”
Amin เสริมอีกว่า พ่อแม่จะได้รับสมุดพกรายงานอย่างต่ำ 2 ครั้งต่อปี เพื่อรับทราบผลการประเมินของเด็กนักเรียน เพื่อให้พ่อแม่รู้ถึงจุดเด่นและจุดด้อยของบุตรหลาน จะได้ส่งเสริมในสิ่งที่เด็กขาดหรือต้องการ
ท้ายที่สุดนี้ Amin ยังพูดถึงข้อดีของระบบ PBD นั่นก็คือจะช่วยลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนในชนบทและโรงเรียนในเมือง เพื่อเป็นยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศมาเลเซีย
“ครูผู้สอนต้องทำให้แน่ใจว่า นักเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแล จะต้องผ่านการประเมินผลขั้นต่ำที่สุดทุกคน เมื่อไม่มีการสอบแล้ว พวกเราจะต้องช่วยกันผลักดันความรู้และความเข้าใจของเด็กนักเรียนให้สูงขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะด้านความคิดของแต่ละคน”
ที่มา : https://www.catdumb.com/no-more-school-exam-malay-290/?fbclid=IwAR3EJpp1SHt_sd1f0Ytfd5R6m9KMurf2QMb110Pe_O78PEN9G_xzVTklmpY
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่