จดทะเบียนสมรส กับไม่จด จำเป็นแค่ไหน? - Amarin Baby & Kids
จดทะเบียนสมรส

จดทะเบียนสมรส กับไม่จด จำเป็นแค่ไหน? เรื่องสำคัญต้องรู้ก่อนจรดปากกา

event
จดทะเบียนสมรส
จดทะเบียนสมรส

การแต่งงานที่เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการที่คนสองคนได้ตกลงปลงใจในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว ยังอาจรวมถึงเรื่องการ จดทะเบียนสมรส ที่คู่รักหลายคู่อาจลังเลในเรื่องนี้ว่าจำเป็นแค่ไหนกับการกระดาษหนึ่งแผ่นที่บ่งบอกว่าเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงอาจมีคำถามเรื่องการจดทะเบียนสมรส ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสมรสดีไหม จำเป็นที่จะต้องจดหรือไม่ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือเปล่า หรือการจดทะเบียนสมรสนั้นมีผลดีผลเสียต่อชีวิตคู่อย่างไร ฯลฯ อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม มาหาคำตอบกันค่ะ

จดทะเบียนสมรส กับไม่จด จำเป็นแค่ไหน?

การจดทะเบียนสมรสและใบทะเบียนสมรสนั้น ถือว่ามีความสำคัญต่อคู่แต่งงาน เพราะเป็นเอกสารทางกฎหมายที่ใช้สำหรับยืนยันความสัมพันธ์ในการเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และเพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานสำหรับการยืนยันสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา เช่น ในการรับรองบุตร ซึ่งจะทำให้บุตรได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย การแบ่งสินสมรส การฟ้องหย่าในกรณีสามีหรือภรรยามีชู้ เป็นต้น โดยทะเบียนสมรสจะมีผลทางกฎหมายหรือมีอายุยาวตลอดไปจนกว่าจะมีการจดทะเบียนหย่า และในกรณีหย่าร้างนั้นก็เป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็จำเป็นต้องมีการฟ้องหย่าโดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เพื่อใช้เหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ ประกอบ รวมถึงการหาข้อตกลงต่าง ๆ เช่น การแบ่งสินสมรส สิทธิการเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดู เป็นต้น

ในอีกทางการจดทะเบียนสมรสและใบทะเบียนสมรสอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับสามีภรรยาบางคู่ เช่น สามีภรรยาที่ทำธุรกิจ หรือเป็นนักการเมือง หากทั้งคู่จัดงานแต่งงานและไม่จดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมและตกลงของสามีภรรยาเอง เนื่องจากการการจดทะเบียนสมรสทำให้ต้องมีการตรวจสอบทางบัญชีการเงินของทั้งสามีและภรรยา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรืออาจเกิดการฟ้องร้องได้ ทั้งนี้ในขณะเดียวกันการแต่งงานโดยไม่จดทะเบียนสมรสก็สามารถกลายเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ทำให้สามีหรือภรรยาโอนทรัพย์สินของตัวเองไปยังบัญชีของอีกฝ่าย เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบหรือการเสียภาษีได้เช่นกัน

ข้อดี ข้อเสีย ของการจดทะเบียนสมรส

จดทะเบียนสมรส เรื่องสำคัญต้องรู้ก่อนจรดปากกา

ผลดีของการจดทะเบียนสมรส

  • การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยามีสิทธิ์จัดการสินสมรส คือทรัพย์ที่เกิดขึ้นหรือสร้างร่วมกันหลังการสมรสถือเป็นสินสมรสของสามีภรรยาทั้งคู่ แต่ถ้าในกรณีที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ร่วมกันทำจะถือเป็นทรัพย์สินร่วม โดยแต่ละฝ่ายจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยามีสิทธิ์รับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน โดยคู่สมรสถือเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิ์ในทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1635 ได้รับส่วนแบ่งมรดกในทุกระดับชั้นมรดก แต่ถ้าไม่มีการจดทะเบียนสมรส คู่สมรสจะไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์มรดกของอีกฝ่ายเลย อย่างไรก็ตามลูกของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสสามารถมีสิทธิรับมรดกได้
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้มีสิทธิ์รับเงินสวัสดิการจากทางราชการหรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน หรือการรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยามีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถเลือกใช้นามสกุลพ่อได้ สมัครเข้าเรียนได้ และรับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ ทั้งนี้บุตรเป็นสิทธิ์ตามชอบธรรมของแม่อยู่แล้ว
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้เป็นสามีหรือภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย หากพบว่าคู่สมรสมีชู้สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้จากคู่สมรสที่ไปมีชู้รวมถึงสามารถเรียกค่าเสียหายจากชู้ได้ด้วย หรือถ้าฝ่ายใดฝายหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสซ้อนกับคนอื่น ซึ่งตามกฏหมายระบุว่า การจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้นผิดกฎหมายและไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย การจดทะเบียนสมรสครั้งหลังถือว่าเป็นโมฆะ หากการจดทะเบียนสมรสครั้งแรกยังไม่มีการจดทะเบียนหย่าที่สมบูรณ์
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยาเป็นตัวแทนฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ เช่น ลูกที่เกิดจากสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายสามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนลูกได้คนละ 30,000 บาทตามกฎหมาย และสามารถลดหย่อนภาษีกรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ด้วย
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้ภรรยามีสิทธิ์ใช้นามสกุลของสามีหรือจะไม่ใช้ก็ได้ โดยในปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ภรรยามีอิสระในการเลือกใช้นามสกุลได้อย่างเต็มที่ คือเมื่อแต่งงานแล้วมีการจดทะเบียนสมรสหรือไม่มีการจดทะเบียน ฝ่ายหญิงจะเปลี่ยนเป็นนามสกุลของฝ่ายชายหรือยังคงใช้นามสกุลเดิมของตัวเองก็ได้ เช่นเดียวกับการใช้คำนำหน้านามหลังจากจดทะเบียนสมรส ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายหญิงจะต้องเปลี่ยนจาก นางสาว มาเป็น นาง นำหน้าชื่อหลังแต่งงานและจดทะเบียนสมรส แต่ในปัจจุบันได้กำหนดให้สามารถเลือกได้คำนำหน้านามอย่างอิสระ รวมถึงผู้หญิงที่ได้มีการหย่าเรียบร้อย หากเคยเปลี่ยนคำหน้านามเป็นนาง ก็สามารถเปลี่ยนกลับเป็นนางสาวได้เช่นกันอย่างไรก็ตาม หลังจดทะเบียนสมรสหากได้ทำการเปลี่ยนคำหน้านามหรือเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีแล้ว ภรรยาจะได้เอกสารสำคัญอีกหนึ่งฉบับคือ หนังสือสำคัญการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.๕) ซึ่งจะต้องใช้ในการเปลี่ยนชื่อสกุลร่วมกับเอกสารอื่น ๆ ทุกครั้ง หรือจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขเอกสารใหม่ เช่น ข้อมูลการทำธุรกรรมที่สำคัญ หนังสือเดินทาง เป็นต้น
  • การจดทะเบียนสมรสทำให้หญิงต่างชาติมีสิทธิ์ขอถือสัญชาติไทยตามสามีได้
  • กรณีประกันสังคม หากคู่สมรสเสียชีวิตและไม่ได้ระบุผู้รับผลประโยชน์ ประกันสังคมจะจ่ายเงินให้กับคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากันในผลประโยชน์ ได้แก่ ค่าทำศพ 40,000 บาท และเงินสงเคราะห์เพิ่มตามหลักเกณฑ์คือ ถ้าส่งเงินประกันสังคมตั้งแต่ 3 -10 ปี จะได้เงิน 2 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย ถ้าส่งเกิน 10 ปี จะได้ 6 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย และผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ

แม้ว่าการจดทะเบียนสมรสจะทำให้คู่สมรสได้สิทธิประโยชน์ แต่ก็มีข้อจำกัดที่เกิดจากการจดทะเบียนสมรสที่ควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดไว้ด้วย อาทิเช่น

  • การจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสอาจจะยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น กรณีจะซื้อ จะขาย จะปล่อยเช่า หรือจะยกหนี้ เป็นต้น หรือเงินเดือน โบนัสที่ได้มา หลังแต่งงานก็จะถือว่าเป็นสินสมรสที่สามีภรรยามีสิทธิ์จัดการร่วมกันตามกฏหมาย
  • กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหนี้ที่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส หากทรัพย์สินส่วนตัวมีไม่พอสำหรับการชดใช้หนี้ เจ้าหนี้จะสามารถมายึดสินสมรสได้ แต่ทั้งนี้จะยึดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสินสมรส
  • กรณีเป็นหนี้หลังจดทะเบียนสมรส กฎหมายให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ในการบังคับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิ์ฟ้องสามีภรรยาเพื่อบังคับเอากับสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายได้ แม้ว่าคู่สมรสอีกฝ่ายจะมิได้ลงชื่อร่วมในฐานะคู่สัญญาด้วยหรือไม่ก็ตาม

มาถึงตรงนี้ สำหรับคู่แต่งงานที่ตั้งใจจะมีการจดทะเบียนสมรส จะต้องเตรียมตัวและเตรียมเอกสารอะไรให้พร้อมกันบ้าง

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส

  • ชายหรือหญิงจะต้องมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ กรณีผู้ร้องยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีบิดา มารดา หรือผู้ใช้อำนาจปกครองมาให้ความยินยอมด้วยตนเอง หากไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ให้ใช้หนังสือให้ความยินยอมเป็นหลักฐาน หรือในกรณีมีเหตุอันควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนที่ชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
  • ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
  • หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ สามารถจดทะเบียนสมรสใหม่ได้ เมื่อเว้นระยะเวลาจากการหย่าไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
    * คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
    * สมรสกับคู่สมรสเดิม
    * มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
    * ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
    * ชายหญิงที่มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ที่ศาลอนุญาตให้สมรสได้
    (ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย)

เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมไปในการจดทะเบียนสมรส

  • บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ในกรณีที่จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างขาติต้องมี สำเนาหนังสือเดินทาง (passport) และหนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศที่ตนสังกัด โดยหนังสือรับรองต้องแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรองการแปลถูกต้องด้วย
  • หลักฐานการหย่าในกรณีที่มีการจดทะเบียนหย่าร่างมาก่อน
  • กรณีคู่สมรสคนก่อนเสียชีวิต ให้นำหลักฐานการตาย เช่น ใบมรณะบัตร ด้วย
  • หากมีบุตรที่เกิดก่อนการมาจดทะเบียนสมรสให้ใช้สูจิบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร

จดทะเบียนสมรสนอกสถานที่

ขั้นตอนในการขอจดทะเบียนสมรส

ในการจดทะเบียนสมรสสามารถยื่นขอจดที่สำนักทะเบียนทุกแห่งกับขอจดนอกสำนักทะเบียนได้ ซึ่งแต่ละแบบจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนี้

การจดทะเบียนสมรสที่อำเภอ

  • คู่สมรสเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสมรสให้พร้อม รวมทั้งกรอกรายละเอียดแบบใบคำร้องฯ (คร.1) ให้ครบ และสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขตใดก็ได้ทุกแห่ง โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส
  • กรณีคู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องนำบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอม
  • พยานบุคคล 2 คน ที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์

การจดทะเบียนสมรสนอกที่ว่าการอำเภอ

คู่บ่าวสาวที่ต้องการภาพบรรยากาศสวย ๆ ในการจดทะเบียนสมรส สามารถขอจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนได้ โดยติดต่อที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอล่วงหน้าก่อนวันงานอย่างน้อย 7 วัน และเตรียมเอกสารที่จะต้องนำไปติดต่อ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนของคู่บ่าว-สาว สำเนาทะเบียนบ้านของคู่บ่าว-สาว รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน 2 คน โดยพยานทั้ง 2 คนจะต้องเป็นผู้ที่มาร่วมในวันงานด้วย ซึ่งขอจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนจะต้องเสียค่าธรรมเนียน 200 บาท พร้อมทั้งต้องจัดยานพาหนะรับ – ส่งนายทะเบียนด้วย และการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกลเสียค่าธรรมเนียม 1 บาท

การขอจดทะเบียนสมรสทั้งสองแบบ หลังจากยื่นเอกสารหลักฐานและใบคำร้องฯ เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะจดใบทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรส ซึ่งในขั้นตอนนี้หากคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินหรือเรื่องอื่น ๆ ก็สามารถแจ้งนายทะเบียนให้รับทราบ ที่สำคัญก่อนจรดปากกาเซ็นต์ลงชื่อในทะเบียนสมรส ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ถี่ถ้วน สุดท้ายหากไม่มีการแก้ไข นายทะเบียนจะพิมพ์ตัวทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรสเพื่อให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม และพยานเซ็นต์ชื่อลงในทะเบียนสมรส สำหรับใบสำคัญการสมรสนายทะเบียนจะเป็นคนเซ็นต์เอง พร้อมยื่นทะเบียนสมรสให้กับคู่สมรสคนละ 1 ฉบับ ประกาศว่าเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เป็นอันเสร็จสมบูรณ์สำหรับขั้นตอนในการจดทะเบียนสมรส

ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดที่คู่รักควรทราบและพิจารณาในการตัดสินเรื่องการจดทะเบียนสมรสว่าพร้อมที่จะจดหรือยังไม่จด ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและเหตุผลของแต่ละคู่ และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ call center 1548 หรือ www.bora.dopa.go.th

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.praewwedding.comwww.kapook.comwww.wealthmeup.comwww.sanook.com

อ่านบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ คลิก!

ผลระยะยาวของการแต่งงานแล้วไม่จดทะเบียน

คุณแม่ควรรู้ไว้!! ประโยชน์ของ ทะเบียนสมรส ที่คุณอาจไม่เคยรู้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up