คุณกำลังเป็น “แม่ติดลูก” หรือเปล่า กับ 5 สัญญาณเหล่านี้ที่จะมาช่วยไขข้อกระจ่างให้กับคุณได้รู้ตัว
เมื่อลูกโตขึ้น ลูกทุกคนจะต้องมีทางเดินเป็นของตัวเอง พวกเขาจะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตด้วยการลองผิดและลองถูก แต่ด้วยความรักของคนเป็นแม่อย่างเรา ๆ ก็มักที่จะเกิดความกังวลใจไปเสียทุกเรื่องกันใช่ไหมละคะ เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกของชีวิตลูกเมื่อยามที่ลูกเริ่มเข้าเรียน คนเป็นพ่อเป็นแม่แทบทุกคน ก็จะแอบเกาะประตูรั้วยืนดูว่า ลูกฉันจะเข้ากับเพื่อน ๆ ได้ไหม จะร้องไห้หรือเปล่า เรียกได้ว่า มาแอบยืนดูลูกทุกวันนี่แหละ
และเมื่อลูกโตขึ้นมาหน่อยจะต้องไปเข้าค่าย ก็จะมีคุณแม่บางท่านที่จะต้องขับรถตามไปด้วย ไปดูให้แน่ใจว่าลูกของเราถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัย ทำกิจกรรมทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยหารู้ไม่ว่า การกระทำดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำที่มีค่ามากกว่าคำว่าเป็นห่วงค่ะ เพราะนั่นคือสัญญาณบอกแล้วละค่าว่า แท้จริงแล้ว “คุณกำลังติดลูก” ไม่ใช่ลูกกำลังติดคุณแล้วละ แล้วสัญญาณไหนบ้างละ ที่จะบ่งบอกว่าคุณเป็นเช่นนั้นจริง ๆ อยากรู้แล้วหรือยังคะ ถ้าอยากรู้แล้วเราไปเช็กสัญญาณดังกล่าวพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
อ่าน 5 สัญญาณบอกว่าคุณกำลังเป็นแม่ติดลูก
5 สัญญาณบอกว่าคุณกำลังเป็น แม่ติดลูก
- เอาผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ลูกติดตัว นี่คือสเต็ปแรกของการเป็นคุณแม่ที่ต้องห่างลูกภายหลังจากที่ได้ใช้วันลาคลอดครบตามกำหนดแล้ว … ด้วยตลอดระยะเวลา 3 เดือนภายหลังจากที่ลูกลืมตาขึ้นดูโลก คุณทั้งคู่จะกลายเป็นคู่หูดูโอ้ที่ตัวติดกันตลอดเวลา เรียกได้ว่าไม่ว่าจะทำอะไรหรือไปไหนก็หากมีคุณก็ต้องมีลูก หรือหากมีลูกก็ต้องมีคุณ แต่ครั้งเมื่อคุณต้องกลับไปทำงาน ความห่างไกลเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ทำให้คุณรู้สึกคิดถึงลูกจับใจ และสิ่งที่ทำให้พอประทังความคิดถึงไปได้บ้างก็คือ การพกของใช้ลูกหรืออะไรสักอย่างติดตัว ยกตัวอย่างเช่น ผ้าอ้อม ผ้าห่ม หรือของเล่นชื้นโปรด เป็นต้น และพอเวลาที่คุณคิดถถึง คุณก็จะหยิบสิ่งเหล่านี้นี่แหละ ออกมาดม หรือเอาออกมาดู
- โทรเช็กทุกระยะ สัญญาณที่สองที่จะมาพูดถึงก็คือ การโทรเช็กทุกระยะ เช็กไปเถอะกับใครก็ตามที่กำลังดูแลลูกของคุณในเวลานั้นอยู่ อาจจะเป็นคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย พี่เลี้ยง หรือสามี … เรียกได้ว่าขอแค่คุณมีเบอร์โทรเถอะ คุณจะไล่โทรถามโทรเช็กตลอดเวลา ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ กินข้าวหรือยัง นอนไหม นอนตั้งแต่เมื่อไหร่ ตื่นนอนกี่โมง และเดี๋ยวนี้สบายเข้าไปอีก เพราะคุณสามารถดูลูกแบบ Real Time ได้ผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ … ขอให้ Live สดหรือถ่ายวิดีโอมาเถอะ คุณชอบ! เพราะนั่นทำให้คุณรู้สึกว่าอุ่นใจเหลือเกิน ที่ได้รู้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่บ้างในขณะที่คุณกำลังทำงาน
- อู้งานบ้างเล็กน้อย ด้วยความคิดถึงจากใจคนเป็นแม่ ยิ่งถ้าลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยกำลังเตาะแตะน่ารักหรือช่างพูดช่างเจรจาละก็ คนเป็นแม่อย่างเราก็คงอดไม่ได้ที่จะแอบอู้งานบ้างเล็กน้อย เช่น วันนี้ขอเข้าสาย หรือขอล่าป่วย 1 วันนะคะ รู้สึกเพลีย ปวดหัว ท้องเสีย ไม่สบาย แต่เปล่าหรอก แค่อยากอยู่กับลูกต่างหาก … ก็ทำไงได้ เช็คแล้วนี่นาว่าวันนี้ไม่มีอะไร เพราะงั้นทางสะดวก ขออยู่กับลูกสักวันคงไม่เป็นไรนะคะนายขา
- เกาะประตูรั้วโรงเรียน ขอเสียงคุณแม่ที่เคยหรือกำลังเป็นหนึ่งในคุณแม่ที่ชอบแอบเกาะประตูรั้วโรงเรียนดูลูกกันหน่อยค่ะ … เชื่อเถอะว่า ต่อให้คุณไม่บอก ฉันก็รู้อยู่ดีว่า คุณเป็นแน่นอน! ด้วยความที่ลูกจะต้องห่างไกลจากเราไปเริ่มก้าวแรกของตัวเอง คนเป็นแม่ก็ย่อมอดห่วงไม่ได้หรอก ด้วยความกลัวและกังวลใจในหลาย ๆ อย่าง กลัวว่าลูกจะไม่มีเพื่อน กลัวว่าลูกจะไม่ยอมทานข้าว หรือไม่ยอมนอน … โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเห็นลูกร้องไห้ตามคุณละก็ คุณนี่แทบจะสะกดกั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่เลยละ และแน่นอนค่ะ คุณก็อาจจะทำอะไรไม่ได้นอกจาก ร้องไห้ตามลูก
- ตาดูแต่นาฬิกา เวลาออกมาทำงาน ไปประชุมหรือทำธุระ ถ้าหากลูกไม่มาด้วย ตาของคุณก็จะไม่มองที่ไหนหรอกนอกเสียจากนาฬิกา ค่อย ๆ นับเวลาถอยหลังไปทีละนิด อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้เจอหน้า ได้กอด ได้หอมลูกแล้ว จากเมื่อก่อนตอนยังไม่มีลูก ก็อาจจะต้องขอแวะตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยก่อนกลับบ้าน แต่พอมีลูกเท่านั้นแหละ ไม่! วันนี้ฉันจะหกเด้ง (เลิกงานหกโมง) ฉันจะไม่ไปไหน ฉันจะรีบตรงกิ่งกลับบ้านไปหาลูกทันที
ดู ๆ ไปแล้วสัญญาณทั้ง 5 ข้อ ก็เป็นสัญญาณที่ทำให้แม่อย่างเรามีความสุขกันใช่ไหมละคะ แต่ในบางครั้งคุณก็อาจที่จะลืมไปบ้างว่า ลูกต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกันกับคุณแม่นี่แหละค่ะ ที่บางครั้งก็ควรที่จะหาเวลาส่วนตัวให้กับตัวเองได้ทำอะไรในสิ่งที่อยากทำบ้าง … เข้าใจนะคะว่ายาก แต่ก็ต้องเริ่มทำแล้วละค่ะ เพราะเมื่อวันนึงที่ลูกเติบโตมีหน้าที่การงาน มีครอบครัวเป็นของตัวเอง คุณแม่นี่แหละค่ะ ที่จะเป็นบุคคลที่น่าเป็นห่วง และจะทำใจไม่ได้เมื่อวันนั้นเริ่มมาถึง
อ่าน 4 คำแนะนำฝึกจิตใจของตัวเองให้หนักแน่นและเข้มแข็งก่อนลูกห่างไกล
4 วิธีฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง
เพราะลูกไม่ใช่สมบัติของเรา วันนึงที่เขาโตขึ้นเขาก็จะต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง จริงอยู่แค่คิดก็ทำเอาใจหาย แต่ถ้าหากเราสามารถฝึกจิตใจของเราให้เข้มแข็งในวันนี้ อนาคตเราก็สามารถอยู่กับความจริงได้โดยที่ไม่รู้สึกเสียใจเลย และนี่คือวิธีฝึกจิตใจให้เข้มแข็งก่อนลูกห่างไกลยามพวกเขาโตโดย นายแพทย์อิทธิฤทธิ์ จากเพจ Dad Mom and Kids ค่ะ
1. ลูกไม่ใช่ทรัพย์สมบัติ คุณไม่มีสิทธิไปครอบครองความคิด หรือชีวิตของลูก คุณนัวเนียกับลูก ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามาก นั่นถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เมื่อถึงวัยที่คุณต้อง “กัดฟัน” ตีตัวออกห่างมาบ้าง คุณก็ต้องทำ เมื่อลูกอยู่ชั้นประมาณ ประถมศึกษาปีที่ 1 ตอนปลายเป็นต้นไป คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกมีอิสระได้บ้าง แน่นอนว่าคุณยังต้องเป็น “ผู้จัดการส่วนตัว” ในเรื่องส่วนใหญ่ของลูกอยู่ แต่ต้องห้ามใจไม่ไปผูกใจกับลูกมาก ๆ เรื่องไหนที่เขาต้องทำเองก็ต้องฝึกเขา เรื่องไหนที่พ่อแม่ยังคงต้องกำกับอยู่ ก็ยังต้องทำไป
2. เมื่อลูกเข้าวัยรุ่น กรุณาอย่าเป็นพ่อแม่ที่เอาแต่ใจตัวเอง พ่อแม่ที่ชอบลดตัวเป็นวัยรุ่น อยากไปไหนกับลูก อยากแสดงความรักกับลูกแบบที่อยากทำนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีมากเท่าไหร่ คุณหมอเล่าว่า “ผมเคยเห็นคุณแม่ท่านหนึ่ง เมื่อเจอลูกชายวัยรุ่นก็วิ่งเข้าไปจับแก้ม แล้วดึงตัวมากอดพร้อมกับงอเข่ายกเท้าไปด้านหลัง แบบเดียวกับในหนังรักที่นางเอกดีใจเมื่อเจอคู่รัก ผมเห็นแล้วอึ้งไปประมาณสิบวิ โห… ต้องกอดลูกด้วยท่าทางน่ารักขนาดนั้นเลยเหรอ? ส่วนคุณลูกก็ได้แต่ทำหน้าแปลก ๆ แบบไม่รู้จะวางตัวยังไง หากอยากกอดหอมลูก อย่าทำนอกบ้านเลย วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ชอบ อย่าเป็นผู้ใหญ่ที่ทำอะไรตามใจตัวเอง เพราะพ่อแม่จะยิ่งเป็นทุกข์จากการที่ลูกวัยรุ่นเขาไม่เอาด้วยแล้ว”
3. หาเป้าหมายในชีวิตของคุณเอง หนึ่งปัญหาระดับโลก คือ คนทั่วไปไม่มีเป้าหมายของชีวิต อย่าคิดว่าแค่การมีงานทำ มีเงิน มีครอบครัว นี่คือจุดสูงสุดแล้ว คุณหมอกล่าวว่า จริง ๆ ไม่ใช่เลย มันเป็นแค่เหตุการณ์หนึ่งที่ต้องพบ และมันก็จะผ่านไป การหาเป้าหมายชีวิตถือว่าไม่ง่าย คนที่มีชีวิตเพื่อลูกอย่างเดียว มักจะติดลูกมากเกินไป และพอถึงวัยที่ลูกควรแยกออกไปได้ ก็มักทำใจไม่ได้ คนกลุ่มนี้มักทำทุกอย่างเพื่อให้ติดลูกต่อไปโดยไม่รู้ตัว ได้โปรดอย่าทำอย่างนั้น เพราะไม่มีใครรู้สึกสงบสุขเลย แถมยังเป็นการทำร้ายลูก ไปลดทอนศักยภาพลูกโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย ดังนั้น หาเป้าหมายในชีวิตของตนเองให้เจอ เมื่อชีวิตคุณมีเป้าหมาย คุณจะไม่ได้ติดลูกจนเกินไป
4. ฝึกตัวเองไม่ให้ติดลูกมากตั้งแต่ลูกยังเล็ก คุณหมอเล่าว่า ทั้งคุณหมอและภรรยานั้นรักไม่ได้รักลูกน้อยไปกว่าพ่อแม่ท่านไหน ๆ เลย แต่ทุกวันนี้เราต้องพยายามหาสมดุล เพื่อให้ลงตัวกับทั้งเราและลูก มันเป็นศิลปะที่ไม่ง่ายนักหรอก แต่หน้าที่ของพ่อแม่คือ ต้องทำให้ลูกก้าวออกไปยืนด้วยตัวเองให้ได้อย่างสง่างาม
ไม่มีใครหรอกที่ไม่รักลูก และไม่ต้องการที่จะเห็นลูกอยู่ในสายตาตลอดเวลา แต่ถ้าหากความรักและความเป็นห่วงนั้นมันมีมากเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะค่อย ๆ หยุดความห่วงที่มีมากเกินไป และค่อย ๆ เริ่มปล่อยให้ลูกได้รู้จักการใช้ชีวิต และมีความคิดเป็นของตัวเอง ด้วยการเฝ้าดูและห่วงใยลูกอยู่ห่าง ๆ ก็ได้นะคะ
เครดิต: นายแพทย์อิทธิฤทธิ์ จากเพจ Dad Mom and Kids
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่