พ่อแม่ร้องทุกข์ หมอบอก ตั้งครรภ์แฝด แต่พอไปคลอดลูก กลับได้มาคนเดียว แถมเพศไม่ตรงตามที่แจ้ง ถามหาลูกอีกคน หมอไม่มีคำตอบให้
กลายเป็นเรื่องทุกข์ใจและสูญเสียอย่างหนัก หลัง 2 สามีภรรยา มาร้องเรียนกับทางช่อง อมรินทร์ ทีวี ขณะที่ภรรยาตั้งท้องและไปหาหมอฝากครรภ์ซึ่งเข้าใจมาตลอดว่าตนเองท้องลูกแฝด แต่ปรากฏว่าเมื่อคลอดลูกออกมา กลับเหลือลูกเพียงคนเดียว ไม่ทราบว่าลูกอีกคนหายไปไหน สอบถามจาก รพ.ที่ทำคลอดก็ไม่มีคำตอบ
แม่ใจสลาย หมออัลตร้าซาวน์ ตั้งครรภ์แฝด แต่พอคลอดกลับได้ลูกคนเดียว!
ด้านผู้สื่อข่าวของอมรินทร์ ทีวี จึงรีบลงพื้นที่ไปพบกับ สามีหญิงรายนี้ ที่ร้องเรียนผ่านรายการคลายทุกข์ชาวบ้าน หลังภรรยาไปผ่าคลอดลูกแฝด ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด (รพ.สมุทรสาคร) แต่กลับพบว่าเหลือลูกสาวเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทางครอบครัวรับทราบมาตลอดว่า ภรรยาตั้งครรภ์ลูกแฝด โดยมีผลอัลตร้าซาวด์ แจ้งอยู่ในสมุดบันทึกการตรวจสุขภาพ ยืนยัน
⇒ บทความแนะนำ : สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก มีความสำคัญอย่างไร?
⇒ บทความแนะนำ : ฝากครรภ์ครั้งแรก ต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง
โดยที่ผ่านมา แพทย์ระบุว่า ภรรยาตั้งครรภ์เด็กแฝด เป็นชาย 1 คน อีกคนไม่ระบุเพศว่าเป็นเพศใด เพราะเห็นไม่แน่ชัด แต่เมื่อคลอดออกมา กลับพบว่าตนได้ลูกสาว ทำให้สงสัยว่าลูกชายอีกคนที่เห็นเพศมาโดยตลอดหายไปได้อย่างไร!
เมื่อสอบถามกลับไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากโรงพยาบาล และแพทย์ผู้ทำคลอดก็ไม่ได้พบหน้าอีกเลย จึงสร้างความมึนงงและความเสียใจกับครอบครัวเป็นอย่างมาก โดยทางครอบครัวได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้แล้วที่ สภ.เมืองสมุทรสาคร
อ่านต่อ >> คำชี้แจงจากโรงพยาบาลถึงเหตุ แม่ตั้งครรภ์แฝด แต่คลอดลูกออกมาคนเดียว (มีคลิป) คลิกหน้า 2
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.amarintv.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ซึ่งทางครอบครัวของหญิงตั้งครรภ์แฝด ที่คลอดลูกออกมาเหลือคนเดียว จึงตั้งข้อสังเกตว่าลูกอีกคนเสียชีวิตเพราะเกิดความผิดพลาดระหว่างผ่าคลอด แต่ถูกโรงพยาบาลปิดบังหรือไม่ โดยสามีของหญิงสาวที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด ได้เล่าว่า ทราบผลอัลตร้าซาวด์ครั้งแรกขณะที่ภรรยาตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน โดยแพทย์ระบุว่าได้ลูกแฝด หนึ่งในนั้นเป็นลูกชาย ส่วนอีกคนยังไม่สามารถระบุเพศได้เนื่องจากเด็กอยู่ในลักษณะที่นอนบังกัน แต่ก็ทำให้ทุกคนรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากเพราะครอบครัวของตนยังไม่เคยมีเด็กผู้ชายมาก่อน
ทั้งนี้ ระหว่างนั้นแพทย์อ่านผลอัลตร้าซาวด์เป็นครั้งที่ 5 ก่อนคลอด ก็ยังพบว่าเป็นเด็กแฝดเช่นเดิม แต่เมื่อคลอดออกมากลับพบว่า ได้ลูกสาวเพียงคนเดียว ไม่ทราบว่าลูกชายหายไปไหน เมื่อสอบถามแพทย์ก็ไม่ได้ระบุแน่ชัดอ้างว่าน้ำคร่ำในท้องโตบ้าง หรือตรวจผิดพลาดบ้าง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้
⇒ บทความแนะนำ : ตัวย่ออัลตร้าซาวด์ มีความหมายและบอกอะไรเกี่ยวกับทารกในครรภ์ได้บ้าง?
⇒ บทความแนะนำ : อัลตร้าซาวด์ มีประโยชน์มากกว่าที่คิด!
และยังกล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลปิดบังเพราะทำลูกตนเสียชีวิตหรือไม่ เพราะโรงพยาบาลไม่เคยบอก แต่หากเสียชีวิตจริงแต่แรก ตนจะพยายามทำใจ และเข้าใจได้มากกว่านี้ว่าเกิดจากความผิดพลาดระหว่างการผ่าคลอด
ด้านผู้เป็นแม่ของหญิงสาวที่ ตั้งครรภ์แฝด เปิดเผยในทิศทางเดียวกับลูกเขยว่า มีความเป็นไปได้ที่หลานชายของตนจะเสียชีวิตจากการทำคลอดแต่ถูกโรงพยาบาลปิดบัง แต่ไม่สามารถทำใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ในใจมีความคิดที่หลากหลายทั้งสับสน เสียใจและโกรธ เพราะไม่คิดว่าครอบครัวจะต้องมาเจอเรื่องแบบนี้
คำให้สัมภาษณ์จากทางโรงพยาบาล
ขณะที่ ด้านโรงพยาบาลสมุทรสาคร นพ.บุญรักษ์ พึ่งเจษฎา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการคลายทุกข์ชาวบ้าน ยืนยันว่า ผลอัลตร้าซาวด์ที่ผ่านมาเกิดจากความผิดพลาดของแพทย์ฝึกหัด แม้จะปรากฏว่ามีอัลตร้าซาวด์ถึง 5 ครั้ง ก็ยังสามารถผิดพลาดได้
หลังจากนี้ทางโรงพยาบาลระบุว่า จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับครอบครัวอีกครั้ง ซึ่งหากมีข้อสงสัย หรือต้องการตรวจสอบ ทางโรงพยาบาลก็พร้อมที่จะชี้แจง และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดีทาง Amarin Baby & Kids ก็ขอแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวนี้ พร้อมขอให้เรื่องนี้พบถึงข้อเท็จจริง ได้ในเร็ววันด้วยนะคะ
ทั้งนี้สำหรับเรื่องการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครรภ์แฝดนั้น เป็นเรื่องละเอียด ที่คุณหมอต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งการตั้งครรภ์แฝด นั้นนับเป็นอีกประสบการณ์ของคุณแม่ท้องที่น่ามหัศจรรย์ เพราะไม่ได้มีแค่หนึ่งชีวิตในท้องของเรา แต่มีถึงสอง หรืออาจจะมากถึง 6 คน อย่างที่เป็นข่าวดังในบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน และการที่คุณแม่ได้ตั้งท้องแฝดนั้นยิ่งต้องดูแลตัวเองมากขึ้นกว่าตั้งท้องปกติ Amarin Baby & Kids จึงมีคำแนะนำจากคุณหมอ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการท้องแฝดเพื่อช่วยให้คุณแม่เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นค่ะ มาฝากค่ะ
ครรภ์แฝดนั้นแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆค่ะ ได้แก่
- ประเภทที่ 1 ตั้งครรภ์แฝดจากไข่ใบเดียวกัน (Monozygotic twins)
- ประเภทที่ 2 ตั้งครรภ์แฝดจากไข่สองใบ (Dizygotic twins)
ครรภ์แฝดสองประเภทนี้ต่างกันอย่างไร
ตั้งครรภ์แฝดจากไข่ใบเดียวกัน ส่วนใหญ่เด็กจะหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน มีรกอันเดียวกัน บางทีเรียกแฝดแท้หรือแฝดเหมือน (Identical twins) เกิดจากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิใบเดียวแบ่งตัวเป็นสอง ตั้งครรภ์แฝดแบบนี้มีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์มากกว่าครรภ์เดี่ยวและครรภ์แฝดจากไข่สองใบ ได้แก่ อาจเกิดแฝดสยาม, มีความพิการของเด็กมากกว่า 3-5 เท่า, อาจเกิดการถ่ายเลือดระหว่างคู่แฝด (Twin-twin transfusion syndrome), ทารกเจริญเติบโตช้า, เกิดสายสะดือพันกัน เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายจนทารกเสียชีวิต
ตั้งครรภ์แฝดจากไข่สองใบ พบได้มากกว่าตั้งครรภ์แฝดจากไข่ใบเดียวกัน (ร้อยละ 69 : 31) บางทีเรียกแฝดเทียมหรือแฝดคล้าย (Fraternal twins) ทารกอาจหน้าตาไม่เหมือนกัน คนละเพศเดียวกัน มีรกสองอัน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าครรภ์เดี่ยว แต่น้อยกว่าแฝดไข่ใบเดียวกัน
อ่านต่อ >> “ไขปัญหาข้อสงสัย เมื่อตั้งครรภ์แฝด พร้อมวิธีสังเกตว่าคุณกำลังตั้งครรภ์แฝด” คลิกหน้า 3
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.amarintv.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ครรภ์แฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร!?
ครรภ์แฝดจากไข่ใบเดียวกัน ไม่มีใครทราบสาเหตุว่าทำไมไข่จึงเกิดการแบ่งตัวขึ้น อุบัติการณ์มีค่าเฉลี่ยคงที่ทั่วโลกคือ ประมาณร้อยละ 0.3-0.5 การเกิดไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ประเทศ วัฒนธรรม อากาศ อุณหภูมิ อายุมารดา ฯลฯ
ครรภ์แฝดจากไข่สองใบ ปัจจัยในการเกิดที่พบบ่อย ได้แก่ เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม, การกระตุ้นไข่ตกหลายใบในคนไข้ที่มีบุตรยากซึ่งทำให้เกิดแฝดมากกว่าธรรมชาติถึง 20 เท่า, อายุมารดาที่มากขึ้นโดยเฉพาะอายุเกิน 35 ปี พบครรภ์แฝดได้มากกว่าอายุน้อยถึง 4 เท่า, มารดามีรูปร่างสูงและอ้วน, ตั้งท้องหลายท้อง ฯลฯ ดังนั้นแต่ละประเทศจะมีแฝดแบบนี้จำนวนไม่เท่ากัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศในยุโรปเกิดมากกว่าประเทศญี่ปุ่น ในเมืองไทยแต่ละจังหวัดก็มีอุบัติการณ์การเกิดไม่เท่ากัน
วิธีสังเกต ว่าท้องนี้แฝดหรือเปล่า?
ครรภ์แฝดนั้นหญิงตั้งครรภ์อาจแสดงอาการที่น่าสงสัย ดังนี้
- แพ้ท้อง อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวนมาก ในครรภ์แรก อาการแพ้ท้องเจอมากถึงร้อยละ 90 คุณแม่ท้องอาจจะไม่ทราบว่าอาการแพ้ท้องนั้นมากหรือน้อย แต่คุณแม่ที่เคยท้องมาก่อน จะรู้สึกว่าครรภ์แฝดนั้นแพ้ท้องอ่อนเพลียและอารมณ์แปรปรวนมากกว่าครรภ์ธรรมดา เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนของรกที่เพิ่มสูงขึ้นในครรภ์แฝด
- ท้องโตเร็ว ปกติสามเดือนแรกยังไม่ค่อยเห็นว่าท้องโต แต่ครรภ์แฝดท้องจะโตมาก ตั้งครรภ์สามเดือนท้องอาจโตเท่ากับครรภ์ห้าเดือน
- ลูกดิ้นมาก เนื่องจากในครรภ์มีทารกสองคนหรือมากกว่า ทำให้รู้สึกว่าลูกดิ้นมาก ดิ้นพร้อมกันทั้งด้านซ้ายและด้านขวา หรือทั้งด้านบนและด้านล่าง
แต่อาการเหล่านี้เป็นเพียงความสงสัย การจะวินิจฉัยว่าเป็นแฝดหรือไม่ ชนิดไหน ต้องไปพบแพทย์ ในครรภ์แฝดแพทย์จะตรวจพบว่า ขนาดของครรภ์มากกว่าอายุครรภ์ ฟังหัวใจได้สองที่ และคลำเด็กได้เกินหนึ่งคน การตรวจยืนยันโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งจะสามารถแยกได้ว่าเป็นแฝดหรือไม่ แฝดกี่คน แฝดนั้นเป็นแฝดจากไข่ใบเดียวกัน หรือไข่สองใบ โดยการดูจากถุงน้ำคร่ำและรก ทั้งอาจตรวจพบความพิการ เช่น เป็นแฝดตัวติดกัน และความพิการอื่นๆ
รวมไปถึงการ มีน้ำหนักน้อย เนื่องจากครรภ์แฝดอาจมีการแย่งอาหารกัน พบว่าครรภ์แฝดสองเกินครึ่ง (ร้อยละ 50-60) คลอดด้วยน้ำหนักที่ต่ำกว่า 2,500 กรัม โดยร้อยละ 10 ของครรภ์แฝดสอง คลอดด้วยน้ำหนักที่ต่ำกว่า 1,500 กรัม ยิ่งน้ำหนักน้อยเท่าไร โอกาสทารกจะเจ็บป่วยและไม่แข็งแรงก็มีสูงขึ้นเท่านั้น
อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่สูง
เช่น มีโอกาสแท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ มีโอกาสตกเลือดก่อนและหลังคลอด มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ มีโอกาสผ่าท้องคลอดสูง มีโอกาสเกิดมดลูกอักเสบติดเชื้อในช่วงหลังคลอดสูง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของครรภ์แฝด
- ครรภ์แฝดมีโอกาสแท้งสูง ในหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปมีโอกาสแท้งเองตามธรรมชาติ ร้อยละ 10-20 แต่แฝดมีโอกาสแท้งร้อยละ 37 โดยร้อยละ 27 เป็นการแท้งของคู่แฝดหนึ่งคน แล้วฝ่อหายไปโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายอะไร เรียกว่า Vanishing twins อีกร้อยละ 9 เป็นการแท้งของแฝดทั้งคู่
- มีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์และตอนคลอดสูง โดยมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าครรภ์เดี่ยว 5 เท่า (37 : 7 ต่อการคลอดมีชีวิตหนึ่งพันคน)
- คลอดก่อนกำหนดสูง คือคลอดก่อน 37 สัปดาห์ โดยทั่วไปการตั้งครรภ์ปกติ นานเฉลี่ย 39 สัปดาห์ แต่พอตั้งครรภ์แฝด อายุครรภ์โดยเฉลี่ยจะน้อยลงเรื่อยๆ เช่น ตั้งครรภ์แฝดสอง อายุครรภ์เฉลี่ยนาน 36 สัปดาห์ แฝดสาม 32 สัปดาห์ แฝดสี่ เหลือเพียง 30 สัปดาห์ ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไร ก็ทำให้ทารกไม่แข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น เพราะทุกระบบของทารกยังไม่พร้อมที่จะออกมาดูโลก เช่น ระบบหัวใจ ระบบหายใจ ระบบประสาทสมองฯลฯ ส่งผลให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเจ็บป่วย เจ็บป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต หรือมีความพิการทางสมอง
การดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และน้ำหนักตัว ของแม่ตั้งครรภ์แฝด
งานวิจัยพบว่า คุณแม่ครรภ์แฝดที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นดีระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาสได้ลูกน้ำหนักตัวมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ในครรภ์แฝดควรเพิ่มอาหารคิดเป็นพลังงานมากกว่าครรภ์เดี่ยว 300 กิโลแคลอรี่ หรือมากกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ 600 กิโลแคลอรี่ อาหารที่ควรรับประทานเพิ่ม ได้แก่ อาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม ไข่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลาป่น ถั่ว งา โดยน้ำหนักตัวในครรภ์แฝดควรเพิ่มเดือนละอย่างน้อยเฉลี่ย 2 กิโลกรัม
หากแฝดเสียชีวิตในท้องไป 1 คน จะทำอย่างไร?
การเสียชีวิตของแฝดหนึ่งคนหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ พบได้ร้อยละ 5 ของครรภ์แฝดทั้งหมด ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ ในครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกัน เนื่องจากอยู่ในถุงน้ำเดียวกัน การตายของแฝดหนึ่งคนทำให้แฝดที่ยังมีชีวิตเสียเลือด ซีด ความดันโลหิตต่ำ และมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 15 ตรงกันข้ามกับครรภ์แฝดจากไข่สองใบ ซึ่งครรภ์แฝดอยู่คนละถุงน้ำ แม้คนที่รอดชีวิตอาจเกิดอันตรายเสียชีวิตได้จากการเสียเลือด หรือการติดเชื้อ แต่มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าคือร้อยละ 3
ครรภ์แฝดที่มีแฝดคนหนึ่งเสียชีวิต คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สังเกตลูกที่ยังรอดชีวิตว่ามีการเคลื่อนไหวตามปกติหรือไม่ ถ้าดิ้นน้อยหรือดิ้นผิดปกติต้องมาพบแพทย์ ในคุณแม่บางรายต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีทารกเสียชีวิต เช่น ดูแลแฝดคนที่เหลือว่าจะติดเชื้อหรือเสียเลือดหรือไม่ คุณแม่มีไข้ ติดเชื้อ มีภาวะเลือดไหลไม่หยุดหรือไม่ หากจะเกิดอันตรายกับแม่และลูก แพทย์มักจะป้องกันโดยยุติการตั้งครรภ์
ทำคลอดครรภ์แฝดแบบไหนดี!
ครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกัน โอกาสรอดชีวิตของทารกมีประมาณร้อยละ 50-60 เท่านั้น จากการขาดอาหาร เด็กทารกแย่งอาหารกัน มีปัญหาสายสะดือพันกัน หรือมีการถ่ายเลือดให้กัน ฯลฯ ส่วนใหญ่แพทย์มักจะดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ยาเร่งการทำงานของปอดทารก และผ่าตัดคลอดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะผ่าคลอดก่อนกำหนดเพราะหากรอให้ครบกำหนดเกรงทารกจะเสียชีวิตไปก่อน
ครรภ์แฝดจากไข่สองใบ แพทย์บางคนอาจจะผ่าตัดคลอดทุกราย ด้วยเหตุผลที่ว่า แฝดคนที่สองอาจขาดออกซิเจนถ้ารอคลอดเอง แต่งานวิจัยไม่สนับสนุน เพราะพบว่าหากทารกทั้งสองคนเป็นท่าศีรษะซึ่งพบได้ร้อยละ 42 ของแฝดทั้งหมด สามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้ การผ่าตัดคลอดกับการคลอดทางช่องคลอด พบเด็กทารกแข็งแรงไม่แตกต่างกัน
หากทารกคนแรกเป็นท่าอื่นๆที่ไม่ใช่ท่าศีรษะ เช่น เป็นท่าก้น ท่าขวางฯลฯ ซึ่งพบได้ร้อยละ 20 ของแฝดทั้งหมด ควรพิจารณาผ่าตัด และหากทารกคนแรกเป็นท่าศีรษะ ทารกคนที่สองเป็นท่าอื่นๆ เช่น เป็นท่าก้น ท่าขวาง ฯลฯ ซึ่งพบได้ร้อยละ 38 ของแฝดทั้งหมด หากลองคลอดทางช่องคลอดในแฝดคนแรก ต้องทำหัตถการช่วยคลอดทางช่องคลอดในทารกแฝดคนที่สอง เช่น ทำคลอดท่าก้น หรือหมุนจากท่าขวางให้เป็นท่าก้นแล้วจึงทำคลอด ฯลฯ อาศัยแพทย์ผู้มีประสบการณ์จึงทำคลอดได้ ควรปรึกษาคนคลอดและญาติ ว่าจะเลือกวิธีลองคลอดทางช่องคลอด ให้แพทย์ใช้หัตถการช่วยคลอดแฝดคนที่สอง หรือผ่าตัดคลอดไปเลย ส่วนหากมารดาและทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต เช่น ครรภ์เป็นพิษ เด็กทารกขาดอาหาร น้ำคร่ำแห้ง ฯลฯ อาจพิจารณาผ่าตัดคลอด
อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!
- รับมือกับ 10 ความเสี่ยง ตั้งครรภ์แฝด
- อยากได้ลูกแฝดต้องทำอย่างไร?
- 8 วิธีช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่มีเบบี๋ฝาแฝด
บทความโดย กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids