AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แพทย์เตือน! เอา ทิชชู่ซับน้ำมัน ปลอดภัยแน่หรือ?

เครดิตภาพ: Taste of Home

ทำถูกแล้วหรือ!? ที่ใช้ ทิชชู่ซับน้ำมัน กับอาหารประเภททอด!

 

 

หากพูดถึงการทำอาหารประเภททอด ด้วยความที่พวกเราทุกคนต่างกังวลกันถึงแต่ปริมาณของน้ำมัน ที่ปะปนอยู่ในอาหาร พวกเรากลับลืมฉุกคิดไปว่า แล้ว “ทิชชู่” ที่เราใช้ซับนั้น แท้จริงแล้ว ปลอดภัยจริงหรือไม่!?
กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกเตือนประชาชน ห้ามใช้กระดาษทิชชู่ซับน้ำมันจากอาหาร เสี่ยงรับโซดาไฟและสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
หลาย ๆ ท่านอาจจะตั้งคำถามว่า อ้าว! แล้วเราจะเอาอะไรซับน้ำมันละ ดร. นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ได้ให้คำแนะนำว่า หากต้องการที่จะซับน้ำมันจากอาหาร ให้ใช้กระดาษซับที่เป็นกระดาษเฉพาะที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมกับเปิดเผย  ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เกี่ยวกับอันตรายจากการใช้กระดาษทิชชูซับอาหารทอด ว่า แม่บ้าน แม่ครัว หรือผู้ค้าอาหารไม่ควรใช้กระดาษทิชชู่มาซับน้ำมันจากอาหาร เพราะเนื้อเยื่อเล็ก ๆ ของกระดาษทิชชู่จะติดในอาหาร ทำให้เราได้รับสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในกระดาษทิชชู่ไปด้วย เนื่องจากกระดาษทิชชู่ผลิตมาจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ โดยมีวัตถุดิบคือต้นไม้ เช่น ต้นไผ่หรือต้นไม้อื่น ๆ แต่ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีการนำกระดาษหมุนเวียนใหม่ เช่น กระดาษ A4 ที่ใช้แล้ว นำไปผลิตกระดาษทิชชู่ หรือแม้แต่กระดาษฟางที่ผลิตจากฟางข้าว ซึ่งในกระบวนการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว และมีสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเป็นส่วนประกอบด้วยนั้น
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ เมื่อทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน จะมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อรุนแรง ทำให้บริเวณนั้นอ่อนนุ่มกลายเป็นวุ้นหรือเจลาตินและสบู่ เนื้อเยื่อถูกทำลายหรือถูกกัดลึกลงไป ซึ่งการทำลายอาจต่อเนื่องหลายวัน การหายใจเอาไอหรือละอองสารยังส่งผลให้ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้จาม ปวดคอ น้ำมูกไหล ปอดอักเสบรุนแรง หายใจขัด การสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง เป็นแผลไหม้และพุพองได้ การกลืนกินทำให้แสบไหม้บริเวณปาก คอ และกระเพาะอาหาร ส่วนสารไดออกซิน (dioxins) เป็นสารที่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่อาการจะค่อย ๆ เกิดและเพิ่มความรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ

เครดิต: Printpack

 

ทิชชู่ซับน้ำมัน อันตรายจริงหรือไม่?

ทั้งนี้บรรดาเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั้งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายท่าน ก็ได้ออกมายืนยันว่า กระดาษทิชชูไม่ได้มีสารอันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่ร่ำลือกันไปผิด ๆ เริ่มตั้งแต่กระบวนการฟอกขาวเยื่อกระดาษที่อาจมีสารเคมีตกค้างนั้น แท้จริงแล้วมีกระบวนการล้างมากมายหลายขั้นตอน จนแทบไม่มีทั้งโซดาไฟและสารไดออกซินตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตกระดาษในบ้านเราที่ใช้สารคลอรีนในการผลิตนั้น ปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียงโรงเดียวเท่านั้น
ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ใช้สารคลอรีนไดออกไซด์ที่ไม่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งไดออกซินแต่อย่างใด ไม่เพียงแต่กระดาษทิชชูหรือกระดาษอนามัยเท่านั้น กระดาษ A4 ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ก็มีสารทั้งสองตัวที่ว่าตกค้างน้อยมากเช่นกัน มิหนำซ้ำสารไดออกซินถ้ามีตกค้างในกระดาษจริง ก็ไม่ใช่จะหลุดออกมาได้ง่าย ๆ ในการสกัดสารไดออกซินออกจากกระดาษในห้องปฏิบัติการนั้น ต้องใช้เวลาที่ยาวนานและอุณหภูมิที่สูงมากกว่าจะสกัดสารไดออกซินออกมาได้
และเพื่อให้หายข้อข้องใจ วันนี้เราก็มีคลิปจาก รศ.ดร.พลังพล คงเสรี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้พูดถึงข้อเท็จจริงผ่านคลิปของเพจ Mahidol Channel มาฝากกันค่ะ จะว่าอะไรบ้างนั้นไปชมพร้อม ๆ กันเลย

 

 ไม่ใช้กระดาษทิชชู่ซับน้ำมันแล้วจะใช้อะไรแทน คลิก!

เครดิต: syaqata04.blogspot.com

 

 

ไม่ใช้ กระดาษทิชชู่ซับน้ำมัน แล้วจะใช้อะไรแทน?

สำหรับการเลือกใช้กระดาษที่จะนำมาสัมผัสกับอาหารโดยตรงนั้น ต้องเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่อาจจะได้รับจากการบริโภคอาหารนั้น
และถือได้ว่าเป็นที่นิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารข้ามชาติ หรือร้านอาหารฟาสฟู้ด ซึ่งจะไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรค ไม่มีสิ่งแปลกปลอมติดค้างอยู่ เช่น เศษกระดาษ
นอกจากนี้ การนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาใช้ห่อบรรจุอาหารทอดต่าง ๆ ก็ถือเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน เพราะน้ำมันจะเป็นตัวละลายสารเคมีในหมึกพิมพ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย แม้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานกระดาษที่ผู้ค้านำมาซับมันจากอาหารได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารทอด เพื่อความปลอดภัยจากการรับสารเคมีตกค้าง และเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ทีนี้เราก็เข้าใจกันแล้วนะคะว่า ความจริงแล้วอันการใช้กระดาษทิชชู่ซับน้ำมันนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายเลย หากเพียงแต่เราเลือกใช้กระดาษที่มีคุณภาพและตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน

 

เครดิต: Mahidol Channel สสส. และ Muslim4health
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids