ซีอิ๊วขาว กับ ซอสปรุงรส คุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่าต่างกันอย่างไร เลือกปรุงกับอาหารชนิดใด แบบไหนอร่อยกว่ากัน Amarin Baby & Kids จะคลายทุกข้อสงสัย พร้อมแบไต๋ให้แม่รู้จักกับเครื่องปรุงยอดฮิตทั้งสองอย่างนี้ให้มากขึ้น พร้อมเทคนิคการเลือกใช้ให้ปลอดภัย ไม่เค็ม และเหมาะกับเจ้าตัวน้อย
ซีอิ๊วขาว กับ ซอสปรุง ต่างกันยังไง แบบไหนอร่อยและดีต่อสุขภาพลูกน้อย
หากคุณแม่ลองสำรวจในครัวที่บ้านมักพบว่ามีเครื่องปรุงรสวางอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องปรุงรสเค็ม ทั้ง น้ำปลา เกลือ น้ำมันหอย ซอสผัด ซอสหมัก ซีอิ๊วขาว และซอสปรุงรส เครื่องปรุงรสที่แม่ๆเลือกใช้ทำอาหารให้ลูกน้อยก็หนีไม่พ้นซีอิ๊วขาว กับซอสปรุงรส เพราะดูเหมือนจะไม่เค็มน้อยกว่าน้ำปลา กับเกลือ
การปรุงอาหารสำหรับคนในครอบครัวโดยทั่วไป สามารถเลือกใช้เครื่องปรุงรสเค็มได้หลากหลายตามต้องการ อย่าง เมนูแกงจืดอาจใช้เกลือคู่กับซีอิ๊วขาว เมนูผัดอาจใช้ทั้งน้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว และซอสปรุงรสเพื่อความอร่อยกลมกล่อม แต่สำหรับลูกน้อย การปรุงรสอาหารยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น และไม่ควรปรุงรสอาหารให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ
ทำไมไม่ควรปรุงรสอาหารให้ลูกก่อน 1 ขวบ
แม้ทารกวัย 6 เดือนขึ้นไปจะเริ่มกินอาหารเสริมอย่าง ข้าว เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ แต่การปรุงอาหารให้ลูกในวัยนี้อาจยังไม่เหมาะสมนัก เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยที่พร้อมเรียนรู้รสชาติของอาหารตามธรรมชาติ รสจืดๆของผัก รสหวานอ่อนของข้าวโพด หรือรสเปรี้ยวของน้ำส้ม การปรุงรสมากเกินไปอาจรบกวนประสาทสัมผัสดังกล่าว นอกจากนี้ยังส่งผลเสียด้านอื่นๆ ดังต่อไปนี้
- ไตของทารกยังทำงานไม่เต็มที่
อวัยวะภายในและระบบต่างๆของทารกช่วงขวบปีแรก จะยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หากได้รับโซเดียมจากรสเค็มมากเกินไป กลายเป็นภาระให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขับโซเดียมส่วนออก หากกินเค็มจัดเป็นเวลานานจะทำให้ไตเป็นพิษ จนลูกอาจมีอาการเซื่องซึม ชัก และสมองบวมได้
- ติดอาหารรสจัดเมื่อโตขึ้น
เวลาลูกกินน้อย ผู้ใหญ่มักกังวลว่าเป็นเพราะ “อาหารไม่อร่อย” จึงพยายามปรุงแต่ง เติมรสสารพัดให้ดูน่ากิน หากกินรสหวานหรือเค็มจนเคยชิน ทำให้กลายเป็นคนติดรสจัด กินอะไรก็ต้องเหยาะน้ำปลา เติมน้ำตาล ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต จากโรคภัยที่ตามมาเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวาน เป็นต้น
- กินผักน้อยหรือไม่กินเพราะความจืด
วิตามิน เกลือแร่ และกากใยอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยการทำงานของระบบขับถ่ายมีอยู่ในผักต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีรสชาติ หากลูกติดอาหารปรุงรส จะไม่อยากกินผักเพราะรู้สึกว่าไม่อร่อย ทำให้บดบังโอกาสที่ลูกจะได้รับสารอาหารที่ดีไปด้วย
- ติดขนมกรุบกรอบ
ขนมกรุบกรอบที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่มีรสค่อนข้างเค็ม เด็กที่กินอาหารเค็มจนเคยชินมักจะชอบกินขนมพวกนี้ จึงได้รับสารอาหารปรุงแต่งไม่พึงประสงค์เข้าไปด้วย เช่น ผงชูรส สารกันปูด วัตถุแต่งสีและกลิ่นต่างๆ
หากลูกวัยทารกกินน้อย หรือไม่ยอมกินข้าว ขอให้คุณแม่ลองใช้วิธีอื่นในการกระตุ้นให้ลูกอยากอาหารแทน เช่น ให้ลูกลองกินอาหารทีละอย่าง ครั้งละน้อยจนเจอรสชาติโปรด สร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหารให้มีความสุข และหัดให้ลูกกินข้าวเป็นเวลา เพื่อให้ลูกค่อยๆเรียนรู้สิ่งเหล่านี้และกินอาหารได้มากขึ้นเองก่อนจะมุ่งแก้ด้วยการปรุงรสอาหารเพียงอย่างเดียว
อ่านต่อ ซีอิ๊วขาวกับซอสปรุงรสเหมือนหรือต่างกันอย่างไร คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แม้เด็กอายุขวบปีขึ้นจะกินอาหารหลากหลายใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ แต่รสชาติก็ยังไม่ควรจัดเกินไป คุณแม่สามารถเลือกใช้เครื่องปรุงรสอย่าง ซีอิ๊วขาว หรือซอสปรุงรส มาช่วยปรุงรสชาติกับกลิ่นให้ดูน่ากินยิ่งขึ้นได้ ด้วยการเลือกเครื่องปรุงรสเค็มชนิดใดชนิดหนึ่ง ใส่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่จำเป็นต้องเติมครบทั้งซีอิ๊วขาว และซอสปรุงรสในจานเดียว เพราะกลัวว่าจะไม่อร่อย แล้วจะเลือกใช้อะไรดีระหว่างซีอิ๊วขาว กับซอสปรุงรส
ซีอิ๊วขาว กับซอสปรุงรสต่างกันอย่างไร
ตามบัญญัติของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้ว่า ซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรส หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลืองด้วยการหมักและกรรมวิธีอื่นที่เหมาะสม และจะแต่งรหรือสีหรือไม่ก็ได้ หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ถึงความแตกต่างของเครื่องปรุงรสทั้งสองชนิด ดังนี้
ซีอิ๊วขาว คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักถั่วเหลืองให้เกิดกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติจนได้น้ำสีดำใส รสเค็ม มีกลิ่นถั่วเหลืองชัดเจน นิยมใช้ปรุงรสในอาหารจีนแทนน้ำปลาหรือเกลือ
ซอสปรุงรส คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดโปรตีนในถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลือง หรือกากถั่วเหลืองด้วยสารเคมีหรือกรดเข้มข้น น้ำสีดำ มีความข้นกว่าซีอิ๊ว ให้รสเค็มกว่า จึงนิยมใช้เหยาะเพื่อเพิ่มรสอาหารให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น หรือนำไปหมักเนื้อสัตว์ก่อนปรุงสุก
ซีอิ๊วขาวแบบไหน คุณภาพดี ปรุงรสอร่อย
คนจีนใช้ ซีอิ๊วขาว เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงรสเค็มมาช้านาน จึงมีชื่อเรียกน้ำสีดำๆที่ทำจากถั่วเหลืองนี้ว่า “ซีอิ๊ว” ในบ้านเราแบ่งซีอิ๊วออกเป็น 4 ชนิดหลักๆ คือ ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วดำเค็ม และซีอิ๊วดำหวาน ซึ่งใช้กรรมวิธีการผลิตใกล้เคียงกันคือ นำเมล็ดถั่วเหลืองมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า แล้วนำมาเก็บไว้ในพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส และอาการถ่ายเทสะดวกไว้นาน 24 ชั่วโมงเพื่อให้ราขึ้นดี สังเกตว่าจะเกิดใยราสีขาวคลุมอยู่ด้านหน้า จากนั้นบ่มต่อไปอีก 3 วันจนใยรากลายเป็นสีเหลืองปนเขียว หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่าโคจิ
ต่อไปคือกระบวนการหมัก หรือโมโรมิ ด้วยการเติมน้ำสะอาดลงในโคจิ แล้วบ่มไว้ที่อุณหภูมิ 35-45 องศาเซลเซียสนาน 1 ปี เพื่อให้ได้กลิ่นและรสชาติดี ความอร่อยของซีอิ๊วขาวจึงขึ้นอยู่ระยะเวลาการบ่มเป็นสำคัญ จากนั้นจึงนำมาแยกกากด้วยสารเคมีเพื่อแยกซีอิ๊วออกมา ก่อนเติมน้ำเกลือลงไปใหม่เพื่อทำซีอิ๊วน้ำสอง ที่มีคุณภาพต่ำกว่า
เวลาคุณแม่เห็นฉลากข้างขวดซีอิ๊วขาวเขียนว่า “สูตร 1” “สูตร2” และ “สูตร3” หมายถึงจำนวนครั้งในการหมัก ซึ่งซีอิ๊วขาวสูตร 1 จะมีคุณภาพมากที่สุด สามารถใช้ได้ทั้งปรุงรสอาหาร และเหยาะจิ้ม ปัจจุบันในท้องตลาดมีซีอิ๊วขาวให้เลือกมากมาย แอดมินขอยกตัวอย่างมา 3 แบบ ได้แก่ ซีอิ๊วขาวทั่วไป (หรือบางคนเรียกว่าซอสฝาขาว) ซีอิ๊วขาวพรีเมี่ยม และซีอิ๊วขาวโซเดียมต่ำ ลองมาเปรียบเทียบส่วนประกอบ และข้อมูลทางโภชนาการ แล้วพบข้อมูลดังนี้
จากข้อมูลข้างต้นพบว่า ซีอิ๊วขาวที่ดีควรมีปริมาณถั่วเหลืองหรือกากถั่วเหลืองมาก และใช้เวลาหมักนาน เพื่อให้ได้รสเค็มตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องปรุงรสเพิ่ม สังเกตซีอิ๊วขาวสูตรหมัก 12 เดือนมีสีน้ำซอสดำเข้มกว่าชนิดอื่น มีคุณภาพดี แต่ราคาค่อนข้างสูงและไม่มีข้อมูลระบุถึงปริมาณโซเดียม ถ้าคุณแม่จะใช้ควรชิมรสชาติก่อนและใช้แต่น้อย
ส่วนซีอิ๊วขาวสูตร 1 ที่นิยมใช้ในครัวเรือน ใช้วัตถุปรุงแต่งน้อย แต่มีโซเดียมสูงจึงควรใช้ปริมาณน้อย ขณะที่ซีอิ๊วขาวสูตรโลโซเดียมมีความเค็มน้อยกว่า แต่ใช้วัตถุปรุงแต่งและสารแทนความหวาน ทั้งยังใช้หัวเชื้อถั่วเหลืองแทนการหมักถั่วเหลืองตามธรรมชาติ ฉะนั้นน่าจะเหมาะกับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องไตและความดันโลหิตสูง มากกว่าใช้กับเด็ก ก่อนตัดสินใจคุณแม่ควรพิจารณาส่วนผสมให้ถี่ถ้วนก่อน
อ่านต่อ ซอสปรุงรสฝาเหลือง ฝาเขียว ต่างกันตรงไหนใช้อย่างไรดี หน้า3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ซอสปรุงรสเป็นเครื่องปรุงอีกอย่างที่นิยมใช้กันมากโดยเฉพาะตอนทำอาหารให้เด็กๆ เช่น เหยาะซอสลงในโจ๊ก หรือไข่ดาว ให้อร่อยขึ้น รสเค็มของซอสปรุงรสจะค่อนข้างกลมกล่อมว่าซีอิ๊วขาวที่เค็มโดด อาหารจึงอร่อยขึ้นได้โดยไม่ต้องปรุงหลายขั้นตอน เพราะปรุงรสเพิ่มจากน้ำตาล เกลือ และน้ำส้มสายชูแทนรสเค็มจากถั่วเหลืองหมักธรรมชาติ แต่ต้องใช้วัตถุปรุงแต่งอาหารมากกว่าซีอิ๊วขาวด้วย
คุณแม่เคยสังเกตไหมคะว่า ซอสปรุงรสมีทั้งแบบฝาเหลือง และฝาเขียว บางยี่ห้อเรียกซอสปรุงรสเหมือนกัน บางยี่ห้ออาจตั้งชื่อต่างออกไป แต่เมื่อดมกลิ่น สังเกตสีของน้ำซอสก็ใกล้เคียงกัน แล้วอย่างนั้น “ฝาเหลือง” กับ “ฝาเขียว” ต่างกันอย่างไร มาเปรียบเทียบกันชัดๆเลยดีกว่า
จากข้อมูลเปรียบเทียบพบว่า ซอสปรุงรสฝาเหลืองมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าฝาเขียว เพราะได้รสเค็มจากซอสถั่วเหลืองมากกว่าการแต่งรส ส่วนฝาเขียวรสชาติจะเข้มข้นกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างกัน อย่าง “ฝาเหลือง” เน้นใช้กับเมนูผัด ต้ม หรือนึ่ง คล้าย ซีอิ๊วขาว ส่วนฝาเขียวจะเน้นใช้สำหรับหมักเนื้อหรือเมนูที่ต้องการรสเข้มข้นกว่าปกติ
ทั้งสองชนิดมีรสเค็มสูงอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาคุณแม่ทำอาหารควรจะเลือกใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ เมื่อไม่ให้อาหารเค็มเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อยและคนในครอบครัว
“ฝาเหลือง” มีกี่แบบ เลือกใช้อย่างไรดี
จากการสำรวจในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปพบว่า ซอสปรุงรสฝาเหลืองมีให้เลือก 3 ประเภทหลักๆได้แก่ฝาเหลืองขวดใหญ่ ฝาเหลืองสำหรับเหยาะจิ้ม และซอสปรุงรสโซเดียมต่ำ มาดูเจาะลึกกันหน่อยว่าแตกต่างกันอย่างไร
“ฝาเหลือง” จะใช้หัวเชื้อถั่วเหลือง หรือถั่วเหลืองสกัดไขมันมากกว่าเมล็ดถั่วเหลืองตามธรรมชาติ ใครๆก็คิดว่า “ฝาเหลือง” ขวดใหญ่ ซึ่งเป็นขนาดสำหรับครอบครัวหรือร้านอาหาร น่าจะเค็มกว่า “ฝาเหลือง” แบบเหยาะจิ้มถูกไหมคะ
ข้อมูลโภชนาการชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่าแบบเหยาะจิ้มมีโซเดียมสูงกว่านับร้อยมิลลิกรัมทีเดียว ก่อนที่คุณแม่จะเหยาะซอสในข้าวต้ม หรือไข่ดาวให้ลูกน้อยควรยั้งมือสักนิด และไม่ควรใช้ปรุงรสอาหารเป็นอันขาด ซอสปรุงรสแบบโซเดียมต่ำ เค็มน้อยกว่ามากจริง และก็มีวัตถุปรุงแต่งมากมาย คุณแม่จึงควรพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมด้วย
อ่านต่อ ซอสปรุงรสฝาเขียว อร่อยกว่าฝาเหลืองจริงหรือไม่ หน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ซอสปรุงรส ฝาเขียว ที่เคยบอกไว้ว่าเหมาะกับการหมักและปรุงรสเข้มข้น ในท้องตลาดมีให้เลือกหลายขนาด และทุกขนาดมีปริมาณโซเดียมมากกว่าซอสปรุงรสฝาเหลืองทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงไม่ควรนำไปใช้เหยาะหรือจิ้มอาหารโดยตรง แม้จะมีขวดเล็กที่ระบุว่าใช้เป็นเครื่องปรุงติดโต๊ะอาหารได้ แต่เมื่อเทียบกับซอสปรุงรสฝาเหลืองแบบเหยาะจิ้มก็เค็มกว่าอยู่ดี
ทั้งนี้ไม่พบว่าซอสปรุงรสฝาเขียวมีชนิดโซเดียมน้อยให้เลือกใช้ เพราะส่วนใหญ่ซอสชนิดนี้นิยมใช้ปรุงเสริมรสชาติอาหารเพียงเล็กน้อย หรือหมักเนื้อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ต้องการเลือกใช้เครื่องปรุงรสเค็มสำหรับทำอาหารให้ลูกน้อย ขอแนะนำว่า ควรเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง ซีอิ๊วขาว หรือ ซอสปรุงรสฝาเหลือง ก็เพียงพอ
ถ้าคุณแม่เลือกซอสปรุงรสแบบออร์แกนิค ซึ่งไร้สารกันบูดและโมโนโซเดียมกลูตาเมต ต้องไม่ลืมเก็บไว้ในตู้เย็นทุกครั้ง เพราะอากาศร้อนทำให้เสียได้ง่าย สิ่งสำคัญคือไม่ควรใส่เครื่องปรุงรสเค็มหลายอย่างเพราะกลัวว่าจะไม่อร่อย เพราะทำให้ลูกได้รับโซเดียมมากเกินไปและกลายเป็น คนติดเค็ม ในอนาคต
ทำอาหารอร่อย กินเยอะ แบบปรุงน้อยได้จริงหรือ
ในเมื่อการรับรู้รสชาติอาหารของทารกหรือเด็กเล็กยังไม่ถูกจำกัด การเปิดโอกาสให้ลูกได้ลิ้มรสชาติอาหารตามธรรมชาติเป็นเรื่องดีที่สุด ในกรณีที่ลูกวัยก่อนขวบกินอาหารเสริมน้อย อาจไม่ใช่เรื่องเบื่ออาหารรสจืดอย่างที่คุณแม่เข้าใจ
เขาอาจจะอยากกินอาหารเนื้อหยาบขึ้น มีสีสันชวนกิน ไม่ชอบเมนูตุ๋นรวมแต่อยากกินเป็นกับข้าวแยกจานเหมือนผู้ใหญ่ หรือมีความสุขกับการกินข้าวพร้อมหน้าทั้งครอบครัว มากกว่าแยกป้อนอยู่คนเดียว ดังนั้นการปรุงรสอาหารเพิ่มอาจไม่ใช่วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมการกินและลองปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับลูกมากกว่า
สำหรับคุณแม่ที่ยังรู้สึกว่าขอปรุงรสสักหน่อย เพื่อให้ลูกได้รับรู้รสชาติอื่นๆ จะได้ไม่มีปัญหาเวลากินข้าวนอกบ้าน หรือไม่มั่นใจในฝีมือของตัวเอง กลัวจะไม่อร่อยถูกปาก แอดมินเพจนมพ่อแบบเฮฟวี่ ได้แนะนำทำอาหารอร่อยแบบไม่ต้องปรุงไว้ว่า
#ไม่ปรุงรสแล้วจะทำให้อาหารอร่อยได้ยังไง อันนี้สูตรแอดมินเอง
ใช้เกลือ พริกไทยในการปรุงรสอาหาร (ไม่ได้ใช้น้ำตาลนะคะ เดี๋ยวติดหวาน)…เกลือเพื่อรับไอโอดีน ไม่ได้ใส่เอารสชาติ (ประมาณ 2 หยิบมือ จำเป็นต้องใส่เพื่อรับไอโอดินนะคะ) พริกไทยใส่ให้หอม
กระเทียม รากผักชี พริกไทยเม็ด (ใช้ไม่มาก ทุกทีอาหาร 1 จาน ใช้พริกไทย 2 เม็ด เอาแค่กลิ่น ไม่เอารสชาติ) ตำให้ละเอียดแล้วเอาหมักหมู หรือเนื้อสัตว์ หอมมากๆค่ะ (ตัวนี้ได้สูตรมาจากแม่ฝนเช่นกัน เรียกว่า สามเกลอ)
เม็ดผักชี อันนี้เอาไว้ตำรวมกับสามเกลอ เวลาจะหมักปีกไก่หรือหมูสันคอ เอาไปอบ หรือทอด หอมเหมือนไก่ย่างในตลาดเลย โรยเกลือนิดหน่อยพอเสริมรสชาติ ความหวานได้จากตัวเนื้อสัตว์อยู่แล้ว
การเปลี่ยนกลิ่นอาหารประเภทผัด ใช้กระเทียม หรือใช้หอมหัวใหญ่ ผัดกับน้ำมัน จะได้กลิ่นและรสที่แตกต่างกัน
ไม่ใช่น้ำตาล แต่ใช้ผัก/ผลไม้แทน ได้ความหวานจากธรรมชาติ ดีต่อสุขภาพลูก เช่น แอปเปิ้ล หอมหัวใหญ่ เติมในอาหาร ทำให้มีรสหวานนิดๆ
เครื่องเทศอื่นๆ ได้แก่ ตะไคร้ ขมิ้น ผงกะหรี่ ผักคื่นฉ่าย ใบมะกรูด กะเพรา ผักชีลาว ผักชีฝรั่ง ฯลฯ
เห็นมั้ยคะว่า เราไม่จำเป็นต้องเติมซีอิ๊ว เครื่องปรุงรสอะไร ลูกก็สามารถกินอาหารที่มีรสชาติ หอม และมีประโยชน์ไปพร้อมๆกัน
คุณแม่สามารถนำวิธีนี้ไปลองใช้ทำอาหารให้ลูกดูนะคะ ไม่แน่ใจลูกน้อยอาจติดใจ กินข้าวได้เยอะขึ้น ร่างกายได้รับสารอาหารเต็มที่โดยไม่มีวัตถุปรุงแต่งไปเจือปน ซึ่งดีต่อสุขภาพของลูกในอนาคต และเป็นสิ่งที่แม่ทุกคนอยากเห็นมากที่สุด จริงไหมคะ
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
- 7 วิธีแก้ปัญหา ลูกไม่กินข้าว และป้อนอาหารลูกเล็กอย่างไรให้ปลอดภัย ?
- ปัญหาลูก เลือกกิน ต้องแก้ไขอย่างไร?
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.เกร็ดความรู้.net นมพ่อแบบเฮฟวี่
ขอบคุณภาพจาก https://pantip.com/topic/34949750
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่