ทำไม ยาว๊าบ หรือ ทรามาดอล ยาแก้ปวดที่ดูไม่มีอะไร ถึงกลับกลายเป็น ยาเสพติด ได้ในสังคมของเด็กนักเรียน จนกลายเป็นที่แพร่ระบาดอย่างหนัก ถึงขั้นแม่ค้านำมาแบ่งขาย เม็ดละ 5 บาท เพื่อให้ใส่ผสมน้ำอัดลมรับประทาน จนนักเรียนพากันติดอย่างงอมแงม!!
ซึ่งข่าวนี้ทำเอาบรรดาผู้ปกครองของนักเรียนในจังหวัด พากันกังวลใจ ภายหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้รับแจ้งจากผู้หวังดีว่า เกิดการซื้อขายกันอย่างแพร่หลายของ “ยาว๊าบ” หรือ “ทรามาดอล” ที่แม่ค้าหัวใสทำการแบ่งถุงขายให้กับนักเรียนเม็ดละ 5 บาท เพื่อนำไปผสมกับน้ำอัดลมรับประทาน และเมื่อเด็ก ๆ ได้รับประทานเข้าไป ก็จะรู้สึกสบาย ทั้งยังช่วยในการบรรเทาอาการปวด จนทำให้เด็กบางคนที่รับประทานเข้าไปนั้น เกิดการเสพติดโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เสียการเรียนในที่สุด
และทันทีที่ทราบรายละเอียดดังกล่าว ผู้ว่าฯ ก็เปิดไฟเขียวสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดสืบหาเรื่องราวเกี่ยวกับ ยาว๊าบ จนสามารถจับกุม นางสาววิจิตรา กามาพร วัย 43 ปี ที่บ้านเลขที่ 55 หมู่ 7 ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย ได้ในที่สุด และจากการสอบสวนผู้ต้องหาได้ให้การรับสารภาพว่า ตนได้จำหน่าย ยาว๊าบ หรือ ทรามาดอล ให้กับกลุ่มนักเรียนจริง และในที่เกิดเหตุก็พบกับยาดังกล่าว ที่ถูกบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกขนาดเล็กจำนวน 6 ถุง ๆ ละ 50 เม็ดวางอยู่ภายในบ้าน พร้อมที่จะทำการจัดส่งและแบ่งขายให้กับนักเรียนที่มาติดต่อขอซื้อยา
ทั้งนี้ผู้ต้องหายังให้การรับสารภาพเพิ่มเติมอีกว่า ในตอนแรกนั้น ลูกสาวของตนเป็นคนขาย โดยจะสั่งซื้อยาที่ว่านี้จากที่อื่น แล้วส่งผ่านมาทางไปรษณีย์มาให้ 1 กระปุก ซึ่งภายในหนึ่งกระปุกนั้น จะมีการบรรจุยาจำนวนทั้งสิ้น 100 เม็ด เพื่อเอามาแบ่งขาย พอตนเห็นว่าขายแล้วได้กำไรดี จึงเกิดความสนใจ และพอลูกสาวไม่อยู่ จึงได้ขายให้แทน แต่พอมาทราบภายหลังว่าเป็นยาเสพติด จึงบอกให้ลูกเลิกขาย ประกอบกับช่วงหลัง ๆ มีคนขายยาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทำให้กำไรลดน้อยลง แต่ตนก็จะเลือกขายให้เฉพาะกับ คนที่รู้จักและเชื่อใจเท่านั้น
“ทรามาดอล” คืออะไร ทำไมถึงเป็นกลายยาเสพติดได้ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่ยาแก้ปวด!
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไป
เครดิต: ข่าวสดออนไลน์
ยาว๊าบ หรือ ทรามาดอล คืออะไร?
“ทรามาดอล” มีชื่อเรียกหลากหลาย และรู้จักกันดีในชื่อของ “ยาแท็กซี่” หรือ “ยาว๊าบ” ที่ตัวยานั้นอยู่ในกลุ่มโอพิออยด์ ที่ออกฤทธิ์เหมือนกับมอร์ฟีน และสามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายยาทั่วไป จนมีกลุ่มคนบางกลุ่มนำมาใช้ในทางที่ผิด จนเกิดเป็นผลเสียต่าง ๆ ตามมา
ลักษณะของ ทรามาดอล นั้น จะเป็นแคปซูล สีเหลือง เขียว โดยผู้เสพจะต้องนำไปผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากที่ดื่มยาที่ว่านี้ไปแล้ว ผู้เสพจะเกิดอาการเคลิ้ม มีความสุข ไม่รู้สึกเจ็บปวด ทำให้ผู้เสพต้องการอยากที่จะใช้ทุกวัน และเมื่อใช้ต่อเนื่องติดต่อกัน ก็จะทำให้เกิดความต้องการในจำนวนของปริมาณยาเพิ่มมากขึ้น จนเกิดอาการติดยาในที่สุด
ในวงการแพทย์นั้น จะใช้ ยาว๊าบ หรือ ทรามาดอล เพื่อระงับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยออกฤทธิ์กระตุ้นที่มิว รีเซปเตอร์ แต่เนื่องจากยาชนิดนี้ระงับอาการปวดได้น้อยกว่ามอร์ฟีน 5-20 เท่า จึงทำให้ยาชนิดนี้ไม่จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษ แต่แน่นอนว่า หากใช้ในพร่ำเพรื่อ หรือใช้เป็นประจำทุกวัน ยาดังกล่าว ก็สามารถกลายเป็น ยาเสพติดนรก ได้ชนิดที่ผู้เสพเองก็ไม่รู้ตัว
ทรามาดอล มีผลข้างเคียงหรือไม่ คลิกหาคำตอบได้ที่หน้าถัดไป
ยา “ทรามาดอล” ที่ว่านี้มีผลข้างเคียงหรือไม่?
แน่นอนค่ะว่า ยาว๊าบ หรือ ทรามาดอล ที่ว่านี้มีผลข้างเคียงแน่นอน ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวนั้น ก็มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นรุนแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องผูก
- มือสั่น ใจสั่น
- ความดันโลหิตต่ำ
- มึนงง ง่วงซึม
- ประสาทหลอน
- กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูงและประสาทหลอน ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ โดยไม่รักษาก็จะนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จากกรณีที่มีการส่งแชร์ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ เตือนภัยวัยรุ่นติดยาทรามาดอล ทำสมองเสื่อมและเดินไม่ได้ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการนำยา ทรามาดอล ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยยา ทรามาดอล จัดประเภทเป็นยาอันตราย ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดชนิดรุนแรง ปานกลาง ถึงรุนแรงมาก
และได้กำหนดให้จำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตและต้องส่งมอบยาโดยเภสัชกร โดยผู้รับอนุญาตขายยาและเภสัชกร ต้องร่วมกันจัดทำบัญชีการซื้อ ขายที่ถูกต้อง เป็นจริง และเป็นปัจจุบัน สำหรับเภสัชกรจะต้องส่งมอบยาตามจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยไม่จ่ายยาให้กับผู้ที่ไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และจ่ายในปริมาณที่เหมาะสมไม่เกิน 20 เม็ด ต่อครั้ง และห้ามจำหน่ายให้แก่เด็กที่มีอายุตํ่ากว่า 17 ปี เพื่อเป็นป้องกันการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั่นเอง
เครดิต: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Chiangmai news
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ยาจุดกันยุง อันตราย 5 ยี่ห้อ อย.เตือนพบสารไม่ขึ้นทะเบียน พ่อแม่ต้องระวัง!
รีวิว ยาน้ำแก้ไอสำหรับเด็ก ตัวไหน? ช่วยบรรเทาอาการไอและปลอดภัยกับลูกน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่